ร้านสิริบรรณ-โรงแรมจริงจริง คว้ารางวัลสถาปัตย์ฯภาคใต้

 

2 อาคารทับเที่ยง “ร้านสิริบรรณ-โรงแรมจริงจริง” คว้ารางวัลสถาปัตยกรรมอันทรงค่าภาคใต้ ด้าน “สร้างสรรค์-อนุรักษ์”  เวทีกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ รองคณบดีสถาปัตย์มอ.ตรัง ชู เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของคนตรัง เสนอ สำนักงานจังหวัดจับมือเจ้าของอาคาร ส่งประกวดระดับประเทศในปีถัดไป

 

 

“ร้านสิริบรรณ-โรงแรมจริงจริง” คว้ารางวัลสถาปัตย์ฯอันทรงค่าภาคใต้

กองบรรณาธิการ www.addtrang.com รายงาน

ภาพ : Ta Trangtoday

 

2 อาคารทับเที่ยง “ร้านสิริบรรณ-โรงแรมจริงจริง” คว้ารางวัลสถาปัตยกรรมอันทรงค่าภาคใต้ ด้าน “สร้างสรรค์-อนุรักษ์”  เวทีกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ รองคณบดีสถาปัตย์มอ.ตรัง ชู เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจของคนตรัง เสนอ สำนักงานจังหวัดจับมือเจ้าของอาคาร ส่งประกวดระดับประเทศในปีถัดไป

 

 

-ร้านสิริบรรณ ถนนราชดำเนิน

 

 

-โรงแรมจริงจริง ถนนพระรามหก

 

 

ผู้สื่อข่าว www.addtrang.com รายงานว่า ระหว่างวันที่ 29 – 31 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ห้าง LIME LIGHT AVANUE อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต “กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์” จัดงาน “สถาปนิกทักษิณ59” ภายใต้ชื่องาน “SOUTH UP หยับ หรอย ขึ้น โดยมีเครือข่ายสถาปนิก วิศวกร และผู้สนใจ เข้าร่วมงานจำนวนมาก ภายในงานมีกิจกรรมด้านสถาปัตยกรรมมากมาย โดยเฉพาะการคัดเลือกและประกาศรางวัลด้านรางวัลสถาปัตยกรรมในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้

 

ทั้งนี้เป็นที่น่าภาคภูมิใจ ที่อาคารของจังหวัดตรัง จำนวน 2 อาคาร ได้รับการพิจารณาได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าโดยเป็นการประกวดรายการที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก สำหรับ "โครงการสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ภาคใต้ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2559" ได้แก่ 1.“ร้านสิริบรรณ” ถนนราชดำเนิน ได้รับรางวัลประเภท “อนุรักษ์” และ 2.“โรงแรมจริงจริง” ได้รับรางวัลประเภท “สร้างสรรค์” จากการประกาศรางวัลทั้งหมด 12 รางวัล(12 อาคาร)ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ โดยกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดทำประกาศนียบัตรเพื่อเตรียมส่งมอบแก่เจ้าของอาคารต่อไป เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าอีกด้วย

 

 

อาจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดเผยว่า สำหรับรางวัลโครงการสถาปัตยกรรมทรงคุณค่า ภาคใต้ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2559 เป็นรางวัลที่กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำขึ้นเป็นปีแรก ซึ่งมีที่มาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาคัดเลือก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่อาคารของจังหวัดตรังได้รับรางวัลด้วย 2 อาคาร จากการประกาศรางวัลทั้งหมด 12 อาคาร สำหรับเจตนารมณ์ของการประกาศรางวัล เพื่อต้องการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมภาคใต้ สร้างแรงกระตุ้นต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเชื่อว่าในปีต่อๆไปจะมีอาคารเข้าร่วมมากขึ้น

 

