สำรวจพะยูนทะเลตรังเพิ่มขึ้นมากกว่า150ตัว

 

ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เผยผลบินสำรวจพะยูนปีนี้พบฝูงพะยูนเพิ่มจำนวนมาก จากการบินสำรวจเบื้องต้นคาดว่าจำนวนประชากรพะยูนมีมากกว่า 150 ตัว 

 

  

ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เผยผลบินสำรวจพะยูนปีนี้พบฝูงพะยูนเพิ่มจำนวนมาก จากการบินสำรวจเบื้องต้นคาดว่าจำนวนประชากรพะยูนมีมากกว่า 150 ตัว โดยเฉพาะพะยูนแม่ลูกเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 คู่ แต่พบพะยูน 1 ตัว  มีเศษอวนติดที่บริเวณค่อนหาง ซึ่งทางศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เตรียมประสานหารือทีมแพทย์ช่วยเหลือให้มีชีวิตรอด

                   

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559  ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้ส่งนักวิชาการกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก นำโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการประมงชำนาญการ กลุ่มสัตว์ทะเลหายากพร้อมเจ้าหน้าที่ และนักบินชาวต่างชาติ นำเครื่องบินเล็ก  ทำการบินสำรวจพะยูนในทะเลตรัง นับตั้งแต่วันที่ 3-10 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อนับจำนวนประชากรพะยูน ที่เหลือแต่ละปี และเพื่อนำข้อมูลมาพยากรณ์ว่าจำนวนของพะยูนที่พบหรือหายไป จะสามารถบอกสถานการณ์ของพะยูนในอนาคตได้ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ทะเลหายาก ที่ขณะนี้เหลือฝูงใหญ่ที่สุดคือ ที่จังหวัดตรัง จากการสำรวจประชากรพะยูนในปีนี้ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่พบฝูงพะยูนเพิ่มจำนวนมากขึ้น และพบพะยูนแม่ลูกเพิ่มขึ้นมากว่า 10 คู่ ซึ่งส่งผลดีต่อจำนวนประชากรพะยูนในจังหวัดตรัง ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น

                  

ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีที่ 9 ที่มีการสำรวจทางอากาศติดต่อกัน ในแต่ละปีที่ผ่านมาพบจำนวนพะยูนอยู่ที่ 120-150 ตัว แต่ปีนี้ จากจำนวนที่พบในขั้นต้น คาดว่าจะพบไม่ต่ำกว่าปีที่แล้ว น่าจะอยู่ที่ 150 ตัวขึ้นไป แล้วก็พบพะยูนฝูงใหญ่จำนวน 3 ฝูง แต่ละฝูงอยู่ที่ประมาณ 10-20 ตัว จนถึงประมาณ 50 ตัว รวมแล้วแต่ละเที่ยวพบไม่น้อยกว่า 90 ตัวขึ้นไป และปีนี้จากค่าคำนวณประชากรพะยูนทั้งหมด น่าจะเกิน 150 ตัว และพบเห็นพะยูนคู่แม่ลูก จำนวน 10 กว่าคู่ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เป็นข้อมูลที่ดีว่า พะยูนมีการเจริญเติบโตของประชากร ซึ่งมีลูก 10 กว่าตัวก็คือมีอัตราการเพิ่มของประชากรพะยูน มากว่า10 กว่าตัวขึ้นไป แต่เราก็เจอพะยูนหนึ่งตัวที่มีปัญหาของการติดเศษอวน ที่บริเวณค่อนหางซึ่งเราพยายามช่วยเหลือต่อไป

                              

ดร.ก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดในการอนุรักษ์ให้เกิดประสิทธิภาพให้สูงสุดนั้นต้องเน้นในชุมชนในการเฝ้าระวังพื้นที่ ในการดูแลปกป้องและป้องกันพะยูน ไม่ให้มีการล่าพะยูนหรือการใช้เครื่องมือประมงผิดประเภทซึ่งจะส่งผลอันตรายกับพะยูน โดยสาเหตุหลักๆที่ทำให้พะยูนตายประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ มาจากกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมนุษย์ โดยเฉพาะเครื่องมือประมง เนื่องจากผลการผ่าชันสูตรพบว่า พะยูนเสียชีวิตขณะยังมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ยังกินอาหารได้ตามปกติ เพราะพบอาหารเต็มในกระเพาะอาหาร อีกทั้งปีนี้จากการบินสำรวจปีนี้พบพะยูน 1 ตัวที่มีอวนติดที่ค่อนหางของพะยูนอีกด้วย และทางศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน ได้เตรียมประสานหารือทีมแพทย์ลงทำการช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้พะยูนที่ตรังถือเป็นฝูงใหญ่ที่สุด โดยทั้งประเทศพบพะยูนประมาณ 200-250 ตัว ฝูงใหญ่ที่สุดประมาณ 70% อยู่ที่ จ.ตรัง ถ้าเราสามารถอนุรักษ์พะยูนใน จ.ตรังได้ แสดงว่าประเทศไทยก็จะมีโอกาสรอดของประชากรพะยูนสูงมาก

 

 

เครดิตภาพ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง