ประเพณีลากพระ

ถ้าหากจะพูดถึงประเพณีของชาวภาคใต้ตอนล่างในช่วงของวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 นั้น หลายคนก็ต้องนึกถึงประเพณี “ลากพระ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า  ‘ชักพระ’ ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาเป็นเวลาช้านานจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งประวัติและความเป็นมานั้นแจะนำมาอธิบายให้เข้าใจแบบย่อๆ

 

 

ประเพณีลากพระ

เรื่อง/ภาพ : ธีระศักดิ์  จิตต์บุญ

…………..

 

ถ้าหากจะพูดถึงประเพณีของชาวภาคใต้ตอนล่างในช่วงของวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 นั้น หลายคนก็ต้องนึกถึงประเพณี “ลากพระ” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า  ‘ชักพระ’ ซึ่งประเพณีนี้ได้สืบทอดมาเป็นเวลาช้านานจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งประวัติและความเป็นมานั้นแจะนำมาอธิบายให้เข้าใจแบบย่อๆ

    

เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชได้ 7 พรรษา และ พรรษาที่ 7 นั้นได้เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นออกพรรษาแล้ว ยามเช้าของแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ได้เสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ ในการนี้พุทธบริษัททั้ง 4 ประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และ อุบาสิกา ซึ่งรอคอยพระพุทธองค์มาเป็นเวลานานถึง 3 เดือน  ครั้นทราบว่า พระพุทธเจ้าเสด็จกลับ จึงได้รับเสด็จและได้นำภัตตาหารคาวหวานไปถวายด้วย ผู้ไปทีหลังนั่งไกล ไม่สามารถเข้าไปถวายภัตตาหารด้วยตัวเองได้ จึงใช้ใบไม้ห่ออาหารและส่งผ่านชุมชนต่อๆกันไป เพื่อขอความอนุเคราะห์ต่อผู้นั่งใกล้ๆ ถวายแทน บุญประเพณีลากพระ จึงมีขนมต้มหรือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า "ต้ม" เป็นขนมประจำประเพณีทำด้วยข้าวเหนียว ห่อด้วยใบไม้อ่อนๆ เช่น ใบจาก ใบลาน ใบตาล ใบมะพร้าว หรือ ใบกะพ้อ เป็นต้น

    

“การลากพระ” เป็นการบำเพ็ญบุญประเพณีในเทศกาลคล้ายวันพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่โลกมนุษย์ เพื่อให้ประเพณีดังกล่าวโน้มน้าวเร้าจิตใจให้คิดระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์ทรงกลับมาสู่มนุษย์โลก และ โปรดเวไนยสัตว์จนเสด็จดับขันปรินิพพาน ประเพณีลากพระจัดทำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามญาติ หรือ ปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นปางประทับยืนปละทรงยกพระหัตถ์เสมอพระอุระ ประดิษฐานเหนือบุษบกคือมณฑปขนาดเล็กสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ที่จัดตั้งไว้ในยานพาหนะสำหรับลากจูงต่อไป ขบวนลากจูงเรือพระนี้ เป็นประเพณีที่ชาวภาคใต้เรียกว่า "พิธีลากพระ"

      

เมื่อวันแรม 1 ค่ำ ได้เวียนมาถึง วัดต่างๆก็ได้จัดเตรียม “เรือพระ” หรือ “นมพระ” ซึ่งได้ตกแต่งอย่างสวยงามและประณีตซึ่งแต่ละวัดนั้นจะมีลวดลายที่แตกต่างกันไป แต่จะเน้นการเล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าตอนเสด็จลงมาจากสวรรค์ไว้ในตัวเรือพระ ซึ่งกว่าจะได้เรือพระมาแต่ละลำต้องใช่การทำเป็นแรมปี แต่ละวัดจะไม่ให้รู้กันว่าทำยังไงเพราะต้องการจะประกวดต้องการโชว์ผลงานของตัวเอง  

 

ในสมัยก่อนนั้นการลากเรือพระต้องใช้คนทั้งหมดจะชักด้านซ้ายและด้านขวาของหัวเรือพระข้างละไม่ต่ำกว่า 20 คน ซึ่งคนที่เขามาลากเรือพระนั้น จะต้องแต่งกายให้โดดเด่นและไม่ซ้ำกับวัดไหน เมื่อลากพระไปตามสายถนนก็จะร้องรำทำเพลงไปอย่างสนุกสนาน โดยมีกลองยาวบรรเลงร่วมกันไป และจะมีเสียงโห่ที่ทุกคนจำกันได้ชัดคือ สาละพา เอโลๆ สาละโพ เอลาๆ

   

แต่งานประเพณีลากพระ จะเป็นงานเทศกาลบุญกุศลเท่านั้นก็หาไม่ได้ แต่เป็นประเพณีเสริมสร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้านและชุมชน เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวภาคใต้ ให้สืบสานไปสู่เยาวชนคนรุ่นหลัง และคงเป็นมรดกสังคมคงอยู่คู่ไทยถิ่นใต้ชั่วนิรันดร์…

 

ชมภาพ

 

.....