คน "จิราธิวัฒน์" เขียนถึงผ้าทอนาหมื่นศรี

 

"ดิฉันได้ทำงานและสัมผัสพื้นที่ที่นี่ กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนนาหมื่นศรีตั้งแต่ปี 2557เพราะได้รับคำแนะนำจากกรมหม่อนไหมให้มาเซอร์เวย์พื้นที่ ก็ได้เห็นการทอผ้าลายที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ผ้าทอนาหมื่นศรี นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงขณะนี้เกือบ 100 ปีแล้ว"

 

 

ชุบชีวิตผ้าโบราณ'ไหมทอนาหมื่นศรี'

เรื่อง : ปิยพรรณ-สุพัตรา จิราธิวัฒน์ (ผู้บริหารเครือเซ็นทรัลฯ)

เรียบเรียง : ชุติมา

 

…………….

“กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนนาหมื่นศรีตั้งแต่ปี 2557เพราะได้รับคำแนะนำจากกรมหม่อนไหมให้มาเซอร์เวย์พื้นที่ ก็ได้เห็นการทอผ้าลายที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ผ้าทอนาหมื่นศรี นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงขณะนี้เกือบ 100 ปีแล้ว ชาวบ้านได้พยายามพัฒนาลวดลายจากลายโบราณที่มีเพียง 32 ลาย ซึ่งใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ จนเพิ่มขึ้นเป็น 100 ลายแล้วในวันนี้”

…………….

 

ด้วยปณิธานของบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล และมูลนิธิเตียง จิราธิวัฒน์ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในระดับรากหญ้า และตระหนักถึงคุณค่าของ "ผ้าไหมไทย" มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของสังคมไทยตามพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมไทย ดิฉันในหน้าที่ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัล สุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ กลุ่มเซ็นทรัล จึงได้ลงพื้นที่กับน้องสาว ปิยพรรณ จิราธิวัฒน์ ซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ กลุ่มเซ็นทรัล ระยะเวลากว่าสองปีค่ะ ที่พวกเราต้องลงพื้นที่ไปดูการรวมกลุ่มทอผ้าของวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง แหล่งผลิตผ้าทอใหญ่ที่สุด คนในชุมชนนี้สืบทอดการทอผ้าไหมไว้ใช้ในครัวเรือนได้อย่างมีศักยภาพมากที่สุดของจังหวัดทางภาคใต้

 

ภาคใต้มีวิถีชีวิตที่ทอผ้าไหมใช้กันหลายๆ พื้นที่ ทั้งที่ จ.ตรัง นครศรีธรรมราช กลุ่มเซ็นทรัลก็ได้รับคำแนะนำจากกรมหม่อนไหมให้มาเซอร์เวย์พื้นที่ในชุมชนนาหมื่นศรี ก็ได้เห็นการทอผ้าลายที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ผ้าทอนาหมื่นศรี นับตั้งแต่อดีตมาจนถึงขณะนี้เกือบ 100 ปีแล้วค่ะ

 

ชาวบ้านได้พยายามพัฒนาลวดลายจากลายโบราณที่มีเพียง 32 ลาย ซึ่งใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาต่างๆ จนเพิ่มขึ้นเป็น 100 ลายแล้ว ในวันนี้ก็ใช้ได้ตามประโยชน์ใช้สอย ส่วนใหญ่จะผลิตเป็นผ้าถุง ผ้านุ่ง ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า มาเป็นผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าอเนกประสงค์ ผ้าตัดเสื้อ และชุดสำเร็จรูปทั้งผู้หญิง-ผู้ชาย ตลอดจนหมวก กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ กล่องกระดาษทิชชู่ เนกไท หมอนอิง หรือกิฟต์ช็อปต่างๆ ในราคาตั้งแต่ชิ้นละ 10 บาท ไปจนถึง 1 หมื่นบาท

 

