โต๊ะเรียนคันนา ที่ นาหมื่นศรี

 

เด็กๆที่นี่ไม่ได้หาความสนุกจากจอทีวี เกมมือถือ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เด็กๆได้รับเท่าๆกันคือ “ความสนุก” กับ “ความมอมแมม” ในแปลงนาสาธิตผืนเล็กๆ ที่นาหมื่นศรีเด็กๆทุกคน “ทำนาเป็น” และ “กินข้าวหมดจานทุกมื้อ”

 

 

โต๊ะเรียนคันนา กับ เพดานท้องฟ้า เด็กๆทำนา "ที่นาหมื่นศรี" 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ภาพ : Ta Trangtoday

(หมายเหตุ : เป็นบทสัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2557 , ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ฅนตรังฉบับเดือนกันยายน 2557 , ขอบคุณโครงการตามต้นกล้าไปนาข้าว โรงเรียนไทรงาม ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาตรัง เขต1 )

 

 

 

ห่างจากตัวเมืองตรังไม่ถึง 10 กิโลเมตร แต่กลับสงบเหมือนอยู่อีกโลก เหล่านกน้อยใหญ่สารพัดสียืนเกาะเต็มคันนาเหมือนอัฒจันทน์ผู้ชม ไส้เดือนเริงร่าเต้นระบำอยู่กลางปลักโคลน ฝูงแมลงปอบินฉวัดเฉวียนเล่นสนุกกับสายลมเย็นสบาย ถัดไปไม่ไกลท่ามกลางสายฝนปรอยๆ เหล่านักแสดงตัวน้อยกำลังหัดถอนต้นกล้ากันอย่างขะมักเขม้น  แม้หลายคนจะไม่ค่อยคล่องแต่ก็ไม่ยอมลดละ เด็กชั้น ป.1 ตัวเล็กมือเล็ก จึงถอนได้ทีละ 2-3 ต้น เด็ก ป.6 ตัวใหญ่กว่าถอนได้มากกว่าและคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลน้องๆในชั่วโมงหัดเรียน “วิชาทำนา” ภายใต้การกำกับดูแลของคุณครู และ “ครูภูมิปัญญา”

 

กับแปลงนาสาธิตเล็กๆที่ “ครูภูมิปัญญา” “ป้ามาลี เชยชื่นจิตร” ผู้บริจาคที่นาเนื้อที่ 1 ไร่กับ 2 งาน ให้โรงเรียนใช้สอนเด็กทำนา เป็นนาลึกบริเวณทุ่งนาลาบ้านหัวเขา หมู่ที่ 5 แม้จะเป็นโรงเรียนเล็กๆและอยู่ห่างไกล แต่เด็กๆของโรงเรียนไทรงาม ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาตรัง เขต1 เกือบทุกคน “ทำนาเป็น” และ “กินข้าวหมดจานทุกมื้อ”

 

 

ย้อนไปเมื่อปี 2552 “โครงการออกปากดำนา” ของโรงเรียนไทรงามถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของคณะครู ผู้ปกครอง โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) เป็นการขยายผลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งสู่การปฏิบัติจริงในเรื่องของการเรียนรู้นอกห้องเรียน ค่อยๆก่อร่างสร้างกันมาทีละเล็กละน้อย จนทั้งครูเอง ผู้ปกครอง เด็กๆ และชุมชนสามารถซึมซับความสำคัญของ “การทำนา” เป็นการร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน ในแต่ละปีจะมีชื่อกิจกรรมน่ารักๆออกมา เช่น “ตามต้นกล้าไปนาข้าว” “เปิดประตูการเรียนรู้สู่ทุ่งนา” และอื่นๆ จนในปีต่อๆมามีผู้เล็งเห็นความสำคัญทั้งภาครัฐภาคเอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนกันมากขึ้น ทั้งแปลงนาสาธิต องค์ความรู้ และงบประมาณบางส่วน อาทิ ธนาการเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) สาขานาโยง สำนักงานเกษตรอำเภอนาโยงและเกษตรจังหวัด กลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิตศูนย์ตรัง กศน.นาโยง รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชนในพื้นที่ และมีสถานศึกษาอื่นๆมาดูงานและนำไปริเริ่มในพื้นที่ของตัวเองอย่างไม่ขาดสาย

