อบจ.ตรัง จับมือ ซูไก บริหารท่าเรือนาเกลือ

 

อบจ.ตรัง จับมือ ซูไก บริหารเครื่องจักรกลหนักท่าเรือนาเกลือ แบ่งเค้ก เอกขนรับ 80% อบจ.ตรังรับ 20% ประธานชูไก มั่นใจ ศักยภาพท่าเรือ เบื้องต้นทำตู้คอนเทนเนอร์ก่อน เหตุ ไม่แน่ใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมสินค้าเทกอง

 

 

อบจ.ตรัง จับมือ ซูไก บริหารเครื่องจักรกลหนักท่าเรือนาเกลือ แบ่งเค้ก เอกขนรับ 80% อบจ.ตรังรับ 20% ประธานชูไก มั่นใจ ศักยภาพท่าเรือ เบื้องต้นทำตู้คอนเทนเนอร์ก่อน เหตุ ไม่แน่ใจผลกระทบสิ่งแวดล้อมสินค้าเทกอง

 

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่โรงแรมเรือรัษฎา อ.เมือง จ.ตรัง มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการใช้การบริหารจัดการเครื่องจักรกลหนักที่ใช้ในกิจการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือ ต.บ้านนาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง ระหว่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(อบจ.ตรัง) และ บริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) เพื่อร่วมพัฒนาการบริหารจัดการท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือให้มีประสิทธิภาพ โดยตัวแทนลงนามฝ่ายอบจ. ได้แก่ นายกิจ หลีกภัย นายกอบจ.ตรัง ฝ่ายบริษัทชูไก ได้แก่ นายธงไชย แพรรังสี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) โดย นายกิจ กล่าวว่า บันทึกความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นรูปธรรมของการบริหารจัดการท่าเทียบเรือบ้านาเกลือเพื่อขนส่งสินค้า โดยเป็นการร่วมกับเอกชนในการให้บริการท่าเรือ โดยอบจ.ตรังเป็นผู้รับผิดชอบหลักด้านการบริหาร โดยมีเอกชนผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเรื่องการจัดการเครื่องจักรกลสำหรับขนถ่ายสินค้า ซึ่งทางซูไกมีเครือข่ายด้านการเดินเรื่องสินค้า น่าจะสามารถช่วยให้ท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ด้านนายธงไชย แพรรังสี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ชูไก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไม่ได้มองเรื่องผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง แต่อยากให้การประกอบธุรกิจของท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือเดินไปได้ จึงได้ขอเข้ามาบริหารจัดการในเบื้องต้น โดยจะนำเครื่องจักรกลสำหรับขนถ่ายสินค้าของบริษัทมาใช้ทั้งหมด มีการตกลงแบ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากผลการดำเนินงาน บริษัทรับ 80% อบจ.ตรังรับ 20%  อย่างไรก็ตาม เพราะก่อนหน้านี้เราทราบว่าท่าเรือยังไม่มีเครื่องจักรทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ โดยหลังจากนี้จะใช้เวลาขนส่งเครื่องจักรเพื่อติดตั้งราว 7 วัน ก่อนเริ่มเปิดใช้ท่าเรือ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ตนคงต้องมาประสานงานต่อไปเพื่อให้หน้างานเดินไปได้ด้วยดี และทางบริษัทอาจต้องลงทุนเพิ่มในส่วนอื่นที่หน้าท่านอกจากเรื่องเครื่องจักร ทั้งนี้ เรามีพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับบริษัทด้านการเดินเรือหลายบริษัทซึ่งเชื่อว่าจะมาช่วยกันทำให้ท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือใช้งานได้ โดยเบื้องต้นจะมีการติดต่อเรือขนสินค้าขนาด 300 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อลำเรือมาดำเนินการก่อน หากการดำเนินธุรกิจไปได้ดีอาจมีการซื้อเรือเข้ามาเพื่อดำเนินการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะต่อไป มั่นใจว่าสามารถดำเนินการได้แม้จะเหลือเวลาเข้าดำเนินการเพียง 2 ปีเศษจากสัญญาที่กรมธนารักษ์ให้อบจ.ตรังเข้าทดลองบริหารในระยะ 3 ปีซึ่งล่วงมาแล้วราว 6 เดือน

 

นายธงไชย กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเข้ามาร่วมดำเนินการในครั้งนี้ เพราะท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือมีศักยภาพของท่าเรือน้ำลึกที่มีร่องน้ำลึกกว่าท่าเรือต่างๆในจ.ตรัง สามารถขนถ่ายสินค้าด้วยเรือขนาด 4,000-6,000 ตันกรอสได้โดยไม่ต้องใช้เรือบาสในการผ่องถ่ายสินค้า ในเบื้องต้นสินค้าที่น่าจะมาใช้บริการท่าเรือน่าจะเป็น ยางพารา ไม้ยางพารา โดยจะเริ่มดำเนินการสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ก่อน ส่วนเรื่องสินค้าเทกอง เช่น แร่ยิปซัมนั้นยังไม่แน่ใจ เนื่องจากเรายังไม่ทราบว่าตัวท่าเรือจะมีปัญหาหรือไม่ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนลูกค้าที่จะมาใช้บริการท่าเรือนั้นเริ่มมีทยอยติดต่อมาแล้ว เช่น เมื่อเร็วๆนี้บริษัทเชฟรอนได้มาติดต่อส่งตู้คอนเทนเนอร์อุปกรณ์ขุดเจาะน้ำมันไปยังมาเลเซีย นอกจากนี้ได้มีการเจรจาความร่วมมือกับเอเย่นขนส่งสินค้าที่ท่าเรือปีนังที่มีความสนใจอีกด้วย โดยปัจจุบัน เราสำรวจตัวเลขจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้บริการท่าเรือต่างๆในจ.ตรังเฉลี่ยเดือนละ 6,000 ตู้ ซึ่งเมื่อท่าเทียบเรือบ้านนาเกลือดำเนินการได้ก็จะสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งได้