ผ้าทอนาหมื่นศรีออกโปรโมชั่นปีใหม่

 

 

“วิสาหกิจผ้าทอนาหมื่นศรี” ผนึก “ธ.ก.ส.” พัฒนาตลาดออนไลน์-จัดโปรโมชั่นส่งความสุขปีใหม่ 2564 ผุดไอเดียนำผ้าทอรังสรรค์เป็นงาน “คราฟท์” ทันกระแสคนรุ่นใหม่ ขายทางโซเชี่ยล

 

นางสาวอารอบ เรืองสังข์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ ทางกลุ่มฯซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนเชิงเกษตรหัตกรรมผ้าทอโบราณของจังหวัดตรัง ที่มีการสืบสานต่อยอดกันมายาวนานกว่า 200 ปี ได้มีการปรึกษาหารือกันเพื่อพัฒนาการจัดจำหน่ายสินค้าผ้าทอนาหมื่นศรีในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อคืนกำไรตลอดจนมอบเป็นของขวัญอันทรงคุณค่าและความหมายแก่บรรดาลูกค้าทั้งที่เป็นลูกค้าใหม่ และลูกค้าประจำที่มีความเหนียวแน่นสนับสนุนสินค้าเพื่อเป็นการสืบสานผ้าทอมรดกทางวัฒนธรรมของคนตรัง เพราะผ้าทอนาหมื่นศรีนั้นเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวของ “ความรัก” โดยในอดีตคนตำบลนาหมื่นศรีจะทอผ้าให้คนที่ตัวเองรัก และผ้าทอถือเป็นผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย มีความผูกพันกับวิถีชีวิตผู้คนจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งผ้าขาวม้า ผ้าลายโบราณ ซึ่งแบ่งเป็นผ้าลายมรดก และ ผ้าลายพัฒนา

 

นางสาวอารอบกล่าวว่า ในเทศกาลปีใหม่ 2564 นี้ ทางกลุ่มฯจะมีการจัดโปรโมชั่นสินค้าตลอดจนจัดเซ็ตส่งความสุขด้วยการนำผลิตภัณฑ์มาจัดเป็นชุดเพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้จริง เป็นของขวัญปีใหม่ หรือเป็นของฝาก โดยภายในบรรจุผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าทอนาหมื่นศรี ในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ แต่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ อาทิ หน้ากากอานมัยเพื่อป้องกันการติดต่อของโรคโควิด-19 ซึ่งมีทั้งแบบตัดเย็บจากผ้าขาวม้า และตัดเย็บจากผ้าทอยกดอก , สมุดโน้ตปกผ้าทอ , กระเป๋าใส่แทปเล็ต , ผ้าพันคอ ตลอดจนสินค้าสมนาคุณเมื่อมีการช็อปปิ้งตามเงื่อนไขราคาที่กำหนด โดยรายละเอียดสามารถอินบ๊อกสอบถามได้ทางเพจ “วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี”

 

 

“ทางกลุ่มได้มีการปรึกษาหารือกัน และได้รับคำปรึกษาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ในเรื่องการส่งเสริมการตลาด การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย ตลอดจนคำปรึกษาจากลูกหลานคนรุ่นใหม่ ที่ช่วยกันพัฒนาช่องทางการขายแบบออนไลน์ โดยใช้โซเชี่ยลมีเดียซึ่งมีบทบาทสูงในการค้าขายโลกปัจจุบันเข้ามามีส่วนช่วย ทั้งเฟสบุ๊ค , เฟสบุ๊คแฟนเพจ , อินสตาแกรม และที่สำคัญ มีการต่อยอดผ้าทอไปเป็นงานประดิษฐ์เชิงหัตศิลป์สมัยใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมที่เรียกว่างาน “คราฟท์” เพื่อขยายตลาดไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านช่องทางการขายออนไลน์ได้ทั่วประเทศอีกด้วย”นางสาวอารอบระบุ

 

ชมภาพ