สุดปลื้ม “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ร่วมงาน “มหัศจรรย์ผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี”

สุดปลื้ม “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ร่วมงาน “มหัศจรรย์ผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี” ห้องเสื้อ “Anchavika” ออกแบบ-ตัดเย็บ ให้ “แพนเค้ก” นำเดินแบบ

 

 

สุดปลื้ม “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ลิขิตไว้บนผืนผ้า ททท.ดึงร่วมงาน “มหัศจรรย์ผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี” เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ห้องเสื้อ “Anchavika” ออกแบบ-ตัดเย็บ ให้ “แพนเค้ก” นำเดินแบบ ชมความสวยงาม มหัศจรรย์ของผ้าไทย ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ การแสดงแฟชั่นโชว์จากดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศ นิทรรศการผ้าไทย เส้นทางท่องเที่ยวผ้าไทย เลือกซื้อผ้าไทยจากผู้ผลิตโดยตรง

 

ผู้สื่อข่าว www.addtrang.com รายงานบรรยากาศจากจ.เชียงใหม่ ในงานมหัศจรรย์ผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี (The Magic of Thai Fabric) ซึ่งขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เป็นที่ประจักษ์และนิยมไปทั่วโลก ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม เป็นเดือนที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวกลุ่มสตรี เนื่องจากเป็นเดือนพระราชสมภพ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้จัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นการสัมผัสความสวยงาม และความมหัศจรรย์ของผ้าไทย ผ่านการแสดงแฟชั่นโชว์ จาก 5 ดีไซเนอร์ชั้นนำของประเทศในค่ำคืนของวันที่ 19 สิงหาคม

 

โดยมีนายปวิณ ชำนะประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับและเปิดงาน ร่วมกับ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีการชมการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทย จากดีไซเนอร์ชั้นนำ ได้แก่

 

 

-Anchavika โดย อัญชลี วิกสิตนาคกุล : ผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง ซึ่งมีลวดลายละเอียดสวยงาม มีการดีไซน์ให้ผ้าไทย ให้กลายเป็นชุดที่ล้ำสมัย ในแบบ Anchavika นำเดินแบบโดยทางแบบมืออาชีพ “เพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์”

-Theatre โดย ศิริชัย ทหรานนท์ : ผ้าทอลาวครั่ง จ.สุพรรณบุรี เป็นผ้าที่มีสีสัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นเชิงผ้าถุง ยาวเมตรกว่าๆ กว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ต้องใช้ผ้าอื่นเข้ามาผสม ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการใช้ผ้าไทยออกแบบชุด

-Vatanika โดย วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา : ผ้าทอมือหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ

-Disaya โดย ดิษยา สรไกรกิตติกูล : ผ้าทอสันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นผ้าลายทาง มีสีสันสดใส นำมามิกซ์แอนด์แมตช์ ให้เข้ากับสไตล์ผู้หญิงๆ ในแบบ Disaya

-Kanapot โดย คณาพจน์ อุ่นศร : ผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร สีที่ใช้ย้อมผ้ามาจากธรรมชาติ มีลวดลาย กรรมวิธีการผลิตที่น่าสนใจ จึงมีการนำผ้าย้อมครามมาออกแบบเป็นสตรีทแวร์ ในแบบ Kanapot

 

 

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนางแบบชั้นนำของเมืองไทย มาเดินโชว์ความงามของผ้าไทย ในสไตล์เก๋ไก๋ ได้แก่ เพจเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ , รวีวรรณ บุญประชุม , มารีญา พูลเลิศลาภ , ณัฐธยาน์ บุญชมไพศาล และ ภัทรเดช สงวนความดี

 

โดยมีการเปิดโอกาสให้ดีไซเนอร์รุ่นใหม่จาก 5 สถาบันการศึกษาได้ร่วมออกแบบ นำไปสู่การตัดเย็ย และสวมใส่ร่วมเดินแบบ ได้แก่

 

-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา : ผ้าไหมชุมพรเขาทะลุ จ.ชุมพร

-มหาวิทยาลัยกรุงเทพ : ผ้ากาบบัว จ.อุบลราชธานี

-มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : ผ้าไหมบ้านครัว กรุงเทพมหานคร

