ราคาดิ่งแต่ผลิตภัณฑ์ยางยังแพง

 

‘พ.ต.ท.พงษ์ชัย’ สนช. ตั้งกระทู้ถาม รมว.พาณิชย์ ปัญหาราคายางดิ่ง แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยาง-ยางรถยนต์ทำไมยังแพงอยู่ จี้ รบ. มีมาตรการควบคุม-ตรวจสอบต้นทุนที่แท้จริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค

 

 

ราคาดิ่งทำไมผลิตภัณฑ์ยางยังแพงอยู่ สนช.ถามรมว.พาณิชย์

 

 

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.พาณิชย์ เรื่องปัญหาผลิตภัณฑ์จากยางพาราที่มีราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริง โดยขอให้ตอบในที่ประชุม สนช. ในวันที่ 29 ม.ค. 2559

 

พ.ต.ท.พงษ์ชัย ระบุว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในภูมิภาค มีการผลิตรถยนต์เพื่อใช้ภายในประเทศและเพื่อส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก ส่งผลให้มีอัตราการใช้ยางรถยนต์จำนวนมากและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติพบว่า ประเทศไทยมีรถยนต์จดทะเบียนประมาณ 18 ล้านคัน เฉลี่ยใช้ยางรถยนต์ 3 เส้นต่อคัน คือประมาณ 60 ล้านเส้นต่อปี และผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ จำนวน 1.2 ล้านคันต่อปี ซึ่งเป็นรถยนต์ผลิตใหม่จึงใช้ยางรถยนต์ 5 เส้นต่อคัน คือประมาณ 6 ล้านเส้นต่อปี รวมกันแล้วใช้ยางรถยนต์ประมาณ 66 ล้านเส้นต่อปี

 

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตยางรถยนต์มากติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ประกอบกับปัจจุบันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ปรับลดตัวลงจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรลล์ หรือประมาณ 30-35 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรลล์ และราคาน้ำยางสดปรับตัวลดลงจากกิโลกรัมละ 120 บาท หรือเพียงกิโลกรัมละ 10 กว่าบาทถึง 30 กว่าบาท ผลิตภัณฑ์จากยางพาราและปิโตรเลียมซึ่งเป็นราคาที่ต่ำมากอยู่แล้ว แต่ปรากฏว่ายางรถยนต์มีราคาเท่าเดิม

 

ทั้งนี้ผู้แทนกรมการค้าภายในได้ให้ข้อมูลว่า ยางรถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถสาธารณะทั่วไป ประกอบด้วยยางธรรมชาติร้อยละ 20-30 และยางสังเคราะห์ร้อยละ 10-20 ในกรณีที่ราคาน้ำยางสดปรับตัวลดลง จะมีผลให้ต้นทุนการผลิตยางรถยนต์ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

 

และมักอ้างว่าการผลิตรถยนต์ระหว่างยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ของผู้ผลิตแต่ละรายค่อนข้างจะเป็นความลับทางการค้า ผู้ผลิตจึงอาจแจ้งข้อมูลสัดส่วนยางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจของตนเองต่อกรมการค้าภายในซึ่งอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ราคายางพารามีราคาสูง บริษัทผู้ผลิตได้ปรับราคาขึ้นตาม โดยอ้างว่าวัตถุดิบคือยางพารามีราคาสูง กรณีดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่เป็นเหตุที่ไม่สามารถลดราคายางได้

 

จึงขอเรียนถามว่า รัฐบาลจะมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบต้นทุนการผลิตที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเฉพาะยางรถยนต์ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชนผู้บริโภคหรือไม่ ประการใด

 

หมายเหตุ : ภาพประกอบยางพาราจาก sator4u.com, ภาพยางรถยนต์จาก sameaf.mfa.go.th