วิจัยที่ดินบ้านควนคว้ารางวัลผลงานวิจัยเด่น

 

สกว.มอบรางวัล 21 ผลงานวิจัยเด่น ประจำปี 2558 หวังเป็นต้นแบบของงานวิจัยสร้างประโยชน์ต่อสังคมในทุกมิติ วิจัยที่ดินบ้านควนตรัง คว้ารางวัลผลงานวิจัยเด่นปี 2558 ด้านชุมชน ทีมวิจัย เผย สำเร็จได้เพราะทีม ชาวบ้านได้เอกสารสิทธ์แล้ว 45% ต้องก้าวเดินต่อ

 

 

 

วิจัยที่ดินบ้านควนคว้ารางวัลผลงานวิจัยเด่น 2558 ระดับประเทศ ด้านชุมชน

 

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)จัดพิธีมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่นสกว. ประจำปี 2558 โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ความรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”

         

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันพร้อมที่จะสนับสนุนและพัฒนาระบบวิจัยในทุกด้าน เนื่องจากความรู้จากงานวิจัย นอกจากจะช่วยเสริมสร้างฐานใหม่ของประเทศแล้ว ยังช่วยเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อาทิ กระแสการเปิดเศรษฐกิจเสรี การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล และที่สำคัญองค์ความรู้ที่ได้ ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ซึ่งเชื่อว่าหากประชาคมวิจัยและแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัยเช่น สกว. คำนึงถึงความจำเป็นของการสร้างความรู้และการสร้างโอกาสให้กับประชาชนได้เข้าถึงความรู้ จะสามารถพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงสมดังเป้าหมาย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

         

ด้าน ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่าเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นปีนี้ คือ ต้องเป็นผลงานที่ประสบผลสำเร็จมีผู้ใช้ประโยชน์ และเห็นผลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558โดยผลงานสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการที่เกี่ยวข้องหรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม หรือนำไปสู่การพัฒนาในวงกว้างดำเนินงานตรงตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้รวมถึงมีวิธีการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ

         

ทั้งนี้ผลงานวิจัยเด่นจะเป็นตัวแบบของการทำงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ เพื่อยกระดับวงวิชาการ การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพและเพิ่มมูลค่าให้แก่ภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมตลอดจนการวิจัยเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างสังคมการเรียนรู้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นซึ่งการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นในทุกระดับนี้จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

         

สำหรับผลงานเด่นวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกมีจำนวนทั้งสิ้น21 ผลงาน ประกอบด้วย ผลงานวิจัยเด่นด้านนโยบาย จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่1. แนวทางการพัฒนาพุน้ำร้อนเค็มคลองท่อม จังหวัดกระบี่ อย่างยั่งยืน ผศ.ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2. เมธีวิจัยอาวุโส สกว.เพื่อพัฒนาศักยภาพการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ดร. นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

         

ผลงานวิจัยเด่นด้านสาธารณะ จำนวน 5ผลงาน ได้แก่ 1.การประเมินศักยภาพการเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพด้วยการหมักร่วมและอัตราการทดแทนเชื้อเพลิงไม้ฟืนของสหกรณ์ผลิตยางแผ่นรมควันรศ. ดร.สุเมธ ไชยประพัทธ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2. โครงการวิจัยเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนที่สามารถช่วยในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการทางกายภาพในชนบทที่ห่างไกล ผศ. ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 3.องค์ความรู้พื้นฐานและประยุกต์ของโรคปรสิตและปรสิต ศ. ดร.วันชัย มาลีวงษ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น 4.การพัฒนาต้นแบบการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV อย่างยั่งยืนด้วยการฝากยีนต่อต้านการติดเชื้อHIV ชนิดพิเศษในเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดดร.วรรณนิษา คำอ้ายกวิน และ ศ. ดร.ชัชชัย ตะยาภิวัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 5.การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาทมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

         

ผลงานวิจัยเด่นด้านพาณิชย์ จำนวน 3ผลงาน ได้แก่ 1.การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อการผลิตเป็นอาชีพวิสาหกิจชุมชน ผศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสรุนารี 2.การวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารและการสร้างแต้มต่อทางธุรกิจ “วิจัยได้...ขายจริง”ผศ. ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 3.โครงการพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพแบบบูรณาการในการแปรสภาพวัสดุชีวมวลทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเพื่อต่อยอดสู่ระดับอุตสาหกรรมศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

