“ทับเที่ยง” ในภาพวาด

ที่มาที่ไปของภาพวาดสีน้ำอันงดงามชุดนี้ วาดโดยนักศึกษาจากสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เสมือนเป็นของขวัญให้กับ “คนตรัง” 

 

 

เมืองทับเที่ยง” หรือ “เทศบาลนครตรัง” เป็นเมืองที่เก่าแก่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี แต่ที่พูดกันในปี 2559 นี้ คือปีของการย้าย “เมืองตรัง” จาก “กันตัง” มาตั้งที่ “ทับเที่ยง” ครบ 100 ปี ในเดือน มกราคม 2559 นี้เอง ดังมีหลักฐานปรากฏชัดเจนถึงความรุ่งเรืองของเมืองทับเที่ยง ในฐานะเองท่าค้าขายที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ แม้ในขณะนั้นศูนย์กลางการปกครองของเมืองตรังไม่ได้ตั้งที่ทับเที่ยง แต่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่สืบทอดมายาวนานนี้เองที่เป็นแรงดึงดูดให้กลุ่มคนจากหลากหลายชาติพันธ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ย่านใจกลาง จนทำให้เกิดสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ อันเกิดจากการผสมผสานกันของวัฒนธรรม ทั้งสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นดั้งเดิม สถาปัตยกรรมเรือนแถวไม้แบบจีน สถาปัตยกรรมตึกแถวแบบจีน อาคารตึกแถวแบบชิโนยูโรเปียน สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม ที่มักเรียกกันว่า ชิโนโปรตุกีส ในปัจจุบันจึงถือได้ว่า เมืองทับเที่ยง เป็นแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่ามากแห่งหนึ่งของประเทศ (ข้อมูลโดย อาจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู รองคณะบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง)

 

ที่เกริ่นมาด้านบน ก็เพื่อนำความและพาทุกท่านชมภาพวาดสีน้ำ รวมทั้งดรออิ้งลายเส้นภาพสวยๆฝีมือนักศึกษา กับภาพบ้านเรือน อาคารเก่ารอบตัวเมืองทับเที่ยง ซึ่งอยู่คู่กับเราคนตรังมายาวนาน ภาพวาดเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังไม่ใช่ทั้งหมด แต่เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือตลอดจนความปรารถนาดีของนักศึกษาผู้ร่วม “โครงการบริการวิชาการเพื่อสังคมโครงการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม : ทับเที่ยง Vernadoc” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-22 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา โดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง” ภายใต้การสนับสนุนของ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง”

 

Vernadoc คือ การรังวัดตัวอาคารโดยละเอียด โดยกิจกรรมหลัก คือ การปฏิบัติการสำรวจและรังวัดอาคารที่เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมในเมืองทับเที่ยง จำนวนทั้งสิ้น 12 อาคาร โดยเทคนิครังวัดแบบใช้ลายเส้น (Vernadoc) และนำผลงานมาจัดแสดงนิทรรศการประกอบกิจกรรมเสวนาสาธารณะในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ และเป็นการสร้างฐานข้อมูลด้านมรดกทางสถาปัตยกรรมอันเป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานในการวางแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเมืองในอนาคต เป็น “ก้าวแรก” เพื่อรอให้ทุกคนมาร่วมก้าวต่อไป

 

ย้อนกลับมาถึงที่มาที่ไปของภาพวาดสีน้ำอันงดงามชุดนี้ เกิดจาก “อาจารย์ปริญญา ชูแก้ว” อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่นำนักศึกษามาร่วมโครงการ ได้ถ่ายภาพจากสถานที่จริงนำกลับไปมากมาย และเริ่มมอบหมายให้นักศึกษามือดีของสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้วาดเสมือนเป็นของขวัญให้กับ “คนตรัง”

 

www.addtrang.com มีโอกาสได้สัมผัสถึงความงดงามของภาพ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือสัมผัสได้ถึงอารมณ์และชีวิตที่สื่อสารผ่านภาพ ถือเป็น “ของขวัญ” ที่ “คนนอก” มอบให้ “คนใน” คือ “คนตรัง” ทุกคน ได้อย่างน่าปลื้มใจ จึงขอนำภาพบางส่วนมาให้ได้ชมกัน ไม่มีคำได้จะกล่าวไปมากกว่า “ขอบคุณจากใจ”

 

ลองรับชมแล้วจินตนาการดูกันว่า คือมุมไหนของ "ทับเที่ยง" กันบ้าง?