-มหาวิทยาลัยมหาสารคาม: ผ้าขิด จ.มหาสารคาม

-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : ผ้าจกแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

 

 

นอกจากนี้ภายในงานยังมี “นิทรรศการแสดงผ้าไทย” จากทุกภูมิภาคของประเทศไทย “นิทรรศการแหล่งท่องเที่ยวเส้นทางผ้าไทย” จัดแสดงข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านผ้าไทย เป็นการส่งเสริม และกระตุ้นให้เกิดการเดินทางไปท่องเที่ยว สัมผัสวิถีชุมชน ในแหล่งผลิตผ้าไทยในทั่วทุกภูมิภาค เลือกซื้อผ้าไทยจากชุมชนผู้ผลิตโดยตรง 

 

ถือเป็นการ เชิดชูคุณค่า “ผ้าไทย” ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม“มหัศจรรย์ผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี” ส่งเสริมอนุรักษ์ผ้าไทย สืบสาน…งานของแม่ โดยแขกผู้มีเกียรติ และผู้ร่วมงาน ต่างแต่งชุดผ้าไทยอย่างสวยงามในงานนี้

 

ที่สำคัญ ถือเป็นความภาคภูมิใจของจ.ตรัง ที่ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 ผ้าไทย ร่วมออกแบบ ตัดเย็บ เดินแบบโดยนางแบบระดับประเทศ ในงาน “มหัศจรรย์ผ้าไทย เทิดไท้องค์ราชินี” ในครั้งนี้

 

 

นาหมื่นศรีในวิถีผ้าทอ

 

ที่นี่…นาหมื่นศรี

 

ตำบลนาหมื่นศรี  แหล่งผลิตผ้าทอมือเมืองตรังที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง  มีพื้นฐานสืบสายใยในวิถีตรังทุ่งหรือตรังนามาเนิ่นนาน

 

จากเชิงเขาบรรทัดที่ลาดลงมาทางตะวันตก ส่วนหนึ่งเป็นผืนนากว้างไกลสุดสายตา สลับด้วยเขาลูกโดดดูเด่นอยู่กลางทุ่ง มีคลองนางน้อยเป็นสายน้ำหลัก และสายน้ำเล็ก ๆ กระจายทั่ว พื้นที่นี้คือลุ่มน้ำคลองนางน้อย แหล่งปลูกข้าวใหญ่ที่สุดของเมืองตรัง ซึ่งครอบคลุมหลายตำบลรวมทั้งนาหมื่นศรี

 

ลุ่มน้ำคลองนางน้อยเป็นที่ตั้งชุมชนดั้งเดิมของเมืองตรัง หากจะนับอายุตามหลักฐานที่ปรากฏ ชุมชนนี้เริ่มเห็นเป็นปึกแผ่นชัดเจนในสมัยอยุธยา ตามที่มีวัดวาอารามเกิดขึ้น ได้แก่ วัดพระพุทธสิหิงค์ วัดหัวเขา วัดกลางซึ่งร้างไปแล้ว วัดปากเหมือง(รัตนาภิมุข)  วัดพระงาม วัดควนขัน และวัดสาริการาม แสดงถึงการรับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ซึ่งปรากฏในตำนานนางเลือดขาว  ทั้งยังมีเรื่องเขาช้างหาย ตำนานพื้นบ้านที่เชื่อมโยงกับพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชอีกด้วย

 

บนที่ดอนแห่งหนึ่งซึ่งมีนาโดยรอบ เป็นที่ตั้งบ้านเรือนของกรมการผู้จัดเก็บอากรและดูแลการทำนาหลวง  ตลอดจนรักษาข้าวในฉางหลวง  เรียกกันว่า “หมื่นศรี” คงมีชื่อที่ยาวกว่านี้ แต่ใช้คำสั้น ๆ ตามวิสัยคนใต้ ที่ตรงนั้นจึงมีชื่อว่า “บ้านนาหมื่นศรี” ตามชื่อผู้นำ  ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ ๒ ของตำบล หลายครัวเรือนในหมู่บ้านนี้ยังคงรักษาและสืบทอดพื้นที่นาข้าวไว้คู่บ้าน

 

