แผนพัฒนา3ปีนครตรัง60-62

 

เพื่อสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน โดยเมื่อเร็วๆนี้เป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจของการจัดทำแผนท้องถิ่นเกี่ยวกับการทำประชาคมในพื้นที่ เพื่อสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน เพื่อนำมาจัดทำ แผนพัฒนา 3 ปีของเทศบาลนครตรัง (พ.ศ.2560-2562) 

 

 

แผนพัฒนา3ปี นครตรัง60-62

 

เมื่อเร็วๆนี้เป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจของการจัดทำแผนท้องถิ่นเกี่ยวกับการทำประชาคมในพื้นที่ เพื่อสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน เพื่อนำมาจัดทำ แผนพัฒนา 3 ปีของเทศบาลนครตรัง (พ.ศ.2560-2562) เวทีดังกล่าวจัดขึ้นที่อาคารอเนกประสงค์เทศบาลนครตรัง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 ถือเป็นปีแรกที่มีเครื่องข่ายชุมชน รวมทั้งผู้สังเกตการณ์ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้านเข้าร่วมสะท้อนความต้องการ

               

โดยนายเกรียงศักดิ์ รัตนสิมานนท์ รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง พร้อมด้วย นางกรรณิการ์ บัวเลิศ รองนายกเทศมนตรี นายพิมล ณ นคร ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี นายจิระศักดิ์ ควนจันทร์ เลขานุการนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาลและหัวหน้าส่วนการงานเทศบาลฯ เป็นประธานและร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดการประชุม เวทีประชาคม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสามปีเทศบาลนครตรัง (พ.ศ.2560-พ.ศ.2562) โดยมี นางไพลิน เขื่อนทา ปลัดเทศบาลนครตรัง กล่าวรายงาน โดยมีวัตถุเพื่อระดมความคิดเห็น ปัญหา ความต้องการ เสนอโครงการ และลำดับความสำคัญของโครงการที่เสนอมา และที่สำคัญคือยกระดับการพัฒนาด้านต่างๆไปสู่ “นครตรังเมืองแห่งความสุขอย่างที่ท่านอยากให้เป็น”

               

แผนพัฒนา 3 ปีของเทศบาลนครตรัง (พ.ศ.2560-2562) เป็นส่วนสำคัญในการนำมาประกอบการจัดทำเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายระจำปี นั่นหมายถึงเป็นยุทธศาสตร์การบริหารและการพัฒนาที่ยึดโยงกับการจัดทำงบประมาณ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะมีประสิทธิภาพหือไม่ จึงขึ้นกับแผนมีประสิทธิภาพหรือไม่

               

แผนพัฒนา 3 ปีของเทศบาลนครตรัง เป็นการแปลงแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาไปสู่ภาพปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ด้านนั้นๆ ซึ่งมีแผนงานได้มากกว่าหนึ่งแนวทางเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ผ่านตัวโครงการ/กิจกรรม ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

               

สำหรับเทศบาลนครตรังได้ผ่านการทำประชาคมไปแล้ว โดยมีข้อเสนอ ตลอดจนโครงการที่มาจากการทำประชาคมหลายโครงการที่มีความน่าสนใจ ที่สำคัญสังคมต้องช่วยกันจับตามอง ว่าการทำประชาคมที่ผ่านไปแล้วนั้น จะสัมฤทธิ์ผลถูกนำไปจัดลำดับความสำคัญสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจอย่างไร

               

อนึ่งเทศบาลนครตรังตั้งอยูในเขตพื้นที่ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง มีพื้นที่รับผิดชอบ 14.77 ตร.กม. ปัจจุบันประกอบไปด้วย 66 ชุมชน จากฐานข้อมูลปี2558 มีประชากรในทะเบียน 59,969 คน นับจำนวนครัวเรือน 24,504 ครัวเรือน

                               

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดทำโครงการ มีหลักยึดว่า ต้องตอบสนองต่อปัญหาความต้องการของประชาชนได้ตามอำนาจหน้าที่และศักยภาพของเทศบาล โดยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดตรัง ยุทธศาสร์การพัฒฯของอปท.ในเขตจ.ตรัง และยุทธศาสตร์การพัฒนาของเทศบาลนครตรัง

               

ที่ต้องกล่าวถึงตัวเลขก่อน ก็เพื่อเป็นฐานข้อมูลการรองรับการกำหนดแผนงานโครงการ ซึ่งจากการทำประชาคมดังกล่าว ได้ข้อเสนอแนะทั้งประเด็นปัญหา ตลอดจนข้อเสนอโครงการในแต่ละด้านมากมาย โดยมีการแบ่งกลุ่มประชาคมในวันดังกล่าวออกเป็น 5 กลุ่ม

               

ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1-4  เป็นผู้แทนชุมชนในเขตที่ 1-4 ส่วนกลุ่มที่ 5 คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษาเอกชน สถานศึกษาในสังกัดเทศบาล พนักงานเทศบาล  นักวิชาการ และสื่อมวลชน จากการจัดทำประชาคมดังกล่าว ได้มีการสรุปเป็นแผนแม่บทชุมชนโดยกองสวัสดิการสังคม แบบแสดงรายละเอียดปัญหาและความต้องการ สรุปได้ทั้งสิ้น 82 ประเด็น โดบประเด็นที่สามารถดำเนินการได้เลยมี 9 ประเด็น และมีประเด็นที่หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปจัดทำโครงการบรรจุในแผนพัฒนา 3 ปี จำนวน 73 ประเด็น

 

             

สำหรับความต้องการของประชาคม ที่น่าสนใจอาทิเช่น

               

@ด้านการศึกษา สังคมและคุณภาพชีวิต

                -จัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ(เนิร์สเซอรี่คนแก่) ในพื้นที่กะพังสุรินทร์

                -ลานออกกำลังกายแต่ละชุมชน/เพิ่มเติมเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งในสวนสาธารณะ

                -ตั้งป้อมยามเพิ่มเติมเพื่อสอดส่องดูเด็กและเยาวชนบริเวณเขาแป๊ะช้อย

                -โครงการเรียนรู้และต่อต้านยาเสพติดในชุมชน

                -ดูแลสุนัขและแมวจรจัด(จัดแหล่งควบคุมและรณรงค์การเลี้ยงที่ถูกวิถี)

                -สื่อสารเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมเศรษฐกิจและภูมิปัญญาชุมชน โดยการผลิตรายการโทรทัศน์หรือสื่อ TV , Youtube ออกอากาศผ่านเคเบิลทีวี หรือ Social Media

               

@ด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมือง(ที่ดิน ก่อสร้าง ปรับปรุง สาธารณูปโภคสาธารณูปการ การจราจร ภูมิทัศน์)

                -การจัดการจราจรปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ จัดระเบียบการจราจร ปรับปรุงทางเท้า ป้ายจราจร สัญญานไฟ ป้ายไฟสำหรับให้รถหยุดตรงทางม้าลายหน้าสนามกีฬา และหน้าทางเข้าโรงพระหมื่นราม กระจกโค้งตามจุดเสี่ยง ห้ามรถขนาด 6 ล้อขึ้นไปผ่านเข้ามาในซอยเล็ก(ถนนเก่า)

                -ติดตั้งที่เก็บน้ำสาธารณะประจำชุมชน(กรณีประปาไม่ไหล)

                -ปรังปรุงห้องน้ำภายในสวนสาธารณะ

                -การจัดระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์

                -การเพิ่มประสิทธิภาพทางจักรยาน

               

@ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                -โครงการบ้านสวยด้วยมือเรา พัฒนาคลองห้วยยอดและทุกคลองในเขตเทศบาล แก้ปัญหาน้ำเสียในลำคลอง ชุมชนและรัฐร่วมกันทำความสะอาดและขุดลอกคูคลอง

                -บริหารจัดการขยะเชิงระบบ ส่งเสริมให้ชุมชนมุ่งสู่การใช้วัสดุธรรมชาติ สู่ “นครตรังโกกรีน” สนับสนุนการคัดแยกขยะในครัวเรือน ลงทะเบียนและให้สวัสดิการ “ฮีโร่ซาเล้ง” จัดระเบียบถังขยะ ลดขยะ สร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะด้วยการทำปุ๋ยหมัก ทำแก๊สชีวภาพ ลดขยะจากต้นทาง

                -แก้ปัญหาคูระบายน้ำอุดตันสาเหตุของน้ำท่วม

                -เพิ่มพื้นที่สีเขียวในครัวเรือนด้วยการลดภาษีโรงเรือนบ้านที่มีพื้นที่สีเขียว

                -โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์สัตว์น้ำลุ่มแม่น้ำตรัง 10 สายพันธุ์

                -โครงการสายไฟฟ้าใต้ดินเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

               

 

@ด้านการบริหารจัดการ

                -เพิ่มจุดเสียงตามสาย

                -พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของครูในสังกัดเทศบาลนครตรัง

                -เพิ่มช่องทางการสื่อสารให้ชุมชนได้มีพื้นที่นำเสนอเรื่องราวของตนเอง

 

@ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น

                -ส่งเสริมการมีตลาดชุมชน/ร้านค้าชุมชน/ศูนย์อาหารชุมชน/วิสาหกิจชุมชน และการจัดทำเมนู 2 ภาษา

                -ส่งเสริมปรับปรุงสระกะพังสุรินทร์ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดจลอดจนระบบการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง

                -ส่งเสริมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ (กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน ประชาชนวัยทำงาน)

                -โครงการวิจัยเรื่องท่องเที่ยวชุมชนเมือง สร้างเส้นทางประวัติศาสตร์เมืองทับเที่ยง/แผนที่ทางเดินประวัติศาสตร์เมืองทับเที่ยง และสร้างเส้นทางการท่องเที่ยว รถไฟ ทางบอก และทางน้ำ