กลุ่มเซ็นทรัลเริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนนาหมื่นศรีตั้งแต่ปี 2557 ดิฉันกับน้องสาว-คุณปิยพรรณ ลงพื้นที่ด้วยตัวเองทุกครั้งค่ะ ก็ได้ทราบว่าตั้งแต่ปี 2520 ชาวบ้านผ้าทอได้รวมกลุ่มกันแล้ว เป็นชุมชนที่มีความสามัคคี มีศักยภาพใช้ได้เลยค่ะ มีผู้นำที่ดี จิตใจกว้างโอบอ้อมอารี ไม่หวงวิชา ไม่ใช่ว่านี่ผ้าทอของตระกูลของฉัน ฉันจะแอบทอในบ้านเงียบๆ เป็นความลับไม่อยากให้ใครรู้ อารอบ เรืองสังข์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ก็เป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนให้เพื่อนบ้านมาทอผ้าร่วมกันรวมตัวกัน จากทอใต้ถุนบ้านใครบ้านมัน มีการบริหารรวมสมาชิกทำเป็นวิสาหกิจ ตรงนี้เลยค่ะที่เราพิจารณาเลือกสนับสนุนชุมชนนี้เพื่อให้เขาเข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

 

หลายๆ อย่างชาวบ้านไม่มีความรู้ เช่น การทำร้านค้าปลีก ขณะเราเป็นผู้รู้เกี่ยวกับการค้าปลีก ชาวบ้านปรึกษาเรื่องจัดเก็บสต๊อกเส้นด้ายที่มีตัวเลข 1 ล้าน 5 แสนบาท แต่ขายได้เดือนละ 1 แสนกว่าบาท แล้วยังมีของในร้านอีกร่วม 1 ล้านกว่าบาทที่ไม่เคลื่อนไหวเลยด้วย ดิฉันก็คิดว่าบัญชีแบบนี้ไม่สมดุลแล้ว เรื่องนี้เราจะให้คำปรึกษาได้ สอนการทำสต๊อก สอนทำบัญชีเบิกของให้ชาวบ้านได้เรียนรู้

 

แนะทำหน้าร้านให้มีมาตรฐานมากขึ้น อาทิ มีการทำชั้นจัดเก็บ การแยกสีเส้นด้ายให้สะดวกต่อการค้นหา และการทำสต๊อกการ์ด จัดหน้าร้านให้สวยงามสะอาดตา

 

จัดศูนย์การเรียนรู้ เด็กรุ่นใหม่ๆ อยากทอผ้าทำอย่างไรล่ะ กี่หน้าตาเป็นอย่างไรไม่รู้จัก แล้วในปี 2558 โครงการพัฒนาชุมชนด้านผลิตภัณฑ์ไหมไทยพื้นบ้านได้ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 ทางบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จึงได้ฟื้นฟูผ้าทอลวดลายมรดกที่ชาวบ้านนิยมทอเมื่อครั้งอดีตทั้งหมด 32 ลาย พร้อมทั้งพัฒนาทักษะการทอด้วยเส้นไหมให้กับลูกหลาน เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และต่อ ยอดองค์ความรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์และศูนย์จำหน่ายสินค้าวิสาหกิจผ้าทอนาหมื่นศรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความเป็นมาของชุมชนนาหมื่นศรี ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการสานต่อการทอผ้าอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน พร้อมนำความถนัดของบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล ในด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบผลิตภัณฑ์มาช่วยเสริมให้ผลงานผ้าทอของนาหมื่นศรีมีความทันสมัย และน่าสนใจมากยิ่งขึ้น คนมาดูพิพิธภัณฑ์ได้รู้ประวัติผ้าทอโบราณของท้องถิ่นแล้วก็น่าจะอยากซื้อของ ก็เดินไปซื้อของที่ร้านซึ่งอยู่ใกล้ๆ กันได้ นี่คือการตลาดที่เราไปแนะนำชาวบ้านค่ะ

 