อายุของบ้านนาหมื่นศรีน่าจะหลัง พ.ศ. ๒๓๕๕ ในรัชกาลที่ ๒ เพราะสมัยนั้นมีทำเนียบบ้านและครัวเรือน ซึ่งมีชื่อชุมชนในลุ่มน้ำคลองนางน้อยหลายบ้าน เช่น นาพระ ๙ เรือน พนังน้อย ๑๑ เรือน นาขี้เป็ด ๗ เรือน บ้านกลาง ๕ เรือน หัวเขา ๘ เรือน แต่ยังไม่มีชื่อนาหมื่นศรี แสดงว่าชุมชนนี้เกิดขึ้นภายหลัง ครั้นเมื่อประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐)  ทางการก็รวมหมู่บ้านในบริเวณใกล้เคียงเป็นตำบลนาหมื่นศรี

 

 

บ้านควนสวรรค์ หมู่ที่ ๘ เป็นชุมชนเกิดใหม่ หลังจากพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊)  ส่งเสริมให้ปลูกยางพารา ซึ่งมีเรื่องเล่าในตระกูล ๓ ทวดจากบ้านนาหมื่นศรีเป็นผู้บุกเบิกได้แก่ ทวดทอง ทองแป้น ทวดเอียด ช่วยเมือง และทวดเอียด คงฉาง เข้ามาสำรวจที่ดินบริเวณนี้ซึ่งเดิมเป็นป่าทึบ จนเดินหลงป่าอยู่นาน ในที่สุดก็เดินทะลุป่าไปพบหนองน้ำกว้างใหญ่ ทำให้สามารถสังเกตทิศทางได้จากดวงอาทิตย์ จึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า “หนองหวัน”  คำว่าหวัน เป็นภาษาถิ่นใต้หมายถึงตะวัน เมื่อผู้บุกเบิกได้เลือกพื้นที่ควนหรือเนินเป็นที่สร้างบ้านเรือนและทำสวนยางพารา จึงเรียกชื่อชุมชนใหม่ว่า “บ้านควนหนองหวัน” ต่อมาทางการได้เขียนใหม่เป็น “ควนสวรรค์” ครั้นมีวัดและโรงเรียนเกิดขึ้นก็ใช้ชื่อตามทางการ ทำให้ความหมายเดิมถูกลืมเลือน

 

เมื่อแรกเริ่มชุมชนลุ่มน้ำคลองนางน้อย ผู้คนเลือกที่ดอนสร้างที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชในลักษณะสวนผสม ส่วนนาข้าวอยู่ในที่ราบลุ่ม วิถีชีวิตเป็นเกษตรเพื่อยังชีพ ผลผลิตที่เหลือก็แลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้านและต่างหมู่บ้านต่างตำบลกันบ้าง เป็นสังคมพึ่งพาอาศัยกันในทำนอง “พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” เครื่องใช้ต่าง ๆ ทำขึ้นเองเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มซึ่งเป็นงานของผู้หญิงที่ใช้เวลาว่างจากงานไร่นาสวนและงานบ้านในแต่ละวัน

 

ผ้าทอที่ฟื้นคืน

สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งถือกันว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปประเทศ เกิดกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เข้าบริหารจัดการบ้านเมือง การส่งเสริมการปลูกฝ้ายเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นในยุคนี้  ทำให้มีเส้นด้ายขายในตลาด หาซื้อได้ไม่ยาก การปลูกฝ้ายปั่นด้ายตามบ้านจึงลดลง และยังมีการส่งเสริมการทอผ้าในครัวเรือนที่ขยับจากทอใช้เป็นทอขายด้วย ในเมืองตรังก็มีการส่งเสริมกันอย่างจริงจัง  ดังข้อความใน “จดหมายเหตุประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. ๑๒๘” (พ.ศ. ๒๔๕๒) พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ตอนเสด็จฯ บ้านพระยารัษฎาฯ ว่า  “ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้า มีผู้หญิงมานั่งหัดทอผ้าอยู่มาก”  และในวันที่เสด็จตลาดทับเที่ยงกล่าวว่ามีผ้าขายในตลาด  ในตอนบ่ายมีผู้นำผ้ามาขายที่พลับพลา แสดงให้เห็นว่าการทอผ้าของตรังเป็นอาชีพหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวมานานแล้ว

 