อาจารย์ตรีชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับรางวัลทั้ง 2 รางวัล ได้แก่ 1.ร้านสิริบรรณ ถนนราชดำเนิน ได้รับรางวัลประเภท “อนุรักษ์” คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นอาคารที่ทรงคุณค่าและมีการอนุรักษ์ในแบบดั้งเดิมไว้อย่างดี และ 2.โรงแรมจริงจริง ได้รับรางวัลประเภท “สร้างสรรค์” เป็นอาคารที่มีการประยุกต์แล้ว โดยคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่ามีมีการดูแลให้อยู่ในสภาพความสมบูรณ์ เป็นอาคารที่ผ่านการซ่อมแซมและประยุกต์โดยการใช้นวัตกรรมบางอย่างในการออกแบบและเป็นอาคารสูง แต่ทรงคุณค่าด้วยอายุของอาคารที่เกิน 50 ปี

 

“ถือเป็นความภาคภูมิใจในด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมของจังหวัดตรังสำหรับรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งแม้จะมีเวลาในการเตรียมการค่อนข้างกระชั้นชิด แต่ในปีต่อๆไปผมคดว่า ตรังจะมีรูปแบบการเสนออาคารอันทรงคุณค่าเข้าประกวดทั้งในเวทีภาคใต้ และเวทีระดับประเทศมากขึ้น โดยอาจจะมีเจ้าภาพที่ชัดเจนดำเนินการระหว่างตัวแทนท้องถิ่น เช่น สำนักงานจังหวัด กับ เจ้าของอาคาร ที่ได้ทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างแรงผลัดกันและกระบวนการการมีส่วนร่วม”อาจารย์ตรีชาติกล่าว

 

…….........

 

ย้อนรอยมรดกสถาปัตยกรรมเมืองทับเที่ยง

 

หมายเหตุ - เมืองทับเที่ยง” หรือ “เทศบาลนครตรัง” เป็นเมืองที่เก่าแก่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี มีหลักฐานปรากฏชัดเจนถึงความรุ่งเรืองของเมืองทับเที่ยงในฐานะเองท่าค้าขายที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ แม้ในขณะนั้นศูนย์กลางการปกครองของเมืองตรังไม่ได้ตั้งที่ทับเที่ยง แต่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่สืบทอดมายาวนานนี้เองที่เป็นแรงดึงดูดให้กลุ่มคนจากหลากหลายชาติพันธ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ย่านใจกลาง จนทำให้เกิดสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ อันเกิดจากการผสมผสานกันของวัฒนธรรม ทั้งสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นดั้งเดิม สถาปัตยกรรมเรือนแถวไม้แบบจีน สถาปัตยกรรมตึกแถวแบบจีน อาคารตึกแถวแบบชิโนยูโรเปียน สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม ที่มักเรียกกันว่า ชิโนโปรตุกีส ในปัจจุบันจึงถือได้ว่า เมืองทับเที่ยง เป็นแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่ามากแห่งหนึ่งของประเทศ”

 

เดิมทับเที่ยงเป็นชุมชนการค้ามาก่อน ใช้การขนส่งทางแม่น้ำตรังหรือแม่น้ำท่าจีนเพื่อส่งต่อไปกันตัง จากตัวแม่น้ำตรังจะมีสายน้ำเล็กๆเรียกว่า คลองห้วยยาง ซึ่งเป็นคลองที่ไหลเข้ามาในตัวเมืองทับเที่ยง คลองเล็กๆนี้เองที่กลายเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าทั้งหมดในเวลานั้น มีการตั้งตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า เกิดเป็นชุมชนใหม่ เมืองเล็กๆค่อยๆขยายขึ้น และเริ่มมีการขยับโยกย้ายของชุมชนจากกันตังมายังทับเที่ยง

 