บริษัทสนับสนุนเงินทุนกว่า 3 ล้านบาท โดยกลุ่มเซ็นทรัลร่วมกันทำงานฟื้นฟูผ้าโบราณที่เรียกว่าลายผ้ามรดก ทอด้วยกี่กระตุก เส้นทอยืนสีแดง เส้นพุ่งสีเหลืองทองลายลูกแก้ว โดยมีคุณยายท่านหนึ่งชื่อ คุณยายฝ้าย สุขพรหม เวลานี้คุณยายเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็มีประวัติการทอผ้าให้เด็กๆ รุ่นหลังได้สืบทอดและศึกษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ดิฉันก็คุยเนื้อเรื่องกับผู้นำชุมชนว่าต้องมีห้องวีดิทัศน์ให้คนมาดูประวัติกันก่อน แล้วจึงเดินชมของจริง การพูดคุยก็ต้องมีข้อแม้กันบ้างค่ะ อย่างเช่น ถ้าชุมชนอยากได้พิพิธภัณฑ์ก็ต้องแกะลายผ้าเก่าให้ได้ 2 ลายนำร่องก่อน เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมการทอผ้าลายมรดกประจำท้องถิ่นให้ได้จำนวนครบ 32 ลาย กรมหม่อนไหมก็ได้เข้ามาช่วยในการให้ความรู้และเทคนิคในการทอผ้าด้วยเส้นไหม จากนั้นทางกลุ่มเซ็นทรัลจึงได้เข้ามาปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจผ้าทอนาหมื่นศรี ศูนย์จำหน่ายสินค้า และพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อให้วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ และส่งเสริมการทอผ้าไหมลายโบราณ ให้สามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนแก่ชุมชน และอนุรักษ์ลวดลายผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทยให้คงอยู่สืบไป

 

พิพิธภัณฑ์เสร็จเรียบร้อยสวยงามตอนปลายปีที่ผ่านมาค่ะ ความสุขของการทำงานตรงนี้คือได้เห็นชาวบ้านเติบโตแข็งแรงด้วยตัวเอง เราสอนให้เขารู้จักการค้าโดยนำสินค้าเข้าห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จ.ตรัง เป็นโลกธุรกิจเต็มตัวค่ะ มีการเก็บ GP (Gross Profit) เช่นเดียวกับสินค้าเจ้าอื่น และวันนี้ผู้บริหารธุรกิจชุมชนก็คือผู้ทอผ้าที่รักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่นไว้ได้ด้วย ดิฉันยังจำวันแรกที่มาเซอร์เวย์ลงพื้นที่ได้ จดจำใบหน้าของพี่อารอบได้เลยค่ะ ใบหน้าเครียดมาก ไม่ยิ้มเลย ถามคำก็ตอบคำ น้ำเสียงห้วนสั้นแบบชาวปักษ์ใต้ตัวจริงเสียงจริง พอทำงานด้วยกันไปสักพัก ดิฉันก็ถามว่าทำไมวันนั้นไม่ยิ้มแย้มเลย ทั้งที่พี่อารอบเป็นคนใจดีมากๆ พี่ก็ตอบว่า ไม่คิดว่าจะมีใครถือเงินมาให้ถึงบ้านเป็นแสนบาทโดยไม่หวังอะไรตอบแทนเลย ไม่แน่ใจจริงๆ แต่ความเชื่อใจในความหวังดีที่แท้จริงได้เกิดขึ้นในระหว่างที่เราได้ทำงานร่วมกัน และความผูกพันนี้ก็ได้เกิดขึ้นเรื่อยมาตลอดสองปีของการทำงาน

 

การทำงานตรงนี้เป็นการพัฒนาชุมชน เป็นหลัก 1 ใน 4 นโยบายของการทำงานซีเอชอาร์ของบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล ดิฉันกับน้องสาวเป็นผู้บริหารลงพื้นที่ทำงานด้วยกันทุกๆ ครั้ง เป็นการทำงานที่มีความสุขที่ได้เห็นการเจริญเติบโตแข็งแรงของคนท้องถิ่น เขาได้ขยายงานไปตามกำลังที่เขาสามารถทำได้ จบจากโครงการนี้งานต่อไปก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเริ่มต้นที่ได้แก้ปัญหา และเมื่อโจทย์ยากๆ นั้นได้แก้ไขลุล่วงก็เป็นความสุขของการทำงานอีกพาร์ตหนึ่ง ซึ่งบอกได้เลยค่ะ ดีใจอิ่มใจมากทีเดียวค่ะ

 

ที่มา: คอลัมน์ Happiness Is หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม 2559

 

…………….

