5มีนาฯ วันนักข่าว เพราะทุกคนคือ “นักข่าว”

 

“วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ในประเทศไทยตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย จนวันนี้รวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” ทำหน้าที่คู่สังคมไทยมาจนปัจจุบัน และต้องไม่ลืมเล่าเรื่องชายที่ชื่อ อิศรา อมันตกุล

 

 

5มีนาฯ วันนักข่าว เพราะทุกคนคือ “นักข่าว”

บทความโดย กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

 

“วันนักข่าว” หรือ “วันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ” ในประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับ วันสถาปนา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 นั่นเอง

 

โดยนักข่าวรุ่นบุกเบิก จำนวน 15 ท่าน คือโชติ มณีน้อย, เท่ห์ จงคดีกิจ, ประจวบ อัมพะเสวต, วิเชียร โรจนวงศานนท์, ถาวร มุ่งการดี, สนิท เอกชัย, เชาว์ รูปเทวินทร์, จรัญ โยบรรยงค์, กุศล ประสาร, ชลอ อาภาสัตย์, อนงค์ เมษประสาท, วิสัย สุวรรณผาติ, นพพร ตุงคะรักษ์, วิภา สุขกิจ และเลิศ อัศเวศน์ นัดหมายกันที่ศาลานเรศวร ในสวนลุมพินี โดยมีชาญ สินศุข จากสยามนิกร เป็นประธานการประชุม

 

โดยหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ ต่างก็ให้ความสำคัญกับวันสำคัญของพวกตนเป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นประเพณีที่ทราบกัน ระหว่างหนังสือพิมพ์กับผู้อ่านว่า วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี จะไม่มีหนังสือพิมพ์วางจำหน่าย เนื่องจากเป็นวันหยุดงานประจำปีของบรรดากระจอกข่าวทั้งหลายนั่นเอง แต่แล้วหนังสือพิมพ์ก็แอบออกวางจำหน่ายในวันที่ 6 มีนาคม เนื่องจากประชาชนผู้อ่านตื่นตัว และต้องการรับข่าวสารมากขึ้น จึงทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นต้องเลิกประเพณีดังกล่าวไป

 

สมาคมนักข่าวฯ ได้กำหนดให้ วันที่ 4 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อให้วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดเฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่ ในงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี แต่เดิมมางานทั้งสองจัดขึ้น ณ ที่ทำการสมาคมฯ อาคาร 8 ถนนราชดำเนิน ซึ่งบริเวณริมฟุตบาทใกล้เคียง ก็เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาเหยี่ยวข่าว นัดพบปะสังสรรค์กันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลัง จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างมาก และถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลัก มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก รวมถึงสถานที่ยังคับแคบ ส่งผลให้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้สัญจรไปมา จึงได้ย้ายสถานที่จัดการประชุมไปยังโรงแรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม

 

ต่อมา สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย เข้ารวมกับ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลายเป็น “สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2542 แต่ยังคงกำหนดให้วันที่ 5 มีนาคม เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสมาคมฯ และวันนักข่าว จนถึงปัจจุบัน

 

 

หากมองย้อนกลับไปในวงการ “นักข่าว” เมืองไทย ต้องเล่าเรื่องของ “อิศรา อมันตกุล” เดิมชื่อ อิบรอฮีม อะมัน  ผู้มีฉายาว่า “นักบุญ” เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ คนสำคัญของประเทศไทย และ เป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยคนแรก

 

“อิศราจัดหน้าและเขียนเองเป็นส่วนมาก เขามีความสามารถในการเขียนคอลัมน์และภาพประกอบได้อย่างดีพอสมควร เรื่องที่เขียนไม่ว่าเรื่องเล็กน้อย กระจุกกระจิกประการใด สำนวนโวหารมีเสน่ห์ชวนอ่านเสียทั้งสิ้น เขียนได้หลายแบบ ไม่เฉพาะนวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องยาว สารคดีและคอลัมน์ต่างๆ ได้คล่องเท่ากัน”

 

อิศรา อมันตกุล เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2463 เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 10 คน ของ นาย ม.ชาเลย์ และ นางวัน เรียนชั้นประถมศึกษา โรงเรียนบำรุงวิทยา และจบมัธยมศึกษาปีที่ 8 จาก โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ทำงาน เป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ร่วมกับคณะมิชชันนารี ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ประมาณ 2 ปี   จึงเดินทางกลับเข้ากรุงเทพมหานคร

 

อิศรา อมันตกุล มีความถนัดในการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นผู้มีคะแนนยอดเยี่ยมทางภาษาอังกฤษในระดับประเทศ ผลงานคอลัมน์การใช้ภาษาอังกฤษ ใช้นามปากกา “แฟรงค์ ฟรีแมน นอกจากงานหนังสือพิมพ์แล้ว เขานิยมเสนอความคิดทางการเมืองในรูปแบบงานประพันธ์และวรรณกรรม