สำหรับถนนราชดำเนิน ในตัวเมืองทับเที่ยง ถือเป็นถนนสายที่มีมรดกทางสถาปัตยกรรมหนาแน่นที่สุด หากลองเดินสำรวจอย่างปราณีต จะพบอาคารรูปทรงแปลกตามากมาย ทั้งยังเป็นย่านชุมชนตลาดเก่าในยุคแรกๆ อย่างไรก็ตามราว 50 ปีก่อน ย่านถนนราชดำเนินเคยถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ อาคารเดิมที่เป็นไม้ก็หายสิ้น ซึ่งเป็นความน่าเสียดายยิ่ง อย่างไรก็ตามได้ถูกแทนที่ด้วยตึกสไตล์โมเดิร์นที่มีรูปแบบเป็นแนวตั้ง

 

ยุคแรกๆ สถาปัตยกรรมทับเที่ยงจะเป็นบ้านไม้ บ้านแถว ที่เรียกว่า เรือนแถวไม้ เนื่องจากด้วยพื้นที่จำกัด ราคาที่ดินแพง จึงสร้างบ้านในลักษณะเรือนแถวไม้ยาวๆเพื่อประหยัดพื้นที่ หน้ากว้างติดถนนนิดเดียว แต่พื้นที่ยาวไปข้างใน ถ้าลองสังเกตบ้านไม้เก่าแก่ในตรัง จะเห็นว่าหน้ากว้างอาจจะแค่ 5-6 เมตร แต่ด้านยาวยาวถึง 100-200 เมตร เพราะในยุคที่ จอมพล.ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการจัดเก็บภาษีตามหน้ากว้างของบ้านที่ติดถนน ส่วนรูปแบบหลังคาเป็นแบบมะนิลาปั้นหยาผสมกับหน้าจั่ว ช่องลมเป็นแบบทางตั้งง่ายๆ ผนังตีเกล็ดซ้อนด้วยแผ่นไม้ ลักษณะสำคัญทั้งงานในมาเลเซียและในภาคใต้ของไทย คือ ระหว่างหลังคาจะมีการเปิดช่องว่างลงไปถึงพื้นล่าง ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “ฉิมแจ้” ประโยชน์ของการออกแบบดังกล่าว คือ เป็นช่องระบายน้ำฝนลงมาและมีบ่อจัดเก็บน้ำฝนไว้ใช้ บ้านโบราณจึงมีห้องซักล้างไว้กลางบ้านรวมถึงบ่อน้ำ และยังช่วยเรื่องการระบายอากาศออกจากตัวอาคารไม่ให้อาคารร้อนหรือชื้นจนเกินไป กระทั่งเป็นตึกแถวชิโนโปรตุกีสก็ยังใช้แบบเดียวกัน ถือเป็นภูมิปัญหาที่น่าอัศจรรย์

 

ที่จริงแล้วสถาปัตยกรรมแบบ ชิโนโปรตุกีส” ที่เรียกกันติดปากนั้น เป็นการเรียกตามสนธิสัญญาที่มาเก๊าทำกับโปตุเกสในยุคที่โปรตุเกสไปครอบครองมาเก๊า แต่ที่จริงแล้ว ในภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสไม่เยอะมาก แต่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมมากกว่า ในมาเลเซียจะเรียกสถาปัตยกรรมที่เราเรียกว่า ชิโนโปรตุกีส” ว่า บริติช โคโรเนียล สไตล์” หรือ สถาปัตยกรรมจักรวรรดินิยมอังกฤษ” มากกว่า

 

หลักในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม คือ ตัวอาคาร กับวิถีที่อยู่ในอาคาร ตัวอาคารคือเปลือก เราอนุรักษ์อาคารให้คงอยู่ สมบูรณ์ สวยงาม เพราะสถาปัตยกรรมเป็นตัวบ่งบอกประวัติศาสตร์และยุคสมัย แต่ขณะเดียวกัน เราต้องอนุรักษ์คนที่อยู่ในอาคาร วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมเอาไว้ด้วย จึงจะเป็นการอนุรักษ์ที่สมบูรณ์

 

ขอบคุณข้อมูล : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

…….

 

ชมภาพสถาปัตยกรรมภาคใต้ที่ได้รับรางวัลเพิ่มเติม