ความรักของ “แม่ถ้วน” กับ “ครูประชาบาล”

 

“ครั้งแรกที่เขาขอฉันแต่งงาน ฉันปฏิเสธอย่างหนักแน่น ฉันบอกเหตุผลไปว่าฉันไม่อยากแต่งงาน เพราะฉันไม่มีการศึกษาเลยสักนิด แต่ครูนิยมก็ยังยืนยันคำเดิม”

 

 

 

ความรักของ “แม่ถ้วน” กับ “ครูประชาบาล”

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

 

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศช่วง “เดือนแห่งความรัก” www.addtrang.com ถือโอกาสนำมุมเล็กๆอันทรงคุณค่าเกี่ยวกับ “ความรัก” มาฝากท่านผู้อ่าน เป็นมุมเล็กๆที่ “คนตรัง” หลายคนอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่เชื่อว่าจะสร้างความประทับใจให้กับทุกท่านได้ไม่มากก็น้อย

 

เมื่อเอ่ยถึง “แม่ถ้วน หลีกภัย” สำหรับคนตรังคงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก ในฐานะเป็นมารดาของ “นายชวน  หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรีสองสมัยชาวตรัง และสถานที่ยอดนิยม “บ้านแม่ถ้วน” ริมถนนวิเศษกุล ภายในบ้านเรียบง่ายและร่มรื่น เต็มไปด้วยไม้ยืนต้นและไม้พุ่มนานาชนิด  อีกทั้งในอดีตยังเป็นแหล่งผลิตกระเบื้องว่าวที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวและแห่งสุดท้ายของทับเที่ยงอีกด้วย เป็นเสมือนห้องรับแขก แขกไปใครมาเมืองตรัง หากไม่ได้มาแวะ ก็เท่ากับว่ายังมาไม่ถึงเมืองตรัง

 

คนตรัง รู้จัก “แม่ถ้วน” ในฐานะของ “แม่ค้า” ผู้ขยันขันแข็ง และสามารถเลี้ยงลูกให้เป็น “นายกรัฐมนตรี” ได้ ถึงแม้วันนี้จะสิ้น “แม่ถ้วน” แล้ว แต่แบบอย่างความประทับใจและความทรงจำเกี่ยวกับ “แม่ถ้วน” ยังคงจารึกอยู่มิเสื่อมคลาย

 

“แม่ถ้วน” มีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ใช้แซ่ตามบิดาที่อพยพมาจากเมืองจีน คือสกุล "จูห้อง" เป็นหนึ่งใน 35 สกุลเก่าแก่ของชาวฮกเกี้ยนในเมืองตรัง แต่เดิมมีชื่อว่า "กิมถ้วน" แต่ภายหลังเหลือเพียงว่า "ถ้วน" ตามคำเรียกของคนใต้

 

ในวัยเด็ก “แม่ถ้วน” อยากจะเป็นนางพยาบาล แต่ไม่สมหวังเนื่องจากไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะเป็นบุตรคนโต ต้องคอยดูแลมารดาและต้องทำงานหาเงินให้น้องๆได้เรียนหนังสือ

 

“แม่ถ้วน” ได้แต่งงานกับครูประชาบาลธรรมดาๆในโรงเรียนวัดควนวิเศษ คือ “ครูเฮิด” หรือ “ครูนิยม หลีกภัย” ทั้งสองมีลูกทั้งสิ้น 9 คน เป็นชาย 6 หญิง 3 โดยนายชวนเป็นคนที่ 3

 

ในแง่มุมเกี่ยวกับ “ความรัก” ของ “แม่ถ้วน” นอกเสียจากคนในครอบครัวแล้ว น้อยคนนักที่จะได้รับรู้ และเป็นความโชคดีที่ www.addtrang.com ได้ไปอ่านพบโดยบังเอิญ ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post หน้า Outlook ตีพิมพ์ฉบับวันที่ 23 มีนาคม 2530 สัมภาษณ์โดย “คุณเสริมสุข กษิติประดิษฐ์” แปลโดย “คุณจงจิตต์ หลีกภัย” ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก พิธีพระราชทานเพลิงศพ "คุณแม่ถ้วน หลีกภัย"  ณ เมรุวัดควนวิเศษ วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม  2554 

