ศก.ตรังกำลังซื้อ-ยอดขายฉุดไม่ขึ้น

 

ตรัง เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะ ราคา "ยางพาราและปาล์มน้ำมัน" แต่ทว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกลงอย่างฮวบฮาบ ส่งผล ให้ประชาชนมีรายได้ไม่พอต่อรายจ่าย กำลังซื้อหดหายไปอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดตกต่ำตามไปด้วย

 

 

 

เศรษฐกิจตรังแขวนไว้ที่'ยาง-ปาล์ม'กำลังซื้อ-ยอดขายสินค้าฉุดไม่ขึ้น

 

ตรัง เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะ ราคา "ยางพาราและปาล์มน้ำมัน" แต่ทว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกลงอย่างฮวบฮาบ ส่งผล ให้ประชาชนมีรายได้ไม่พอต่อรายจ่าย กำลังซื้อหดหายไปอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดตกต่ำตามไปด้วย

         

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณผ่านโครงการสำคัญ ๆ รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวกำหนดให้ตรังเป็นหนึ่งใน 12 เมืองต้องห้าม...พลาด "ภายใต้ยุทธศาสตร์อาหารอร่อย" ถือเป็นปัจจัยบวก ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวของตรังเดินหน้าไปได้

         

นายอาวุธ วงศ์สวัสดิ์ พาณิชย์จังหวัดตรัง สรุปข้อมูลเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ล่าสุดในปี 2558 ว่า สถานการณ์ด้านการพาณิชย์ของจังหวัดตรัง การอุปโภคบริโภคชะลอตัว เนื่องจากอำนาจซื้อของประชาชนลดลง อันเป็นผลจากพืชเศรษฐกิจหลัก คือ ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ราคาปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะยางพารา ราคาได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและลดลงต่ำมากในช่วงปลายปี 2558 โดยยางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 47.47 บาท ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 16.13 ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 53.9 บาท ลดลงร้อยละ 11.82 และน้ำยางสด ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 44.49 บาท ลดลงร้อยละ 18.20

         

ส่วนปาล์มน้ำมัน ราคาปรับตัวลดลงจากปี 2557 โดยปาล์มทะลาย ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4.36 บาท ลดลงร้อยละ 5.42 น้ำมันปาล์มดิบ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัม 26.04 บาท ลดลงร้อยละ 3.73 ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอย การเลือกซื้อสินค้า ทั้งในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าปลีก ตลาดสด และตลาดนัดทั่วไปปรับตัวลดลง

         

นอกจากนี้ การจดทะเบียนรถตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ปี 2558 ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 9.72 โดยการจดทะเบียนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน และรถจักรยานยนต์ ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 15.88 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ

         

ในส่วนของการจดทะเบียนตั้งนิติบุคคล ในปี 2558 มีการจดจัดตั้งนิติบุคคล 197 ราย เงินทุนจดทะเบียน 552.75 ล้านบาท ธุรกิจที่มีการจดทะเบียน ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง จำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค กิจการแปรรูปไม้ยางพารา กิจการให้บริการ กิจการอสังหาริมทรัพย์ และกิจการให้บริการ ท่าเทียบเรือสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ และมีการจดทะเบียนเลิกนิติบุคคล 65 ราย ทุนจดทะเบียน 123.505 ล้านบาท ได้แก่ กิจการขายเครื่องเขียนแบบเรียน ซื้อขายให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้าง ผลิตยางข้น ยางแท่ง สถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี/แอลพีจี ค้าส่งสัตว์ทะเล เป็นต้น

         

ด้านภาวะการลงทุนจังหวัดตรัง ในปี 2558 โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ 3 โครงการ เงินทุน 1,783 ล้านบาท ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวมวลอัด 1 โครงการ และถุงมือยางสำหรับตรวจโรค 2 โครงการ ส่วนโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558 จำนวน 623 โรงงาน เงินลงทุนรวม 11,299.525 ล้านบาท

         

ส่วนการส่งออก-นำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากรกันตัง ในปี 2558 มูลค่าการส่งออก 11,554 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 45.97 มูลค่าการนำเข้า 583.54 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 46.97 สินค้า ส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยางพาราแปรรูป ปูนซีเมนต์เทาบรรจุกระสอบ

         

พาณิชย์จังหวัดตรังประเมินว่า แนวโน้ม เศรษฐกิจจังหวัดตรัง ปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การชดเชยต้นทุนการผลิตแก่เกษตรกรชาวสวนยางพารา ไร่ละ 1,500 บาท โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีรายได้ สามารถกระตุ้นการจับจ่ายสร้างความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มขยายตัว จากการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐและเอกชน โดยการจัดหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ อาทิ สันหลังมังกร และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอื่น ๆ เสริมอย่างต่อเนื่อง

          

"แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคายางพาราซึ่งยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ที่อาจจะเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่ควรจะเป็น"

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 - 24 ก.พ. 2559