 

เปิดพิพิธภัณฑ์ผ้าทอนาหมื่นศรี

 

กรมหม่อนไหมทำงานแบบบูรณาการร่วมกับจังหวัดตรังและบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล อนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าลายโบราณและเพิ่มศักยภาพให้เกษตรกรบ้านนาหมื่นศรี เปิด “พิพิธภัณฑ์และศูนย์จำหน่ายสินค้าวิสาหกิจผ้าทอนาหมื่นศรี” จังหวัดตรัง

 

นายอภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมหม่อนไหม มอบหมายให้นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม ร่วมพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์และศูนย์จำหน่ายสินค้าวิสาหกิจผ้าทอนาหมื่นศรี” จังหวัดตรัง โดยมีนายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธาน  และคุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองประธานอาวุโสฯ บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรังให้การต้อนรับ ทั้งนี้  กรมหม่อนไหมได้ร่วมกับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล ให้การส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรให้เกิดความเข้มแข็ง เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีจังหวัดตรังได้ร่วมให้การสนับสนุน  ซึ่งนับว่าเป็นโครงการด้าน CSR ที่บูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ประสบความสำเร็จโครงการหนึ่ง

         

นางสุดารัตน์ วัชรคุปต์ เหล่าวิชยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม ระบุว่า กลุ่มทอผ้าไหมบ้านนาหมื่นศรี ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นกลุ่มทอผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดตรัง เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง มีลวดลายผ้าโบราณที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ จำนวน 32 ลวดลาย แต่เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มทอผ้าบ้านนาหมื่นศรียังทอผ้าฝ้ายเป็นหลัก และมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นผ้าไหมลายโบราณ ดังนั้น กรมหม่อนไหมจึงร่วมกับบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล ในการเข้าไปส่งเสริมและพัฒนาชุมชนกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี  โดยกรมหม่อนไหมได้เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาทักษะในการทอผ้าไหม โดยจัดฝึกอบรมหลักสูตร “เทคนิคการเตรียมเส้นไหมสำหรับทอผ้าไหมลายโบราณนาหมื่นศรี” ให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี  เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการขึ้นเส้นยืน การขึ้นหัวม้วน การเตรียมเส้นไหม การกรอเส้นไหม รวมถึงการย้อมสีเส้นไหมที่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างหรือการย้อมสีเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ  ซึ่งดำเนินการฝึกอบรมไปเมื่อเดือน กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา

         

ด้านบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งมีโครงการเซ็นทรัลอาสาพัฒนาชุมชนด้านผลิตภัณฑ์ไหมไทย ได้เข้ามาสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยนอกจากจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแล้ว ยังเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงด้านการตลาด การปรับปรุงพิพิธภัณฑ์  ตกแต่งหน้าร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การจัดการระบบบัญชี การพัฒนาการตัดเย็บ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกแบบลายผ้าไหมให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า ที่สำคัญได้นำการออกแบบมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและยังได้ร่วมกับ “แบรนด์ Urban studio” แบรนด์แฟชั่นไทยที่มีความโดดเด่น โดยได้รับเกียรติจาก คุณรีนาว เดชอุดม ผู้จัดการผลิตภัณฑ์และดีไซน์เนอร์แบรนด์ Urban studio ร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ คาดผม เคสไอโฟน หมอน ที่นั่งทรงรูปถั่ว (bean bag) และที่ห้อยกระเป๋าแอคเซดเซอร์รี่ต่างๆ เป็นต้น เพื่อให้นักออกแบบรุ่นใหม่เหล่านี้เข้ามาช่วยดีไซน์และออกแบบลายผ้าให้มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น

         

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานร่วมกันที่ผ่านมา พบว่าโครงการประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผ้าไหมให้ดีขึ้น สามารถสร้างสรรค์ลวดลายผ้าแบบใหม่ ๆ และถูกนำไปใช้ในการออกแบบเครื่องแต่งกาย และของใช้ในชีวิตประจำวัน  ทั้งยังสามารถพัฒนาเป็นจุดเรียนรู้ด้านลวดลายผ้าโบราณ ช่วยอนุรักษ์ลวดลายผ้าโบราณ ส่งเสริมอาชีพพัฒนาทักษะการทอผ้าไหมลายโบราณให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี  ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชน รวมถึงอนุรักษ์ลวดลายผ้าโบราณให้คงอยู่สืบไป

 

 

……..