ศึกษาออกแบบอาคารผู้โดยสารสนามบินตรัง

 

กรมท่าอากาศยานมีมติอนุมัติงบ 12 ล้านบาท ปี 2559 เพื่อทำการศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ สนามบินตรัง จ.ตรัง หลังจากที่รอมานานถึง 10 ปี พร้อมอนุมัติงบอีก 12.5 ล้านบาท เพื่อทำการขยายรันเวย์ให้ยาว 3,000 เมตร รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่มากขึ้น

 

 

กรมท่าอากาศยานมีมติอนุมัติงบ 12 ล้านบาท ปี 2559 เพื่อทำการศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ สนามบินตรัง จ.ตรัง หลังจากที่รอมานานถึง 10 ปี โดยอาคารหลังใหม่จะถูกออกแบบให้ทันสมัยผสมผสานกับสถาปัตยกรรมของภาคใต้พร้อมติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบิน นอกจากนี้ยังอนุมัติงบอีก 12.5 ล้านบาท เพื่อทำการขยายรันเวย์ให้ยาว 3,000 เมตร รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่มากขึ้น

 

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานตรัง นายเจริญสุข แซ่อึ่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง ร่วมประชุมงานโครงการออกแบบปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร และลานจอดรถยนต์ท่าอากาศยานตรัง ตามที่กรมท่าอากาศยานได้ว่าจ้าง บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการออกแบบปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร และลานจอดรถยนต์ที่ท่าอากาศยานตรัง การประชุมในวันนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และรับทราบข้อมูลด้านการค้า ธุรกิจ และข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวข้องระหว่าง ท่าอากาศยานตรัง, บริษัท โชติจินดาฯ, หอการค้าจังหวัดตรัง และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง เพื่อให้การออกแบบดังกล่าวรองรับการใช้งานได้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

 

สำหรับความเป็นมาของโครงการดังกล่าว ได้พิจารณาจากสถิติเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารปัจจุบันพบว่าท่าอากาศยานตรังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินและผู้โดยสารอย่างต่อเนื่อง กรมท่าอากาศยานจึงมีแนวคิดในการออกแบบปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารและลานจอดรถยนต์ท่าอากาศยานตรัง เพื่อให้สามารถศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่และรองรับผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ กรมท่าอากาศยานจึงได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ให้ดำเนินการแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยได้ว่าจ้างให้ที่ปรึกษาดำเนินการออกแบบปรับปรุงต่อเติมอาคารที่พักผู้โดยสาร และลานจอดรถยนต์ท่าอากาศยานตรัง เพื่อรองรับผู้โดยสารและสายการบินทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นแนวทางในการพัฒนาท่าอากาศยานตรังให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยแผนงานการดำเนินโครงการเริ่มตามลำดับ ตั้งแต่การศึกษาและพยากรณ์ปริมาณผู้โดยสาร เที่ยวบิน และการขนส่งสินค้าของท่าอากาศยานตรัง จัดทำผังแม่บทท่าอากาศยานตรัง สำรวจด้านวิศวกรรม ออกแบบงานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของท่าอากาศยานตรัง และประมาณราคาค่าก่อสร้างโครงการ ระยะเวลาดำเนินงานตามสัญญาจ้าง 300 วัน ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560

 

ในส่วนของ นายถาวร แสงอำไพ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง ได้เสนอแนะว่า อาคารที่พักผู้โดยสารแห่งใหม่ ควรจะมีรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ มีพื้นที่ใช้งานในอาคารโดยเฉพาะส่วนที่รองรับผู้โดยสารขาออก ที่กว้างขวาง สะดวกสบาย และเพิ่มจำนวนห้องน้ำหญิงในส่วนขาเข้าให้มากขึ้น

 

