แห่ลงทุนเขตศก.พิเศษใต้

จังหวัดชายแดนเนื้อหอม การค้า-ลงทุนพุ่งรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองเกตเวย์ นราธิวาสพร้อมเป็นดาวรุ่ง กลุ่มน้ำตาลมิตรผล-ศรีตรังฯ จองพื้นที่ตั้งโรงงาน

 

จังหวัดชายแดนเนื้อหอม การค้า-ลงทุนพุ่งรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมืองเกตเวย์ "มุกดาหาร-นครพนม-สงขลา-สระแก้ว" ลงทุนใหม่ยึดทำเลทอง แม่สอดพร้อมรับไทย-เทศ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล-ศรีตรังฯ จองพื้นที่ตั้งโรงงานนราธิวาส นครพนมมาแรง ทุนจีนลงทุนศูนย์ประชุม/แสดงสินค้า โรงงานยางพารา

         

จากสถิติอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองหลัก แต่นับจากนี้ไปเมืองชายแดนอย่างน้อย 10 จังหวัด ก็จะก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าการลงทุน ด้วยปัจจัยบวกของนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 1 ประกอบไปด้วย จังหวัดตาก-มุกดาหารสระแก้ว-ตราด-สงขลา และเฟส 2 อีก 5 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย-นครพนมเชียงราย-กาญจนบุรี และนราธิวาส โดยจังหวัดเหล่านี้ยังมีศักยภาพของการเป็น ประตูการค้า (Gate Way) รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งแนวตะวันตก-ตะวันออก และแนวเหนือ-ใต้

         

นราธิวาสพร้อมเป็นดาวรุ่ง

         

นายศรัณย์ วังสัตตบงกช ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นราธิวาสถือเป็นจังหวัดดาวรุ่งเศรษฐกิจภาคใต้ มีความพร้อมตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2 เป็นเมืองชายแดนอยู่ติดกับประเทศมาเลเซียถึง 3 จุด คือ ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก, ด่านศุลกากรตากใบ (ท่าเรือ) และด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ติดกับรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย

         

ทั้งนี้ การค้าชายแดนผ่านทั้ง 3 ด่าน มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในอนาคตได้วางยุทธศาสตร์ให้ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก เป็นประตูการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา จะเป็นพื้นที่ขนถ่ายสินค้า โลจิสติกส์ และด่านศุลกากรตากใบ จะเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดน

         

ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฟส 2 ขณะนี้กำลังศึกษาการก่อสร้างสะพานข้ามไปยังมาเลเซีย 2 แห่ง บริเวณด่านศุลกากรตากใบ กับด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก มูลค่าการลงทุน 4,000 ล้านบาท รวมทั้งการขยายสนามบิน และยังเตรียมศึกษาเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างสุไหงโก-ลก-อำเภอปาเสมัส รัฐกลันตัน มาเลเซีย โดยจะซ่อมแซมเส้นทางรถไฟเดิมให้กลับมาใช้ได้ใหม่ เชื่อมโยงการค้าไปยังมาเลเซีย และสิงคโปร์

         

นอกจากนั้นยังกำหนดให้พื้นที่อำเภอยี่งอ เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม ขณะนี้ได้เตรียมพื้นที่ไว้ 2,000 ไร่ มีนักลงทุนจองพื้นที่แล้ว 700 ไร่ เช่น กลุ่มน้ำตาลมิตรผล เตรียมลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล ขณะที่บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) สนใจลงทุนโรงงานแปรรูปยางพารา   นายพงศ์ชัย ตันอรุณชัย รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ในปี 2559 นักลงทุนจะเริ่มเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น เพราะการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความคืบหน้าแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งภาครัฐก็กำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เช่น การก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร เส้นทางตาก-แม่สอด, สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2, การปรับปรุงถนนในตัวอำเภอแม่สอด และจัดหาที่ดินให้เอกชนเช่า

          

ด้านนายชาญยุทธ อุปพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ขณะนี้มีนักลงทุนแจ้งความจำนงจะเข้ามาลงทุนในจังหวัดนับร้อยราย มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งมีนักลงทุนจีนสนใจลงทุนศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า โรงงานยางพารา และกลุ่มเซ็นทรัลก็มีแนวโน้มจะเข้ามาลงทุน

         

โดยการค้าชายแดนจังหวัดนครพนม ปี 2558 มีมูลค่าแสนล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปยังเมืองจีนผ่านเวียดนาม มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และในเดือนมีนาคม 2559 จะมีความชัดเจนเรื่องการยกระดับจุดผ่อนปรนการค้า "บ้านแพง-บอลิคำไซ" ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการค้าหลายร้อยล้านบาท

         

นายสมศักดิ์ สีบุญเรือง เลขาธิการหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารมีความชัดเจนจะพัฒนา 3 อำเภอ 31 ตำบล โดยได้ส่งมอบพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมกับกรมธนารักษ์แล้ว รอเปิดให้เอกชนเช่า ซึ่งเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2558 ได้เซ็น MOU กับสภาการค้าและอุตสาหกรรม แขวง สะหวันนะเขต สปป.ลาว เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่าง 2 เขตเศรษฐกิจพิเศษ

         

ด้านนายประมวล เขียวขำ เลขาธิการหอการค้าจังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วที่มีนักลงทุนชัดเจน คือ บริษัท น้ำตาลกว้างชุ่นหลี จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาล เงินลงทุน 10,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อเกษตรกร นอกจากนั้นจะเป็นการลงทุนของกลุ่มโรงงานแปรรูปเกษตรผัก/ผลไม้

          

สำหรับแผนพัฒนาเมืองรองรับ ได้เร่งบูรณะสะพานรถไฟคลองลึก-ปอยเปต ที่ปิดใช้งานมานาน เพื่อเชื่อมระหว่างบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ กับปอยเปต กัมพูชา ซึ่งจะเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้า ท่องเที่ยว ใช้งบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563

          

สงขลาคึก เชื่อมรถไฟความเร็วสูง กัวลาลัมเปอร์-ปาดังเบซาร์

 

ขณะที่จังหวัดสงขลา ประตูการค้าสำคัญระหว่างไทย-มาเลเซียก็เริ่มคึกคัก โดยนายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เศรษฐกิจจังหวัดสงขลา ปี 2559 จะคึกคักกว่าปี 2558 เนื่องจากปัจจัย 2 ประการ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษกับแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะทำให้กลุ่ม SMEs เริ่มลงทุนเพิ่ม และการท่องเที่ยวจะดีมาก เนื่องจากมาเลเซียได้เปิดเดินรถไฟความเร็วสูงจากกัวลาลัมเปอร์-ปาดังเบซาร์ ซึ่งจะมาเชื่อมกับรถไฟไทยเส้นทางปาดังเบซาร์-หาดใหญ่ วันละ 4 เที่ยว ซึ่งจะทำให้การลงทุนในภาคบริการขยายตัวขึ้น

         

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา มี นักลงทุนที่จะมาตั้งโรงงานแล้ว 2 ราย โดยเป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นที่จะตั้งโรงงานแปรรูปผลไม้ครบวงจรส่งออกมาเลเซีย สิงคโปร์ มีทั้งห้องเย็นและโลจิสติกส์ บนเนื้อที่กว่า 60 ไร่ เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท และอีกรายคือโรงไฟฟ้าชีวมวลจากเศษไม้ยาง โดยซื้อที่ดินแล้วกว่า 200 ไร่ ลงทุน 200-300 ล้านบาท อยู่ระหว่างขออนุญาตจำหน่ายไฟฟ้า

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 - 6 ม.ค. 2559