Metro TV Model เมื่อท้องถิ่นอยากทำ TV

 

เมื่อกทม.มีทีวีเป็นของตัวเอง ในโลกที่การสื่อสารมีการพัฒนาไปไกล ทั้งเรื่องความรวดเร็ว รูปแบบ แต่อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงหน่วยงานที่สนใจดำเนินการ ว่า การวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนการผลิตเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้รับ ย่อมเป็นหลักประกันได้ค่อนข้างดีว่า เม็ดเงินงบประมาณที่ลงทุนจากภาษีประชาชนนั้น จะไม่ได้ทิ้งเปล่า และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างสูงสุด

 

 

Metro TV Model เมื่อท้องถิ่นอยากทำ TV

เรื่อง/ภาพ : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

 

ระหว่างวันที่ 30 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา “กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลนครตรัง” นำคณะสื่อมวลชนจังหวัดตรัง และเจ้าหน้าทีที่เกี่ยวข้อง กว่า 40 ชีวิต ทัศนะศึกษาดูงานด้านการผลิตสื่อมืออาชีพพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร 4 แห่ง ตามโครงการสื่อมวลสัมพันธ์ ประจำปี 2559 ได้แก่ 1.สถานีโทรทัศน์ช่องฟ้าวันใหม่ 2.กองประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร 3.ด้านการผลิตรายการวิทยุ บริษัท เอไทม์ มีเดียและ 4.สถานีโทรทัศน์ ช่อง ONEHD เพื่อให้เห็นการพัฒนาและการแข่งขันทางด้านการผลิตสื่อในปัจจุบันที่เป็นไปอย่างเข้มข้น โดยมีการนำเทคโนโลยีทันสมัย ตลอดจนเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ ดึงดูดความสนใจมานำเสนอแก่ประชาชน

 

www.addtrang.com เห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ เพื่อการนำมาปรุงปรุงพัฒนางานผลิตสื่อในจังหวัดตรังในหลายๆด้าน จากการศึกษาดูงานและรับฟังบรรยายจากผู้ผลิตสื่ออาชีพ  จึงขอยกตัวอย่างที่มีความสอดคล้องกับท้องถิ่น คือ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เช่นเดียวกับ “พัทยา” งานด้านการสื่อสารของกรุงเทพมหานคร จึงมีการยกระดับเชิงคุณอย่างอย่างชัดเจน ด้วยอานุภาพโลกแห่งการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

 

กรุงเทพมหานคร มีการดำเนินงานการประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆคล้ายคลึงกับเทศบาลนครตรัง ทั้งสื่อมีเดีย สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโซเซียลเน็ตเวิร์ค สื่อวิทยุ แต่ในปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง Metro TV ออกอากาศทาง PSI 221 เพิ่มขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

 

Metro TV หรือ  โทรทัศน์มหานคร ทำการผลิตและเผยแพร่รายการข่าว และรายการโทรทัศน์ประเภทต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตคนกรุงเทพฯ มีการรายงานสถานการณ์สดเมื่อมีเหตุด่วนที่อาจมีผลกระทบกับชีวิตของคนเมืองหลวง รวมถึงประเด็นท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ

 

กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าหลังจากนี้ จะเข้าเสนอต่อ กสทช. เพื่อ ให้ได้มาซึ่ง ทีวีดิจิตอล ในเฟสต่อไป ในคอนเซ็ปต์การเป็น ทีวีสาธารณะของคนกรุงฯ ซึ่งน่าสนใจมาก ด้วยการถอดโมเดลจากเมืองใหญ่ทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา หรือยุโรป ที่ต่างมีสถานีโทรทัศน์เพื่อการสื่อสารกับพลเมืองเป็นของตัวเอง

 

 

ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นต้นมากรุงเทพมหานครได้จัดตั้งสถานีโทรทัศน์กรุงเทพมหานคร ออกอากาศเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี รวมถึง youtube เพื่อเผยแพร่วิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร  นโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพมหานครจากทุกภาคส่วน

 

กรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่จะพัฒนาการดำเนินการของสถานีโทรทัศน์กรุงเทพมหานครให้มีความทันสมัย เป็นสถานีข่าวและสาระบันเทิงเพื่อชาวกรุงเทพมหานครภายใต้การบริหารงานของกรุงเทพมหานครที่ตอบสนองวิถีการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในยุคปัจจุบัน รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนากรุงเทพมหานครจากประชาชนผู้รับชมรายการมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นช่องทางนำเสนอนโยบาย ภารกิจ และผลการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วเป็นปัจจุบัน

 

Metro TV ผลิตและเผยแพร่รายการข่าว และรายการโทรทัศน์ประเภทต่างๆ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตคนกรุงเทพฯ มีการรายงานสถานการณ์สดเมื่อมีเหตุด่วนที่อาจมีผลกระทบกับชีวิตของคนเมืองหลวง ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ภารกิจและโครงการต่างๆ ที่กรุงเทพมหานครดำเนินการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ รวมถึงรายงานการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม พร้อมช่องทางเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายอย่างกว้างขวางและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกรุงในปัจจุบัน

 

 

Metro TV ออกอากาศทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง/วัน แบ่งเป็น รายการสด 9 ชั่วโมง รายการผลิตแล้วนำมาออกอากาศอีก 4 ชั่วโมง Metro TV เป็นการเปิดให้เอกชนมืออาชีพด้านการผลิตรายการโทรทัศน์เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกภายในกองประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับงบประมาณเฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท จากสัดส่วนงบประมาณกรุงเทพมหานครแต่ละปีเฉลี่ย 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนการให้ความสำคัญในงานประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร แบ่งส่วนงานออกเป็น 4 ฝ่ายดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มงานผลิตสื่อ  2.ฝ่ายวิเคราะห์ข่าว 3.ฝ่ายบริหารงาน และ 4.ฝ่ายเผยแพร่

 

ทั้งนี้ในส่วนของ Metro TV ใช้งบประมาณดำเนินการ 80 ล้านบาทในระยะยาว ทั้งการตัดตั้งสถานี ห้องส่ง อุปกรณ์ถ่ายทอดสดที่ทันสมัย ทั้งรถถ่ายทอดสด โดรน  และเทคโนโลยีล่าสุดทีวียูแคท อุปกรณ์ถ่ายทอดสดส่งสัญญาณเชื่อมต่อผ่านซิมมือถือที่เล็กพกพาได้ด้วยเป้สะพายหลัง รวมถึงบุคลากรของกองบรรณาธิการ ฯลฯ มีทีมงานติดตามมอร์นิเตอร์ข่าวสาร กระแสสังคมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจากสื่อทุกชนิด โดยเฉพาะสื่อโซเชี่ยลมีเดียซึ่งทรงอิทธิพลในปัจจุบัน เพื่อนำสู่กระบวนการการทำงานของฝ่ายวิเคราะห์ข่าว เพื่อกำหนดทิศทางการผลิตสื่อในการสื่อสารข้อมูลทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง การเกิดขึ้นของ Metro TV จึงตอบโจทย์กลยุทธ์การสื่อสารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานครค่อนข้างมาก

 

www.addtrang.com ได้คุยกับ “คุณมะปราง” หรือ “คุณกิตติยา บุญเจริญ” บรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ Metro TV เกี่ยวกับนโยบาย โครงสร้างและดำเนินงานของ Metro TV “คุณมะปราง” คืออดีตผู้ประกาศข่าว ช่อง 7 ที่ใช้ประสบการณ์การทำงานสื่อโทรทัศน์ชั้นนำของประเทศมากว่า 10 ปี มาสร้าง Metro TV จนเริ่มเติบโต ในปัจจุบัน PSIซึ่งเป็นบริษัทจัดเรตติ้ง ได้ทำการประเมินเรตติ้งของ Metro TV เฉลี่ยมีผู้ชมรายการครั้งละ 2-3 แสนคน ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับทีวีท้องถิ่น และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

 

