ยูเนสโกประกาศภูเก็ตเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร

ยูเนสโก ประกาศให้ภูเก็ตเป็นเมืองแรกของไทยและเมืองแรกของอาเซียน “เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร” จากอัตลักษณ์สูตรลับเฉพาะที่ถ่ายทอดผ่านคนในครอบครัว

 

 

ยูเนสโกประกาศให้ภูเก็ตเป็นเมืองเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารแห่งแรกของไทยและของอาเซียน

 

 

เรื่องนี้เปิดเผยโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้เทศบาลนครภูเก็ตเป็นเมืองแห่งความสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Phuket City of Gastronomy) ประจำปี 2558 ซึ่งในปี 2558 ได้มีเมืองที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองแห่งความสร้างสรรค์ของยูเนสโก จำนวน 47 เมืองจาก 33 ประเทศในทุกสาขา โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องด้านอาหารนั้นมี 9 เมืองที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร ได้แก่ Belem (บราซิล), Bergen (นอร์เวย์), Burgos และ Denia (สเปน), Ensenada (เม็กซิโก), Gaziantep (ตุรกี), Parma (อิตาลี) และ Tucson (สหรัฐอเมริกา) รวมทั้งภูเก็ต (ไทย)

 

ขณะที่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2558ที่ผ่านมา ที่สำนักงานเทศบาลนครภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อประกาศข่าวดีส่งท้ายปี 2558 ด้วยจังหวัดภูเก็ต ได้รับเกียรติประกาศเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร หรือ City of Gastronomy ของยูเนสโก ประจำปี 2558 โดยมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ หัวหน้าส่วนราชการ แขกผู้เกียรติ สื่อมวลชนภูเก็ต ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

โดยนายจำเริญ กล่าวว่า โครงการเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ถือเป็นอีกโครงการหนึ่งเคียงคู่กับการประกาศแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เพียงแต่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องต่อมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Culture) และยังผสมผสานความทันสมัยในด้านการสร้างสรรค์ หรือมีนวัตกรรมจากพื้นฐานอัตลักษณ์เดิม ยูเนสโกเริ่มต้นโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ได้กำหนดให้ต้องคัดเลือกจากเขตเมือง หรือมหานคร เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมวิทยาการ และมีพื้นฐานพอที่จะขับเคลื่อนทั้งในส่วนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development ) ได้แบ่งเมืองสร้างสรรค์ออกเป็น 7 ประเภท ประกอบด้วย 1.เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature) 2.เมืองแห่งภาพยนต์ (City of Film) 3.เมืองแห่งดนตรี (City of Music) 4.เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะท้องถิ่น (City of Crafts and Folk Arts) 5.เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design) 6.เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media art) 7.เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy) ที่จังหวัดภูเก็ตได้รับ

 

“สำหรับการได้รับเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านอาหารในครั้งนี้ จะทำให้ภูเก็ตมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยวไปได้อีกหลากหลายประเภท เช่น การเป็นเมืองที่ทุกท่านต้องมาชิมอาหาร มาซื้อของฝากประเภทอาหารที่เกิดจากนวัตกรรมใหม่ๆ มาชมมาอุดหนุนสินค้าจากแหล่งเกษตรกรรม ประมงที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในภูเก็ต รวมถึงต่อไปอาจมีสถาบัน โรงเรียนให้มาเรียนรู้ด้านวิทยาการอาหาร เป็นต้น” นายจำเริญ กล่าว

 

ด้าน น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2558 เทศบาลนครภูเก็ต ได้รับหนังสือจาก มาดามอิริน่า บูโคว่า (Irina Bokova) ผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก แจ้งว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโกได้พิจารณา และมีมติให้จังหวัดภูเก็ตเป็นสมาชิกใหม่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก สาขาวิทยาการอาหาร (Gastronomy) และอนุญาตให้เทศบาลนครภูเก็ต สามารถใช้ชื่อ และตราสัญลักษณ์ของยูเนสโกเพื่อการประชาสัมพันธ์ด้านอาหารได้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีเมืองสร้างสรรค์ในโลกที่ได้รับประกาศ 116 เมือง เฉพาะด้านวิทยาการอาหาร มีเพียง 18 เมือง โดยจังหวัดภูเก็ตได้เป็นหนึ่งใน 18 เมืองของโลกด้านอาหาร และถือเป็นเมืองแรกของอาเซียน เป็นตัวแทนนำร่องที่ได้รับประกาศเมืองแรกของประเทศไทย หลังจากพยายามมากว่า 3 ปี สำหรับการสมัครเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารในครั้งนี้ มีความตั้งใจที่จะดำเนินการเพื่อชาวภูเก็ตทั้งจังหวัด ไม่ว่าจะอยู่ในเขต หรือนอกเขตเมือง เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา เป็นเมืองที่เจริญอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานของความสามัคคี สงบ สันติสุขมายาวนานกว่า 150 ปี มีนโยบายสนับสนุนการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม มีทั้งชาวบาบ๋า เพอรานากัน ชาวมุสลิม ชาวฮินดู ชาวคริสต์ บนพื้นฐานของความเป็นชาวไทยทั้งมวล จนวัฒนธรรมของเราทั้งอาหาร เสื้อผ้า สถาปัตยกรรม แสดงถึงความหลากหลายที่ผสมผสานกันจนงดงาม สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมจนเป็นรากฐานให้คนรุ่นหลังได้นำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเกิดรายได้ ภูเก็ตจึงได้รับการยกระดับเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในครั้งนี้

 

ทั้งนี้ยูเนสโกได้เห็นจุดเด่นของเมืองภูเก็ตสำคัญ 5 ประการ คือ 1.ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมอาหารที่เกิดจากพหุสังคม 2.อาหารภูเก็ตเป็นองค์ประกอบสำคัญในทุกเทศกาล พิธีการ ความเชื่อ วิถีชีวิตในครอบครัว และยังใช้ประกอบการต้อนรับแขกบ้านเมืองให้ประทับใจอยู่เสมอ 3.อาหารท้องถิ่นภูเก็ตหลายประเภทมีอัตลักษณ์ หาทานที่อื่นไม่ได้ สูตรลับเฉพาะที่ ถ่ายทอดผ่านคนในครอบครัว และหลายอย่างเป็นวัตถุดิบที่มีเฉพาะในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำเป็นต้องอาศัยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน 4.ความเข้มแข็ง และความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาครัฐและสถาบันทางวิชาการในภูเก็ต ทำให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมบนพื้นฐานวิทยาการด้านอาหารหลากหลายอย่าง เช่น การจำหน่ายอาหารท้องถิ่นแปรรูป เป็นของฝาก ของที่ระลึก การจัดบริการอาหารในร้านอาหาร หรือโรงแรม เทศกาลอาหารชนิดต่างๆ รวมถึงการเข้ามาแลกเปลี่ยนของอาหารนานาชาติ ทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าสินค้า และการขยายตัวทางเศรษฐกิจแก่เมือง และประชาชน 5.ชาวภูเก็ตมีน้ำใจ อัธยาศัยดีงาม (Thai Hospitality) ยินดีร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์กับเมืองอื่นๆในเครือข่าย

 

ที่มา : http://www.manager.co.th/South/      , www.thaigov.go.th