เปิดตัว “ความกดอากาศต่ำ” 46นักเขียนสะท้อนสังคม

 

เปิดตัว “ความกดอากาศต่ำ” รวมเล่มปรากฎการณ์ 46 นักเขียน ร่วมสะท้อนปัญหาสังคม “จำลอง ฝั่งชลจิตร” รุ่นพี่รางวัลรพีพร ปลุกนักเขียน จรดปากกาบอกความจริงของสังคม ตีแผ่ คนตัวเล็กกำลังถูกรุกคืบ

 

 

เปิดตัว “ความกดอากาศต่ำ” รวม 46 นักเขียนสะท้อนปัญหาสังคม “จำลอง ฝั่งชลจิตร” ปลุกนักเขียนจรดปากกาเขียนความจริงของสังคม คนตัวเล็กกำลังถูกรุกคืบ

 

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 แวดวงวรรณกรรมภาคใต้จากทุกหัวระแหงเดินทางมาชุมนุมกันโดยนัดหมายที่ร้านกาแฟและร้านขายหนังสือเล็กๆแต่อบอุ่น ชื่อ ความกดอากาศต่ำ ในซอยสะพานไม้ไผ่ ตรงข้ามห้างบิ๊กซี  ภายในตัวเมืองสตูล ซึ่งเป็นของ ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนรางวัลศิลปาธร ปี 2550 และนักเขียนที่มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มากที่สุด พร้อมคู่ชีวิต คีตญา อินทรแก้ว ที่ตัดสินใจกลับลงหลักปักฐานใกล้ชิดทะเลอันดามัน

 

ซึ่งต้องขอขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ กองบรรณาธิการ www.addtrang.com ได้ไปพบปะและสังเกตการณ์ ซึ่งนอกจากจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านวรรณกรรมแล้ว ยังมีการเสวนามุมมองต่อสังคมไทยวันนี้อย่างน่าสนใจ

 

ความกดอากาศต่ำ ไม่ได้เป็นเพียงร้านกาแฟ หรือ ร้านหนังสือ แต่คือหนังสือเล่มใหม่โดย “สำนักพิมพ์ผจญภัย” เป็นการรวบเอาต้นฉบับเรื่องเล่าหลากหลายสไตล์จากกลุ่มนักเขียนถึง 46 ชีวิต ทั้งเรื่องสั้น บทกวี ความเรียง และ ภาพถ่าย นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา สำหรับวงการนักเขียน นักอ่านเมืองไทย เพราะต่างสะท้อนโจทย์ “ความกดอากาศต่ำ” ที่ ศิริวร” ทำหน้าที่เหมือนบรรณาธิการคอยประสานงานดูแลการจัดทำ

      

ที่มาที่ไปมากจาก “ศิริวร” “จเด็จ กำจรเดช” , “อภิชาติ จันทร์แดง” , รัตนชัย มานะบุตร” และ “กิตติศักดิ์ คเชนทร์” ไปเดินเล่นกันที่ท่าเรือตำมะลัง ท่ามกลางหมอกควันอินโดฯ ผลกระทบที่เกิดขึ้นซึ่งพี่น้องทางภาคใต้จำได้ไม่รู้ลืม ทำให้ทั้งหมดเกิดความคิดกันว่า น่าจะทำหนังสือกันสักเล่ม แต่สามารถขยายโจทย์ออกนอกเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปได้ไกล เพราะเมื่อตีความ “หมอกควัน” เป็นเรื่องของ “ความมืดมัว” แล้ว จึงเกิดความท้าทายใหม่ว่า โลกเราทุกวันนี้ มีเรื่องของ “ความมืดมัว” เกิดขึ้นมากมาย จากนั้น “ศิริวร” ก็เริ่มหน้าที่ของการเป็นบรรณาธิการ โดยมี อภิชาติ” ช่วยดูแลต้นฉบับ

      

ปรากฎการณ์ “ความกดอากาศต่ำ” จากปลายปากกา 46 นักเขียน จึงขยายวงกว้าง เกิดมิติสะท้อนทั้งทางกว้างและทางลึกได้น่าอ่าน

 

