"บิ๊กฉัตร"ลงตรวจรับซื้อยางตรัง

 

“บิ๊กฉัตร” ลงพื้นที่จ.ตรัง ตรวจจุดรับซื้อ โครงการส่งเสริมใช้ยางภาครัฐ 1 แสนตัน เผย เกษตรกรตรังร่วมโครงการแค่ครึ่งเดียว ยอมรับซื้อช้า เผย 3 ประเทศส่งออกยาง จับมือลดปริมาณส่งออก 6 แสนตันใน 6 เดือน ดึงใช้ในประเทศ

 

 

“บิ๊กฉัตร” ลงพื้นที่จ.ตรัง ตรวจจุดรับซื้อ โครงการส่งเสริมใช้ยางภาครัฐ 1 แสนตัน เผย เกษตรกรตรังร่วมโครงการแค่ครึ่งเดียว ยอมรับซื้อช้า ปัจจุบันซื้อมาแค่ 1 พันตัน รับข้อเสนอเกษตรกรจ่ายเงินผ่านสหกรณ์ฯรวดเร็วกว่าผ่านธกส. เผย 3 ประเทศส่งออกยาง จับมือลดปริมาณส่งออก 6 แสนตันใน 6 เดือน ดึงใช้ในประเทศ

 

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 ที่จังหวัดตรัง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ตลอดจนผู้บริหารกระทรวงฯ ลงพื้นที่จังหวัดตรัง ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของจุดรับซื้อยางตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ  จำนวน 1 แสนตัน มีนายเดชรัฐ สิมสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังนำตรวจเยี่ยม โดยลงพื้นที่จุดแรกที่สหกรณ์กองทุนสวยยางหนองคล้า จำกัด อำเภอวังวิเศษ จากนั้นเดินทางไปยังสหกรณ์การยางบ้านคลองโตนพัฒนา หมู่ที่ 16 ตำบลเขาวิเศษ อำเภอวังวิเศษ และเยี่ยมชมสวนนายจตุรงค์ ด้วงนุ้ย อำเภอวังวิเศษ และเยี่ยมชมกิจกรรมกลุ่ม young Smart Farmer รวมถึงรับฟังบรรยายสรุปการใช้มาตรการเพื่อแก้ปัญหา IUU จากสมาคมประมง อำเภอกันตังด้วย

 

 

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงผลการติดตามโครงการ ว่า สำหรับจังหวัดตรังมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับกยท.สำนักงานตรังกว่า 5 หมื่นราย แต่ได้เข้าร่วมโครงการเพียง 2 หมื่นราย โดยได้รับเงินผ่านธกส.ไปแล้ว 7,000 ราย ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนกับกยท. เพื่อรับสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ยอมรับว่าในขั้นตอนการจ่ายเงินโครงการ ยังมีปัญหาความล่าช้า เนื่องจากต้องผ่านธกส. และเท่าที่รับฟังข้อเสนอจากนายบรรจง จีนมั่น ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวยยางหนองคล้า จำกัด ที่เสนอทางเลือกให้จ่ายผ่านสหกรณ์ฯได้โดยตรง เพื่อลดขั้นตอน เพราะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนต้องมาขายยางกับสหกรณ์อยู่แล้ว ซึ่งตนจะนำกลับไปพิจารณาว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่

 

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวอีกว่า ยอมรับว่าขณะนี้ปริมาณการรับซื้อยังทำได้ไม่มากนัก เพราะถือว่าเริ่มดำเนินการช้าไป แต่เกษตรกรไม่ต้องกังวล เพราะมีโควตาอยู่หากนำมาขายก่อนปิดกรีดไม่ทัน ในช่วงเปิดกรีดใหม่ก็นำผลผลิตมาขายได้จนถึงเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางด้วยการให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมอาชีพรายละ 1 แสนบาท โดยคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 สำหรับให้เกษตรนำไปต่อยอดทำเกษตรเสริมจากพืชหลักคือยางพารา ซึ่งในหลายพื้นที่ดำเนินการประสบความสำเร็จในเรื่องการปลูกพืชแซมสร้างรายได้

 

