อบจ.ตรังคุมซ่อมสะพานท่าปาปหลังเรือชนเสียหาย

 

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ติดตามการซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำตรัง (ท่าปาบ) หลังเสียหายจากเรือชนสะพานเมื่อกลางปีที่แล้ว ก่อนสิ้นเดือนนี้ชาวบ้านในอำเภอกันตังได้ใช้งานแน่นอน

 

 

อบจ.ตรังคุมซ่อมสะพานท่าปาปหลังเรือชนเสียหาย

 

เมื่อเร็วๆนี้ นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง ติดตามการซ่อมสะพานข้ามแม่น้ำตรัง (สะพานท่าปาบ) บ้านแหลมม่วง หมู่ที่ 4 ตำบลบางเป้า อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังรับโอนภารกิจซ่อมบำรุงจากทางหลวงชนบทมาตั้งแต่ปี 2546 และได้เกิดความเสียหาย เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2558 เหตุจากเรือบรรทุกน้ำมันชนสะพาน ซึ่งมี จ.อ.อุทัย พลาศรี เป็นผู้ควบคุมเรือและแสดงใบอนุญาตการเดินเรือในวันเกิดเหตุ และยอมรับจะซ่อมแซมสะพานที่ชำรุด ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิมพร้อมใช้งานได้ทุกประการ ภายใต้การควบคุมงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง และกรมทางหลวงชนบท โดยหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย เช่น ช่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เจ้าหน้าที่ศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 4 กรมทางหลวง และคณาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เข้าตรวจสอบความเสียหาย พบว่าช่วงกลางสะพานซึ่งมีความยาว 30 เมตร ได้เคลื่อนออกจากแนวเดิมไปด้านข้างประมาณ 60 เซนติเมตร และสะพานที่ชำรุดนี้ ระดับแตกต่างจากช่วงติดกันคือต่ำลงประมาณ 7 เซนติเมตร สาเหตุจากเคลื่อนตกจากแผ่นยางคอสะพานซึ่งเป็นที่รองรับเดิม

 

ล่าสุดเจ้าหน้าที่จาก บริษัท สยามเอ็นจีเนี่ย ฟอรั่ม จำกัด ได้ดำเนินการซ่อมแซมสะพาน โดยมีแนวการทำงาน ดังนี้ 1.ยกตัวสะพานขึ้น โดยการดัน girder ด้วยแม่แรงไฮโดรลิค 2.เลื่อนตัวสะพานให้เข้าตำแหน่งเดิม และ 3.ซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไป 2 ขั้นตอนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย จะใช้เวลาอีกไม่กี่วันก็จะสามารถเปิดใช้สะพานเพื่อเดินรถได้ เบื้องต้นในระหว่างการซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังได้จัดทำป้ายไวนิล แจ้งเตือนผู้สัญจร ว่ามีการปิดสะพานเพื่อซ่อมแซม ตั้งแต่วันที่ 8-20 ก.พ. 2559 นี้ โดยขอให้หลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น

 

นายกิจ กล่าวว่า สะพานท่าปาบใช้เพื่อการเดินทาง และการขนส่งของชาวบ้านในหลายตำบล ของอำเภอกันตัง คือ ตำบลบ่อน้ำร้อน ตำบลคลองลุ ตำบลย่านซื่อ ตำบลบางสัก ตำบลโคกยาง ตำบลนาเกลือ และตำบลเกาะลิบง เป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังท่าเรือเพื่อขนส่งสินค้าอีกด้วย จึงได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก ทั้งการเดินทางไปทำงาน นักเรียนไปโรงเรียน การขนส่งสินค้า เมื่อบริษัทฯ เข้ามาดำเนินการซ่อมแซมก็ต้องขอบคุณที่รับผิดชอบ แม้จะล่าช้ากว่าตามกำหนดเวลาเดิมที่ตกลงกันไว้ แต่ก็เนื่องด้วยต้องมีวิศวกรมารองรับตามมาตรฐานวิศวกรรม ชาวบ้านที่เห็นว่ามีการซ่อมแซมสะพานแล้วก็ชื่นใจ ส่วนวิธีการดำเนินงานในการซ่อมแซมสะพาน โดยการเคลื่อนสะพานกลับเข้าที่เดิมก็ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นกรณีศึกษาให้กับช่าง และวิศวกรทั่วไปได้

 

 

ที่มา : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์