เปิดโลกนาฏศิลป์ กับสองพี่น้องฝาแฝด “นาฏศิลป์บ้านเจ้าแฝด"

 

“ปทุมทิพย์ ซุ่นสั้น”. หรือ “ป๋อม” (แฝดพี่) “ประภาพร ซุ่นสั้น” หรือ “แป๋ม” (แฝดน้อง) สองสาวฝาแฝดบุคลิคดี อายุ 26 ปี ลูกหลานคนตรังแท้ๆ ใช่เพียงร่างกายเท่านั้นที่เกิดมาคู่กัน แต่ความชื่นชอบ ความสนใจในนาฎศิลป์ไทย ของทั้งคู่ก็เหมือนกันตั้งแต่เด็กจนโต  เธอทั้งสองเกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง มีคุณพ่อประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นช่างรับเหมางานกระจก อลูมิเนียม ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน

 

 

เปิดโลก “นาฏศิลป์” กับสองพี่น้องฝาแฝด “นาฏศิลป์บ้านเจ้าแฝด”

(ตีพิมพ์ครั้งแรก ในคอลัมน์ผู้หญิงเก่ง หนังสือพิมพ์ตรังนิวส์ ปีที่28 ฉบับ 856 ประจำวันที่ 16-31 มีนาคม 2564)

.................

“อยากสืบทอดการรำไทย นาฏศิลป์ไทย อยากสืบทอดต่อๆไปด้วย เพราะรำไทยเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาฝึกกว่าจะได้ท่าทางที่สวยงาม การสอนเด็กคนหนึ่ง ต้องเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่เรียนมา มาถ่ายทอดให้พวกเขา จนวันหนึ่งเด็กที่หนูสอน จะรำได้สวยด้วยฝีมือที่หนูสอนมา” “ป๋อม-ปทุมทิพย์ ซุ่นสั้น”(แฝดพี่)

 

“มันมากกว่าชอบ มันรัก แค่ได้ยินเพลงก็รู้สึกอยากรำขึ้นมา ท่าก็มาแล้ว มันอธิบายไม่ถูก แต่มันเป็นตัวของหนูไปแล้ว แป๋มอยากสานต่อด้วยการถ่ายทอดความรู้ที่ตัวเองได้เรียนมาทั้งหมดให้แก่เด็ดรุ่นหลัง ที่มีความสนใจ” “แป๋ม-ประภาพร ซุ่นสั้น”(แฝดน้อง)

.................

 

“ปทุมทิพย์ ซุ่นสั้น”. หรือ “ป๋อม” (แฝดพี่) “ประภาพร ซุ่นสั้น” หรือ “แป๋ม” (แฝดน้อง) สองสาวฝาแฝดบุคลิคดี อายุ 26 ปี ลูกหลานคนตรังแท้ๆ ใช่เพียงร่างกายเท่านั้นที่เกิดมาคู่กัน แต่ความชื่นชอบ ความสนใจในนาฎศิลป์ไทย ของทั้งคู่ก็เหมือนกันตั้งแต่เด็กจนโต  เธอทั้งสองเกิดในครอบครัวฐานะปานกลาง มีคุณพ่อประกอบธุรกิจส่วนตัว เป็นช่างรับเหมางานกระจก อลูมิเนียม ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน

           

“วัยเด็กของเราทั้งคู่ถือว่าโชคดีค่ะ คุณแม่ คุณพ่อสนับสนุน ส่งเสริมให้ได้ลูกทำในสิ่งที่ชอบ เราตั้งสองคนเริ่มสนใจการแสดงเริ่มต้นคือการรำไทย รำตั้งแต่อายุ 2 ขวบครึ่ง คุณแม่บอกกับ ป๋อม และ แป๋ม ว่า พอคุณแม่เห็นแววว่าทั้งคู่ชื่นชอบด้านนี้ คุณแม่ก็พาไปเรียนรำไทย” “ป๋อม” ผู้พี่เล่าก่อน

 

จากจุดเริ่มต้นของความชอบในวัยเด็ก จนไปสู่การเรียนรำไทย ศึกษาด้วยตนเอง ได้ออกงานแสดงรำตั้งแต่เด็กๆ  และเมื่อโตขึ้น เธฮทั้งสองก็เลือกเรียนด้านนี้โดยเฉพาะ ตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษา ก็เลือกเรียนด้านดนตรี นาฏศิลป์ ที่ ร.ร.สภาราชินี ระดับปริญญาตรี เลือกคณะศิลปกรรมศาสตร์เอกนาฏศิลป์ไทย มหาวิทยาลัยราชภภัฏสวนสุนันทาจนจบ

 

 

ปัจจุบันทั้งสอง เปิดสอนนาฏศิลป์เป็นงานอดิเรก โดยมีคุณแม่ให้การส่งเสริมสนับสนุนแถมตั้งชื่อให้ว่า  “นาฏศิลป์บ้านเจ้าแฝด” รับสอนนาฏศิลป์ไทย โขน รำไทย สอนเต้นโคฟเวอร์แดนซ์ สอนมวยไชยยา มวยคาดเชือก ศิลปะป้องกันตัว กระบี่กระบอง รวมทั้งรับงานแสดงนาฏศิลป์ทั่วไป เปิดรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 4 ปี ขึ้นไป รับทั้งเด็กและผู้ใหญ่

 

“ทุกครั้งที่เราแสดง เราจะยิ้ม เพื่อทำให้คนดูมีความสุข เรารู้สึกดีใจที่โชว์ของเราทำให้ผู้ชมเข้าถึงอรรถรส อยากแสดงต่อไปเรื่อย ๆ และทำให้การแสดงน่าสนใจ เราทำเต็มที่ทุกครั้งที่แสดง เราแสดงไปเราสู้สึกว่าสวยงาม อ่อนช้อย จึงอยากสานต่อ ต่อยอด ให้เด็กและเยาวชน ที่สนใจได้เรียนรู้ กล้าแสดงออก” “แป๋ม” เล่าบ้าง

 

 

โดยก่อนเปิดสอน “นาฏศิลป์บ้านเจ้าแฝด” ทั้งคู่เคยทำงานเป็นนักแสดงที่โรงละคร “นาคาเธียร์เตอร์” ย่าน ลาดกระบัง กทม. มาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งเป็นนักแสดงประกอบในละครทางช่อง 7 และ ช่อง 3 แต่เพราะเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ในรอบแรก ทั้งคู่จึงตัดสินใจเดินทางกลับมาตรังบ้านเกิด

 

 

ชีวิตของ “ป๋อม” และ “แป๋ม” ทั้งคู้เป็นแฝดโดยแท้จริง มีนิสัยที่เหมือนกัน มีความชื่นชอบเหมือนกัน เรียนเหมือนกัน จนไปถึงทำงานด้วยกัน ทั้งคู่ไม่เคยแยกจากกันเลยตั้งแต่เด็ก ๆ 

 

“หลังเรียนจบ เราไปสมัครที่โรงละครทั้งคู่ค่ะ และทางโรงละครก็เลือกเราทั้งคู่เข้าทำงาน ส่วนหนึ่งส่วนตัวแป๋มคิดว่า ความเป็นแฝดของพวกเราถือเป็นเอกลักษณ์ ทางโรงละครจึงเลือกทั้งคู่ ส่วนของเราก็คิดไว้ในใจว่าถ้าเขาเลือกแค่คนเดียว ก็จะไม่รับงานนี้ นักท่องเที่ยวที่มาดูการแสดงในโรงละคร เมื่อทราบว่าเราเป็นฝาแฝด เขารู้สึกสนใจเป็นพิเศษ และมาขอถ่ายภาพคู่ รวมทั้งให้ทิปด้วย” “แป๋ม”เล่าปนเสียงหัวเราะ

 

“นาฏศิลป์บ้านเจ้าแฝด คุณแม่เป็นคนตั้งชื่อให้ค่ะ เพราะเป็นคำที่เป็นเอกลักษณ์ และคำว่าเจ้าแฝดถือเป็นจุดขายอีกอย่าง นอกจากความสามารถด้านนาฏศิลป์ของพวกเราแล้ว” “แป๋ม” เล่าอีก และว่า  

 

สำหรับการรำไทย ทั้งสองมองว่า มีประโยชน์ แม้ไม่ได้เป็นนางรำอาชีพ เพราะช่วยเสริมสร้างบุคลิก ความมั่นใจ กล้าแสดงออก นอกจากจะได้รับความสนุกเพลิดเพลินแล้ว ยังได้ฝึกสมาธิ ให้แก่เด็กได้อีกด้วย

