สั่งปิดโรงยางสิเกาน้ำเสีย2หมื่นลบ.ม.ทะลักลงคลอง

สั่งปิด-แจ้งความ โรงงานยางสิเกา น้ำเสียบ่อบำบัด 2 หมื่นลบ.ม.แตก ทะลักลงคลองสาธารณะยาวกว่า 20 กม. ชาวบ้านโวย สัตว์น้ำตายเป็นเบือ กระทบน้ำดิบประปา แนะ ผวจ.ฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมถ้าจำเป็น

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา นายเสถียร แก้วงาม นายกเทศบาลตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านตำบลนาเมืองเพชรหลายร้อยคน ได้รวมกลุ่มประท้วง บริเวณหน้าบริษัท กว๋างเงิ่น รับเบอร์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 164 ถนนตรัง-สิเกา ตำบลนาเมืองเพชร หลังจากที่บ่อน้ำเสียของโรงงานซึ่งตั้งอยู่หลังโรงงานแตก ส่งผลให้ปริมาณน้ำเน่าเสียไหลทะลักลงคลองอ่างทองในพื้นที่หมู่ 1 ตำบลนาเมืองเพชร  ส่งผลทำให้สัตว์น้ำกุ้ง หอย ปูปลา ตายเป็นจำนวนมาก และยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ โดยนายสุทธินันท์กล่าวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากจะทำให้สัตว์น้ำตายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อ น้ำดื่มน้ำใช้ เนื่องจากมีการใช้น้ำในคลองแห่งนี้ผลิต น้ำประปาอีกด้วย

 

ทั้งนี้นายบุญสิทธิ์ เรืองผล อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าบ่อน้ำเสีย ของโรงงานซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลัง จำนวน 3 บ่อแตก น้ำเน่าเสียจึงไหลลงสู่ลำคลอง ทำให้คลองมีน้ำเป็นสีดำ ทั้งนี้ โรงงาน ดังกล่าวเปิดเมื่อปี 2549 ผลิตน้ำยางข้น และ ยางก้อน บ่อน้ำเสียที่เสียหายมี 3 บ่อ เป็นบ่อคันดิน ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อน้ำเสียเพิ่มปริมาณเป็นจำนวนมากบ่อไม่สามารถรับได้จึงพังและแตก สถานการณ์ล่าสุด ขณะนี้ทางอำเภอสิเกาได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประสานงานให้โรงงานเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้าน อย่างไรก็ตามรายละเอียดการเยียวยายังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ เนื่องจากต้องรอผลสำรวจความเสียหายโดยคณะกรรมการก่อน และขึ้นกับการตกลงร่วมกันระหว่างโรงงานกับชาวบ้าน แต่ในเบื้องต้นทางโรงงานได้รับปากในเรื่องของการเยียวยา

 

นายบุญสิทธิ์กล่าวอีกว่า ในส่วนอุตสาหกรรมจังหวัดตรังตนได้สั่งหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเบื้องต้นเป็นเวลา 60 วันจนกว่าจะปรับปรุงระบบบ่อน้ำเสียที่เป็นไปตามหลักวิขากร และต้องมีวิศวกรโยธาควบคุมงานและทำการรับรองตามมาตรฐาน โดยชาวบ้านขอว่าในการขออนุญาตเปิดกิจการอีกครั้งต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมให้เกิดความมั่นใจก่อนด้วย นอกจากนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดยังได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางโรงงานต่อสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกาไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดีด้วย เพราะโรงงานไม่สามารถควบคุมน้ำเสียให้อยู่ภายในโรงงานได้ จนรั่วไหลออกสู่พื้นที่สาธารณะและสร้างผลกระทบ

 

“เข้าใจว่าโรงงานแห่งนี้เกิดมาสิบกว่าปี ในการอนุมัติเปิดโรงงานในครั้งแรกระบบได้มาตรฐาน แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปกว่าสิบปีอาจเกิดข้อผิดพลาดบางประการเมื่อปริมาณน้ำเสียมาขึ้นก็เกิดอุบัติเหตุได้ เมื่อน้ำเสียทะลักลงคลองสาธารณะก็ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสัตว์น้ำตลอดจนความเป็นอยู่ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากลำคลอง ปลูกผลัก เลี้ยงปลา ระบบนิเวศเสียไป  และทราบว่ามีท้องถิ่นใช้น้ำดิบจากลำคลองไปทำประปาหมู่บ้านด้วย”นายบุญสิทธิ์กล่าว

