นครศรีฯประกาศเป็นประตูส่งออกภาคใต้

 

บิ๊กโปรเจ็ค!!! นครศรีธรรมราชจองประตูรวมสินค้าส่งออกภาคใต้ ทุ่มงบผุดศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ที่ทุ่งสง เชื่อม “เบลาวัน-ปีนัง-ตรัง” ภายใต้กรอบ IMT-GT ไทย-มาเล-อินโดฯ เผยสร้างใหญ่ระบบโลจิสติกส์ ถนนทุ่งสงกันตัง 94 กม. ระบบรางถึงกันตัง 89.5 กม. และถนนจากทุ่งสงถึงนาเกลือ 122 กม. เชื่อมขนสินค้าลงเรือที่กันตัง

 

 

บิ๊กโปรเจ็ค!!! นครศรีธรรมราชจองประตูรวมสินค้าส่งออกภาคใต้ ทุ่มงบผุดศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ที่ทุ่งสง เชื่อม “เบลาวัน-ปีนัง-ตรัง” ภายใต้กรอบ IMT-GT ไทย-มาเล-อินโดฯ เผยสร้างใหญ่ระบบโลจิสติกส์ ถนนทุ่งสงกันตัง 94 กม. ระบบรางถึงกันตัง 89.5 กม. และถนนจากทุ่งสงถึงนาเกลือ 122 กม. เชื่อมขนสินค้าลงเรือที่กันตัง

 

นายพงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนแผนงานโครงการความร่วมมือเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle:IMT-GT) ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ที่ Parkroyal Hotel รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งผู้เข้าประชุมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่อาวุโส ประธานคณะทำงานสาขา ผู้แทน CMGF สภาธุรกิจเอกชน CIMT ADB โดยการประชุมวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการกำหนดกรอบแนวทาง วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ที่มองไปข้างหน้า 20 ปี ของแผนงานในอนุภูมิภาคที่มีความเป็นไปได้ระยะยาว และทิศทางในอนาคตภายใต้แผนงาน IMT-GT ระยะที่ 3 (2017-2021) ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นการรายงานผลความก้าวหน้าการปฏิบัติตามแผนและการทบทวนการดำเนินงานภายใต้แผน IMT-GT ระยะที่ 2 (2012-2016) และการพิจารณาแผนงาน โครงการใหม่ที่มีศักยภาพเพื่อบรรจุใน IB IMT-GT ระยะที่ 3 (2017-2021) ซึ่งการประชุมได้มีการรายงานสถานะความก้าวหน้าของโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาเมืองยางพารา (Rubber City) จังหวัดสงขลา โครงการพัฒนาเมืองสีเขียว (Green City) จังหวัดสงขลา โครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสงขลา (Special Border Economic Zone) โครงการ Maritime Hub จังหวัดภูเก็ต/จังหวัดกระบี่

 

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รายงานความก้าวหน้า โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช (Inland Container Depot : ICD Thungsong City) เชื่อมโยงท่าเรือจังหวัดตรังโดยบริการเรือเฟอร์รี่ขนส่งสินค้าระหว่างเบลาวัน-ปีนัง-ตรัง ซึ่งความก้าวหน้าล่าสุดในส่วนการเชื่อมโยงระหว่างทุ่งสงและจังหวัดตรัง ประกอบด้วย 1.เส้นทางจาก CDC ทุ่งสง-อำเภอกันตัง ได้แก่เส้นทางรถไฟจาก CDC ทุ่งสงไปยังสถานีรถไฟอำเภอกันตัง ระยะทางรวมประมาณ 89.5 กม. และเส้นทางถนนจาก CDC ทุ่งสงไปยังท่าเรือกันตัง ระยะทางรวมประมาณ 94 กม. (2) เส้นทางจาก CDC ทุ่งสง-ท่าเรือนาเกลือ ได้แก่ เส้นทางถนน จาก CDC ทุ่งสงไปยังท่าเรือนาเกลือ ระยะทางรวมประมาณ 122 กม.

 

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าในการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ทุ่งสง ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 เทศบาลเมืองทุ่งสงได้จัดสรรงบประมาณดำเนินกิจกรรมก่อสร้างลานคอนกรีต (เฟส 1) โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง โดยประกอบด้วยลานคอนกรีต (เฟส 1) ก่อสร้างอาคารเครื่องชั่งและห้องควบคุม และทำการติดตั้งครุภัณฑ์ งบประมาณ 17,201,000 บาท ปัจจุบันได้ทำการติดตั้งป้ายแสดงรายละเอียดโครงการ และถางป่าขุดตอ มีการวางท่อระบายน้ำ และอยู่ระหว่างถมดินก่อสร้างลานคอนกรีต โดยจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในวันที่ 11 มีนาคม 2559 ส่วนปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย กิจกรรมก่อสร้างโกดังศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง จำนวน 2 หลัง พร้อมส่วนประกอบอื่นๆ งบประมาณ 42,920,700 บาท ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจะมีการเปิดให้บริการศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง (เฟส 1) ในลักษณะ (Container yard : CY) ประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 ต่อจากนั้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จังหวัดนครศรีธรรมราชได้เสนอของบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย กิจกรรมก่อสร้างลานคอนกรีต (เพิ่มเติม) เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่โกดังศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง และพื้นที่ลานคอนกรีตที่ก่อสร้างโดยเทศบาลเมืองทุ่งสง งบประมาณ 13,400,000 บาท

 

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า และปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จะเสนอของบประมาณกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย กิจกรรมปรับปรุงและบูรณะทางหลวงที่มีโครงข่ายเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า (ก่อสร้างขยายถนนเข้าสู่ศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้-ทุ่งสง เพิ่มอีก 2 ช่องจราจร งบประมาณ 60,000,000 บาท ซึ่งโครงการ CDC-Thungsong คาดว่าจะมีการพัฒนาต่อเนื่อง ให้เป็น ICD (Inland Container Depot) โดยปี 2016 เริ่มดำเนินการ CDC ปี 2022 พัฒนาเป็น DC และในปี 2030 คาดว่าจะพัฒนาเป็น ICD เพื่อเป็นศูนย์ในการขนส่งสินค้าไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ ประเทศแถบเอเชียใต้ รวมทั้งไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสงขลา