"เชน"เผยลงทุนอนันตราสิเกา

 

เชนโรงแรมระดับโลก ฟันธงธุรกิจโรงแรมไทยปีนี้ยังโต  ชี้ "จีน" ตลาดใหญ่หนุนการเติบโตเชิงปริมาณ ดันจุดหมายต่างจังหวัดขยายโอกาสรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มได้อีกถึง 40 ล้านคน เผยลงทุนอนันตราสิเกาเพราะเห็นโอกาส

 

 

เชนโรงแรมระดับโลก ฟันธงธุรกิจโรงแรมไทยปีนี้ ยังโต เชื่อจุดแกร่ง "ฟื้นวิกฤตเร็วแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย" ฝ่าวิกฤตรอบ 10 ปีที่ผ่านมาได้ ชี้ "จีน" ตลาดใหญ่หนุนการเติบโตเชิงปริมาณ หวังปลดล็อกการขนส่งทางอากาศ ดันจุดหมายต่างจังหวัดขยายโอกาสรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มได้อีกถึง 40 ล้านคน

 

 

ในการจัดงานไทยแลนด์ ทัวริสซึ่ม ฟอรั่ม ครั้งที่ 5 จัดโดยซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์ ร่วมกับ หอการค้าไทยอเมริกัน (วานนี้) นายแพทริค บาสเซ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการแอคคอร์โฮเทล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อว่า สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในไทยยังเติบโต ได้ดีในปีนี้ เนื่องจากไทยมีจุดแข็งเรื่องการ เติบโตที่ต่อเนื่องในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในปี 2558 นักท่องเที่ยวมีจำนวน เฉียด 30 ล้านคน และมีโอกาสแตะ 40 ล้านคนได้ในอนาคต เนื่องจากเป็นจุดหมายที่ดึงดูด ตลาดหลักที่ส่งออกนักท่องเที่ยวจำนวนมาก อย่าง จีน หรือกระทั่งรัสเซีย ก่อนที่จะเกิดวิกฤติ ในสองปีที่ผ่านมา

         

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การเติบโตถึงจุดดังกล่าว ไทยยังต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อกระจายโอกาสด้านการท่องเที่ยวและลงทุนไปถึงจุดหมายอื่นๆ นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะการคมนาคมทางอากาศหากสามารถปลดล็อก และทำให้ นักท่องเที่ยวเดินทางตรงสู่จุดหมายที่ต้องการ จะเห็นการเจริญเติบโตทั้งด้านความต้องการของตลาด และการลงทุนที่จะตามมา ทำให้เกิดการพัฒนาทั่วถึง

         

ดังนั้น ด้วยความต้องการของนักท่องเที่ยว จึงมีช่องว่างให้การพัฒนาธุรกิจที่พักใน รูปแบบ โดยนอกจากโรงแรมแล้ว มีการเติบโตของการปล่อยห้องพักประเภทที่อยู่อาศัย ของเจ้าของรายบุคคลผ่านเว็บไซต์ตัวกลาง มากขึ้น ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์การแข่งขันเหล่านี้ จะกระทบต่อเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ชั้นนำของโลก เช่น โตเกียว ที่ได้รับผลกระทบทำให้รายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPar) ลดลงกว่า 3-4% นั้น ในไทยกลับยังไม่เห็นผลกระทบ ต่อการแข่งขันของที่พักประเภทดังกล่าว เพราะโดยเฉลี่ยค่าห้องพักโรงแรมที่มี่ แบรนด์และมาตรฐาน ก็อยู่ในเกณฑ์คุ้มค่าเงิน และเหมาะสำหรับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว

 

ด้านนายดิลิป ราคาจาเรีย ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารไมเนอร์ โฮเทล กรุ๊ป เชื่อมั่นว่าไทยมีฐานะเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ของท่องเที่ยว ภูมิภาคเอเชีย โดยมีจุดแข็งที่สุดคือ การฟื้นตัว หลังจากผ่านวิกฤติได้อย่างรวดเร็วสังเกต ได้จากเหตุการณ์ระเบิดในเดือน ส.ค.ปีก่อน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในไตรมาสสุดท้าย แต่มาถึงต้นปีกลับเห็นสัญญาณฟื้นตัวที่ดีมาก เนื่องจากที่ผ่านมา ตลาดท่องเที่ยวเริ่มเรียนรู้จากวิกฤติที่ผ่านมาหลายครั้ง และพร้อมเดินทาง กลับมาอย่างรวดเร็ว

