สธ.ใต้ตอนล่างลงMOUงานสาธารณสุขอำเภอ

 

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด/ผู้แทนฯ ในเขตสุขภาพที่ 12 จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง 

 

 

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด/ผู้แทนฯ ในเขตสุขภาพที่ 12 จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ(DHS :District Health System)

 

เมื่อเร็วๆนี้ น.พ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 12 ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด/ผู้แทนฯ ในเขตสุขภาพที่ 12 จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล ตรัง พัทลุง และสงขลา ในการส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอ(DHS :District Health System) ณ ห้องสิรินภา โรงแรมหรรษาเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี ดร.ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 12 สงขลา และ น.พ.สุภาพ ไพศาลศิลป์ ผู้อำนวยการเชตสุขภาพที่ 12 ร่วมเป็นพยานในการลงนามฯ สำหรับ จ.สงขลา มี น.พ.สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้

 

ในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการ งานระบบสุขภาพชุมชน เชื่อมโยงกับการบริการในระดับทุติยภูมิ และตติยภูมิ อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือของภาคีสุขภาพในพื้นที่ สอดคล้องตามมาตรฐานบริการตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ.2556 กับคุณภาพและมาตรฐานของบริการปฐมภูมิ ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยอาศัยกลไกเครือข่ายสุขภาพอำเภอ กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และภาคีเครือข่ายต่างๆ

 

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงการบริการ มีความต่อเนื่อง มีการบริการสุขภาพที่ครบถ้วนทุกมิติ ซึ่งหมายถึงประชาชนและครอบครัว มีการเข้าถึงระบบบริการปฐมภูมิ ได้อย่างสะดวก มีคุณภาพ มีการสร้างความเชื่อมโยงของการช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดูแลสุขภาพองค์รวมที่ครอบคลุมทั้งด้านการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่เข้มแข็งดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยรากฐานการทำงานในรูปแบบที่เรียกว่า ระบบสุขภาพอำเภอ (DHS :District Health System)

 

ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์