ในวงเสวนา จำลอง ฝั่งชลจิตร” รุ่นพี่รางวัลรพีพร กล่าวไว้น่าสนใจ เหมือนเป็นการปลุกพลังปลายปากกาคนวงการวรรณกรรม ให้หันกลับมามองความเปลี่ยนแปลง ความเป็นไป และสภาพปัญหาของโลกอย่างจริงจัง

 

 

“วันนี้หมอกควันได้ถูกตีความโดยนักเขียนแต่ละคนแตกต่างกันออกไป แน่นอนว่ามองได้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่หลายคนมองในเรื่องของชีวิตและสังคมที่พร่ามัว ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นเรื่องราวที่ภูเก็ต คนรวยอยากได้ที่ดินของชาวน้ำ หรือชาวเล ความกดอากาศต่ำเราจึงเล่าถึงเรื่องราวของคนเล็กคนน้อย เรื่องการอพยพแรงงาน ชาวเล ชาวน้ำ โรฮิงญา ทั้งหมดเป็นบริบทของชีวิตที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเปลี่ยนแปลง”

 

“จำลอง” เชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่นักเขียนต้องกลับมาคิด เพราะเชื่อว่าต่อจากนี้ทิศทางของการเขียนจะเปลี่ยนแปลงใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม(Culture change) วัฒนธรรมทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่มันกำลังเปลี่ยนแปลงต่อหน้าเรา ทั้งเรื่องสภาวะอากาศ ไปจนถึงผลกระทบต่อชุมชน ในสายตาเราที่เป็นนักเขียนเราได้สะท้อนเอาไว้ในหลายเรื่อง

 

“เราเห็นสภาพการรุกรานของความเจริญ การรุกโดยใช้เงิน ใช้กำลัง มีการการเผาที่ วันนี้มันเกิดขึ้นตลอดโดยมือที่มองไม่เห็น ตัวอย่างที่ภูเก็ต ชาวเล และหวังพึ่งอำนาจรัฐไม่ได้ ในส่วนงานของผมในเล่มนี้เป็นเรื่องสั้น มันชัดเจนในเรื่องความผ่าเหล่าที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ต่อจากนี้เราจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของพวกผ่าเหล่าทั้งหลาย ตั้งแต่นักปกครองไปจนคนแต่ละระดับ แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เริ่มตัดสิทธิประชาชน”

 

“2.ในปี 2565 เราจะเข้าสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ เราจะมีผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ขณะที่อัตราการเกิดเราจะต่ำลง สภาพครอบครัวแตกสลาย ลูกหลานไปอยู่กทม. พ่อแม่ว้าเหว่ ในชนบทมีแต่คนแก่ ร้ายกว่านั้นคือลูกมาฝากหลานไว้ให้เลี้ยง ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักเขียนต้องเฝ้ามองต่อจากนี้ ในอนาคตความมั่นคงในเรื่องสิทธิเสรีของประชาชนเราจะอยู่อย่างไรผมยังมองไม่ออก เราจะเขียนหนังสือกันยังไง เราจะอ่านหนังสือกันยังไง การคุกคามประชาชนโดยอำนาจรัฐ หรือโดยทุนที่รัฐทำเป็นมองไม่เห็นจะมีขึ้นอย่างมากมาย ระบบความยุติธรรมจะรวนเร ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นนักเขียน เราไม่เด็กแล้ว เราต้องเขียนหนังสือให้มีประเด็นชัดเจนมากขึ้น” นักเขียนรางวัลรพีพรทิ้งท้าย

 

............................

 

สำหรับศิลปิน กวี และนักเขียนรวม 46 คน ในเล่ม “ความกดอากาศต่ำ” ประกอบด้วย

      

       1 จำลอง ฝั่งชลจิตร : ความกดอากาศต่ำยังอยู่อีกนาน

       2 เจน สงสมพันธุ์ : กองพลเสือดำกำจร

       3 รัตนชัย มานะบุตร : The Man with No plan

       4 กำพล นิรวรรณ : ความลับแห่งหุบเขาเซียน็อก

       5 คฑาวุธ ทองไทย : จากความหิวในเมืองใหญ่

       6 อี๊ด โอภากุล : เธอเห็นหมอกควันนั่นไหม

       7 เอก อัคคี : พ่อที่จับต้องได้ (ในความกดอากาศต่ำ)