คุณเจริญสุข แซ่อึ่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เสนอแนะให้มีการออกแบบทางเดินเชื่อมระหว่างตัวอาคารกับเครื่องบิน หรือที่เรียกว่างวงช้างเพื่อความสะดวกเวลาขึ้นเครื่องบิน ทั้งนี้ยังได้กล่าวอีกว่า การที่จะขอสนามบินแห่งใหม่ กว่าผ่านขั้นตอนต่างๆ ได้ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี ดังนั้น จึงขอให้ทีมผู้ออกแบบ ได้คำนึงถึงจำนวนผู้ใช้บริการของสนามบินที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากอัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้สนามบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติจากเว็บไซด์ของกรมการบินพลเรือน จำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานตรัง ปี 2556 จำนวน 504,469 ราย ปี 2557 จำนวน 529,228 ราย ล่าสุดปี 2558 จำนวน 612,629 ราย ภายในปีเดียวเพิ่มขึ้นมากกว่า 80,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ดังนั้นการออกแบบและปรับปรุงในครั้งนี้ จึงควรจะออกแบบมาเพื่อให้รองรับกับปริมาณผู้ใช้บริการในอนาคต เพื่อที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและยาวนาน

 

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว คุณพิทักษ์พงษ์ ชัยคช เลขาธิการสภาอุตสากรรมการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวของจังหวัดตรังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ททท. ได้จัดให้จังหวัดตรังอยู่ในเมืองต้องห้าม,,,พลาด ประกอบกับธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ของแหล่งท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวมีความต้องการที่จะเดินทางมาจังหวัดตรังมากขึ้น ปี 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนจังหวัดตรังมากกว่า 1.3 ล้านคน แต่ทั้งนี้ก็ยังถือว่าการท่องเที่ยวของตรังยังเติบโตได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านสนามบิน ปัจจุบันเครื่องบินที่ทำการบินอยู่นั้นจุผู้โดยสารได้เพียง 189 คน ในขณะที่เครื่องบินขนาดใหญ่เช่น โบอิ้ง 747 ที่สามารถจุผู้โดยสารได้ 300-400 คน ไม่สามารถทำการบินได้เนื่องจากข้อจำกัดของรันเวย์ สนามบินตรังไม่สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการจะมาเที่ยวจังหวัดตรัง ไม่สามารถเดินทางมาได้ โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวหากไม่จองล่วงหน้าจะไม่มีตั๋วโดยสารเลย แม้แต่ชาวตรังเองก็ต้องเดินทางไปใช้บริการยังสนามบินในจังหวัดใกล้เคียง เช่น กระบี่ หาดใหญ่ ฯลฯ อยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ คุณพิทักษ์พงษ์ ยังได้เสนอให้มีการจัดที่จอดรถหรือรับฝากรถ อำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารที่จำเป็นจะต้องนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดไว้ที่สนามบินด้วย

 

ด้านตัวแทนบริษัท โชติจินดาฯ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบโครงการนี้ ได้มีแนวคิดในการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังใหม่โดยนำของดีและเอกลักษณ์ของจังหวัดตรัง มาผสมผสาน ซึ่งยังไม่สรุปว่าจะใช้แบบใด แต่แน่นอนว่าการออกแบบจะมีความสะดวกสบาย พร้อมทั้งสามารถรองรับเที่ยวบินจากต่างประเทศ โดยจะมีพื้นที่ใช้สอยของทุกส่วนที่จำเป็นอย่างเพียงพอ รวมทั้งส่วนให้บริการข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว ที่ทำการของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ร้านอาหาร ร้านขายสินค้า ฯลฯ สำหรับอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ที่จะทำการก่อสร้างนั้น ได้ออกแบบให้มีพื้นที่อยู่ติดกับอาคารผู้โดยสารหลังเดิม โดยจะมีทางเดินเชื่อมต่อกัน สำหรับอาคารหลังเดิมจะปรับปรุงให้เป็นที่ทำการของสายการบินต่างๆ ต่อไป

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่าอากาศยานตรังได้รับงบประมาณปี 2559 จากกรมการบินพลเรือน เพื่อออกแบบอาคารจำนวน 12 ล้านบาท และยังได้รับงบประมาณ 12.5 ล้านบาท เพื่อสำรวจออกแบบทางวิ่ง ที่ปัจจุบันมีความยาว 2,100 เมตร ให้เพิ่มเป็น 3,000 เมตร โดยจะต้องสำรวจและออกแบบให้มีความเหมาะสม และเมื่อการสำรวจออกแบบแล้วเสร็จจึงจะมีการตั้งงบประมาณใน การก่อสร้างเป็นลำดับต่อไป

 

ที่มาข่าว : Thailand Skyline , หอกาค้าจังหวัดตรัง