ณรงค์ จันทร์พุ่ม จากนายหนังสู่ศิลปินแห่งชาติ

 

กว่า 40 ปีของ “นายหนังณรงค์” ผู้คอยขยับชีวิตให้กับตัวหนัง เขยื้อนความคิดให้กับคนดู สมกับความเป็น “ศิลปินแห่งชาติ” 

 

 

“ณรงค์ จันทร์พุ่ม” จาก “นายหนัง” สู่ “ศิลปินแห่งชาติ”

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ฅนตรัง จังหวัดตรัง ฉบับเดือนตุลาคม 2558

ขอบคุณภาพประกอบจาก facebook fanpage : หนังอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต

 

นับว่าโชคดีที่ได้มีโอกาสร่วมงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการสี่ภูมิภาค “อ่าน เขียน เปลี่ยนชีวิต” โดย “สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย” ร่วมกับ “สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2558 ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ นอกจากจะได้รับฟังแง่คิดความรู้เกี่ยวกับการอ่านการเขียนจากผู้มากประสบการณ์ ทั้งนักคิดนัดเขียนระดับประเทศแล้ว ยังมีโอกาสได้พบปะมิตรสหายทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องในงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “คุณบูรพา อารัมภีร” นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย “คุณเจน สงสมพันธุ์” อดีตนายกสมาคมนักเขียนฯ “คุณจำลอง ฝั่งชลจิตร” นักเขียนรางวัลรพีพร “คุณวัชระ สัจจะสารสิน” นักเขียนรางวัลซีไรต์ “คุณกนกวลี พจนปกรณ์” นักเขียนรางวัลการประกวดหนังสือดีเด่นแห่งชาติ “จตุพล บุญพรัด” บรรณาธิการมืออาชีพ

               

หรือนักเขียนรุ่นพี่ชาวตรังอย่าง “คุณวิสุทธิ์ ขาวเนียม” “คุณชนะ เสียงหลาย” "คุณกุ้ง-วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์" และอีกหลายๆท่าน โดยงานสัมนาได้รับเกียรติจาก “คุณชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ร่วม ปาฐกถาในหัวข้อ “อ่าน เขียน เปลี่ยนชีวิต” เล่าประสบการณ์การอ่านหนังสือที่ทำให้ได้เป็นตัวตนในทุกวันนี้

               

ในการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด ทุกๆท่านต่างเต็มใจแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นอย่างเป็นประโยชน์ แต่ที่อยากเก็บมาเล่ามากที่สุด คือ แขกพิเศษผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรมตามแบบฉบับชาวใต้และชาวตรัง

               

“อาจารย์ณรงค์ จันทร์พุ่ม” หรือ “หนังอาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2557   ที่ร่วมสนทนาหัวข้อ "การอ่านให้สนุก" อย่างได้ความรู้ อรรถรส ซึ่ง “อาจาย์ณรงค์” ย้ำหนักแน่นว่า สำหรับท่าน การอ่านของท่าน ถูกนำไปใช้เป็นการเขียนด้วยคำพูด นั่นคือ การขับหนังตะลุงนั่นเอง ซึ่งในอดีต ในยุคที่การสื่อสารยังมีข้อจำกัด แม้กระทั่ง หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ ก็ยังเข้าไม่ถึงชาวบ้าน “หนังตะลุง” จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารถึงชาวบ้านอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เรียกได้ว่า นายหนังขับบทว่าอย่างไร ชาวบ้านก็คล้อยตาม

 

 

“ผมย้ายมาจากโรงเรียนลาดปลาเค้าพิทยาคม แล้วมาสอนที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ ราว พ.ศ.2520 ตอนนั้นที่ตรังเขารณรงค์ให้ทางการเข้าถึงประชาชน  ให้สร้างความเข้าใจเรื่องการทำหมันชาย ทางการบอกว่าต้องใช้ศิลปินพื้นบ้าน ผมก็ได้เข้าไปช่วยโครงการ สมัยนั้นคนกลัวมาก กลัวว่าทำหมันแล้วจะเสื่อมสมรรถภาพ ผมก็เข้าไปใช้หนังตะลุงชี้แจงทำความเข้าใจ ยุคนั้นทางการจะทำความเข้าใจหรือใช้ความรู้อะไรกับชาวบ้าน เขาก็ใช้ศิลปะพื้นบ้านแขนงต่างๆ ภาคใต้ก็หนังตะลุง โนรา” “อาจารย์ณรงค์” ยกตัวอย่าง

               