 

ผลงานด้านการประพันธ์ทั้งเรื่องสั้น และเรื่องยาวหลายชิ้นมีการนำเสนอความคิดทางการเมืองอย่างชัดเจน เช่น เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี, นาถยา – สถาพร ผู้กลับมา และข้าจะไม่แพ้

 

อิศรา อมันตกุลชอบทำงานอิสระของตนเองมากกว่าที่จะเข้าสังกัด ชีวิตหนังสือพิมพ์เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ – ประชามิตร ร่วมกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และ มาลัย ชูพินิจ และได้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สุวัณณภูมิ ร่วมกับทองเติม เสมรสุตเป็นผู้ออกแบบตราสัญลักษณ์ของสมาคมนักข่าวในครั้งนั้น), วิน บุญอธึก, สว่างวงศ์ กรีบุตร, เสนีย์ เสาวพงศ์ และวิตต์ สุทธเสถียร

 

ภายหลังได้ทำหนังสือพิมพ์อีกหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์บางกอกรายวัน, หนังสือพิมพ์เอกราช, หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยเบื้องหลังข่าว, หนังสือพิมพ์บางกอกเดลิเมล์

 

อิศรา อมันตกุล ถูกอำนาจเผด็จการยุคนั้นจับกุมไปคุมขังที่เรือนจำลาดยาว ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเวลา 5 ปี 10 เดือน ได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระโดยไม่มีการฟ้องร้องศาลแต่อย่างใด ภายหลังได้ทำงานที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

ชีวิตการต่อสู้เป็นแบบอย่างการทำข่าวเจาะ และเขาเป็นแบบอย่างของนักหนังสือพิมพ์ผู้เคร่งครัดในหลักจริยธรรมวิชาชีพ จนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ นำชื่อมายกย่องตั้งเป็นชื่อ “รางวัลอิศรา” ให้กับผลงานข่าว – ภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี

 

“หนังสือพิมพ์ในสายตาของคนทั่วไปอาจเป็นเศษกระดาษ ซึ่งเมื่ออ่านเสร็จแล้วก็โยนทิ้งไป หรืออย่างดีก็เก็บเอาไว้ชั่งกิโลขายเจ๊ก ถึงอย่างไร  ผมอยากจะกล่าวว่าหนังสือพิมพ์คือเอกสารทางประวัติศาสตร์สันต่อวัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ เดือนต่อเดือน ปีต่อปี นั่นเอง หนังสือพิมพ์วันนี้ ย่อมจะกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในวันหน้าไปอย่างแน่นอนมิพักต้องสงสัย” เป็นคำพูดของอิศรา อมันตกุล

 

อิศรา อมันตกุล ถึงแก่กรรมเมื่อ 14 มีนาคม 2512 ด้วยโรคมะเร็ง แต่แบบอย่างที่งดงามในความหนักแน่นต่อหลักจริยธรรม ความรักในเสรีภาพ และการต่อสู้ต่ออำนาจเผด็จการแม้แลกด้วยอิสรภาพของตนเอง เป็นแรงบันดาลใจให้เพื่อนร่วมวงการหนังสือพิมพ์ เสริมศรี เอกชัย (เรือใบ) เขียนถึงเขาไว้ในหนังสือวันนักข่าว 5 มีนาคม ชื่อบทความ “อิศรา ตัวตายแต่ชื่อยัง”

 

สำหรับมูลนิธิ อิศรา อมันตกุล นั้นก่อตั้งขึ้นมาได้สำเร็จด้วยความเสียสละร่วมกันของบุคคลต่างๆมากมายหลายฝ่าย โดยมีความประสงค์ต้องตรงกันอยู่ที่เป้าหมายเดียวกันคือ ปณิธานที่จะเชิดชูเกียรติคุณของคุณอิศรา อมันตกุล ไว้ให้ปรากฎเพื่อจะได้เป็นพลังให้แก่เพื่อนนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนรุ่นหลัง และต่อมามูลนิธิอิศรา อมันตกุล ได้มอบหมายให้สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย (ต่อมายุบรวมกับสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.  2543)

 

ดำเนินการจัดการประกวดรางวัลอิศรา อมันตกุล เพื่อให้รางวัลแก่ผลงานข่าวและภาพข่าวยอดเยี่ยมประจำปี โดยเริ่มต้นการประกวดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2515 และมีพิธีมอบรางวัลครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2516

 

สำปรับประเทศไทย ในวันนี้ที่โลกการสื่อสารขยายตัวกว้างไกลไร้ขีดจำกัด เมื่อหันกลับมามองบริบทของการสื่อสารในปัจจุบัน เราจะนึกถึงคำว่า “นักข่าว” ซึ่งในปัจจุบันบริบทแห่งความหมายได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะทุกคนสามารถสื่อสารได้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยีใหม่ และสามารถเป็น “นักข่าว” กันได้ทุกคน แต่จะเป็น “นักข่าวที่ดี” หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง...