ชงประกาศใช้ไบค์เลนทับเที่ยง

 

Share the road เสวนาแบ่งปันถนนสายน้ำใจ สานฝันสู่เมืองจักรยาน ทน.ตรังประสานท่องเที่ยวฯ ยันจัดจ้าง 5 ล้าน 9.5 กม.โปร่งใส ชมรมนักปั่นขานรับเป็นก้าวแรกชวนคนตรังใช้จักรยาน แต่ต้องทำจริง ตร.ชง ประกาศใช้เลนจักรยาน 05.00-07.30 น.ทุกวัน เผยปี 58 รถยนต์จดทะเบียนในตรัง 1.2 แสนคัน

 

 

Share the road ชมรมนักปั่นขานรับเป็นก้าวแรกชวนคนตรังใช้จักรยาน แต่ต้องทำจริง ตร.ชง ประกาศใช้เลนจักรยาน 05.00-07.30 น.ทุกวัน เผยปี 58 รถยนต์จดทะเบียนในตรัง 1.2 แสนคัน ทน.ตรังประสานท่องเที่ยวฯ ยันจัดจ้าง 5 ล้าน 9.5 กม.โปร่งใส 

 

 

เมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 มกราคม 2559 ที่อนุสาวรีย์พระยารัษฎาฯ อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เทศบาลนครตรังจัดเสวนา “Share the road แบ่งปันถนนสายน้ำใจ สานฝันสู่เมืองจักรยาน” เพื่อหาทางออกการใช้เส้นทางจักรยานในเขตชุมชนเมือง และสะท้อนปัญหาการใช้งาน ผู้ร่วมเสนาประกอบด้วย คุณวรเชษฐ์ เศวตรพนิต รักษาการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง , พ.ต.ต.ภูริทัศน์ ชัยศร สารวัตรจราจร สภ.เมืองตรัง , คุณทรงศักดิ์ รัตนพงษ์ รองประธานฝ่ายท่องเที่ยว ชมรมจักรยานจังหวัดตรัง , นายเกรียงศักดิ์ รัตนสิมานนท์ รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง และ นายจิระศักดิ์ควนจันทร์ เลขานุการนายกเทศมนตรีนครตรัง

 

 

วงเสวนามีการนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นปัญหา ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับการใช้งานเส้นทางจักรยานที่ได้ดำเนินการจัดทำแล้ว ด้วยการทาสีเขียวบนพื้นถนน ในพื้นที่รอบเขตเทศบาลนครตรังผ่านเส้นทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว และศาสนสถานที่สำคัญหลายแห่ง เริ่มต้นจากศาลากลางหลังเก่า ผ่านจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง อนุสาวรีย์พระยารัษฏานุประดิษฐ์ วัดกะพังสุรินทร์ สวนสาธารณสระกะพังสุรินทร์ ถนนสวนจันทน์ ตลาดกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง วัดนิโครธาราม โรงเรียนปัญญาวิทย์ แยกวัดกุฏิยาราม สามแยกหมี สำนักงานเทศบาลนครตรัง ศาลากลางจังหวัดตรัง ตลาดถนนรื่นรมย์ และสิ้นสุดที่ลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5

 

รวมระยะทางทั้งหมด 9.5 กิโลเมตร งบประมาณจากโครงการ Bike For All โดยกรมพลศึกษา กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา 5 ล้านบาท รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เข้าร่วมเสวนา ได้ซักถาม ร่วมกันแสดงความคิดเห็น พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนในเรื่องของการปรับตัว เพื่อให้สามารถใช้ทางจักรยานได้จริง โดยวางแนวทางการขอความร่วมมือจากผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ห้ามจอดทับเส้นทางจักรยานในห้วงเวลาตั้งแต่ 05.00-07.30น. โดยจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อการแบ่งปันถนนต่อไป

 

 

-นายเกรียงศักดิ์ รัตนสิมานนท์ รองนายกเทศมนตรี รักษาราชการแทนนายกเทศมนตรีนครตรัง

 

“เส้นทางจักรยานในเขตเทศบาลนครตรังที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น มาจากโครงการ Bike For All ที่ให้จัดทำเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการปั่น และส่งเสริมการท่องเที่ยว ตามนโยบายรัฐบาลที่แบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.ส่งเสริมการปั่นจักรยานในชุมชนเมืองวงเงินงบประมาณ 3-5ล้านบาท 2.เส้นทางปั่นจักรยานตามสถานที่ท่องเที่ยวและสวนสาธารณะ งบประมาณ 5-10 ล้านบาท และ 3.เส้นทางปั่นจักรยานเลียบทางหลวงแผ่นดิน งบประมาณ 10 ล้านบาท”