“อาจารย์ณรงค์” เล่าอีกว่า ในช่วงที่เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนวิเชียรมาตุ มี “อาจารย์อมร สาครินทร์” เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ก็เล่นหนังตะลุงมาโดยตลอด กระทั่ง “อาจารย์อมร” เกษียณอายุราชการ ก็เริ่มลงพื้นที่ ไปตามที่ต่างๆ เพื่อสื่อสารกับชาวบ้าน ทำให้บางช่วงมีเวลาสอนหนังสือน้อยลง แต่ทางโรงเรียนก็เข้าใจ และให้โอกาสเสมอมา เพราะการเล่นหนังตะลุงของ “อาจารย์ณรงค์” อีกนัยหนึ่งคือการทำหน้าที่ครูแก่ชาวบ้านนั่นเอง

               

 

“หลังจากนั้นผมก็ถูกส่งตัวไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดตรังในยุคของ “คุณผัน จันทรปาน” เป็นผู้ว่าฯ จากวั้นนั้นถึงวันนี้ 40 ปีมาแล้วที่ผมทำหน้าที่เรื่องหนังตะลุงมาโดยตลอด ดังคำกล่าวของท่าน “พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี๊) ณ ระนอง” ที่ผมยึดถือเสมอมา ว่า เราเมืองตรัง ไม่หนังก็โนรา ตอน “คุณภิญโญ เฉลิมนนท์” เป็นผู้ว่าฯตรัง ทางการรณรงค์เรื่องการสร้างส้วม ให้ประชาชนมีสุขลักษณะในการขับถ่าย พื้นที่ไหนทำได้ ผู้นำท้องถิ่นรับรางวัลโถส้วมทองคำไปเลย ผมก็ใช้ไอ้เท่งกับไอ้หนูนุ้ยทำงาน”

 

                เท่ง : ไอ้หนูนุ้ย! มึงมีลูกกี่คน

                หนูนุ้ย : มีลูกสาว 10 คน

                เท่ง : แล้วบ้านมึงยังส้วมม้าย?

                หนูนุ้ย : ฮาย! ทำส้วมเสียตางค์ทำไม วานใครใครก็พาเอาแหละ

                เท่ง : ลูกสาวมึงอายุเท่าไหร่กันมั่ง?

                หนูนุ้ย : คนโตอายุ 25 คนเล็กอายุ 12

                เท่ง : มึงรู้ไหมลูกมึงกดดันทุกวันนี้ ไปขี้ไปเยี่ยวที่ไหน ไม่รู้ใครลักแลวานอยู่ม้ายถ้าม่ายเบี้ยมึงไปเอาสังสีบ้านกู

               

การรณรงค์โดยใช้หนังตะลุงของ “อาจารย์ณรงค์” ในครั้งนั้นทำให้ชาวบ้านที่ได้ดูหันมาคิดถึงตัวเอง ตอนนั้นเฉพาะในพื้นที่อำเภอห้วยยอดชาวบ้านสร้างส้วมกันใหญ่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ได้ส้วมทองคำเป็นรางวัลจากทางการกันเพียบ

               

 

“อาจารย์ณรงค์” ย้ำว่า ในงานศิลปะพื้นบ้าน ศิลปินต้องรู้จักหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะ การอ่านการเขียนเปลี่ยนชีวิตได้ หนังตะลุงจะทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่ดี การอ่านการเขียนมีความสำคัญที่สุด

               

“ผมยึดมั่นว่า เราต้องอ่านออกบอกได้ และใช้ถูก มีลูกศิษย์หนังตะลุงเยอะ ที่อ่านไม่ออกอ่านไม่ชัดเจน อย่างการร้องประกาศหน้าบท หรือการทำความเคารพครูบารย์อาจารย์พ่อแม่ท่านผู้ชม การอ่านการกล่าวบทที่ผิดทำนองผิดคำจะทำให้มีปัญหา ที่สำคัญคือปฏิภานไหวพริบ กาละเทศะ อย่างมุขตลกประกาศหน้าบทก็สำคัญ เช่น ไปเล่นที่วัดบางวัด ห้ามไหว้เจ้าอาวาสก่อน เพราะบางทีวัดทำให้นายหนังพากลอนด้นสดไปต่อไม่ได้ เช่น ขับบทว่า ยกมือไหว้อาจารย์วัดต้นตอ...ยกมือไหว้พระอาจารย์วัดต้นตอ...ชื่อวันเป็นสระออ พอติดแล้วเราซ้ำได้ไม่เกินสองรอบ ถ้าซ้ำเกินกว่านั้น คนดูก็แซวนายหนังสวนมาว่า ติดแล้วเห้ออาจารย์ คนก็ว่าหนังนี้ไม่สาไหร(ไม่มีภูมิ)”