         

ผลงานวิจัยเด่นด้านชุมชนและพื้นที่จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่ 1.การพัฒนาระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำเชียงใหม่สู่มาตรฐานฟาร์มและโอกาสทางการเกษตรรศ. ดร.ศิริพร กิรติการกุล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2. การวางแผนจัดการแบบมีส่วนร่วมเพื่อความมั่นคงด้านน้ำจังหวัดสมุทรสงครามนายชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม 3.การพัฒนารูปแบบการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งเพื่อการพึ่งตนเองของชาวประมงพื้นบ้านในตำบลเกาะสาหร่ายอำเภอเมือง จังหวัดสตูล ผศ. ดร.ชัยรัตน์ จุสปาโล มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 4.รูปแบบการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงสูงและต่ำจังหวัดนครศรีธรรมราช รศ. ดร.จรวย สุวรรณบำรุง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 5.ชุดโครงการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ตำบลดงพญาอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน นายเมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล สมาคมคนต้นน้ำ อำเภอบ่อเกลือจังหวัดน่าน

 

6.กระบวนการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้กรณีการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง นายคมสัน หลงละเลิง ทีมงานภาคประชาชน

         

และผลงานวิจัยเด่นด้านวิชาการ จำนวน 5ผลงาน ได้แก่ 1.การประยุกต์ใช้แสงซินโครตรอนในการศึกษาสมบัติพิเศษของวัสดุขั้นสูงสำหรับใช้ในเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ผศ. ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 2.ซิลเทมาติคส์และชีวภูมิศาสตร์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดิน (หอยทาก กิ้งกือตะขาบ และไส้เดือน) และบทบาทในระบบนิเวศเชิงเกษตร ศ. ดร.สมศักดิ์ ปัญหาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3.ผลของยาต้านเบาหวานและเอสโตรเจนต่อการเรียนรู้และความจำของสมองในภาวะอ้วนและขาดฮอร์โมนเพศหญิงศ. ดร. ทพญ.สิริพร ฉัตรทิพากร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4.การสังเคราะห์และพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารอินทรีย์ชนิดใหม่สำหรับใช้ในอุปกรณ์ออปโตอิเล็กทรอนิกส์ดร.อมรรัตน์ แท่งทอง และ ศ. ดร.วินิช พรมอารักษ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 5.การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมสำหรับผู้ป่วยขาดน้ำลาย ศ. ดร. ภก.จีรเดช มโนสร้อยและ ศ. ดร. ภญ.อรัญญา มโนสร้อย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ด้านนายคมสัน หลงละเลิง ทีมวิจัยกระบวนการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้กรณีการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ www.addtrang.com ว่า สำหรับรางวัลที่ได้รับ ทีมวิจัยทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การทำงานทั้งหมดต้องอาศัยทีมขับเคลื่อน ทั้ง สกว. สำนักงานที่ดินจังหวัดตรัง ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชาวบ้านตำบลบ้านควนที่ร่วมกันสานเจตนารมย์ของคุณมานพ ช่วยอินทร์ ที่ต่อสู้ในเรื่องนี้มาต่อเนื่อง แม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว แต่ทีมงานทุกคนยังคงสานต่อ งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยสร้างความร่วมแรงร่วมใจ ทำให้คนในพื้นที่ไดมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นในการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน อย่างไรก็ตามแม้งานวิจัยจะได้รับรางวัล แต่การะบวนการการทำงานยังคงต้องดเนินต่อไป เพราะขณะนี้ชาวบ้านได้รับเอกสารสิทธิ์มาแล้ว 45% ยังเหลืออยู่ระหว่างดำเนินการหาข้อมูลเพื่อเข้ากระบวนการพิสูจน์สิทธิ์อีก 55 % ตามกระบวนการและทิศทางการต่อสู้ในเรื่องการพิสูจน์สิทธิ์ โดยหลังจากนี้ยังคงทำงานต่อเนื่องและได้ตั้งผู้แทนแต่ละหมู่บ้านเป็นหัวหน้าทีมในการค้นคว้าหาข้อมูลด้านประวัตติที่ดินเพื่อต่อสู้เรียกร้องต่อไป

 

 

ที่มา: http://www.dailynews.co.th