ต่อมาในช่วงญี่ปุ่นขึ้นหรือสงครามโลกครั้งที่ ๒ เส้นด้ายขาดตลาดอีกครั้ง ชาวบ้านหันกลับมาปลูกฝ้ายปั่นด้าย  แต่อยู่ได้ไม่นาน เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอสมัยใหม่ผลิตผ้าจากโรงงานออกขาย คนหันไปซื้อผ้าแทนการทอเอง ผ้าทอพื้นบ้านลดน้อยถอยลงจนเกือบจะหมดไปจากชุมชน รวมทั้งที่นาหมื่นศรี

 

การกลับมาใหม่ของผ้าทอนาหมื่นศรีเริ่มจากจุดเล็ก ๆ ในปี ๒๕๑๔ ยายนาง ช่วยรอด มารดาป้ากุศลซึ่งมาอยู่ด้วยที่บ้านควนสวรรค์ได้ชักชวนเพื่อนอาวุโสแถบนั้น ได้แก่ ยายเฉิม  ชูบัว  ยายผอม ขุนทอง และยายอิน เชยชื่นจิตร ซ่อมกี่ขึ้นมาหลังหนึ่ง แล้วช่วยกันรื้อฟื้นการทอผ้าที่หยุดกันไปยาวนานขึ้นมาใหม่ ด้วยความตั้งใจว่าจะให้ลูกหลานได้รู้จักผ้าทอแบบดั้งเดิม  ทำให้ป้ากุศลได้เข้ามาหัดทอผ้าด้วยในครั้งนั้น  

 

ฝ่ายป้ากุศลซึ่งสามีผู้เป็นกำนันเสียชีวิตไปแล้ว ยังคงเป็นที่ไว้วางใจของคนในตำบลและในวงราชการ เป็นที่ปรึกษาทุกข์สุขบรรเทาความเดือดร้อน เป็นผู้ใหญ่ฝ่ายชายไปขอลูกสาว รวมทั้งช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง บ้านอดีตกำนันจึงยังคงเป็นที่รวมของผู้คนต่อมา ทั้งมีเพื่อนของลูกชายที่เป็นพัฒนากร ชื่อ นายไพจิตร ทิพย์เดช  แวะเวียนเข้ามาบ่อย ๆ  เมื่อได้เห็นการทอผ้าจึงแนะนำให้จัดตั้งกลุ่มเพื่อให้ขอการสนับสนุนจากทางราชการได้  ป้ากุศลสามารถรวบรวมคนตั้งกลุ่มทอผ้าขึ้นได้ในปี ๒๕๑๖  และได้รับการสนับสนุนกี่มา ๑๐ หลัง ซึ่งยังเป็นกี่โบราณ เป็นจุดเริ่มต้นให้ลูกหลานที่เพิ่งรุ่นสาวเข้ามาฝึกทอ เมื่อได้ผลผลิตผ้าป้ากุศลก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงด้านการขาย ได้เงินก็ซื้อเส้นด้ายมาทอกันต่อ จากความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของป้ากุศลและเพื่อนร่วมกลุ่ม ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เช่น กี่กระตุก โรงทอผ้า อาคารศูนย์ฝึกอาชีพ ศูนย์การเรียนรู้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการมหาวิชชาลัยชุมชนปักษ์ใต้ พิพิธภัณฑ์  และโครงการฝึกอบรมอีกจำนวนมากเรื่อยมาจนปัจจุบัน

 

ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ หม่อมเจ้าหญิงวิภาวดี รังสิต ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี  หลังจากนั้นทรงให้กลุ่มนำผ้าไปจัดแสดงและวางขายในงานส่งเสริมสินค้าพื้นเมือง ซึ่งจัดที่วังวิทยุ ผู้ไปเข้าเฝ้าฯ มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายผ้าแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งความภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ของกลุ่ม

 

 