 

นายบุญสิทธิ์กล่าวด้วยว่า น้ำเสียที่เราประเมินและคาดว่าไหลลงสู่แหล่งน้ำมีประมาณ 2 หมื่นลบ.ม. ขณะนี้ทราบข่าวว่าโรงงานได้ทำการปรับปรุงบ่อ นำดินที่ไหลลงในคลองสาธารณะขึ้น มีกระบวนการไล่น้ำ ในบางจุดใช้วิธีกั้นน้ำ สิ่งที่น่าห่วงคือ ในอนาคตเพราะน้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำ ไหลไปเรื่อยๆ แม้เราจะไล่น้ำจากจุดหนึ่ง แต่น้ำเสียก็จะไหลต่อไป เพราะลำคลองมีความยาวกว่า 20กิโลเมตร ซึ่งในช่วงหนึ่งจะไหลผ่านพื้นที่ตำบลนาโต๊ะหมิง ของอำเภอเมืองตรังด้วย ซึ่งขณะนี้ก็ไหลต่อไปเรื่อยๆ

 

ด้านนายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรังเปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่หลังเกิดเหตุบริษัทดังกล่าวมีบ่อบำบัดถูกต้องตามกฎกติกา แต่ประเด็นปัญหาเกิดจากคันดินพังลง อีกทั้งน้ำในบ่อค่อนข้างเยอะและเป็นบ่อลึก ทำให้บ่อถัดไปพังต่อกันเป็นโดมิโน สิ่งที่พบคือน้ำเสียจากบ่อบำบัดไหลลองคลองธรรมชาติเกือบหมด ทำให้ปริมาณออกซิเจนสูญไปหมด สัตว์น้ำตายจำนวนมาก และน้ำเสียก็ไหลไปเรื่อยๆตามแนวคลองที่มีความยาว โดยเมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าน้ำเสียไหลไประยะทาง 10 กว่ากิโลเมตรแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทก็พยายามปรับปรุงแก้ไขเต็มที่ โดยมีการซ่อมแซมคันบ่อบำบัด ปล่อยน้ำดีไล่น้ำเสียเพื่อเจือจาง ยอมรับว่าสำหรับจังหวัดตรังไม่ค่อยเกิดอุบัติเหตุใหญ่ลักษณะนี้บ่อยนัก วิธีปฏิบัติต่างๆจึงอาจยังไม่ลงตัว ส่วนการดำเนินคดีฟ้องร้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อมนั้นกฎหมายให้ดำเนินการได้หากกระบวนการเยียวยาในเบื้องต้นไม่เป็นผล โดยเจ้าพนักงานของรัฐ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถฟ้องร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้ เพียงแต่กระบวนการการประเมินมูลค่าต่างๆต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้น้ำเน่าเสียที่ไหลลงคลองอ่างทองในพื้นที่ ต.นาเมืองเพชร จำนวน 6 หมู่บ้าน และกำลัง ไหลลงสู่คลองสว่าง ในพื้นที่ตำบลนาโต๊ะหมิง อำเภอเมืองตรัง ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำตรัง ที่ตำบลบางรัก อำเภอเมือง ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ได้เกิดเหตุน้ำเสียรั่วไหลขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 20 ธันวาคม โดยบ่อกักเก็บน้ำเสียของโรงงานมีทั้งหมด 11 บ่อ และได้รับความเสียหายไปรวม 3 บ่อ โดยหลังเกิดเหตุบ่อกักเก็บน้ำเสียบ่อแรกที่อยู่ติดกับคลองได้พังลง ทางโรงงานไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทัน ทำให้น้ำในบ่อบำบัดที่อยู่ติดกันคือบ่อที่ 2-3 ทนแรงดันไม่ไหวพังต่อเนื่อง สำหรับปริมาตรของแต่ละบ่อบรรจุน้ำเสียได้ประมาณ 8,000 ลบ.ม.

 

กองบรรณาธิการ www.addtrang.com รายงาน