“ที่จริง Metro TV คือส่วนประกอบเล็กๆของกองประชาสัมพันธ์กทม. เพราะเราต้องใช้คอนเทนท์จากกองประชาสัมพันธ์  การทำงานมีความท้าทายมาก เพราะทีวีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องตอบสนองทั้งผู้บริหารแต่ต้องไม่ลืมผลิตเนื้อหาสาระบนความต้องการประชาชนด้วย ทำอย่างไรก็ได้ให้เราสอดแทรกสาระได้ ให้คนดูรู้สึกว่าเราไม่ใช่ Prของกทม.” คุณมะปรางเกริ่นนำ

 

“คุณมะปราง” บอกอีกว่า Metro TV มีหน้าที่สร้างและแก้ไขภาพลักษณ์ และชี้แจงความเป็นจริง โดยเฉพาะทุกวันนี้โลกโซเชี่ยลมีเดียกระหน่ำรุนแรง เราใช้ข้อดีเพราะการติดตามโซเชี่ยลมีเดีย เราจะรู้กระแสรู้ก่อน แล้วต้องรีบตรวจสอบ ประเมิน กำหนดรายละเอียดในการสื่อสารทำความเข้าใจ อย่างล่าสุดกรณีประดับไฟ 39 ล้านของกทม. เราก็ต้องเข้าไปสื่อสาร การสื่อสารของเราคือการเพิ่มสัดส่วนข้อมูลเข้าไปในระบบการรับรู้ของประชาชน ตั้งเป้าได้เพียง 30% ก็ประสบความสำเร็จแล้ว มากกว่าไม่มีการสื่อสารใดๆเลย

 

 

“กลยุทธ์คือเราต้องทำให้ทันโซเชี่ยลมีเดีย เรามีโดรน ออกอากาศสดได้ รายงานสดผ่านทีวียูแคท การโฟนอินสายตรงผู้บริหารเมื่อเกิดสถานการณ์ที่ต้องชี้แจงทำความเข้าใจ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้เรตติ้ง Metro TV ค่อนข้างดี เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไป เรามีโซเชียลมีเดียที่ช่วยส่งต่อให้โลกรู้ได้ว่างานข้าราชการก็สื่อสารได้อย่างมีมิติที่น่าสนใจ”

 

“จากการจัดอันดับเรตติ้งของ PSI เกี่ยวกับรายการของ Metro TV ถือเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มทีวีราชการ รองจากทีวีรัฐสภา อันดับหนึ่งรายการยอดนิยมของ Metro TV คือ การรายงานสภาพการจราจร ซึ่งเรารายงานสด มีผู้สื่อข่าวรายงานสดจากในพื้นที่ ที่สำคัญเราสามารถเชื่อมต่อระบบภาพจากกล้อง CCTV ของกทม.ได้ทันที ส่วนอันดับสอง คือ การรายงานสภาพอากาศกทม. เพราะเราใช้เรดาร์จากสำนักการระบายน้ำ เรดาร์ตรวจปริมาณฝนของกทม.ถือว่าทันสมัยทัดเทียมของกรมอุตุนิยมวิทยา เราจึงสามารถพยากรณ์ฝนได้ ตรงนี้คนกทม.ติดตามมากเพราะอย่าลืมว่า ทุกตลาดนัด ตลาดเปิดท้าย หรือการประกอบอาชีพจำนวนมหาศาลในกทม.ที่ต้องพึ่งพาข้อมูลในส่วนนี้ ทำให้มีผู้ชมติดตามจำนวนมาก”

 

 

ในโลกที่การสื่อสารมีการพัฒนาไปไกล ทั้งเรื่องความรวดเร็ว รูปแบบ แต่อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงหน่วยงานที่สนใจดำเนินการ ว่า การวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนการผลิตเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้รับ ย่อมเป็นหลักประกันได้ค่อนข้างดีว่า เม็ดเงินงบประมาณที่ลงทุนจากภาษีประชาชนนั้น จะไม่ได้ทิ้งเปล่า และเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างสูงสุด

 

 

 

ขอขอบคุณ : กองวิชาการและแผนงาน เทศบาลนครตรัง สำหรับการศึกษาดูงาน และ กองงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร เจ้าของสถานที่