มรดกผ้าทอ

ผ้าทอนาหมื่นศรีแต่เดิมหากแบ่งตามลักษณะที่เกิดจากวิธีการทอ มี ๓ ลักษณะ ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และผ้ายกดอก โดยเฉพาะผ้ายกดอกจะมีลักษณะเด่น คือ มีโครงสร้างผืนผ้าที่ตายตัว มีชื่อเรียกของส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เป็นชื่อเฉพาะของนาหมื่นศรี เช่น หน้าผ้า ลูกเกียบ ริมตีน แม่แคร่ ฯลฯ นิยมสีแดงเหลือง โดยยืนแดงพุ่งเหลือง ผ้าเหล่านี้ทอด้วยกี่โบราณ ลายพื้นฐานคือลายลูกแก้วเหมือนกับผ้าที่อื่น ๆ  และยังมีลายที่หลากหลายสืบทอดกันมาในชุมชน ส่วนใหญ่เกิดจากการออกแบบของคนนาหมื่นศรี ซึ่งกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีกำหนดชื่อรวมว่า ลายมรดก   เท่าที่สำรวจพบผ้าที่ยังเก็บอยู่ตามบ้านมีมากกว่า ๓๐ ลาย  ซึ่งทางกลุ่มได้ทำงานวิจัยโดยแกะลายและทอขึ้นใหม่ไว้เป็นตัวอย่าง  นอกจากนี้ยังมีชื่อลายอีก ๑๐ กว่าลายที่ยังหาผ้าตัวอย่างไม่พบ  ซึ่งจะต้องค้นหากันต่อไป  ตัวอย่างชื่อลายต่าง ๆ เช่น ดอกจัน ช่อมาลัย ช่อลอกอ แก้วกุหลาบ เม็ดแตง ท้ายมังคุด ดอกจิก หัวพลู ดาวล้อมเดือน แก้วชิงดวง ลูกแก้วสี่หน่วยใน ราชวัตร กินนร ครุฑ นกเหวก (การเวก) ฯลฯ

 

ผ้าเหล่านี้นอกจากใช้นุ่งห่มในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีผ้าในประเพณีพิธีกรรม   ได้แก่

ผ้าเช็ดหน้า หรือลูกผ้า ใช้เป็นผ้ากราบ ผ้าห่อของสำคัญ เช่น ห่อขันหมาก เครื่องเซ่น

ผ้าห่ม หรือ ผ้าพาด ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น แต่งตัวเจ้านาค เจ้าบ่าว ไปวัด ออกงาน

ผ้าพานช้าง  เป็นผ้าเช็ดหน้าทอต่อกันหลาย ๆ ผืน ใช้พาดโลงศพ  ผู้ตายมักทอเอง เตรียมไว้สำหรับตนเองและสามี เสร็จงานศพก็จะตัดถวายพระหรือแจกกันในหมู่ลูกหลาน

 

นอกจากนี้ยังมีการใช้ผ้าในประเพณีแต่งงาน คือ หญิงสาวจะทอผ้าเตรียมไว้สำหรับให้เจ้าบ่าวผลัดเปลี่ยนเมื่อถึงบ้านเจ้าสาวก่อนจะทำพิธี เรียกว่า ผ้าตั้ง  ผ้าในสำรับประกอบด้วยผ้านุ่ง ๑ ผืน กับผ้าพาด ๑ ผืน

 

การใช้งานในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ใช้เป็นของสะสม ของฝาก ทางกลุ่มได้ปรับเปลี่ยนสีจากเหลืองแดงเป็นสีอื่น ๆ  ที่ดูนุ่มนวลลง  ใช้เป็นผ้าคลุมไหล่ได้ดี เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ผ้าตั้งในพิธีแต่งงานหายไปแล้ว  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการแต่งกายของเจ้าบ่าวเจ้าสาวที่เปลี่ยนไปตามสมัยนิยม

 

นอกจากผ้าลายมรดกแล้วยังมีผ้ายกดอกที่ทอด้วยกี่กระตุก ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่วางขายอยู่ในขณะนี้ กำหนดชื่อว่าลายพัฒนา  ได้มาจากวิทยากรของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มาอบรมให้  เช่น ลายห้า ลายหก ลูกหวาย สร้อยไก่ ข้าวหลามตัด พริกหยวก พิกุล พิกุลแก้ว พิกุลคลอง ผีเสื้อ พวงแสด ขี้เหล็ก บัวตูม เม็ดบัว กลีบบัว เสาวรส หยดน้ำ กระดุมทอง เกลียวมาลัย สี่ทิศ ลูกไม้ ฟ้าตรัง เพชรตรัง เดือนเต็มดวง ฯลฯ  ลายผ้ายกดอกจากกี่กระตุกสามารถทำให้เกิดลายใหม่หรือ “แตกลาย” ด้วยการสลับเท้าเหยียบ และยังพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ    