         

ประกอบกับ ปัจจุบัน แนวโน้มความต้องการที่พักทุกประเภทเติบโตรวดเร็ว ทั้งประเภทโรงแรม, อสังหาริมทรัพย์ประเภท มิกซ์ยูส และเรสซิเดนส์ แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยังคงมีจุดหมายน่าสนใจแต่ยังไม่ได้รับ การพัฒนาหรือดึงดูดนักลงทุนเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางอากาศที่ยังเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงจุดหมายที่น่าสนใจ ซึ่งในกรณีนี้อยากให้ดูตัวอย่างการเติบโตของ ภูเก็ต หรือ เกาะสมุย ที่เมื่อพัฒนาเที่ยวบินตรง การท่องเที่ยวขยายตัวเป็นจุดหมายหลักของประเทศได้ เช่น จ.ตรัง ที่กลุ่มไมเนอร์ได้เข้าไปบริหารโรงแรมอนันตรา สิเกา เนื่องจากเห็นศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ล้นมาจากกระบี่ ซึ่งมีแนวโน้มหนาแน่นและพัฒนาสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น

 

ด้านนายปีเตอร์ เฮนลีย์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยผ่านวิกฤติมาได้หลายครั้งจนกลายเป็น ความปกติที่ทั้งภาครัฐและเอกชนปรับตัวได้ดีมาแล้ว

         

นอกจากนั้น เห็นด้วยกับประเด็นเรื่อง ที่ไทยยังมีจุดหมายที่สามารถเข้าไปขยาย ธุรกิจโรงแรมได้อีกมาก เช่น จากพัทยา สามารถขยายไปยังกลุ่มอีสเทิร์น ซีบอร์ด อาทิ ระยอง เพื่อตอบสนองตลาดใหม่ที่มี กำลังซื้อสูงได้

         

ด้านนายคลาเรนซ์ แทน รองประธานอาวุโสฝ่ายพัฒนาเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล (ไอเอชจี) กล่าวว่า ปัจจุบันไอเอชจีมีโรงแรมในไทย อยู่แล้ว 20 แห่ง แต่ด้วยการเติบโตของ นักท่องเที่ยวกลุ่มกำลังซื้อระดับบน โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวจีนที่มีการใช้จ่ายต่อวันสูงขึ้น และเริ่มแซงตลาดยุโรปบางประเทศ คือ อยู่ที่ 5,500 บาท และกระจายเข้าสู่ทุกหมวดหมู่กิจกรรมทั้งโรงแรม, การรับประทานอาหาร และการชอปปิง

          

ขณะที่การขยายตัวในเชิงจำนวนคาดว่าไม่ต่ำกว่า 25% ในอีก 2 ปี ดังนั้นจึงวางกลยุทธ์พัฒนาโรงแรมโดยให้ความสำคัญกับแบรนด์ระดับบูติคสำหรับตลาดบนมากขึ้น

         

ดังนั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการแนะนำแบรนด์ โฮเทล อินดิโก้ เข้าสู่ตลาด โดยเลือกไทยเป็นโลเกชั่นสำหรับเปิดตัวในเอเชียแห่งแรกในปีที่ผ่านมา และในปี 2561 จะเปิดโรงแรมโฮเทล อินดิโก้ แห่งที่สองในไทย ที่ป่าตอง ภูเก็ต ขนาด 180 ห้อง เพื่อให้ครอบคลุมเซ็กเมนท์แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ที่เป็นจุดแข็งของการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งมีแผนเปิดในเอเชียใหม่อีก 3 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ เกาะบาหลี (อินโดนีเซีย) และดูไบ (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)

 

