สรุปแล้ว รื้ออาคารIMT-GTภายใน60วันกรมศิลปากรสั่ง

สรุปรื้ออาคาร IMT-GT ภายใน 60 วัน กรมศิลปากรระบุชัดขัด ม.7 พ.ร.บ.โบราณสถานฯ สร้างประชิด-ทับแนวเขตอาคารสโมสรข้าราชการ ทน.ตรังเสนอให้ใช้ข้างอนุสาวรีย์ หรือ บขส.เก่า ส่วนตัวสโมสรข้าราชการพช.ขอใช้ต่อ หรือหากขอย้ายออก ให้คืนจว.ดำเนินการตามความเหมาะสม

 

สรุปรื้ออาคาร IMT-GT ภายใน 60 วัน กรมศิลปากรระบุชัดขัด ม.7 พ.ร.บ.โบราณสถานฯ สร้างประชิด-ทับแนวเขต รองผวจ.ตรังระบุ ใช้งบจว.รื้อ หาที่ให้ผู้ค้าใหม่ ทน.ตรังเสนอให้ใช้ข้างอนุสาวรีย์ หรือ บขส.เก่า ส่วนตัวสโมสรข้าราชการพช.ขอใช้ต่อ หรือหากขอย้ายออก ให้คืนจว.ดำเนินการตามความเหมาะสม

กองบรรณาธิการ www.addtrang.com รายงาน

ภาพ : ธรรมรัตน์ หนองตรุด

 

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 ที่ห้องประชุมศรีตรัง ศาลากลางจังหวัดตรัง นายสายัณห์ อินทรภักดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์จังหวัด หรือ OTOP วาระสำคัญเพื่อหารือกรณีกรมศิลปากรได้มีหนังสือแจ้งมายังจังหวัดตรัง ลงวันที่ 11 มกราคม 2559 เรื่อง ให้รื้อถอนอาคารแสดงสินค้า OTOP หรืออาคาร IMT-GT ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารสโมสรข้าราชการจังหวัดตรัง ถนนพระรามหก ตำบลทับเที่ยง เนื่องจากก่อสร้างในลักษณะประชิดและทับอยู่บนแนวเขตโบราณสถานสโมสรข้าราชการจังหวัดตรังโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ สำนักงานจังหวัดตรัง พัฒนาชุมชนจังหวัดตรัง โยธาธิการจังหวัดตรัง  เทศบาลนครตรัง รวมทั้งผู้ค้า OTOP ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหาข้อสรุปการดำเนินการตามคำสั่งกรมศิลปากรดังกล่าว

 

ภายหลังการประชุม นายสายัณห์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปดังนี้ 1.จะรื้อถอนอาคาร IMT-GT ซึ่งก่อสร้างอยู่ด้านหน้าของอาคารสโมสรข้าราชการตามคำสั่งกรมศิลปากรที่แจ้งมา 2.ให้กลุ่มผู้ค้าใน IMT-GT และ สินค้าโอท็อป เข้าไปอยู่ในตัวอาคารสโมสรข้าราชการให้ได้มากที่สุด ส่วนที่เหลือให้หาที่จำหน่ายเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน และ 3.การดำเนินการในระยะยาว จะมีการเจรจากับทางเทศบาลนครตรังเพื่อขอใช้พื้นที่ ซึ่งในการเจรจาเบื้องต้น ทางเทศบาลนครตรัง ได้เสนอให้ใช้ 2 พื้นที่ ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ค้า คือ พื้นที่ว่างบริเวณหัวโค้งวงเวียนอนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ ถนนตรัง-พัทลุง และ พื้นที่สถานีขนส่งเก่า(บขส.เก่า)ถนนห้วยยอด ซึ่งหากสามารถเจรจาขอใช้พื้นที่ได้กลุ่มผู้ค้าตกลงที่จะย้าย

 

นายสายัณห์ กล่าวอีกว่า ส่วนผู้รับผิดชอบในการดำเนินการรื้อถอนอาคาร IMT-GT ตามคำสั่งกรมศิลปากร คือสำนักงานจังหวัดตรัง โดยจะใช้งบประมาณของสำนักงานจังหวัดในการรื้อถอน โดยอาจจะมาจากงบเหลือจ่ายของจังหวัดจากโครงการต่างๆ ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้โยธาธิการจังหวัดตรัง จัดทำบัญชีทรัพย์สินเพื่อเตรียมการรื้อถอน อาทิ วัสดุใดที่รื้อถอนแล้วนำไปใช้ต่อได้ ก็ให้นำไปใช้ เช่น โครงเหล็กหลังคา ส่วนวัสดุที่รื้อแล้วใช้ต่อไม่ได้ อาจจะต้องแทงจำหน่าย

 

“ที่ประชุมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการรื้อถอนอาคาร IMT-GT ตามคำสั่งกรมศิลปากร ซึ่งจะต้องรื้อตามคำสั่ง โดยจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการรวมทั้งงบประมาณในการรื้อถอน ส่วนตัวอาคารโบราณสถานสโมสรข้าราชการยังคงอยู่และทางพัฒนาชุมชนจังหวัดได้ขอใช้ประโยชน์ตามที่ได้ขอไว้กับทางกรมศิลปากรต่อ แต่อาจจะคัดเลือกสินค้าเฉพาะตัวเด่นๆและมีการจัดระเบียบให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากทางพัฒนาชุมชนจังหวัดต้องการย้ายไปรวมกับ IMT-GT เมื่อได้สถานที่ใหม่ ตัวอาคารโบราณสถานสโมสรข้าราชการก็ต้องตกอยู่ในความรับผิดชอบของจังหวัด ซึ่งอาจมีการทำเป็นสโมสรข้าราชการเพื่อให้ข้าราชการใช้ประโยชน์เหมือนในอดีต หรือจัดทำเป็นสภาวัฒนธรรมจังหวัด หรือดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป”นายสายัณห์ กล่าว

 

รายงานข่าวจากกรมศิลปากรแจ้งว่า หนังสือคำสั่งจากกรมศิลปากรดังกล่าว ได้สั่งให้ทางจังหวัดรื้อถอนอาคาร IMT-GT ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั่งแต่ได้รับคำสั่ง โดยเป็นคำสั่งกรมศิลปากรที่ วธ 1401/5055 ลงวันที่ 11 มกราคม 2559 ลงนามคำสั่งโดยนายอนันท์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ให้เหตุผลที่สั่งให้รื้อถอนเนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารในเขตโบราณสถานซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย และในการก่อสร้างไม่ไดรับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร