วิเคราะห์นักท่องเที่ยวตรังกับทิศทางแห่งอนาคต

ในยุคที่ข้อมูลสำคัญต่อการตัดสินใจ ปี2554คนมาตรังส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศ มาจากภาคใต้ถึง 93.9% ช่วงรายได้พบว่ามากที่สุดอยู่ระหว่าง  10,001–15,000 บาท/เดือน นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ระหว่าง 15,000–19,999 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ส่วนข้อมูลแรงจูงใจในการเดินทางมาท่องเที่ยว อยู่ที่เจ้าบ้านว่าจะทำอย่างไร

 

วิเคราะห์นักท่องเที่ยวตรังกับทิศทางแห่งอนาคต

บทวิเคราะห์โดย กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

 

ไม่ว่าเศรษฐกิจเมืองตรังจะเป็นอย่างไร www.addtrang.com ขอเป็นแรงใจให้ทุกท่านยืนหยัดสู้กันต่อไป แต่ในเรื่องการสู้นั้น ในเมื่อทิศทางสินค้าเกษตรประเภทยางพาราเปลี่ยนไป กลไกราคาตกต่ำดิ่งลงเป็นประวัติการณ์จนติดปากเกิดเป็นสำนวนว่า “สี่โลร้อย” ครั้นจะหวังพึ่งพาฝ่ายรัฐให้เข้ามาช่วยเหลืออาจยาวนานเกินไป

 

ดังนั้นพวกเราทุกคนต้องหันมามองถึงสาเหตุ สำรวจความพร้อมตัวเอง แล้วปรับตัว ด้วยการหาแหล่งรายได้เสริมมากกว่าหนึ่งทางอย่างในอดีต แต่การปรับตัวไปสู่สิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นชินนั้น ข้อมูลและการเตรียมพร้อม ตลอดจนการสังเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล จะทำให้เราทุกคนปลอดภัย

 

จังหวัดตรังนอกจากเศรษฐกิจหลักที่ขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินจากภาคเกษตรแล้ว ทรัพยากรอันเป็นทุนพื้นฐานที่ทรงคุณค่าและยังประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คือ “การท่องเที่ยว” แต่ต้องตะหนักคำนึงถึงการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ด้วยอย่างยั่งยืน ในการพัฒนายกระดับการท่องเที่ยวจึงจะทรงประสิทธิ์ภาพยาวนาน

 

www.addtrang.com ทำข้อมูลจากการศึกษาข้อมูลในรายงานรายงานสถิติการท่องเที่ยวภายในประเทศประจําปี พ.ศ. 2554 (ภาคใต้) โดยสํานักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ได้ทําการสํารวจโครงสร้างและข้อมูลลักษณะของนักท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีการนําเสนอผลการสํารวจของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดตรัง จากกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวที่ศึกษาในจังหวัดตรัง มีทั้งสิ้น 2,700 คน แบ่งเป็นผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 2,208 คน ร้อยละ 81.8 และผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศ 492 คน ร้อยละ 18.2 โดยผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวมากกว่านักทัศนาจรในสัดส่วนร้อยละ 87.0 และร้อยละ 13.0 ในขณะที่ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวมากกว่านักทัศนาจรเช่นกัน ในสัดส่วน ร้อยละ 85.8 และร้อยละ 14.2

 

ข้อมูลเหล่านี้แม้จะไม่ใช้การสำรวจปีล่าสุด แต่มีนัยยะสะท้อนประกอบการตัดสินใจได้อย่างเป็นประโยชน์เลยทีเดียว เพราะการตัดสินใจทำธุรกิจหรือลงทุนอะไรก็ตามในยุคนี้ ไม่ได้ทำกันเพราะความรักความชอบเพียงอย่างเดียว

 

 

ที่มานักท่องเที่ยว

 

ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.9 มาจากภาคใต้ รองลงมา ร้อยละ 4.2 มาจากกรุงเทพมหานคร และนักทัศนาจรที่มาเยือนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 97.9) มาจากภาคใต้สําหรับ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.3 มาจากภาคใต้เช่นกัน ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.5 เป็นผู้เยี่ยมเยือนที่มาจากเอเชีย รองลงมา ได้แก่ยุโรป และอเมริกา ในสัดส่วนร้อยละ 38.6 และ 3.9 ตามลําดับ

 

เพศ

 

ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายในสัดส่วนร้อยละ 56.0 และ 44.0 ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงในสัดส่วนร้อยละ 55.3 และ 44.7

 

อายุ

 

ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยส่วนมากมีอายุอยู่ในวัยทํางาน โดยร้อยละ 42.6 มีอายุอยู่ระหว่าง 25-34 ปี รองลงมา ร้อยละ 31.1 มีอายุอยู่ระหว่าง 35-44 ปีผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในวัยทํางาน โดยร้อยละ 53.7 มีอายุอยู่ระหว่าง 25-34 ปีรองลงมา ร้อยละ 23.2 มีอายุอยู่ระหว่าง 15-24 ปี

 

อาชีพ

 

ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยส่วนมาก ร้อยละ 40.3 เป็นลูกจ้าง/พนักงานภาคเอกชน รองลงมาร้อยละ 15.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 14.9 ประกอบอาชีพอิสระผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.7 ประกอบอาชีพครูรองลงมาร้อยละ 24.8 เป็นนักเรียน/นักศึกษาและร้อยละ 13.2 เป็นลูกจ้างพนักงานภาคเอกชน

 

รายได้

 

ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.3 มีรายได้ระหว่าง 10,001 – 15,000 บาท/เดือน รองลงมา ร้อยละ 17.3 มีรายได้ต่ํากว่า 10,000 บาท/เดือน ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.4 มีรายได้ระหว่าง 15,000 – 19,999 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปีรองลงมา ร้อยละ 27.4 มีรายได้ต่ำกว่า10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี

 

แรงจูงใจในการเดินทางท่องเที่ยว

 

ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยส่วนมาก ร้อยละ 30.1 เห็นว่าจังหวัดตรังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ รองลงมา ร้อยละ 22.8 เห็นว่ามีความปลอดภัย ผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างประเทศส่วนมาก ร้อยละ 26.5 เห็นว่าจังหวัดตรังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ รองลงมา ร้อยละ 23.9 เห็นว่าใช้เวลาในการเดินทางน้อย

 

 

โดยสรุปข้อมูลเหล่านี้เป็นนัยสำคัญพื้นฐานที่จับความได้ในเรื่องนักท่องเที่ยวที่มาตรัง ทั้งนี้นิยามศัพท์ นักท่องเที่ยว(Tourist) หมายถึง ผู้มาเยือนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง คือมีการค้างคืน ส่วน นักทัศนาจร(Excursionist) หมายถึง ผู้มาเยือนชั่วคราว น้อยกว่า 24 ชั่วโมง มาแบบไป-กลับ หรือสัญจรมากับเรือทัวร์ก็ได้ นักท่องเที่ยว 2 กลุ่มนี้มีความแตกต่างกันในเรื่องการใช้จ่ายทั้งสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นทิศทางที่ดีที่ตรังมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวมากกว่านักทัศนาจร

 

จากข้อมูลปี 2554 ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศ และมาจากภาคใต้ของเราเองถึง 93.9% ดัชนีอีกประการที่สำคัญคือ ช่วงรายได้ของนักท่องเที่ยว พบว่ามากที่สุดอยู่ระหว่าง  10,001 – 15,000 บาท/เดือน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ระหว่าง 15,000 – 19,999 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ส่วนข้อมูลแรงจูงใจในการเดินทางมาท่องเที่ยว อันนี้สร้างกันได้ อยู่ที่เจ้าบ้านว่าจะทำอย่างไร

 

โลกนี้เดินด้วยหลักการบริหารการตลาด และยั่งยืนด้วยการเห็นคุณค่าของทรัพยากร ในเมื่อพิชัยสงครามจีนบอกว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” เมื่อทราบข้อมูลพื้นฐานแล้ว ก็ลองออกแบบวิธีการกันดู