ด้านนายเจสเปอร์ ปาล์มควิซท์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เอสทีอาร์ โกลบอล สถาบันวิจัยด้านท่องเที่ยวระดับโลก ระบุว่า อัตราเข้าพักเฉลี่ยโรงแรมในไทยปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 73.4% เพิ่มขึ้น 13.6% เทียบกับปี 2557 เป็นผลจากนักท่องเที่ยว ที่เข้ามากว่า 30 ล้านคน และมีตลาดใหญ่ อย่างจีนช่วยสนับสนุน โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.ที่มีผลงานดีที่สุดกว่า 77.4% สูงที่สุด กลายเป็นสถิติดีที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษของธุรกิจโรงแรมไทย สาเหตุเพราะไทยมีความต่อเนื่องด้านการเติบโตท่องเที่ยวมาตลอด แม้ว่าจะผ่านวิกฤติแต่มีจุดเด่นเรื่องการฟื้นตัวที่เร็วมาก เป็นปรากฏการณ์ พิสูจน์ได้จากอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2558 เทียบกับ ปี 2557 ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญ ที่ต้องพัฒนาคือ การขนส่งทางอากาศ ที่ควรจะมีเที่ยวบินตรงเข้าถึงจุดหมาย ท่องเที่ยวมากขึ้น

         

ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานการณ์ธุรกิจใน ปี 2559 ยังเติบโตที่ดีมาก เนื่องจากมีการท่องเที่ยว ที่แข็งแกร่ง และที่สำคัญคือการรักษา ระดับราคาเฉลี่ย (Average Room Rates) ไว้ได้แม้จะอยู่ในช่วงฟื้นฟูตลาดเมื่อปีก่อน ดังนั้นเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ จึงสามารถเดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่องจาก พื้นฐานที่ดี ขณะเดียวกันแนวโน้มการลงทุนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ต่อเนื่องจากสถิติการเปิดห้องพักใหม่ในปีนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มเข้าสู่ตลาดราว 9.6% มากกว่าปี 2558 ที่ขยายตัว ราว 8.8% นับเป็นเทรนด์ขาขึ้นครั้งแรก ในรอบ 5 ปี หลังจากที่จำนวนอุปทานอยู่ในช่วงขาลงนับตั้งแต่ปี 2554

 

สำหรับเทรนด์ที่น่าจับตามองในปีนี้คือ การขยายตัวของความต้องการห้องพักใน ระดับลักชัวรี หรือ อัพสเกล ขึ้นไป รวมถึงการขยายตัวของตลาดจีนที่เข้ามาจำนวนมาก ซึ่งแม้ว่าราคาเฉลี่ยที่ขายให้กับกลุ่มตลาดนี้ จะต่ำ แต่จะสนับสนุนเรื่องอัตราเข้าพักเฉลี่ยได้ดี และทำให้แนวโน้มนักท่องเที่ยวของไทยในปี 2563 อาจมีนักท่องเที่ยวขาเข้าเพิ่มเป็น 35-40 ล้านคน

         

นอกจากนั้น เทรนด์ที่ต้องจับตามองสำหรับไทยคือ การฟื้นตัวของตลาดคอร์ปอเรต ซึ่งในปีที่ผ่านมาเติบโตกว่า 4.5% และ นับเป็นการพิสูจน์ว่าไทยมีกลุ่มตลาดที่ หลากหลาย และสามารถเป็นจุดหมาย การเดินทางเชิงธุรกิจด้วย

          

ด้านนายเคนเน็ธ กาว ประธานและกรรมการบริหารของกาว แคปปิทอล พาร์ทเนอร์ เชื่อว่า ไทยยังเป็นจุดหมายสำคัญในด้านการดึงดูดนักลงทุน เนื่องจากมีจุดแข็ง เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน ไม่กี่แห่งของโลกที่มีความหลากหลายของ แหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประเภท โรงแรม ตอบสนองความต้องการได้ทุก รูปแบบ นอกจากนั้นต้นทุนการบริหาร ยังต่ำ และมีโอกาสในการทำตลาดที่ หลากหลาย เนื่องจากเป็นจุดหมายที่นิยมของทั้งตลาดในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียมานานหลายปี

         

อย่างไรก็ตาม เพื่อสนับสนุนการเติบโตธุรกิจโรงแรม ต้องการให้มีการผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบในการเข้าลงทุนของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น เพราะปัจจุบันยังไม่คล่องตัวเท่าที่ควร โดยเฉพาะการลงทุนในรูปแบบกองทุนจากต่างชาตินั้น สังเกตได้ว่ายังจำกัดเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