 

 

การทำนาของเด็กๆที่นี่จะทำกันปีละครั้งในช่วงต้นฤดูฝน โดย “ครูระเบียบ คงฉาง” ครูผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับ “ครูภูมิปัญญา” ทั้ง “ป้ามาลี” และครูภูมิปัญญาคนก่อนๆที่เคยบริจาคที่ดินไม่ว่าจะเป็น “ป้าอาภาภัทร ทองแป้น” “คุณยายถนอม เยาว์ดำ” จะช่วยกันสอนเด็กๆตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดี แช่พันธุ์ข้าว การเตรียมดิน ไถดะ ไถแปร หว่านกล้า ปักดำ ดูแลรักษา ไปจนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ทุกชั้นตอนทำแบบดั้งเดิมแต่โบราณ ไม่ใช้สารเคมีแต่ใช้ภูมิปัญญาโบราณมาจัดการแทน ใช้เวลาทำนาต่อฤดูกาลราว 7-8 เดือน ก่อนที่เด็กๆจะหัดเกี่ยวข้าวด้วย “แกละ” ซึ่งเป็นเครื่องมือเกี่ยวข้าวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้วนำมามัดรวมเป็นเลียงก่อนนำมาเก็บในยุ้งข้าวของโรงเรียน และมานวดจนได้ข้าวเปลือก แล้วนำไปตำในครกตำข้าวโบราณของโรงเรียน แต่ช่วงหลังได้ข้าวมาขึ้น จึงนำไปสีที่โรงสีของชุมชนแทน โดยใน 1 สัปดาห์จะมีการลงพื้นที่จริงทุกวันอังคาร

 

 

ข้าวที่ได้ก็นำมาใช้กับโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ให้เด็กๆได้กินข้าวที่ตัวเองปลูกเพื่อให้เด็กๆตระหนักถึงคุณค่าของ “ข้าว” ตลอดจนความยากลำบากกว่าจะได้ข้าวกินสักเมล็ด ซึ่งการดำเนินการทั้งระบบส่งผลเป็นอย่างดี ทำให้เด็กๆรักข้าว รักชาวนา รักธรรมชาติ รักที่ดิน และได้สัมผัสถึงการหล่อหลอมร่วมกันทางสังคมและท้องถิ่น   รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ คราบโคลนที่เลอะแก้ม แขน ขา จึงเป็นความมอมแมมที่ทรงคุณค่า ส่วนข้าวที่เหลือจะทดลองนำไปแปรรูปด้วยการสอนเด็กๆทำขนม

 

 

“วิชาทำนาเป็นวิชาที่สอนให้เด็กๆได้คิด จากเดิมที่อยากให้เด็กๆทำนาเป็น แต่วันนี้มันไม่ใช่แล้ว เพราะไปไกลกว่านั้น การทำนาสอนให้เด็กรักข้าว รักชาวนา รักเพื่อน รักชุมชน รักคนเฒ่าคนแก่ เราคือตำบลนาหมื่นศรี ชื่อตำบลเราก็บอกว่าเราทำนากันมาแต่บรรพบุรุษ ห้องเรียนนาข้าวจึงเป็นห้องเรียนที่แสนวิเศษ นักเรียนก็มีความสุข ครูเห็นแววตาแห่งความสุขของเด็กนักเรียนครูก็มีความสุข แน่นอนเด็กๆอาจเช่นซนกันบ้างแต่ก็เป็นไปตามวัย แต่เขาได้กระโดดโลดเต้นในทุ่งนากว้าง คันนาคือโต๊ะนักเรียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแบบเอาเท้าเช้าแช่น้ำได้ เด็กทุกคนจะมีสมุดบันทึกเรื่องราวต่างๆในท้องนา ทั้งสัตว์ต่างๆ ไส้เดือน กุ้ง หอย ปูปลา นก แมลง กลับมาเราจะให้วาดภาพ บรรยายภาพ” ครูระเบียบเล่ายิ้มแย้ม

 

 

