ตามหาโนราตรัง

 

 

“หากคนตรังไม่เชิดชู โนราที่มีอยู่ ก็สูญสิ้น” เป็นข้อความสำคัญที่เน้นในงาน “ตามหาโนราตรัง” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา จัดขึ้นภายในห้องประชุม สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โดย วิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ  มี ผศ.ดร.ณัฐวิทย์ พจนตันติ รองอธิการบดีวิทยาเขตตรังเป็นประธาน

 

 

 

ตามหาโนราตรัง

เรื่อง/ภาพ : จำนง ศรีนคร

 

“หากคนตรังไม่เชิดชู โนราที่มีอยู่ ก็สูญสิ้น” เป็นข้อความสำคัญที่เน้นในงาน “ตามหาโนราตรัง” เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา จัดขึ้นภายในห้องประชุม สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โดย วิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ  มี ผศ.ดร.ณัฐวิทย์ พจนตันติ รองอธิการบดีวิทยาเขตตรังเป็นประธาน

 

ภายในงานนอกจากจะมีนิทรรศการโนราเมืองตรัง อันหมายถึงโนราที่มีถิ่นกำเนิดและสร้างสรรค์ผลงานศิลปะการแสดงในพื้นที่จ.ตรังแล้ว ยังมีการแสดงโนราโบราณจากคณะโนรามากฝีมือ ที่สำคัญมีเวทีสัมมนา ตามหาโนราตรัง” ซึ่งตัดตอนเอามาเล่าต่อ เพราะมีความน่าสนใจ

 

งานนี้เกิดขึ้นได้เพราะความตั้งใจ ความร่วมแรงร่วมใจของวิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ นำโดย “อาจารย์สมโภชน์ เกตุแก้ว” หัวหน้าสาขาวิชา ซึ่งเจ้าตัวระบุว่า วิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงฯให้ความสำคัญในเรื่องของโนรา โดยมีเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้าที่อยากเห็นและทำให้เป็นรูปธรรม คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตโนราตรังและทุกจังหวัดในภาคใต้ในเรื่องของคุณวุฒิ คือการเทียบประสบการณ์แล้วให้คุณวุฒิกับคณะโนรา ในระดับปริญญาตรี-โท มอ.ตรังสามารถทำได้ในฐานะสถาบันการศึกษา และเป็นสิ่งที่สามารถตอบแทนการสร้างภูมิปัญญาที่สั่งสมสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน

 

“ตอนนี้เราได้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการเทียบคุณวุฒิมาประมาณหนึ่งแล้ว เหมือนกับที่ดำเนินการไปแล้วในส่วนของราชภัฏภูเก็ต นอกจากนี้เรากำลังปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารปฏิบัติการ 4 ชั้น ของวิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ โดนจะเป็นพื้นที่ที่ทุกคนเข้ามาอยู่และเรียนรู้ร่วมกันกับเราได้ จะใช้เป็นที่ฝึกโนรา และศิลปะการแสดงอื่นๆ โดยจะเปิดเป็นที่สาธารณะให้คนที่รักในด้านศิลปะการแสดงได้เข้ามาเรียนรู้ โดยจะมีโรงละครที่ครบสมบูรณ์แบบทุกอย่างขนาด 300 ที่นั่ง มีเวที แสง เสียง มีจอฉากหลัง Led รองรับ”

 

นี่คือทิศทางของมอ.ตรัง ในส่วนของวิทยาลัยนวัตกรรมการแสดงและการจัดการ ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อเป็นตักกะศิลาด้านศิลปะการแสดงฝั่งอันดามันทั้งหมด ดังคำที่ อดีตนายกรัฐมนตรี “ชวน หลีกภัย” ได้กำชับต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการทำสำนวน “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนรา” ให้มีความศักดิ์สิทธิ์และจับต้องได้จริง

 

มากันที่ “โนราละมัย ศรีรักษา” โนราหญิงหัวหน้าคณะ “โนราละมัยศิลป์” วัย 62 ปี เล่าให้ฟังว่า

 

"ฉันเป็นคนอำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง มีสายสกุลโนรามาจากคุณทวด สมัยก่อนที่บ้านให้แต่ผู้ชายหัดโนรา เพราะเขาว่าผู้หญิงว่า ถ้ารำโนราจะได้ผัวเร็ว เราก็หนีไปหัดกับน้าชายศิษย์โนราเติม คือโนราร่วม เกตุแก้ว ตอนเช้าเราต้องตัดยาง ก็หัดรำกันข้างจักรรีดยาง พี่น้องทั้งหมด7คนหัดโนรากันหมด สุดท้ายพ่อบอกว่า ถ้าจะหัดโนรา หัดให้สุด รำจนหมดคน"

 

ด้าน โนรานกน้อย เสียงเสน่ห์” เล่าประวัติตัวเองว่า “ฉันเกิดที่ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด จ.จังหวัดตรัง ต่อมาย้ายไปอยู่กับแม่ที่คลองชี อำเภอวังวิเศษ ครูโนราเมืองตรังในอดีตมีหลายท่าน แต่ต้องยกให้โนราเติม อ๋องเซ่ง กับพี่วิน พี่วาด ฉันเคยอยู่วงโนราเติม แกสอนฉันรำโนรา บางทีเราก็เล่นนิยาย เล่นละครที่ดูจากในทีวี ก็ได้อ่านได้ขับบท มาวันนี้รำโนราอย่างเดียวอยู่ยาก หน้างานก็ช่วงเดือน 6-11 นอกนั้นงานน้อยมาก มีหลายวงต้องยุบไป เราต้องทำอาชีพอื่นไปด้วย อย่างฉันก็ร้อยลูกปัดขาย ตัดยาง ถึงจะอยู่ได้ หลายจังหวัดมีวิชาโนรา สอนกันในโรงเรียน แต่ตรังเราไม่รู้มันเป็นพันพรือ ทั้งที่เราบอกว่า มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนรา แต่คนสนใจโนราไม่มากเท่าไหร่”

 

เช่นเดียวกับ วิษณุกร แก่นอินทร์” หรือ “โนราใหญ่” ที่สะท้อนความเป็นอยู่ของโนรา ว่า “สมัยก่อนโนราเป็นอาชีพหลักได้ รำโนราอย่างเดียว แต่มายุคหลังส่วนโนราใหญ่จะมี 2 อาชีพ คือ อาชีพหลัก แต่รำโนราไปด้วย แต่ก็เป็นปัญหาอย่างมาก บางครั้งเพื่อนร่วมงานไม่เข้าใจในการทำโนรา บางทีเราต้องหยุดเดือนหนึ่ง 8-12 วัน โดยเฉพาะสุดสัปดาห์เราต้องหยุด แต่เราต้องทำเพราะเราได้รับเลือกและสืบทอดมาแล้ว ถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีคนพาโรงต่อ”

 

โนราในวันนี้ อยู่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย มรดกศิลป์อันทรงค่า กำลังอยู่ในภาวะของความท้าทาย แต่เป็นเรื่องดีที่มีคนกลุ่มหนึ่ง เริ่มตามหาโนราตรังกันแล้ว...

.....

 

ชมภาพเพิ่มเติม