อบจ.ตรังทุ่ม134ล้านทำถนนจากยาง

อบจ.ตรังตั้งงบประมาณ 2559 134,005,000 บาท ก่อสร้างถนนผสมยางพาราแบบ พาราเคปซีล และ พาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต 49 สายทาง ระยะทางรวมกว่า 36.61 กิโลเมตร คาดสามารถระบายน้ำยางพาราได้ 78,951 กิโลกรัม

 

อบจ.ตรังทุ่ม 134ล้าน ทำถนนผสมยางพารา 49สาย ปี59

 

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 ที่ห้องประชุมรัษฎา โรงแรมตรัง นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(อบจ.ตรัง) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้างถนนลาดยางที่มีส่วนผสมยางพาราให้กับเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 99 แห่ง และผู้รับเหมาก่อสร้างในจังหวัดตรัง รวม 120 คน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสัมมนามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการก่อสร้างถนนลาดยางที่มีส่วนผสมยางพารา เพื่อให้งานก่อสร้างถนนลาดยางที่มีส่วนผสมยางพาราขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นมีมาตรฐานเดียวกัน โดยมีวิทยากรจากบริษัทโซล่า แอสฟัลท์ จำกัด มาบรรยายเรื่องการใช้ยางพาราผสมแอสฟัลท์ในการก่อสร้างทาง นอกจากนี้นายโยธา ศรีโยธา หัวหน้าฝ่ายวิชาการ สำนักงานแขวงทางหลวงชนบทตรัง บรรยายเรื่องวิธีการก่อสร้างและการประมาณราคาก่อสร้าง และ นายสุชาติ เชาวน์เสฏฐกุล รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทตรัง บรรยายเรื่องการควบคุมงานและการบริหารโครงการ

 

ทั้งนี้ประเทศไทยได้มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างผิวถนนทั้งการก่อสร้างถนนใหม่และการซ่อมแซมผิวถนนเก่าจากที่เคยใช้ยางแอสฟัลท์ล้วนๆเพียงอย่างเดียว มาใช้ยางแอสฟัลท์ผสมยางพาราแทน สาเหตุที่เลือกยางพาราเป็นส่วนผสมเนื่องจากประเทศไทยเราสามารถผลิตเองได้ ประกอบกับยางพาราในประเทศมีราคาตกต่ำและขึ้นลงไม่แน่นอน อีกทั้งยังมีผลการศึกษาจากหลายประเทศที่นำเอายางพารามาผสมกับยางแอสฟัลท์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของถนนและเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันได้มีการผลิตยางแอสฟัลท์ผสมยางพาราเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์แล้ว แต่ยังไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนมากจะใช้ทำถนนสายหลักบางแห่ง เพราะขั้นตอนในการทำงานมีความยุ่งยากขึ้นแต่มีข้อดีคือ สามารถเปิดใช้งานผิวจราจรได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดเนื่องจากการซ่อมบำรุงผิวทาง ประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาผิวถนนในระยะยาวเนื่องจากอายุการใช้งานถนนยาวนานกว่าเดิมประมาณ 2 เท่า

 

ในส่วนของอบจ.ตรัง ได้แยกประเภทการก่อสร้างถนนลาดยางโดยใช้ยางพาราผสมยางแอสฟัลท์ ออกเป็น 2 แบบ คือ 1. แบบพาราเคปซีล ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมประมาณร้อยละ 5 ของยางอิมัลชั่นแอสฟัลท์ จากสัดส่วนการลาดยางผิวจราจรถนนปัจจุบันกว้าง 6 เมตร จะต้องใช้ยางพาราประมาณ 300 กิโลกรัมต่อความยาวถนน 1 กิโลเมตร น้ำยางพาราที่ชาวสวนกรีดได้จะมีเปอร์เซ็นต์ยางพาราประมาณ 30 – 35 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ใน 1 กิโลเมตร จะต้องใช้น้ำยางพาราประมาณ 1,000 กิโลกรัม

 

แบบที่ 2 แบบพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมประมาณร้อยละ 5 ของยางแอสฟัลท์ จากสัดส่วนการลาดยางผิวจราจรถนน หนา 0.04 เมตร กว้าง 6 เมตร ยาว 1 กิโลเมตรจะต้องใช้ยางพารา 1,440 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำยางพาราที่ชาวสวนกรีดได้ประมาณ 4,800 กิโลกรัม

 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับมติของสมาพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคใต้ ทั้ง 14 จังหวัด เห็นร่วมกันว่าจะผลักดันการระบายยางพาราในระบบเพื่อช่วยเหลือเกษตรในภาคใต้ ด้วยการให้เกิดโครงการก่อสร้างถนนผสมยางพารารวมถึงโครงการอื่นๆ เช่น การก่อสร้างสนามกีฬา สนามฟุตซอล การผลิตวัสดุอื่นๆที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยในส่วนของอบจ.ตรัง ในปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา ได้ตั้งงบประมาณและสมทบร่วมกับท้องถิ่นอื่นเพื่อก่อสร้างถนนผสมยางพาราทั้ง 2 แบบ คือ พาราเคปซีลและ พาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 27 สายทาง ระยะทางรวมกว่า 30 กิโลเมตร ใช้น้ำยางพาราไป 59,640 กิโลกรัม ใช้เงินจำนวน 119,364,000 บาท และปีงบประมาณ 2559 ได้ตั้งงบประมาณแล้ว 134,005,000 บาท เพื่อก่อสร้างถนนผสมยางพาราทั้ง 2 แบบ คือ พาราเคปซีลและ พาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต จำนวน 49 สายทาง ระยะทางรวมกว่า 36.61 กิโลเมตร คาดว่าจะสามารถระบายน้ำยางพาราได้ 78,951 กิโลกรัม

 

ที่มา : อบจ.ตรัง