บ้านควนโมเดล ต้นแบบศักดิ์ศรีที่ดินบรรพชน

ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ส่งผลอย่างมากในการต่อสู้ทวงสิทธิ ชาวบ้านได้ค้นพบเอกสารเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายทหารได้มาซื้อที่ดินจากชาวบ้านและได้นำไปออก สค.1 จึงนำเอกสารดังกล่าวยื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

 

บ้านควนโมเดล ต้นแบบศักดิ์ศรีที่ดินบรรพชน

กองบรรณาธิการ www.addtrang.com รายงาน

 

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา www.addtrang.com  ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมเวทีสาธารณะ “บทเรียน ความสำเร็จ การแก้ปัญหาที่ดินทำกินตำบลบ้านควน” จัดแบบเรียบง่ายที่สนามกีฬานกอีแอ่น หมู่ 4 ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

 

ที่ว่าเรียบง่าย เพราะเป็นเวทีชาวบ้าน ทำกันแบบบ้านๆ เริ่มที่มีการทำบุญเลี้ยงพระเพล ชาวบ้านนำปิ่นโตมาช่วยกัน ฉายให้เห็นภาพการเกื้อกูลร่วมแรงร่วมใจกันในหมู่ชาวบ้าน ที่หาได้ยากแล้วในสังคมไทยทุกวันนี้

 

 

ต่อด้วยกิจกรรมทางวิชาการ สรุปบทเรียนเส้นทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตัวเอง เป็นการฉายภาพการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 20 ปี มีเวทีเสวนาร่วมกันระหว่างชาวบ้าน นักวิชาการ และฝ่ายรัฐ

 

และได้พลังหลักจากการผลักดันส่งเสริมจากโครงการวิจัย “กระบวนการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับคนในพื้นที่ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง” รับผิดชอบโครงการโดย “คุณคมสัน หลงละเลิง” และคณะ ที่ได้เรี่ยวแรงสำคัญจาก “คุณขนิษฐา จุลบล” ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดตรัง(สกว.ศูนย์ตรัง) เป็นโมเดลการทำวิจัยเชิงวิชาการที่มีผลขับเคลื่อนประเด็นปัญหาทางสังคมอย่างเป็นผลและน่าชื่นชม

 

 

ปัญหาที่ดินทำกินในพื้นที่ตำบลบ้านควน ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2473 ทางการมีการประกาศเป็นเขตหวงห้าม ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือเป็นการประกาศพื้นที่สาธารณะ เนื้อที่ 2,847 ไร่ โดยที่ชาวบ้านที่ตั้งตกรกรากและครอบครองพื้นที่ดังกล่าวมานับร้อยๆปี ได้รับผลกระทบโดยตรง ต่อมาทางการได้ทำการรังวัดและออกเป็น หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(นสล.) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529 เนื้อที่ 2,605 ไร่ ชื่อ ที่สาธารณะประโยชน์ “ทุ่งช่องกิว” หรือ “ทุ่งนางหวัง” ส่งผลให้ทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน หมู่ 1 , 4 , 6 รวมเนื้อที่ 1,574 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา  ต่อมาปี 2539 ทางอำเภอเมืองตรังได้มีหนังสือถึงผู้ใหญ่บ้าน เรื่อง กระทรวงยุติธรรมขอใช้ที่สาธารณะประโยชน์ดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งให้ทราบว่า ชาวบ้านทั้งหมดอยู่ในที่สาธารณะประโยชน์ เป็นผู้บุกรุก ให้ย้ายออกจากพื้นที่ หากไม่ยอม จะดำเนินการฟ้องขับไล่

 

ด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้ปรากฏชื่อชายคนหนึ่ง ผู้ลุกขึ้นรวบรวมชาวบ้านให้ต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิของตัวเอง ชื่อ “คุณมานพ ช่วยอินทร์” อดีตข้าราชการพลเรือนดีเด่น ปัจจุบันได้ล่วงลับไปแล้ว แต่ด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย และพลังใจของคุณมานพ ร่วมกับชาวบ้านตำบลบ้านควน ในวันนี้แสงสว่างได้เริ่มส่องลอดมาที่ปลายอุโมงค์