 

ชื่อบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นว่า ... “ฉันเป็นแม่ค้า” ... ซึ่งในช่วงหนึ่ง “แม่ถ้วน” ได้เล่าถึง “ครูนิยม” คนรักของท่านไว้สั้นๆแต่มีความหมาย โดยผู้สัมภาษณ์ได้เรียก แม่ถ้วน” ว่า “ยายถ้วน”

 

ชีวิตของ “ยายถ้วน” เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่ออายุได้ 18 ปี ยายถ้วนได้พบกับ “ครูนิยม หลีกภัย” ซึ่งเป็นครูในจังหวัดตรัง  ยายถ้วนเล่าว่า ได้ปฏิเสธการสู่ขอถึง 4 ครั้ง ก่อนที่จะตอบตกลงแต่งงาน

 

“ยายถ้วน” เล่าว่า “ครั้งแรกที่เขาขอฉันแต่งงาน ฉันปฏิเสธอย่างหนักแน่น ฉันบอกเหตุผลไปว่าฉันไม่อยากแต่งงาน เพราะฉันไม่มีการศึกษาเลยสักนิด แต่ครูนิยมก็ยังยืนยันคำเดิม ครูนิยมบอกว่าฉันจะเป็นภรรยาที่ดีได้ แต่ฉันก็ยังปฏิเสธ ฉันใช้เวลานานมากในการตัดสินใจ เพราะฉันกลัวว่าเขาจะมาหลอกให้ฉันไปเป็นคนรับใช้ ไม่ใช่ภรรยา”

 

เป็นถ้อยคำเพียงสั้นๆของสาวชาวบ้านธรรมดาๆคนหนึ่ง ถึงชายคนรัก ที่สะท้อนถึงความไว้ตัวและรอบคอบในการตัดสินใจเลือกคู่ครองของชีวิต ด้วยความเจียมเนื้อเจียมตัวในความรู้และการศึกษาอันน้อยนิด แต่ทว่าเวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์ “รักแท้” ที่ครูประชาบาลคนหนึ่งมอบให้ จนวันนี้ได้เกิดเป็น “ครอบครัวหลีกภัย” ครอบครัวของนายกรัฐมนตรีเมืองไทย

 

 

 

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของ Bangkok Post

 

ไม่ว่าความชราหรืออิทธิพลของนักการเมือง ก็ไม่สามารถทำให้ยายถ้วนผู้อยู่ในวัย 74ปี(อายุขณะสัมภาษณ์) ผู้นี้ละทิ้งชีวิตที่แสนจะมีชีวิตชีวาในฐานะแม่ค้าในตลาดไปได้ ทุกเช้าเวลาตีสี่ยายถ้วนจะตื่นนอนเพื่อตระเตรียมข้าวของไปขายในตลาดเล็กๆในจังหวัดตรัง เธอปฏิเสธคำร้องขอของลูกๆทุกคนให้หยุดขายของในตลาด ซึ่งในนั้นคือคำขอของนายชวน

               

ยายถ้วนเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มที่แสนจะอบอุ่นว่า “ฉันตอบลูกๆไปว่าให้เลิกความคิดที่จะพยายามให้ฉันหยุดขายของเสียเถอะ ฉันบอกพวกเขาไปว่า ฉันจะไม่ฟังแม้จะเป็นบัญชาจากสวรรค์ก็ตาม”

               

สำหรับหญิงมีอายุ เห็นได้ชัดว่ายายถ้วนมีความภูมิใจในสุขภาพของตนเองมาก ที่เห็นได้ชัดๆพอกันคือความอบอุ่นและความเอื้ออาทรของยายถ้วน รอยยิ้มแห่งความสุขเป็นสิ่งที่เห็นได้อย่างเด่นชัดบนใบหน้าที่อ่อนโยน และหากใครได้มีโอกาสพูดคุยกับยายถ้วน จะพบว่ายายถ้วนมักแทนตัวเองว่า “แม่” อยู่เสมอ แต่ในความอ่อนโยนนั้น ยายถ้วนถือเป็นคนหัวแข็งมากในเรื่องงาน หนึ่งในหลายเหตุผลที่บรรดาลูกๆของยายถ้วนยังคงยอมให้ยายถ้วนขายของในตลาดต่อไปก็คือ การขายของเป็นสิ่งที่ทำให้ยายถ้วนได้พบปะผู้คน ซึ่งเป็นผลดีต่อร่างกาย จิตใจ และสมองของยายถ้วนนั่นเอง