       8 ศิริวร แก้วกาญจน์ : ความสะอาดเอี่ยมอันน่าเหนื่อยหน่าย

       9 คีตญา อินทรแก้ว : เมื่อหย่อม “ความกดอากาศต่ำ” เคลื่อนตัว

       10 วิโชติ ไกรเทพ : อิ๊

       11 อภิชาติ จันทร์แดง : ก็หมอกควันหนาหนักขนาดนั้น

       12 วิสุทธิ์ ขาวเนียม : ก่อนคืนจันทร์เต็มดวง

       13 พงศกร จงรักษ์ : การกระพือปีกของผีเสื้อในประเทศบราซิล ก่อให้เกิดพายุทอนาโดในรัฐเท็กซัสได้หรือไม่?

       14 โรสนี : ไกลกว่ารั้วบ้านของเราเอง

       15 พยัต ภูวิชัย : ควันและไฟ

       16 เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ : คือธุลีทั้งนั้นท่านทั้งหลาย

       17 เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ : คุณควรใช้ผ้าปิดจมูกเมื่อต้องออกจากบ้าน และงดเล่นกีฬากลางแจ้ง

       18 สมชาย บำรุงวงศ์ : จดหมาย

       19 จเด็จ กำจรเดช : อากาศเป็นของฟรี

       20 มนตรี ศรียงค์ : โจโกวีเพื่อนรัก

       21 ประมวล มณีโรจน์ : แด่ทุกความกดอากาศต่ำที่ต่ำต้อย

       22 ขวัญยืน ลูกจันทร์ : ทรมานบันเทิง

       23 ธัช ธาดา : ผู้หญิงหลังกระจก

       24 เริงวุฒิ มิตรสุริยะ :ในเย็นวันหนึ่งที่หมอกควันห่มคลุม อองรี มูโอต์ ตายแล้ว?

       25 สุรชัย พิงชัยภูมิ : ในร้านกาแฟชื่อ Kafkafe

       26 อังคาร จันทาทิพย์ : บ้านเรือนชาวซีเรีย

       27 ชาคริต โภชะเรือง : บารอมิเตอร์แห่งเมืองระกา

       28 ปราชญ์ อันดามัน : ก่อนลับเลือนหายไปพร้อมควันไฟ การหลงลืมครั้งแล้วครั้งเล่าของเรา

       29 ไลลักษณ์ อุปรานนท์ : เม็ดฝนไม่อยากเป็นแม่น้ำ ถ้อยคำไม่อยากเป็นบทกวี

       30 บุญส่ง นาคภู่ : มันก็แค่หมอก

       31 นฤพนธ์ สุดสวาท : ไม่มีใครได้กลิ่นทะเลบนยอดมงบลังค์

       32 บัณรส บัวคลี่ : เราเป็นประชาคม

       33 ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ : เรื่องเล่า ณ 5 องศาเหนือเส้นศูนย์สูตร

       34 ศุภวัลยา ปรางแก้ว : เลือน

       35 ณขจร จันทวงศ์ : สมรภูมิของพวกเขา

       36 ชิด ชยากร : สวมรอย

       37 สิรินทร์ สิริน : ได้กลิ่นควันไฟมั้ยคะ

       38 เสน่ห์ วงษ์กำแหง : หมอกควันวันวิกฤต

       39 เรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ : หมอกควันไร้สัญชาติ

       40 กิตติศักดิ์ คเชนทร์ : หลงทางในหมอก

       41 สุไฮมี สะมะแอ : เหมือนมียามเช้าตลอดเวลา

       42 สาโรจน์ ปาละกวงศ์ ณ อยุธยา: ภาพถ่าย

       43 อรรถพล เยี่ยมสิริวุฒิ : ภาพถ่าย

       44 ปรเมศวร์ กาแก้ว : ภาพถ่าย

       45 จิระนันท์ พิตรปรีชา : ภาพถ่าย & บทกวี

       46 สุรชัย จันทิมาธร : บ่มเพาะ

      

หนังสือ “ความกดอากาศต่ำ” สามารถหาอ่านได้ที่ร้านจำหน่ายหนังสือขั้นนำและนอกกระแสทั่วประเทศ

 

ชมภาพบรรยากาศภายในงาน