               

 

“การขับบทเป็นเรื่องของศิลปะ ชั้นเชิง ไหวพริบ และการศึกษาทำการบ้าน ถ้าขับดีชาวบ้านชอบ การขับสดต้องไว มีคำสัมผัส บางครั้งก็เล่นโต้ตอบกับนายหนัง เช่นนายหนังขับไปว่า...เที่ยวยกขา...งูเห่า...อีรั้งเปล่าเปลือย...คนดูตะโกนสวนมาว่า...อย่าให้เลื้อยมาทางนี้นายหนังเห้อ...ก็หัวเราะกันทั้งโรง ความหมายคือ ภูมิของคนเป็นนายหนังต้องเพียงพอ”

        

 

“อาจารย์ณรงค์” ได้รับความยอมรับในเรื่องหนังตะลุง ทั้งความสามารถในการขับเสียงตัวละครต่างๆ ปฏิภาณไหวพริบ แต่กระนั้นก็ยังมีสิ่งที่คนเป็นนายหนังต้องพึงระวังมากที่สุด คือ ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

               

“เราต้องรู้จักวางตัวให้เหมาะสม แม้คืนนั้นกระทิง(เครื่องดื่มชูกำลัง)จะขึ้นเวทีไปหลายขวด(หัวเราะ) เวลาช่วงเลือกตั้งระดับไหนก็แล้วแต่ จะมีบ่อยที่คนมาฝากว่านายหนังช่วยมั่งเห้อ แต่เราต้องระลึกเสมอว่าเราเป็นนายหนัง หนังตะลุงก็คือสื่อ เราพูดได้แค่ชักชวนชาวบ้านให้ออกไปเลือกคนดี อย่านอนหลับทับสิทธิ์ เราทำได้แค่นี้ ถ้าไปเชียร์ใครปัจจุบันผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วย เขามีเทปเสียง อัดเสียงไปฟ้องร้องกันได้”

               

“ศิลปินอย่างเรา มีจุดมุ่งหมายในการเล่นหนังตะลุง สมัยอยู่โรงเรียนวิเชียรมาตุ เรามีจุดมุ่งหมาย คือ การนำการศึกษาไปถึงชาวบ้าน เราไปเจอชาวบ้าน เราถามว่าทำไมไม่ให้ลูกเรียนหนังสือ เราเคยมอบทุนหนังตะลุงให้เด็กได้เรียน ให้เป็นรายปี แต่มีเด็กคนหนึ่งที่นาโยง ได้รับทุนหนังตะลุงเป็นทุนการศึกษา แต่เด็กไม่ได้ชำระค่าบำรุง เราก็ไปถามเด็กว่าได้ทุนไปแล้วทำไมไม่จ่ายค่าเทอม เด็กก็บอกว่าพ่อเอาไปแพ้ไก่ชนเสียแล้ว(หัวเราะ)”

               

นิยามของ “หนังตะลุง” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้สำหรับ “อาจารย์ณรงค์” นั้นเป็นมากกว่ามหรสพ ความสนุก หรือความบันเทิง หาก “หนังตะลุง” คือ “ปรัชญาคำสอน” ให้คนรู้ถูกผิดดีชั่ว ให้คนทำดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของ “นายหนัง” ที่ต้องสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ผสมผสานไปกับการทำหน้าที่

               

“เราต้องคิดเสมอ เล่นในงานบวช ต้องเล่นให้แง่คิดอย่างไร งานงานแต่งงานต้องสอดแทรกปรัชญาชีวิตคู่ เล่นงานศพก็บอกเล่าสัจธรรมเกิดแก่เจ็บตาย หนังตะลุงจะมีเรื่องราว มีตัวละคร มีโครงเรื่อง ผมเคยไปเล่นที่สนามหลวง ในฉากหนึ่งๆอาจมีตัวเจ้าเมือง ตัวราชินี มีนางร้ายซึ่งตัวหนังเรียกอีสองแขน คือ เดินมือแกว่งแบบไม่มีมารยาท โครงเรื่องว่า นางตัวร้ายทำเสน่ห์ท่านเจ้าเมือง  องค์ราชีนีถูกทรมาน แต่สุดท้ายแล้ว ธรรมะต้องชนะอธรรม คนดีต้องครองเมือง ก็ต้องมีการสอบสวน องค์ราชีนีถูกนางร้ายใส่ร้ายว่าประพฤติตัวไม่ดี มีชู้ ในการสอบสวนองค์ราชาเป็นประธาน แล้วต้องมีพระเป็นกรรมการร่วม มีไอ้เท่งไอ้นุ้ยที่ต้องอยู่ฝ่ายองค์ราชินี การใส่ตัวละครจำนวนมากจะช่วยสร้างเรื่องราว องค์ราชินีถูกกลั่นแกล้ง แต่การสอบสวนต้องทรงความยุติธรรม สุดท้ายองค์ราชาที่เป็นประธานสอบสวนต้องทรงธรรม สุดท้ายแล้วธรรมมะต้องชนะอธรรม”

