จากราไวย์ถึงบ้านควนตรัง บทเรียนเอกสารสิทธิ์

 

นักวิชาการ ยกปมที่ดินหาดราไวย์-บ้านควน บทเรียนออกเอกสารสิทธิ์ สะท้อนปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน ทั้งในรูปของที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งตัวอย่างของ "ความขัดแย้งในสังคมไทย" หลายพื้นที่ อันมีสาเหตุจากการมอง "สิทธิในที่ดิน" ที่แตกต่างกันของรัฐ กลุ่มธุรกิจเอกชน และประชาชน

 

 

 

เปิดเวทีกลางกทม. นักวิชาการ ยกปมที่ดินราไวย์-บ้านควนตรัง บทเรียนออกเอกสารสิทธิ์

 

ปัญหาความขัดแย้งในที่ดิน ทั้งในรูปของที่ทำกินและที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งตัวอย่างของ "ความขัดแย้งในสังคมไทย" หลายพื้นที่ อันมีสาเหตุจากการมอง "สิทธิในที่ดิน" ที่แตกต่างกันของรัฐ กลุ่มธุรกิจเอกชน และประชาชนที่เดือดร้อน จึงทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเพื่อยุติความขัดแย้งไว้ชั่วคราวแต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริง รวมถึงการขาดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม

         

เพื่อเป็นการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างยั่งยืน เมื่อเร็วๆนี้ ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้จัดเวทีเสวนานำเสนองานวิจัย "ทางออกปัญหาที่ดินหาดราไวย์ : การปฏิรูประบบ การออกเอกสารสิทธิ์" ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีนางจันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ รองผู้อำนวยการ สกว. ด้านการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ นายบัญชร แก้วส่อง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว.  นายไพสิฐ พานิชกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายเพิ่มศักดิ์  มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล นายอิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์  ศูนย์ประสานการศึกษานโยบายที่ดิน  นางปรีดา คงแป้น ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท นายคมสัน หลงละเลิง หัวหน้าโครงการ วิจัยฯบ้านควน และนายกิตติพงษ์ ผลประยูร ที่ดินจังหวัดตรัง ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน

 

สำหรับเวทีเสวนาดังกล่าวได้นำเสนอข้อมูลและชุดความรู้ที่ได้จากการทำ "วิจัยเพื่อท้องถิ่น" 2 โครงการ คือ 1.งานวิจัยด้านการจัดการที่ดินพื้น จ.ภูเก็ต ที่มีพื้นที่กรณีหาดราไวย์ร่วมอยู่ด้วย ภายใต้ชุดโครงการเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัยของชุมชนอย่างยั่งยืน และ 2.โครงการวิจัยกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้กรณีการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ต.บ้านควน  อ.เมือง จ.ตรัง

         

นางจันทร์จรัส เรี่ยวเดชะ กล่าวว่า เรื่องของที่ดินเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำในที่ดิน ซึ่งเป็นประเด็นที่นำมาสู่ความขัดแย้ง และก่อให้ เกิดปัญหาสังคม และปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยงานวิจัยก่อให้เกิดความรู้ 2 ลักษณะ คือความรู้แนวราบ ซึ่งเป็นความรู้จากการแลกเปลี่ยนระหว่างพื้นที่กับพื้นที่ ชุมชนกับชุมชน และความรู้แนวดิ่ง ที่เป็นข้อมูลทางวิชาการ ซึ่งผ่านการค้นคว้าข้อมูล และ หลักฐานต่างๆมาประกอบ เพื่อใช้ในการอ้างอิงเพื่อการแก้ปัญหาต่อไป 

 

ด้านนายปรีดา คงแป้น กล่าวว่า งานวิจัยด้านการจัดการที่ดินพื้น จ.ภูเก็ต ได้ดำเนินการสืบค้นข้อมูลประวัติศาสตร์ การตั้งถิ่นฐาน และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อยืนยันสิทธิชุมชนดั้งเดิม และการนำสู่การแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ซึ่งยืนยันว่าชาวเลเข้ามาอาศัยในหาดราไวย์กว่า 300 ปี  มีวิถีชีวิตด้านการทำประมงดั้งเดิม ที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและพิธีกรรม แต่การพัฒนาภูเก็ตให้เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้สภาพทางสังคม ชุมชนบ้านราไวย์ เปลี่ยนแปลงไปด้วย เกิดปัญหาทางโครงสร้าง และมีความซับซ้อนสะสมมาหลายรัฐบาล ขณะที่ปัจจุบันชาวเลราไวย์เป็น ผู้ไร้สิทธิในที่ดินจากการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการครอบครองที่ดิน โดยการกำหนดให้เป็นไปตามเอกสารทางราชการ และถูกดำเนินการฟ้องร้องกว่า 100 ราย