               

ยายถ้วนเล่าว่า “ฉันไม่รู้หนังสือ ฉันจึงเลือกที่จะเลี้ยงชีพด้วยการขายของในตลาด เวลาที่ลูกๆบอกฉันว่า ถึงเวลาที่แม่จะพักผ่อนได้แล้ว ฉันก็แค่ตอบพวกเขาไปว่า หากต้องการให้แม่มีอายุยืนยาวก็อย่าให้แม่หยุดค้าขายเลย และบรรดาลูกๆก็หยุดรบเร้าจริงๆ เพราะรู้ว่าไม่ว่าจะพูดอย่างไร ฉันก็ไม่ฟังอยู่ดี” ยายถ้วนเล่าไปหัวเราะไป ด้วยความสุขทั้งชีวิตส่วนตัวและการงาน

               

ยายถ้วนนั้นทั้งเกิดและโตที่เมืองตรัง ในวัยเด็กยายถ้วนฝันที่จะเป็นหมอหรือพยาบาลเพราะจะได้ช่วยเหลือผู้ป่วย แต่การมีแม่ที่ป่วยทำให้ยายถ้วนเป็นลุกคนเดียวในบรรดาพี่น้องทั้ง 8 คน ที่ไม่ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนเพราะต้องอยู่บ้านเพื่อดูแลแม่

               

“ฉันฝันสลายเลยล่ะ ฉันพูดไม่ออกเลย ต้องกลั้นน้ำตาเอาไว้ ฉันอยากเรียนหนังสือมาก อยากเป็นหมอหรือพยาบาลเพื่อที่ฉันจะได้ช่วยเหลือผู้อื่นได้ ฉันร้องไห้แต่ฉันไม่เคยให้คุณตาของฉันรู้หรอก”

               

ชีวิตของยายถ้วนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่ออายุ 18 ปี ยายถ้วนได้พบกับ ครูนิยม หลีกภัย ซึ่งเป็นครูในจังหวัดตรัง ยายถ้วนเล่าว่าได้ปฏิเสธการสู่ขอถึง 4 ครั้ง ก่อนที่จะตอบตกลงแต่งงาน ยายถ้วนเล่าว่า “ครั้งแรกที่เขาขอฉันแต่งงาน ฉันปฏิเสธอย่างหนักแน่น ฉันบอกเหตุผลไปว่าฉันไม่อยากแต่งงาน เพราะฉันไม่มีการศึกษาเลยสักนิด แต่ครูนิยมก็ยังยืนยันคำเดิม ครูนิยมบอกว่าฉันจะเป็นภรรยาที่ดีได้ แต่ฉันก็ยังปฏิเสธ ฉันใช้เวลานานมากในการตัดสินใจ เพราะฉันกลัวว่าเขาจะมาหลอกให้ฉันไปเป็นคนรับใช้ ไม่ใช่ภรรยา”

               

ชีวิตหลังแต่งงานของยายถ้วนมีความยากลำบาก เพราะมีลูกมาก ยายถ้วนจึงต้องทำทุกอย่าง ไม่ว่า เลี้ยงหมู ทอผ้า กรีดยาง ขายของ ยายถ้วนเล่าว่าในวัยเด็กนายชวนได้ช่วยทำงานและพูดว่าจะไม่ไปโรงเรียนแต่จะช่วยแม่ทำงาน ยายถ้วนบอกกับนายชวนว่า ชีวิตที่ผ่านมาของแม่สอนให้รู้ว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดที่แม่จะให้แก่ลูกๆได้ แม่จึงทำงานหนักเพื่อให้ลูกได้เล่าเรียน แม่ไม่สามารถที่จะสอนให้ลูกอ่านและเขียนได้ แต่แม่ก็สามารถสอนให้ลูกเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ มีจริยธรรม จะจนหรือรวยไม่สำคัญ แต่สำคัญที่จะต้องเป็นคนดี ความภูมิใจของแม่คือการที่ลูกๆทุกคนมีการศึกษาดีตามที่แม่ปรารถนา