“ผมสนุกมากเลยครับ ได้ไปทำนากับเพื่อนๆ คุณพ่อคุณแม่ก็มาดู ครูภูมิปัญญาก็ใจดีสอนเราทุกเรื่อง แล้วผมก็ดีใจมากที่ได้กินข้าวที่ปลูกเอง กินหมดจานเลยครับ เม็ดเดียวก็ไม่เหลือ ผมทำนาเป็นแล้วนะ” “น้องหัวแดง” หรือ “ดช.สุพัฒน์ เอียดชะตา” วัย 10 ขวบ จากชั้นป.4(สัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2557) เล่าอย่างภูมิใจ

               

เช่นเดียวกับ “น้องสี่” หรือ “ดช.พิชยา เยาดำ” วัย 12 ปี ชั้นป.6(สัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2557) ที่เล่าเสริม .. “เวลาถอนกล้าผมจะถอนเบาๆที่ละ 2-3 ต้นแล้วเอารากกล้ามาตีที่เท้าเพื่อเอาโคลนออก แล้วก็มัดกล้ารวมกันเป็นเลียงๆก่อนเอาไปดำต่อ ในนามีสัตว์มากมายให้เราดู ผมภูมิใจมากที่ได้ทำนากับโรงเรียนและกับเพื่อนๆ ป้ามาลีสอนว่าอย่าเล่นในนา ให้ตั้งใจทำนาแล้วต้องกินข้าวให้หมดจาน ไม่นั้นชาวนากับแม่โพสพจะเสียใจ บ้านผมก็ทำนา ผมสัญญาว่าจะเป็นชาวนาที่ดีครับ”

 

ที่โรงเรียนไทรงาม บนบอร์ดในห้องเรียนเกือบทุกห้องถูกตกแต่งไปด้วยภาพวาดของเด็กนักเรียนทั้งจากสีไม้ หรือสีเทียนตามความถนัด เป็นภาพของทุ่งนาสีเขียวสดใส มีต้นข้าวชูชันอยู่หน้าเขาช้างหายซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นตำบลนาหมื่นศรี ใต้ภาพมีข้อความบันทึกความรู้สึกต่อการทำนาของเด็กๆแต่ละคนด้วยลายมือยึกยือแบบไร้เดียงสา แต่เป็นข้อความที่กลั่นกรองออกมาจากหัวใจชนิดที่ไปอ่านแล้วอาจน้ำตาคลอ

 

 

“หนูชอบทำนาค่ะ หนูชอบเวลาเกี่ยวข้าว หนูจะใช้แกละเกี่ยวข้าว การเก็บข้าวกับมือเราจะมองเห็นรวงข้าวได้ครบทุกรวง แกละเกี่ยวข้าวได้หมดทุกรวง จะไม่มีข้าวตกหล่นในนาเหมือนใช้รถเกี่ยวข้าว เราจะได้ข้าวจากนามากขึ้นด้วย เม็ดข้าวก็ไม่ร่วง” “น้องเกตุ” หรือ “ดญ.อรจิรา เลี้ยงพงษ์” วัย 12 ปี ชั้นป.6(สัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2557)  บอก  

 

 

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้รับคำยืนยันจาก “ครูกมล รอดคืน” ผอ.โรงเรียน ว่า “วิชาทำนา” จะมีต่อไปในทุกๆปีเพราะได้ผลดีในเรื่องการเรียนรู้นอกห้องเรียน และทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสิ่งที่ได้รับกลับคืนมานั้นมีค่ามากมายมหาศาลในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมที่บ่มเพาะให้กับเด็กๆอย่างได้ผล ส่วนเชิงวิชาการถือเป็นการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่ครูสามารถบูรณาการรายวิชาอื่นๆเข้าไปสอนอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น วิทยาศาสตร์เรื่องดิน น้ำ พืช สัตว์ วิชาคณิตศาสตร์เรื่องการคิดคำนวนการนับจำนวน วิชาศิลปะ และอีกหลายวิชาที่รวมกันอยู่ใน “ห้องเรียนทุ่งนา”

 

ภาพเด็กนักเรียนสวมเสืื้อทำจาก "ผ้าทอนาหมื่นศรี" ผ้าทอพื้นเมืองซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน แม้จะเลอะโคลนบ้าง แต่ช่างงดงาม เด็กๆที่นี่ทำนาเป็น และ กินข้าวหมดจานทุกมื้อ ที่นี่ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ดินแดนที่ไม่ได้มีดีแค่นา...

 

ฉบับตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฅนตรังเมื่อเดือนกันยายนปี 2557