 

ผู้หญิงนาหมื่นศรีกับวิถีผ้าทอ

คนทอผ้ารุ่นย่ายายของนาหมื่นศรีเล่าไว้ตรงกันว่า หัดทอผ้าจากแม่ แสดงว่าแต่เดิมบ้านใดมีลูกสาว เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น แม่จะสอนให้รู้จักกระบวนการสร้างผืนผ้า เริ่มตั้งแต่หัดปั่นฝ้าย กรอด้าย ค้นหูก จนถึงลงมือทอ

 

งานทอผ้าจึงเป็นงานฝีมือจากหัวใจและจิตวิญญาณของผู้หญิง นอกจากทอผ้าใช้เองแล้ว  ยังทอผ้าให้คนที่รัก

 

หญิงสาวที่ผ่านพิธีหมั้นหมายและเตรียมตัวแต่งงานจะบรรจงทอผ้าผืนสวยสำหรับวันสำคัญในชีวิต คือ ผ้าชุดเจ้าสาว ยังมีที่ต้องบรรจงยิ่งกว่านั้นคือผ้าสำหรับสำหรับชายที่จะครองคู่อยู่ด้วยกัน อันได้แก่ “ผ้าตั้ง” เตรียมไว้ใส่พานให้เจ้าบ่าวผลัดเปลี่ยนเมื่อมาถึงเรือน

 

ถ้ามีลูกชาย แม่ก็จะเริ่มทอผ้าห่ม เพื่อใช้แต่งตัวเจ้านาค สมัยก่อนนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม  ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุงสวมเสื้อเชิ้ต  พาดไหล่ด้วยผ้าห่ม  เมื่อลูกชายได้บวช คนเป็นแม่รู้สึกเหมือนว่าจะได้เกาะชายผ้าเหลืองไปสู่สวรรค์  จึงทอผ้าผืนใหม่สุดฝีมือ บางบ้านอาจไม่ต้องทอใหม่เพราะมีผ้ามรดกจากย่ายายที่ยังเก็บไว้อย่างดี

 

หญิงผู้ผ่านความเป็นแม่สู่วัยกลางหรือวัยปลาย ภาระแห่งชีวิตถูกปลดเปลื้องละวางออกไปมากแล้ว  ที่นั่งประจำในยามนี้คือหูกทอผ้าคู่เรือนที่คุ้นเคยมานานปี  ตั้งใจทอผ้าพิเศษ ๒ ผืนสุดท้ายแห่งชีวิตด้วยใจอันสงบนิ่ง สำหรับคู่ชีวิตที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน และสำหรับตนเอง นั่นคือ “ผ้าพานช้าง”  ไว้ใช้พาดโลงศพ ทอเป็นผ้าเช็ดหน้าต่อกันหลาย ๆ ผืน  แต่ละช่องของผืนผ้าเปรียบเสมือนขั้นบันไดไปสู่สรวงสวรรค์  เสร็จงานแล้วผ้าผืนนี้จะถูกตัดแบ่งเป็นชิ้น ใช้ถวายพระ หรือแจกลูกหลาน

 

ผ้าพานช้าง เป็นเครื่องยืนยันถึงศรัทธาความเชื่อในความดีงาม เพื่อชีวิตหลังความตายที่ดีงามยิ่งกว่า และเป็นมรณานุสติ ไม่ประมาทต่อความตาย  ตามแนวคิดทางพุทธศาสนาที่สืบทอดกันมาในชุมชน

 

สำหรับคนทอผ้านาหมื่นศรี ผ้าพานช้างเป็นดั่งผ้าศักดิ์สิทธิ์ เป็นผืนผ้าสำคัญที่สุดในชีวิต  คนทอผ้านาหมื่นศรีรุ่นปู่ย่าตายายในวันนี้ยังคงมีผ้าพานช้างไว้เตรียมตัวสู่โลกหน้า

 

ผ้าทอกับชีวิตคนนาหมื่นศรีจึงอยู่คู่กันมาจนวันนี้

 

 

Cr.ข้อมูล : อาจารย์สุนทรี  สังข์อยุทธ์ นักวิชาการอิสระ

Cr.ภาพ : พายุทราย พรายทะเล