               

ในพ.ศ.2512 นายชวนตัดสินใจเล่นการเมืองแทนการเป็นผู้พิพากษาซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ยายถ้วนผิดหวังอย่างแรงและบอกกับลูกว่า แม่ไม่เห็นด้วย เพราะการเข้าสู่วงการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงินมาก เรารับภาระไม่ได้ แต่นายชวนได้ยืนยันกับแม่ถึงความตั้งใจ จนผู้เป็นแม่ต้องยอมในที่สุด ในปีนั้นนายชวนชนะเลือกตั้งและชนะต่อเนื่องกันมา 6 สมัย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายชวนชนะการเลือกตั้งคือแม่ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนและเป็นที่รักของชาวบ้าน ยายถ้วนจะคอยชี้แจงอธิบายเรื่องราวที่จะทำให้มีการเข้าใจผิดเกี่ยวกับลูกชายเสมอ ตัวอย่างเช่น เคยมีการกล่าวหาว่านายชวนเป็นเจ้าของบริษัทรถทัวร์และเป็นเจ้าของสวนลำไยทางภาคเหนือ ยายถ้วนช่วยชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวเป็นเท็จ เพราะนายชวนไม่มีแม้แต่บ้านเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ด้วยความมีเมตตาและสำนึกในบุญคุณของชาวบ้านผู้ลงคะแนนเสียงให้ลูกชาย ยายถ้วนยังดูแลและช่วยเหลือเด็กอีก 5 คนให้ได้เรียนหนังสืออีกด้วย

               

นอกจากการทำงานแล้ว ความสุขของแม่คือการที่ลูกๆได้มีความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อนายชวนหรือลูกๆคนไหนกลับบ้าน ยายถ้วนจะสรรหาและปรุงอาหารที่ชอบให้เสมอ ยายถ้วนคือแบบอย่างของหญิงนักสู้เมืองตรัง นายชวนเคยกล่าวว่า มีความห่วงใยในสุขภาพของแม่ แต่แม่เป็นนักสู้และจะช่วยตนเอง ไม่เคยขอเงินลูกแม้แต่ครั้งเดียว

               

ชีวิตการค้าขายในตลาดทำให้ยายถ้วนมีชีวิตยืนยาว หลังการขายของในตลาดช่วงเช้า ยายถ้วนจะใช้เวลาในช่วงบ่ายตระเตรียมข้าวของเพื่อขายในวันต่อไป ซึ่งตรงกับเวลาการรับรู้ข่าวสารของเธอ โดยการให้เด็กในบ้านอ่านหนังสือพิมพ์ให้ฟัง หรือติดตามข่าวสารทางวิทยุ และโทรทัศน์ แม่เป็นแม่ค้ายายถ้วนก็ทันต่อข่าวสาร โดยเฉพาะข่าวการเมือง

           

“ลูกๆของฉันเคยเสนอว่าจะให้เงินมากเท่าที่ฉันต้องการโดยมีข้อแม้ให้ฉันหยุดขายของ แต่ฉันถือว่าตราบเท่าที่สุขภาพยังดีอยู่ ฉันก็จะไม่หยุดทำงาน”

 

ทั้งหมดนี้ เป็นเครื่องสะท้อนว่า "ความรัก" ของ "แม่ถ้วน" ไม่ได้เป็นแค่ความรักของหนุ่มสาว แต่เป็น "ความรัก" ในฐานะของผู้เป็น "แม่" อีกด้วย 

.....................

 

ภาพนายชวน หลีกภัย ปราศรัยหาเสียงในยุคก่อน ที่จังหวัดตรัง และที่กรุงเทพมหานคร

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก “คุณเสริมสุข กษิติประดิษฐ์” ผู้สัมภาษณ์

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................