 

“สำหรับเทศบาลนครตรังเราเป็นชุมชนเมือง จึงดำเนินการตามที่ได้มีนโยบายให้ทับเที่ยงซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดตรัง เป็นห้องรับแขกของจังหวัด จึงมีการจัดทำโครงการเส้นทางจักรยานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เชื่อมโยงกับการพัฒนาสนามกีฬา สวนสาธารณะ ให้คนไปใช้บริการ นอกจากนี้ยังมีอีกส่วนที่เราอยากแนะนำให้นักท่องเที่ยวจากภายนอกรู้จัก คือ ศาลเจ้า และ วัด ในพื้นที่ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวได้ท่องเที่ยวทุกที่โดยใช้เวลาไม่มากนัก และสอดคล้องกับโครงการให้ยืมจักรยานที่มีอยู่แล้ว”

 

“ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าในตรังจักรยานได้รับความนิยมมาก หลายคนจะปั่นจากในเมืองก่อนที่จะออกตามเส้นทางนอกเมือง อาทิ ปั่นไปเขาพับผ้า แต่ในระหว่างทางในเมืองอาจเกิดอุบัติเหตุได้ เส้นทางจักรยานที่ทำขึ้นจึงเป็นการรองรับความปลอดภัย ส่วนสาเหตุที่ทำเป็นวงรอบ เพื่อให้นักท่องเที่ยวปั่นได้โดยไม่หลง อีกทั้งทุกวันนี้สังเกตพบว่านักท่องเที่ยวเริ่มเอาจักรยานขึ้นเครื่องบินมาด้วย จึงอยากให้มองไปไกลๆว่า วันนี้รถยนต์มีมากขึ้น รถติด เราทำอย่างไรที่จะช่วยกันรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยานในเมือง ลดรถติด ลดมลพิษ”

 

 

-คุณวรเชษฐ์ เศวตรพนิต รักษาการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง

 

“โครงการ Bike For All โดยกรมพลศึกษา ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เป็นโครงการที่ดำเนินการทั่วประเทศ โดยหน่วยงานในพื้นที่ต้องทำโครงการเสนอผ่านสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำหรับจังหวัดตรังในช่วงที่ผ่านมาได้เสนอเพื่อพิจารณา 3 โครงการ คือ 1.ทางจักรยานระหว่างเมือง จากหาดปางเมง-หาดเจ้าไหม งบประมาณ 20 ล้านบาท เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว 2.ทางจักรยานภายในสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย ระยะทาง 7กม. งบประมาณ 10 ล้านบาท และ 3.ทางจักรยานในเขตเมืองเสนอโดยเทศบาลนครตรัง สุดท้ายได้รับการอนุมัติ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ทางจักรยานในเขตเมืองเสนอโดยเทศบาลนครตรัง โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชนทำการสำรวจพื้นที่และดำเนินการ และ 2.ทางจักรยานภายในสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่าย ระยะทาง 7กม. งบประมาณ 10 ล้านบาท”

 

“สำหรับกระบวนการพิจารณามีขั้นตอนมากมาย อย่างไรก็ตามทางจักรยานในเขตเมืองที่ทำที่ทำอยู่นี้ถือว่ายังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากยังมีงานทับซ้อนกันบางส่วน ส่วนเส้นทางภายในสวนพฤกษศาสตร์ทุ่งค่ายดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 50%  เป็นการก่อสร้างตามสภาพธรราติ ใช้อิฐตัวหนอนปู”

 

 

-พ.ต.ต.ภูริทัศน์ ชัยศร สารวัตรจราจร สภ.เมืองตรัง

 

“ปัญหาการใช้งานเส้นทางจักรยานในเขตเมืองที่ยังมีรถยนต์จอดทับเส้นทางนั้น ปัจจุบันต้องทำความเข้าใจว่าทางจักรยานที่ได้ดำเนินการด้วยการทาสีถนนเป็นช่องทาง ยังถือเป็นเส้นทางจราจรตามพ.ร.บ.จราจรทางบก จนกว่าจะมีการประกาศของเจ้าพนักงานจราจรตามพ.ร.บ.แล้วห้ามรถชนิดอื่นเข้าไปจอดหรือใช้เส้นทาง หรือ ประกาศกำหนดเป็นช่วงเวลาให้สามารถใช้ทางจักรยานเพื่อออกกำลังกาย หากประกาศแล้วรถชนิดอื่นฝ่าฝืนสามารถจับกุมได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศ เพราะต้องศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อน ส่วนตัวมองว่าสำหรับจังหวัดตรังยังสามารถใช้วิธีการประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความเข้าใจไปก่อนได้”