                -ปรับปรุงเขาหนองยวน ในเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยว จุดชมวิวเขาหนองยวน วัดมัชฌิมภูมิ

                -จัดทำศูนย์ข้อมูลชุมชน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน พิพิธภัณฑ์ชุมชน

                -ส่งเสริมธนาคารหมู่บ้าน

                -โครงการรักษ์ถิ่นรักษ์เมือง

                -โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนเมือง(พัฒนาตุ๊กตุ๊กเมืองตรัง พัฒนาความรู้คนขับรถในเรื่องภาษา ก้าวสู่อาเซียน)

                -โครงการพัฒฯเด็กและเยาวชนเรื่องมัคคุเทศก์นครตรังให้สามารถแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมท้องเที่ยวในท้องถิ่นได้

                -เมืองสวยงามด้วยไม้งาม “เมืองต้นศรีตรัง” รัฐปลูก ขยายพันธุ์ แจกจ่ายต้นศรีตรัง รณรงค์ให้ชุมชน สถานศึกษษ ช่วยกันดูแลรักษา

                -ส่งเสริมภาคีเครือข่ายการพัฒนาชุมชน (พหุภาคี : เน้นสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนและสถานศึกษาให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ พัฒนา ดูแลรักษา ฟื้นฟู รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยของแหล่งท่องเที่ยว สวนสาธารณะ ชุมชนเมืองเก่าทับเที่ยง หาข้อมูลที่มาของชุมชนและนักท่องเที่ยว และจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆให้เพียงพอ เช่น TV , Social Media , บุคคล)

                -กิจกรรมสร้างคุณค่าผ่านการประกวด ภาพถ่าย วาดภาพ

                -Art Gallery หรือ หอศิลปะวัฒนธรรม

                -ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวชุมชน(BT)

                -เศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืน สร้างศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อการลงทุนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

                -ตลาดนัดถ่ายทอดภูมิปัญญาให้กับเยาวชน

 

 

สำหรับรายงานประชาคมในหัวข้อ “ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การอนุรักษ์อัตลักษณ์ท้องถิ่น” ในครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของการจัดทำแผนพัฒนาของเทศบาลนครตรัง ที่น่าจับตา เพราะบรรยากาศในที่ประชุมล้วนคึกคักไปด้วย “ความหวัง” ของประชาชนผู้เสนอความต้องการ ด้วยหวังเป็นประตูบานแรกของการร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาชุมชนเมือง ให้ยังคง “รากเหง้า” และ “อัตลักษณ์” ของตัวเองไว้ เพื่อนำสู่การต่อยอดในเชิงสร้างสรรค์ได้อีกหลายมิติ

               

ทว่าแผนประชาคมทั้งหมดที่สะท้อนมาในขั้นตอนนี้ ยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้ายของแผนพัฒนาฉบับจริง เพราะยังมีกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโดยฝ่ายรัฐอีกหลายขั้นตอน แต่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ได้เกิดเป็น “ความหวังใหม่” ขึ้นมาแล้ว และเป็นที่ “จับตา” ของคนในสังคมจำนวนไม่น้อย ว่าสุดท้ายแล้วจะได้รับการปฏิบัติและตอบสนองมากน้อยเพียงใด

               

เป็นความท้าทายของ “เทศบาลนครตรัง” ในด้านความเป็นมืออาชีพในการบริหารงานท้องถิ่น ในเรื่องการตอบสนองความต้องการของประชาชน

               

 

จากข้อมูล ณ ต้นปี 2559 ด้านศักยภาพในการบริหารงานของ “เทศบาลนครตรัง” ในด้านอัตรากำลัง มีรายการดังต่อไปนี้

                1.ข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น ในส่วนของเทศบาลมี 154 ราย ในส่วนของสถานศึกษาในสังกัดมี 249 ราย

                2.ลูกจ้างประจำ ในส่วนของเทศบาลมี 69 ราย ในส่วนของสถานศึกษาในสังกัดมี 8 ราย

                3.พนักงานจ้างตามภารกิจ ในส่วนของเทศบาลมี 132 ราย ในส่วนของสถานศึกษาในสังกัดมี 70 ราย

                4.พนักงานจ้างทั่วไป ในส่วนของเทศบาลมี 413 ราย ในส่วนของสถานศึกษาในสังกัดมี 17 ราย

               

ปรากฏการณ์หลังจากนี้ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงใจและความร่วมแรงร่วมใน ระหว่าง คนในสำนักงานเทศบาลนครตรัง ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายประจำ กับ ประชาชนในพื้นที่ เป็นปรากฏการณ์ใหญ่และมีความสำคัญ และแผนพัฒนา 3 ปี ฉบับสมบูรณ์ จะเป็นคำตอบ...