‘สุเทพ’ขอชาวสวนยางเห็นใจรัฐบาล

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ขอชาวสวนยางเห็นใจรัฐบาล ชี้เศรษฐกิจโลกไม่เอื้อ หนุนใช้ ม.44 แก้ปัญหา แนะรับซื้อกิโลละ 60 บาท

 

 

‘สุเทพ’ขอชาวสวนยางเห็นใจรัฐบาล

 

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ในฐานะประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแก้ไขปัญหายางพาราว่าที่มีราคาตกต่ำว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มเกษตกรชาวสวนยาง แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่ารัฐบาลจะสามารถทำตามข้อเสนอได้ทุกข้อ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องใช้สติและความรอบคอบในการวิเคราะห์ข้อเสนอ ว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ทั้งนี้สมัยที่ตนยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมตรี ในรัฐบาลสมัยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น เคยแก้ไขปัญหาราคายางพารามาแล้ว จากกิโลกรัมละ 36-37 บาทเป็น กิโลกรัมละ 180 บาท ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ขณะนั้นเอื้ออำนวย แต่ตอนนี้สถานการณ์ไม่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันไม่เหมือนกัน แต่ใช้ว่าจะจนปัญญาคิดสูตรใหม่แก้ไขปัญหาราคายางไม่ได้

         

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ตนเคยได้ยินว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้แก้ไขเรื่องนี้นานแล้ว แต่ว่าข้าราชการไม่เอาใจใส่อย่างจริงจัง จนเมื่อวานนี้นายกฯได้กล่าวว่าจะคาดโทษส่วนราชการต่างๆ หากไม่เสนอจำนวนความต้องการยางก็จะมีความผิดอย่างรุนแรง ตนคิดว่าทำไมส่วนราชการต้องรอให้มีการคาดโทษ ถึงจะมีการทำงานอย่างจริงจัง ส่วนรัฐมนตรีคนไหนอ้างว่าเศรษฐกิจโลกไม่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหา ก็ต้องพิจารณาตนเอง เราจะรอให้ผู้นำโลกแก้ไขปัญหา แล้วเราได้ประโยชน์อย่างนั้นหรือ แต่ก็ขอให้เกษตกรเห็นใจรัฐบาล เพราะสถานการณ์ทางการเงินก็ไม่ค่อยดี

         

นายสุเทพ กล่าวว่า ขอเสนอให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันทั้งข้าราชการ เกษตรกรชาวสวนยาง และรัฐบาล โดยให้กำหนดทางเลือกที่ทำได้และทำไม่ได้อย่างชัดเจน และขอให้ใช้สติในการทำงานอย่างมาก การที่มีฝ่ายหนึ่งเดินขบวน ส่วนอีกฝ่ายใช้บังคับกฎหมายห้ามชุมนุม ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง แต่เราจะต้องกำหนดราคายางว่าอยู่ที่เท่าไหร่ อย่างราคายางปัจจุบันกิโลกรัมละ 33 บาท ตนคิดว่าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ซึ่งตนโน้มเอียงให้กำหนดราคากิโลกรัมละ 60 บาท โดยรัฐบาลสามารถซื้อได้เลยในราคานี้ ไม่ต้องรอส่วนราชการสรุปข้อมูลแล้ว ให้หน่วยงานลงไปซื้อโดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และรัฐบาลก็ควรกำหนดให้ใช้ยางภายในประเทศ เช่นกำหนดใช้ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมทำถนน เป็นต้น

         

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเอกชนไม่ให้ความร่วมมือใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมทำถนนจะทำอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ต้องรอความร่วมมือ รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากสถานการณ์พิเศษ ดังนั้นวันนี้รัฐบาลจะได้ใช้อำนาจพิเศษเพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้วต้องถามว่าขณะนี้ราคายางรถยนต์ลดลงหรือไม่ ทั้งๆที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม ซึ่งสวนทางกับราคายางพารา ดังนั้นพ่อค้าและอุตสาหกรรม ผู้ค้าส่งออกต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

         

“ผมเชื่อในความจริงใจของนายกรัฐมนตรี ว่าท่านตั้งใจทำ แต่ผมไม่เชื่อในทีมงานของท่าน เนื่องจากทีมที่แก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรไม่มีความเป็นเอกภาพ ไม่มีคนที่มีอำนาจจริงที่สามารถสั่งการแทนนายกรัฐมนตรีได้ เช่นคนที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายยางของรัฐบาลที่ไม่ได้ทีอำนาจสั่งหน่วยงานทุกกระทรวงได้ จนนายกฯต้องคาดโทษ ผมเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ แต่ขณะนี้รำมวยนานไม่ได้แล้ว”นายสุเทพ กล่าว

         

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ตนขอเรียนถึงเกษตรกรต้องตั้งสติให้มาก เรื่องการออกมาชุมนุมใช่ว่าจะออกมาทำไม่ได้ แต่ถามว่าสมควรทำหรือไม่ การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเชื่อว่า ตนเชื่อว่าตอนนี้รัฐบาลได้ยินแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็ต้องออกมาแสดงให้เห็นด้วย อาจจะเชิญตัวแทนเกษตรกรประชุมร่วมกับรัฐบาล ซึ่งจะเชิญตนไปร่วมด้วยก็ได้ หรือถ้ารู้ว่ามีการประชุมที่ไหน ตนก็จะไปประชุมด้วย เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะตอบรับเป็นแกนนำร่วมเคลื่อนไหวกับชาวสวนยางใช่หรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ตนยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นเจ้าภาพร่วมขบวนเคลื่อนไหวด้วย แต่พร้อมยินดีร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน ในการคิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา

         

นายสุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวได้ติดต่อกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เสนอความความเห็นในการแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนายสมคิด ก็ให้การตอบรับดี และคงเตรียมมาตรการการแก้ไขปัญหาราคายางไว้แล้ว เช่นกำหนดสเปคใช้ยางพาราทำถนน รวมถึงการแทรกแซงราคายาง ทั้งนี้ตนอยากให้รัฐบาลเก็บยางพาราที่อยู่ในคลังไว้ก่อน อย่าเพิ่งนำมาขายแข่งกับยางของเกษตกรในขณะนี้ และเมื่อรัฐบาลรับซื้อยางจากเกษตกรแล้ว โดยรัฐบาลจะต้องตั้งทีมพิเศษระบายยางส่วนในนี้ด้วย วันนี้เป็นเวลาที่เราทุกฝ่ายต้องรวมกำลัง รวมความคิดช่วยกันแก้ไข

        

ตรัง - แกนนำยางฯยื่นหนังสือ ผกก.สภ.เมืองตรัง ขอเปิดเวทีประชุมเกษตรกร

 

ที่ สภ.เมืองตรัง นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ พร้อมด้วยนายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน เลขานุการเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ เดินทางเข้ายื่นหนังสือขออนุญาตการเปิดเวทีประชุมในวันพรุ่งนี้ (12 ม.ค.) ถกแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพื่อเตรียมยื่นเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ณ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง (สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางจังหวัดตรัง) ต่อ พ.ต.อ.นุกูล ไกรทอง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง และ พ.ต.อ.ปัญจพล ชำนาญหมอ ผู้กำกับการ สภ.เมืองตรัง และมีการประชุมร่วมกัน

         

โดยกล่าวยืนยันว่า การเปิดเวทีในครั้งนี้จะมีตัวแทนเครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้อย่างน้อย 10 จังหวัด จาก 14 จังหวัด เข้าร่วมประชุมด้วย ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่ใช่การชุมนุมประท้วง ไม่มีการปิดถนน พร้อมขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปคอยอำนวยความสะดวกรักษาความปลอดภัย ป้องกันมือที่ 3 ก่อเหตุป่วนการประชุม โดยจะใช้เวลาประชุมตั้งแต่ 10.00 น. – 17.00 น. จากนั้นจะรวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเรียกร้องส่งให้กับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์เท่านั้น จะไม่ยื่นผ่านบุคคลอื่นอย่างแน่นอนอ ที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจเหมือนที่ผ่านมๆาอย่างเด็ดขาด ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 200 คน

         

ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังรับหนังสือ ก็เตรียมจัดกำลังเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณสถานที่จัดประชุม ป้องกันบุคคลอื่นที่อาจจะเข้าไปสร้างความวุ่นวาย รวมทั้งด้านการจราจรอย่างเต็มที่

         

นายกชาวสวนยางอีสานเตรียมประชุม เหนือ-กลาง-อีสาน-ใต้ ร่วม 8 องค์กร หาทางออกปัญหายางพารา พร้อมเดินหน้าหารือกลุ่มนักธุรกิจจีน หวังดึงมาลงทุนผลิตล้อยางรถยนต์ในอีสาน จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยางก้นถ้วย ราคากิโลกรัมละ 16 บาท เท่านั้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางเป็นอย่างมาก

         

นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวสาวยางภาคอีสาน ต่างเข้ามาขอความช่วยเหลือในเรื่องราคายาง เพื่อให้ทางสมาคมได้นำเสนอความเดือดร้อนต่อรัฐบาล เนื่องจากราคายางตกต่ำอยู่ที่กิโลกรัมละไม่เกิน 16 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ตกต่ำที่สุด

         

จากความเดือดร้อนของกลุ่มชาวสวนยางภาคอีสาน ในวันที่ 13 ม.ค.59 นี้ทางสมาคมชาวสวนยางภาคตะวันออกเฉียงเหนือพร้อมตัวแทนเกษตรกร 4 คน จะเดินทางร่วมประชุมกับชาวสวนยางทั่วประเทศทั้ง เหนือ กลาง อีสาน และใต้ รวม 8 องค์กรที่โรงแรมดิเอมเมอรัล รัชดา กรุงเทพมหานคร เพื่อพูดคุยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

         

“สำหรับอีสานต้องการเรียกร้องให้การยางแห่งประเทศไทยเร่งรัดให้การบริหารเป็นไปตามพระราชบัญญัติการยาง ปี 2558 ส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งด้านวิชาการ การเงิน การแปรรูป อุตสาหกรรม การตลอด และการประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร นอกจากนี้เสนอให้อีสานเป็นพื้นที่นำร่องให้มีการซื้อขาย ที่โรงงานของการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งภาคอีสานมีอยู่ 3 แห่ง คือที่ อุดรธานี นครพนม และบุรีรัมย์พร้อมกับให้เกษตรกรเป็นคู่สัญญาการซื้อขาย เปิดโอกาสให้ชาวสวนยางได้แสดงความคิดเห็น ความต้องการในการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำได้”นายธีระชัย กล่าว

         

ส่วนในการประชุมที่จะเกิดขึ้น ได้เตรียมยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยต้องการให้มีการประกันราคายางดิบที่กิโลกรัมละ 50 บาท ส่วนมาตรการช่วยเหลือไร่ละ 1,500 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ นั้นถึงจะเป็นโครงการที่ดี แต่ไม่ครอบคลุม เพราะมีเกษตรกรบางส่วนไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพราะปลูกในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์

         

จากนั้นในวันที่ 14-18 ม.ค.59 ตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางภาคอีสาน จะเดินทางไปประเทศจีน เพื่อหารือกับกลุ่มนักธุรกิจชาวจีนให้มาลงทุนแปรรูป เช่น การผลิตล้อยางรถยนต์ในอีสาน ถือเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งเชิงรุกและเชิงรับ

 

ที่มา: www.komchadluek.net