ชวนเที่ยวงาน “ย้อนวันวานเมืองเก่าห้วยยอด” เล่าวิถีวันวาน ชมวิกหนังจำลอง 10-12 พ.ค.นี้

 

 

ตรัง-อบจ.ตรัง ชวนเที่ยวงาน “ย้อนวันวานเมืองเก่าห้วยยอด” เล่าวิถีวันวาน ชมวิกหนังจำลอง ชิมเมนูท้องถิ่นรสเลิศ 10-12 พฤษภาคมนี้

.

ช่วงค่ำวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ลานวัฒนธรรมวัดห้วยยอด ต.ห้วยยอด อ.ห้วยยอด จ.ตรัง อบจ.ตรัง ร่วมกับ เทศบาลตำบลห้วยยอด และ ชุมชนย่านเมืองเก่าห้วยยอด จัดงาน ย้อนวันวานเมืองเก่าห้วยยอด ภายใต้ โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 พฤษภาคมนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และบริการ ในพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าจังหวัดตรัง ให้กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรังให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น อนุรักษ์เมืองเก่า และสืบทอดวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของจังหวัดตรัง ให้คงอยู่คู่กับจังหวัดตรังต่อไป โดยการจัดงาน “ย้อนวันวานเมืองเก่าห้วยยอด” ครั้งนี้ นายธวัชชัย วรพงศ์พัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยยอด กล่าวรายงาน โดยมี นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกอบจ.ตรัง เป็นประธานเปิดงาน ด้วยการนำเครื่องฉายภาพยนตร์โบราณอายุหลายสิบปีที่ยังใช้งานได้จริงของ “วิกเทียนศรี” หรือ “วิกใน” ของอำเภอห้วยยอด ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต มาเป็นไฮไลท์ ด้วยการใส่ม้วนฟิล์มและเล่นหนังสั้นบอกเล่าความเป็นมาของงานเมืองเก่าห้วยยอดอีกด้วย

.

.

ทั้งนี้ สำหรับไฮไลต์ของงานย้อนวันวันวานเมืองเก่าห้วยยอดที่ผู้มาเที่ยวงานสะดุดตา คือ โรงหนังหรือวิกหนังจำลอง ซึ่งในอดีต วิกหนังหรือโรงหนังสแตนอโลนในอำเภอห้วยยอด เป็นธุรกิจที่เฟื่องฟู และ เป็นที่นิยมของผู้คนในสมัยนั้น วิกหนังจำลองในงานนี้กั้นด้วยสังกะสี มีการเก็บค่าผ่านประตู เด็ก 5 บาท ผู้ใหญ่ 10 บาท ภายในเป็นเก้าอี้วางเรืองกันเป็นแถว ตกแต่งพนังด้วยภาพโปสเตอร์หนัง ผู้ที่มาเที่ยวงานต่างมาแวะถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมออกร้านจากร้านค้าชุมชน จำนวน 30 ร้านค้า ที่เน้นขายอาหารท้องถิ่นของอำเภอห้วยยอด เช่น ร้านขนมเค็ม , กุนเชียงหมูย่าง , ขนมพองเค็ม , เส้นหมี่น้ำแกง , หมึกย่างทรงเครื่อง , ก๋วยจั๊บโบราณ , ข้าวยำ เป็นต้น และร้านค้าทั่วไปอีกนับ 100 ร้านค้า ประชาชนที่เดินเที่ยวงานส่วนใหญ่แต่งกายชุดลายดอกสีสดใส และชุดย้อนยุค เพื่อให้เข้ากับงาน

.

ในอดีต สำหรับชุมชนย่านการค้าตลาดห้วยยอดเต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้า ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้น ทะเล ขณะที่ ผู้จับจ่ายใช้สอยใหญ่เป็นคนในพื้นที่และแรงงานเหมืองแร่ตลาดห้วยยอดในต้นทศวรรษ1960 ซึ่งมีความคึกคัก นอกจากนี้บริเวณตลาดห้วยยอด ยังเคยเป็นที่ตั้งของตลาดสด 1แห่ง โรงฝิ่น 1แห่ง ธนาคาร 2 แห่ง โรงภาพยนตร์หรือวิกหนัง 2 แห่ง โรงแรม 4 แห่ง โรงงานยาง 2 แห่ง โรงขลิบยาง 1 โรง โรงไฟฟ้า 1 โรง โรงพิมพ์ 1 โรง โรงเลื่อย 1 โรง และ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก 3 แห่ง

.

ภาพ