“ยอมรับว่าโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ  จำนวน 1 แสนตันยังดำเนินการได้ช้า ปัจจุบันรับรายงานว่ารับซื้อได้เพียง 1 พันตันเท่านั้น ซึ่งต้องเร่งแก้ไขและประชาสัมพันธ์กันต่อไป โดยปัจจุบันสามารถเปิดจุดรับซื้อได้กว่า 300 จุดทั่วประเทศ”รมว.เกษตรระบุ

 

 

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวถึงกรณีล่าสุดที่ประชุมประเทศผู้ส่งออกยาง 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะลดปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติในปีนี้เป็นจำนวน 615,000 ตัน เป็นช่วงระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม-31 สิงหาคม 2559 ว่า ตนได้ร่วมประชุมเรื่องดังกล่าวที่ประเทศอินโดนีเซีย และบรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยได้ดำเนินการเป็นวันที่ 3 แล้ว โดยตกลงกันว่าสัดส่วนที่ลดส่งออกนั้นจะนำมาให้ภายในประเทศ ในส่วนของรัฐบาลไทยก็มีนโยบายการนำยาวมาใช้ภายในประเทศอยู่แล้ว ต้องเข้าใจว่าข้อมูลปัจจุบันประเทศไทยผลิตยางปีละ 4.5 ล้านตัน แต่ใช้ภายในประเทศเพียงปีละ 5-6 แสนต้นเท่านั้น

 

 

ด้านนายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จังหวัดตรังมีจำนวนเกษตรกรที่ปลูกยางทั้งหมด 66,938 ราย รวมเนื้อที่ 1,550,154 ไร่ โดยมีเนื้อที่เปิดกรีด 1,321,658 ไร่ ปริมาณผลผลิตทั้งหมด 303,981 ตัน สำหรับการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ โดยมีจุดรับซื้อยางในโครงการฯ จำนวน 36 จุด กระจายครอบคลุมทุกอำเภอของจังหวัดตรัง ขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.พ.59) มีปริมาณยางที่รับซื้อทั้งหมด 81,988.17 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,478,279.14 บาท แบ่งเป็น ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 จำนวน 11,592 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 14.14 และน้ำยางสด(DRC) จำนวน 70,396.17 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 85.86

         

"ด้านปัญหาที่พบจากการดำเนินโครงการ คือ สถาบันเกษตรกรที่เป็นจุดรับซื้อ/แปรรูปยาง จากน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควัน มองว่าค่าใช้จ่ายไม่คุ้มค่า เช่น ค่าดำเนินการ ร้อยละ 1 ของมูลค่ายาง ซึ่งจะต้องจัดการน้ำยางสดในปริมาณ 3 ตันเศษ จึงจะได้เนื้อยางแห้ง 1 ตัน แต่ได้รับค่าดำเนินการเพียง 420 บาท ส่วนค่าจ้างแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควันกำหนดไว้ที่ 4.60 บาท/กก. ในขณะที่ต้นทุนจริงอยู่ที่ประมาณ 5.30 บาท/กก. ซึ่ง กยท. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการมีแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเพิ่มค่าบริหารจัดการและค่าจ้างดำเนินการ เช่น ค่าจ้างแปรรูปน้ำยางสดเป็นยางแผ่นรมควัน ควรเพิ่มจาก 4.60บาท/กก. เป็น 5.00 บาท/กก. ส่วนปัญหาอื่นๆ กยท. จะเร่งประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหารือ และเร่งเปิดจุดรับซื้อยางเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ปลูก สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรผลิตยางได้คุณภาพตรงตามหลักเกณฑ์การรับซื้อของโครงการฯ และสร้างความเข้าใจให้ชาวสวนยางในพื้นที่รับทราบข้อมูลข่าวสารมากขึ้น ขอย้ำว่า กยท. มีการกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการปฏิบัติงานที่ชัดเจน รัดกุม มีการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต ตั้งแต่การรับซื้อจนถึงสถานที่ปลายทาง มีคณะกรรมการประจำจุดรับซื้อจากหลายหน่วยงาน รวมถึงหน่วยงาน ปปช. สตง. และ คสช. ร่วมสังเกตการณ์" ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการ กยท. กล่าว

กองบรรณาธิการ www.addtrang.com รายงาน