         

"ภายใต้ความสวยงาม ถูกซุกซ่อนความมืดมน ชุมชนชาวเลราไวย์ กว่า 200 ครอบครัว ดำเนินชีวิตโดยไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะค่าไฟสูงเกินปกติกว่า 3 เท่า หรือมากกว่านั้น บางครอบครัวใช้ไฟเพียง 2 ดวง แต่ต้องจ่ายค่าไฟ เดือนละ 1,500 บาท ในขณะที่ห้องน้ำ มีไม่ถึง30%" ดังนั้นควรมีการบรรเทาในเรื่องระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการเร่งรัดเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเอกชนบางส่วนและมีมาตรการคุ้มครองพื้นที่พิธีกรรมและพื้นที่ทางจิตวิญญาณญาณ ตลอดจนการเยียวยาชาวเลราไวย์บนฐานที่ถูกกระทำมายาวนาน และการจัดระบบที่ดินเป็นพื้นที่โฉนดรวมหลังจากการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของเอกชน เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต"นายปรีดาระบุ

 

 

ด้านนายคมสัน หลงละเลิง หัวหน้าโครงการวิจัยฯบ้านควร จ.ตรัง กล่าวว่า วิธีวิจัยทำให้ชาวบ้านควนต้องมีการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของชุมชน การสืบค้นข้อมูลเอกสารจากการจัดตั้งตรังเป็นมณฑลเทศาภิบาลภูเก็ตตั้งแต่ ปี 2473 และได้มีคำสั่งให้สำรวจที่และ การประกาศพื้นที่สาธารณประโยชน์ ทับที่ทำกินของชาวบ้าน จนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนนำไปสู่ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา

         

"18-19 ปี ที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านควนผ่านกระบวนการเรียนรู้มากมาย มีการปรับกระบวนการทำงาน ปรับยุทธศาสตร์  ในการต่อสู้ ต่อรองกับผู้รับผิดชอบหรือส่วนราชการที่มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาอยู่ในตำแหน่งต้องมีการมาเริ่มทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลใหม่  ทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง"นายคมสันกล่าว

         

นายคมสัน กล่าวว่างานวิจัยที่ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของปัญหาเป็นนักวิจัยเองและเกิดทางออกทางคลี่คลายของปัญหาได้อย่างดี รูปธรรม คือ ชาวบ้านมีโฉนดที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิ์ของตนเอง โดยปัจจุบันสำนักงานที่ดินจ.ตรังได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ชาวบ้านแล้ว59 ราย 176 แปลง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1,574 ไร่ หรือ เท่ากับ 45%

         

 

ขณะที่ นายไพสิฐ  พานิชกุล กล่าวว่า กรณีบ้านควนถือเป็นตัวอย่างสำคัญของการเกิดความเหลื่อมล้ำของคนระดับล่างอันเกิดจากความไม่เป็นธรรมในด้านสิทธิพื้นฐานที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แม้งานวิจัยจะทำให้เกิดผลที่ไม่สำเร็จ 100% แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญให้กับพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาลักษณะใกล้เคียงกันได้ และโครงการนี้ที่ทำขึ้นก็เพื่อให้คนในพื้นที่ได้เรียนรู้ร่วมกัน อย่างไรก็ดี งานวิจัยทั้ง 2 โครงการน่าจะใช้เป็นต้นแบบของรัฐในแนวทางการจัดการปัญหาด้านการจัดการที่ดินทำกิน ที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่เกิดปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการเรื่องที่ดินของรัฐ กับ การปฏิรูปที่ดิน และการออกเอกสารสิทธิ์ เพื่อขจัดปัญหาและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงานวิจัยท้องถิ่น คณะทำงานโครงการวิจัยกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้กรณีการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ต.บ้านควน  อ.เมือง จ.ตรัง ได้รับเชิญให้เดินทางไปยังททบ.5 เพื่อบันทึกเทปรายการ “จับประเด็นข่าวร้อน” ออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเวลา 22.00 น. อีกด้วย

         

ที่มาข่าว : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ภาพประกอบ : ขนิษฐา จุลบล