 

 

“แป๋มรู้สึกรักนาฏศิลป์ เพราะมีความรู้สึกว่า สวยงาม ชวนมอง อยากจะรำให้สวย อยากสืบทอดต่อไป เพราะเป็นศิลปะที่ต้องใช้เวลาฝึกฝน”  โดยแรงบันดาลใจ และ คนต้นแบบของ “ป๋อม” กับ “แป๋ม” คือ ภาพความทรงจำที่หน้าจอทีวีในวัยเด็ก “นุ่น วรนุช ภิรมย์ภักดี” (นามสกุลวงศ์สวรรค์ในขณะนั้น) จากละครเรื่อง “แม่อายสะอื้น”  

 

“เห็นพี่นุ่นรำดาบ ตีกลองสะบัดชัยในละคร หนูทั้งคู่ก็ไปเรียนรำดาบ ตีกลองกันเลย ค่ะ”ทั้งคู่หัวเราะขึ้นพร้อมกัน

 

นอกจากนี้ “ป๋อม” แฝดพี่ ยังประทับใจ "แม่เล็ก-รัจนา พวงประยงค์” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) เพราะ “แม่เล็ก” มีลีลาท่ารำที่สวยงาม อ่อนช้อย เป็นเอกลักษณ์ รวมทั้ง “แป๋ม” แฝดน้อง ก็ประทับใจเช่นเดียวกัน ทั้งคู่จึงได้ไปเรียนต่อท่ารำ “ฉุยฉายผีเสื้อสมุทร” กับ “อาจารย์รัจนา” ซึ่งไม่ใช่โอกาสที่หาได้ง่ายนัก สำหรับคนวงการ “นาฏศิลป์ไทย”

 

ส่วนผลงานที่ประทับใจของ “ป๋อม” และ “แป๋ม” งานที่ประทับใจ คือ “งานศิลปะนิพนธ์” ของตัวเอง ที่ต้องคิด ออกแบบ จัดแสดงจริง ชื่อชุดการแสดงเงาะป่า แต็น แอ็น เป็นการแสดงที่บ่งบอกถึงชาติพันธุ์เงาะป่า ซาไก ในจังหวัดตรังบ้านเกิดของทั้งคู่

 

“ทั้งออกแบบการแสดง ออกแบบเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ทรงผม ต้องออกแบบเองทั้งหมดค่ะ โดยศิลปะนิพนธ์ชุดนี้ได้รับรางวัลอันดับ 2 จากการแข่งขันภายในมหาวิทยาลัย””แป๋มเล่าเปื้อนยิ้ม

           

ส่วนผลงานที่ประทับใจของ “ป๋อม” อันหนึ่งคือ การสอนนาฏศิลป์ให้เด็กนักเรียน อายุ 7 ขวบ เพื่อเข้าประกวดรับรางวัลนักเรียนพระราชทาน

 

“ตอนแรกที่มาสอนเด็ก ยอมรับว่าต้องปรับตัว เพราะเราทั้งคู่ไม่ได้เรียนจบครูมาโดยตรง จึงต้องใช้เวลาปรับตัว เรียนรู้ ปรับวิธีสอนให้เหมาะกับเด็กแต่ละคน แต่ละวัย” “ป๋อม” บอก   

 

สำหรับตัวพระ-นาง ที่อยู่ในท่วงท่าการร่ายรำ ที่เป็นขวัญใจของแต่ละคนคือใคร ตัวใดบ้าง “ป๋อม” ขอเล่าก่อน

 

“ตัวพระป๋อมชอบสังข์ทองค่ะ แม้ช่วงแรกจะขี้เหร่ แต่ถอดรูปแล้วหล่อ ส่วนนางเอกที่ชอบ คือ นางรจนา เพราะเป็นน้องสุดท้อง หน้าตาสวย”

 

ส่วน “แป๋ม” เธอชื่นชอบ “พระราม” ตัวพระใน “รามเกียรติ์” วรรณคดีอินเดียคือมหากาพย์รามายณะ

 

“เพราะพระรามหล่อ เก่ง ส่วนตัวนางแป๋มชอบนางมโนราห์ ที่เป็นน้องสุดท้องของมโนราห์ทั้ง 7 ที่ถูกพรานบุญมาคล้องไป ท่ารำมโนรา มีปีก มีหาง ดูสวยงาม เราก็เรียนรำมโนราด้วย เช่น รำมโนราเลือกคู่”

 

 

ตอนนี้ทั้งคู่กำลังหัดรำมโนราห์ ซึ่งเป็นศิลปะของภาคใต้ เพื่อสืบทอดสืบสานศิลปะนี้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งบ้านของ “ป๋อม” และ “แป๋ม” สืบเชื้อสาย “ครูหมอมโนราห์” ทั้งคู่จึงอยากทำหน้าที่สืบทอดศิลปะของบรรพบุรุษ 

 

“คือ ญาติพี่น้อง ลูกพี่ลูกน้อง มีอายุไล่เลี่ยกัน 7 คน ป๋อมกับแป๋ม จึงอยากฝึกรำมโนราห์ทั้ง 7  การรำมโนราตัวอ่อนน่าสน รวมทั้งเครื่องแต่งกายแบบลูกปัดสวยดีด้วยคะ มโนราห์มีเสน่ห์มทมากๆ ที่รำแบบพื้นบ้านก็รำอีกแบบหนึ่ง ส่วนรำในทางหลวงก็รำอีกแบบหนึ่ง” “แป๋ม” บอก

 

“อยากสืบทอดการรำไทย นาฏศิลป์ไทย เพราะอยากสืบทอดต่อๆไปด้วย เพราะรำไทยเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาฝึกกว่าจะได้ท่าทางที่สวยงาม การสอนเด็กคนหนึ่งต้องเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่เรียนมา มาถ่ายทอดให้พวกเขา อยากให้เด็กทำได้เหมือนพวกหนู จนวันหนึ่งเด็กที่หนูสอน จะรำได้สวยด้วยฝีมือที่หนูสอนมา” “ป๋อม” เล่าด้วยแววตามุ่งมั่น

 

“มันมากกว่าชอบ มันรัก แค่ได้ยินเพลงก็รู้สึกอยากรำขึ้นมา ท่าก็มาแล้ว มันอธิบายไม่ถูก แต่มันเป็นตัวของหนูไปแล้ว แป๋มอยากสานต่อด้วยการถ่ายทอดความรู้ที่ตัวเองได้เรียนมาทั้งหมดให้แก่เด็ดรุ่นหลัง ที่มีความสนใจ” แฝดผู้น้องกล่าวเสริม

 

 

ทั้งคู่ใช้คติในการทำงาน คือ ตั้งใจทำทุกอย่างให้เต็มที่ และดีที่สุด เพราะไม่มีอะไรที่ทำไมได้ ทุกอย่างอยู่ที่การเริ่มต้นลงมือทำ และหากให้เปรียบเทียบผู้หญิงในยุคอดีตกับปัจจุบัน สำหรับ “แป๋ม” มองว่า ผู้หญิงในอดีตมีข้อจำกัดมากกว่าในปัจจุบัน ทั้งด้านใช้ชีวิต ด้านอาชีพ แต่ในปัจจุบันผู้หญิงมีอิสระมากขึ้น ปัจจุบันสังคมเปิดกว้างให้ผู้หญิงได้แสดงออก แสดงศักยภาพได้มากขึ้น

 

 

ทั้งคู่บอกไม่ได้ว่า จะรำไทยไปอีกนานแค่ไหน แต่ทั้งสองยืนยันแน่วแน่ก่อนจากกันไปว่า จะทำให้เต็มที่ เพราะทั้งรัก และมีความสุขกับ “นาฏศิลป์ไทย” จึงไม่เคยรู้สึกเหนื่อย กับสิ่งที่ทำ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำ และสุขยิ่งกว่า เมื่อได้ถ่ายทอด

 

สำหรับผู้ที่สนใจจะส่งลูกหลานไปเรียนด้านนาฏศิลป์ไทย รวมทั้งสนใจ งานแสดงนาฏศิลป์ทั่วไป สามารถสอบถามได้ที่ 063-2034119 หรือที่เฟสบุ๊คแฟนเพจ “นาฏศิลป์ บ้านเจ้าเเฝด”

....................