               

“อาจารย์ณรงค์” บอกว่า นายหนังคนเดียวต้องขับเสียงของตัวละครทุกตัวทุกเพศให้ได้ และต้องใช้หลายเสียง บางทีคนคิดว่านายหนังลิปซิงค์ แต่ที่จริงแล้วคนขับบทมีคนเดียวและต้องใช้เสียงที่หลากหลายจนคนดูไม่รู้สึกว่าขับคนเดียว นอกจากนี้ถึงแม้จะขับบทเป็นภาษาปักษ์ใต้ ก็ต้องศึกษาว่าจังหวัดไหนใช้สำเนียงอย่างไร เพราะตรัง นครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี ฯลฯ แต่ละที่แหลงใต้ไม่เหมือนกัน การขับบทที่เข้าถึงสำเนียงพื้นถิ่นในแต่ละแห่ง ก็คือการเข้าถึงคนดู

               

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีของ “นายหนังณรงค์” ผู้ซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนผ้าสีขาว คอยขยับชีวิตให้กับตัวหนัง ขยับความคิดให้กับคนดูมานับไม่ถ้วน วันนี้กับ “ศิลปินแห่งชาติ” ถือเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่ สมกับที่เจ้าตัวได้ยึดมั่นในการทำหน้าที่ด้านศิลปะการแสดงแขนงนี้เสมอมา ปัจจุบัน “อาจารย์ณรงค์” ผู้ก่อตั้ง “สมาคมการแสดงพื้นบ้านชาวตรัง” ได้เปิด “ศูนย์อนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านปักษ์ใต้” ขึ้นที่อำเภอกันตัง และกล่าวเชิญชวนทุกคนให้ไปเยี่ยมอยู่เสมอ ไม่ว่านักเรียนนักศึกษา บุคคลทั่วไป หรือใครก็ได้ที่สนใจศิลปวัฒนธรรมไทย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวไม่ได้มีแต่เพียงเรื่องราวของ “หนังตะลุง” เท่านั้น ยังเป็นสถานที่พบปะและฝึกสอนศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้ผู้สนใจทั่วไปอีกด้วย

               

 

“เป็นความตั้งใจของผมนะครับ เรียนเชิญ ไม่มีที่อยู่ที่กิน เรียนเชิญ มาได้เลย เรามีเส้นทางสู่ศิลปินแห่งชาติทุกสาขา ชีวิตผม ผมอ่านแล้วอาจไม่ได้เอามาเขียนเป็นตัวหนังสือ แต่ผมเอามาเขียนเป็นหนังตะลุง ผมอ่านแล้วเอามาเขียนเป็นคำพูด เป็นบทหนัง ตัวละครหนังตะลุงเรายกโลกทั้งใบมาไว้ในหนัง หนังตะลุงมีทั้ง คนจน คนรวย มีพระ มีมาร มีคนโง่ มีคนฉลาด ผมเล่นหนังตะลุงให้เกิดประโยชน์ตรงนั้น”

 

 .....................................................................................

 

 

ประวัติ อาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต (ณรงค์ จันพุ่ม)

 

“อาจารย์ณรงค์ จันพุ่ม” เกิดเมื่อวันที่ 22  กรกฎาคม พ.ศ.2490  ที่หมู่บ้านท่าคลอง ตำบลนาชุมเห็ด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง เป็นบุตรของนายหมุน และนางดำ จันพุ่ม สมรสกับนางมาลี เจริญกุล มีบุตร 2 คน “อาจารย์ณรงค์”  เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาจึงได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยบูรพา) จนจบปริญญาตรี ต่อมาบรรจุเป็นอาจารย์กรมสามัญศึกษาก่อนย้ายมาเป็นครูโรงเรียนวิเชียรมาตุ ใน พ.ศ.2520  ปัจจุบันช่วยราชการฝ่ายประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานจังหวัดตรัง

 

ผลงานและเกียรติคุณ

               

1.เป็นผู้สืบทอดศิลปินหนังตะลุง เป็นบุคคลที่มีความสามารถเฉพาะตัวสูง มีปฏิภาณไหวพริบในการใช้ความคิดและสติปัญญาอย่างรวดเร็วฉับไวในการคิดด้น กลอนสด บทพากย์เจรจา สอดแทรกอารมณ์และความคิดประจำตัวรูปหนังตะลุงแต่ละตัวได้ ตั้งแต่ในวัยเด็ก การเรียนรู้ศิลปะหนังตะลุงของอาจารย์ณรงค์ เกิดจากความชอบและมีใจรัก สนใจฝึกหัดซ้อม แต่ยังไม่มีเวทีให้แสดงออก ต่อมาเมื่อมีกิจกรรมของนักศึกษาในวิทยาลัย อาจารย์ณรงค์ ได้นำการเล่นหนังตะลุงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตนมาแสดง กระทั่งเมื่อมีกิจกรรมของนักศึกษาครั้งใด จะมีหนังอาจารย์ณรงค์ เป็นส่วนร่วมของกิจกรรมอยู่เสมอ เมื่อย้ายมาเป็นครูที่จังหวัดตรัง จึงได้เล่นหนังตะลุงอย่างจริงจังจนมีชื่อเสียง

               

2.อาจารย์ณรงค์ เป็นผู้ใช้หนังตะลุงเป็นสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านต่าง ๆ ของจังหวัดตรัง เช่น ความรู้เกี่ยวกับด้านการเมือง การรณรงค์เรื่องการให้ไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงในการเลือกตั้งการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนับเป็นการประชาสัมพันธ์ที่เข้าถึงชาวบ้าน ได้ทุกระดับ

               

3.อาจารย์ณรงค์ สร้างสวัสดิการให้กลุ่มศิลปินหนังตะลุงได้เป็นผลสำเร็จ เป็นการสร้างขวัญ กำลังใจและความมั่นคงให้แก่กลุ่มชาวศิลปินหนังตะลุงด้วยกัน เพื่อให้มีการเล่นหนังตะลุงซึ่งเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืองตรังอันเป็น ภูมิปัญญาที่คนรุ่นเก่าได้ถ่ายทอดไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลานเกียรติคุณที่ได้รับ ณรงค์ จันพุ่ม ได้รับยกย่องจากประชาชน ขนานนามว่า “นายหนังตะลุงบัณฑิต” ศิลปินที่สืบทอดมรดกศิลปะของท้องถิ่นไว้ได้ไม่ให้สูญหาย

               

ด้วยความอุตสาหะทุ่มเทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ “อาจารย์ณรงค์” ได้รับรางวัล “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปี 2557 สาขาศิลปะการแสดง

 

 

 

....................................................................................................................................................

 

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

....................................................................................................................................................

 

 

 

 

...................................................

 

สำหรับท่านผู้สนใจอยากพบปะกับอาจารย์ณรงค์ ขอเชิญร่วมกิจกรรม “เปิดการอ่าน สร้างลานศิลป์ พบศิลปินถิ่นใต้” วันที่ 15 มกราคม 2559

 

หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯตรัง เชิญร่วมกิจกรรม “เปิดการอ่าน สร้างลานศิลป์ พบศิลปินถิ่นใต้” ในวันที่ 15 มกราคม 2559 เวลา 09.00-16.30 น. ที่หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถตรัง ตามโครงการเพื่อพัฒนาหอสมุดแห่งชาติให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการเห็นความสำคัญของการอ่าน ส่งเสริมให้จังหวัดตรังเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้

 

พบกับกิจกรรมมากมาย อาทิ

 

-นิทรรศการผลงานศิลปกรรมของศิลปินเมืองตรัง

-การแสดงจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

-เปิดปูมนักเขียน โดย อาจารย์สุนทรี สังข์อยุทธ์ อดีตหัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติฯตรัง

-ภาษาถิ่นกับศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง อาจารย์ณรงค์ ตะลุงบัณฑิต

-เสวนานักเขียนเมืองตรัง เรื่อง “จากนักอ่านสู่เส้นทางนักเขียน” โดย อาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง , คุณดรุณี เดชานุสรณ์ , คุณขจรฤทธิ์ รักษา , คุณวิสุทธิ์ ขาวเนียม ดำเนินรายการโดย คุณพิษณุ ธีระกนก