 

“จากข้อมูลโดยสำนักงานขนส่งจังหวัดตรังเฉพาะปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ในปี 2558 ที่ผ่านมา มีถึง 1.2 แสนคัน ซึ่งเชื่อได้ว่าจำนวนเหล่านี้มีการใช้งานในเขตเมือง ขณะนี้ความยาวถนนในเขตเมืองมีเพียง 200 กิโลเมตร นี่คือความแออัดที่เกิดขึ้นจริง และจะมากขึ้นในอนาคต ในปี 2558 ทางจราจรได้นับปริมาณรถในชั่วโมงเร่งด่วนระยะ 5 วัน จุดที่แยกสะพานวังยาว ถือเป็นจุดที่มีปริมาณรถหนาแน่นที่สุด คือ 91 คันต่อ 2 นาที แต่พอเข้าช่วงเวลากลางวันปริมาณรถลดลงเกินครึ่ง ยืนยันว่าแม้ในต่างประทศ อย่างยุโรป ไม่มีประเทศไหนที่วางผังเมืองโดยมีเส้นทางจักรยานมาก่อน แม้ในวันนี้หลายประเทศยังมีปัญหาอยู่”

 

“การล็อกล้อคือยาแรงและต้องประกาศเจ้าพนักงานจราจรก่อน แต่อยากให้ทดลองขอความร่วมมือก่อน คือ ช่วงเวลา 05.00-07.30 น. โดยมีการนำป้ายประชาสัมพันธ์ไปติด ในมุมมองของผู้บังคับใช้กฎหมายต่อทางจักรยานในเมืองทับเที่ยง ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ ดังนั้นอะไรที่เพิ่งเริ่มใหม่ก็ยังไม่ควรบังคับใช้กฎหมาย แต่ควรเน้นการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจ แต่หากจะแนะนำเราคงห้ามอื่นจอดทับซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่หากกำหนดเป็นช่วงเวลาที่จักรยานสามารถใช้งานได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือตั้งแต่ช่วงตี 5”

 

 

-คุณทรงศักดิ์ รัตนพงษ์ รองประธานฝ่ายท่องเที่ยว ชมรมจักรยานจังหวัดตรัง

 

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ในอดีตนักท่องเที่ยวมาตรังแล้วปั่นไม่ถูก เพราะเส้นทางวนเป็นเขาวงกต ต้องให้คนตรังนำทางไปจึงไม่หลง เราจึงให้มีเส้นทางจักรยานนี้ขึ้นมา แม้จะมีการจอดทับโดยรถชนิดอื่นบ้าง แต่อย่างน้อยก็ดีใจที่เริ่มมีเส้นทางที่เป็นไกด์ไลน์ในการเริ่มต้น และอยากให้ใช้เส้นทางนี้ส่งเสริมให้คนตรังปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายกันมากขึ้น เห็นด้วยและขอเสนอให้ประกาศใช้เส้นทางจักรยานในช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ระหว่างเวลา 05.00-07.30 น. ของทุกวัน แล้วเคลียร์เส้นทางไม่ให้รถชนิดอื่นจอดทับ ถ้าทำได้จริงเครือข่ายนักปั่นจักรยานพร้อมและยินดีสนับสนุนด้วยการนัดหมายคนตรังมาร่วมปั่นเพื่อกาสรออกกำลังกายตามเส้นทางในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะระยะ 9.5 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง สามารถปั่นเสร็จแล้วไปทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันต่อได้”

 

“ถ้าทำแบบนี้เราจะได้หลายต่อ คือ 1.เส้นทางจักรยานที่สร้างแล้วได้ใช้งานจริง 2.ประชาชนได้ออกกำลังกาย และ 3.ผู้ปั่นจักรยานได้ชมบรรยากาศเมืองตรังในยามเช้า และเมื่อเขาเริ่มปั่นได้ เริ่มมีทักษะที่ดีในการปั่น จนเกิดเป็นความชอบ ในอนาคตเขาจะสามารถปั่นจักรยานในชีวิตจริงได้ มากกว่าเราจะทำแค่การรณรงค์โดยไม่เกิดขึ้นจริง สำหรับประเด็นในการรณรงค์ที่ถูกต้องคือ 1.ให้คนรู้สึกว่าปั่นจักรยาน ในระยะ 2-3 กม. ดีกว่าใช้รถ และดีกว่าเดิน คือใช้งานได้จริง และ 2.ในอนาคตเรื่องปั่นส่งเสริมการท่องเที่ยวสามารถจัดทำเป็นรูทการปั่นเพื่อท่องเที่ยวได้”

 

 

-ช่วงแสดงความคิดเห็นและซักถาม

 

-Mr.Chris Ellison นักท่องเที่ยวชาวเมืองน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ

 

“ทุกๆปีต่อเนื่องมากว่า 13 ปีแล้ว ที่ผมได้พาเพื่อนนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษราว 15 คนมาปั่นจักรยานที่จังหวัดตรัง พวกเราใช้ตรังเป็นจุดศูนย์กลางเพื่อปั่นไปตามที่ต่างๆ เฉลี่ยรายจ่ายต่อคนต่อครั้งอยู่ที่ 6 หมื่นบาท ดังนั้น 15 คนต่อปี มีเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวที่เป็นนักปั่นเฉพาะแค่ในกลุ่มของเขาราว 9 แสนบาทที่ใช้จ่ายในพื้นที่จังหวัดตรัง ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกว่าเมืองตรังสงบ ปั่นได้ และปลอดภัย ทางจักรยานสีเขียวที่ผมเห็นมันทำให้เรารู้สึกปลอดภัยกว่าในประเทศอื่นที่เราเคยไป เช่น ลาว เวียดนาม ที่ไม่มีอะไรเลย คิดว่าถ้ามีอีกหลายเส้นทางในตรัง พวกเราจะดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้อีก”

 

-นายแพทย์ประพันธ์ ริมดุสิต แพทย์ด้านประสาทและสมอง

 

“ผมเป็นฝ่ายให้บริการทางการแพทย์ จากการรักษาผู้ป่วยพบว่าตรังติดอับดับต้นๆไประเทศเรื่องโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ เพราะคนตรังไม่ออกกำลังกาย แต่การไปให้ถึงฝันมันยาก สำหรับทางจักรยานข้อเสนอแนะปัญหาทางสีเขียวเวลาถูกฝนจะลื่น และควรเพิ่มเส้นทางอีกเส้น คือ รอบสนามบินเหมือนกับที่สนามบินสุวรรณภูมิทำ สำหรับเป็นที่ให้พวกนักปั่นได้ออกรอบ ส่วนเส้นทางเขาพับผ้าที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ ได้รับความนิยมเพราะมีความท้าทาย แต่ก็ถือว่ามีความอันตรายต่ออุบัติเหตุซึ่งต้องได้รับการแก้ไขป้องกัน”

 

-สื่อมวลชน

 

“ขอทราบรายละเอียดงบประมาณในการดำเนินการ มีการสอบถามสำรวจความคิดเห็นประชาชนก่อนหรือไม่อย่างไร เห็นด้วยกับแนวคิดในการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้น อย่างไรก็ตามเสียดายเล็กน้อยตรงที่เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นลักษณะนี้ควรเกิดขึ้นก่อนดำเนินโครงการ เพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด ในเมื่อเป็นความตั้งใจที่ดี ก็ต้องช่วยกันหาทางออก การกำหนดช่วงเวลานั้นทำได้ แต่สำคัญที่สุดคือการกำกับดูแล ต้องยืนยันว่าในช่วงเวลา 05.00-07.30 น. จะมีเจ้าหน้าที่หรือผู้เกี่ยวข้องมากำกับดูแลให้เป็นจริง มีระบบการกำกับดูแลที่เข้มงวด และเสนอว่าในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดสามารถขยายช่วงเวลาในการใช้จักรยานให้ยาวขึ้นไปอีกได้”

 

-นายเกรียงศักดิ์ชี้แจง

 

“ตอนที่ทำโครงการ หลายฝ่ายได้ร่วมกันหารือ ทั้งเทศบาลนครตรัง เจ้าหน้าที่สำนักการช่าง ท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ชมรมจักรยาน และประชาชนหลายภาคส่วน”

 

-คุณวรเชษฐ์ชี้แจง

 

“เรื่องงบประมาณในการสร้าง ภาครัฐเมื่อมีมีจัดซื้อจัดจ้าง วันนี้รัฐไม่อนุญาตให้จัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ โครงการ 5 ล้านบาทจัดจ้างโดยระบบอีอ๊อกชั่นมีการแข่งขัน บริษัทที่ชนะการประมูลโครงการเสนอที่ 4,975,000 บาท โดยสำนักงานท่องเที่ยวเป็นผู้เนินการ โดยทางสำนักงานท่องเที่ยวยินดีเปิดเผยรายละเอียดจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด”

 

กองบรรณาธิการ www.addtrang.com รายงาน