 

 

คุณมานพได้มองถึงความไม่ชอบมาพากล จึงร่วมกับชาวบ้านร้องขอความเป็นธรรมต่อ “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” รมว.มหาดไทยในขณะนั้น  และผู้ว่าราชการจังหวัดได้รังวัดสอบเขตที่ดินแปลงนี้ ได้เนื้อที่มากกว่าเดิม 2 ไร่ และจังหวัดตรังได้ตั้งคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิ์เมื่อปี 2540 ผลการสอบสวนมีผู้ค้านประกาศโดยรัฐ 98 ราย เป็นที่ดิน 131 แปลง โดยคณะกรรมการได้สรุปกรณีที่ว่าเป็นการบุกรุกที่ดินไว้ 3 ประเภทเพ่อเป็นแนวทางการสอบสวน ได้แก่ 1.ประเภทสอบสวนแล้วได้มาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ 2.ประเภทสอบสวนแล้วได้มาหลังการเป็นที่ดินของรัฐ และ3.ประเภทสอบสวนแล้วไม่แน่ชัด

 

จากนั้นในการพิจารณาต้องล่าช้าและผ่านอุปสรรคนานัปการ แต่ชาวบ้านไม่ย่อท้อ ทำงานต่อเนื่อง ในยุคหนึ่งได้มีการรวมตัวประท้วงทั้งที่หน้าศาลลากลางจังหวัดตรัง รวมถึงเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย เพื่อร้องขอความเป็นธรรม

 

 

ไม่ใช่แค่การประท้วง เพราะชาวบ้านตำบลบ้านควน โดยคุณมานพ และเครือข่าย ที่บอกกับชาวบ้านเสมอว่า ต้องเตรียมความพร้อม ในเรื่องข้อมูล หลักฐาน การประสานงานร่วมกับภาครัฐ ถึงจะไปถึงฝั่งฝันได้ จากนั้นชาวบ้านเริ่มมีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจัง มีการสืบประวัติหมู่บ้านในเชิงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน ประวัติที่ดินรายแปลง รวมทั้งข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการทวงสิทธิ

 

ความท้าทายได้โถมเข้ามาค่อนข้างรุนแรงช่วงระหว่างปี 2539-2548 เนื่องจากราคาประเมินที่ดินในพื้นที่จังหวัดตรังพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายหน่วยงานก็ทยอยเข้าไปตั้งสำนักงาน แต่กระบวนการภายในชุมชนยังคงดำเนินการต่อเนื่อง และไม่ย่อท้ออ่อนแรง ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการเข้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบ้านควน 18 หน่วยงาน แบ่งเป็น สถานที่ราชการ 15 หน่วยงาน และโรงเรียนหรือสถานศึกษา 3 แห่ง และยังมีบางหน่วยงานที่จะเข้าไปอีกจึงยังไม่มีหลักประกันใดๆในอนาคต

 

กระทั่งพบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ส่งผลอย่างมากในการต่อสู้ทวงสิทธิ ในปี 2554 ทางแกนนำชาวบ้านได้ค้นพบเอกสาร สค.1 และสัญญาซื้อขาย ซึ่งอยู่ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตรังว่า เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายทหารได้มาซื้อที่ดินจากชาวบ้านและได้นำไปออก สค.1ในปี 2498 จึงนำเอกสารดังกล่าวยื่นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

 

 

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดตรัง(กบร.ตรัง) ได้นำปัญหาที่ดินทำกินตำบลบ้านควนเข้าสู่การพิสูจน์สิทธิการครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินสาธารณะประโยชน์เข้าสู่วาระการประชุมอีกครั้ง และที่ประชุมมีมติว่า “น่าเชื่อได้ว่าผู้ขอได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการเป็นที่ดินของรัฐ ให้ออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ขอได้ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่ปรากฏ” เป็นผลให้ผ่านมติกบร.ในรอบแรกเพื่อนำสู่กระบวนการออกโฉนดที่ดินให้กับชาวบ้านได้เมื่อเดือนมกราคม 2558 จำนวน 12 ราย รวม 24 แปลง  จากนั้นกระบวนการระหว่างชาวบ้านกับภาครัฐก็ดำเนินการต่อเนื่อง กระทั่งเดือนมกราคม 2559 ออกเพิ่มอีกจำนวน 49 ราย 157 แปลง ซึ่งยังเหลืออีกกว่าครึ่งที่รอคอยด้วยความหวัง แต่คงต้องว่ากันกันต่อไปตามหลักฐานความเป็นจริง

 

 

การเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้าน จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้จากข้อมูลข้อเท็จจริง เอกสารหลักฐาน ระเบียบ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บทเรียนต่างๆเกิดขึ้นมากมายกว่าจะประสบความสำเร็จ ชาวตำบลบ้านควนมีการปรับตัวโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างเกิดประโยชน์ มีการฝึกสอนถ่ายทอดวิธีการจับพิกัด GPS ให้กับชาวบ้าน ภายใต้การสนับสนุนองค์ความรู้จากสำนักงานพัฒนาชุมชน และ สำนักงานที่ดิน

 

 

อย่างไรก็ตามในความสำเร็จที่เกิดขึ้นยังคงมีคนจำนวนน้อยเท่านั้น ที่ได้เรียนรู้อย่างแท้จริง เพราะต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจกับการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาของตนเอง หวังพึ่งเพียงหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหาซึ่งเป็นเรื่องยาก

 

ดังเมื่อได้ศึกษาข้อมูลจากสำนักงานที่ดินจังหวัดตรังพบว่า ที่สาธารณะประโยชน์ทั้ง 10 อำเภอในจังหวัดตรัง รวมเนื้อที่ 126,250 ไร่ ซึ่งล้วนเกิดปัญหาแบบเดียวกันนี้

 

 

“สำหรับพื้นที่บ้านควนที่ประสบความสำเร็จ เพราะชาวบ้านเดินกระบวนการการทำงานมานาน ทุกวันนี้การทำงานของที่ดินจังหวัดดีขึ้น แต่ยังไม่พอ วันนี้เราได้ปรับเรื่องคน และที่สำคัญคือเรื่องข้อมูล ต่อไปผมจะมีการจัดระเบียบข้อมูลที่ดินสาธารณะประโยชน์พื้นที่อื่นๆในจังหวัดตรัง เพราะที่ผ่านมาเราจัดระเบียบแต่ที่ดินของประชาชน แต่ไม่เคยไปดูของรัฐ ทั้งนี้หน่วยงานรัฐบาลแห่งถือที่ดินไว้ในมือมากมาย บางแห่งมีถึง 200-300 ไร่” เป็นท่าทีที่ดีจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ โดยคำยืนยันจา คุณกิตติพงศ์ ผลประยูร เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดตรัง บอกต่อหน้าชาวบ้าน

 

 

 

ในวันนี้ความสำเร็จในเบื้องต้นของชาวบ้านตำบลบ้านควนที่ได้รับโฉนดที่ดินจากการต่อสู้มาเกือบทั้งชีวิต รอยยิ้มของหลายๆคนที่ได้เห็นโดยเฉพาะของคนชราในวันทำพิธีมอบโฉนดจึงมีความหมายลึกซึ้ง ทว่า มีข้อคิดที่เสมือนคำเตือนจากนักวิชาการที่ชื่อ “อาจารย์พสิฐ พานิชกุล”อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ฝากถึงชาวบ้านควนไว้อย่างน่าคิด

 

“เส้นทางการต่อสู้ตลอดกว่า 20 ปีที่บ้านควน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย กระบวนการที่บ้านควนมีหัวใจสำคัญที่พื้นที่อื่นสามาถนำไปเป็นบทเรียนเพื่อดำเนินการได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเมื่อได้เอกสารสิทธิ์ไปแล้ว เราต้องวางระบบริหารจัดการที่ดินดังกล่าว เพราะในหลายพื้นที่เมื่อได้โฉนดที่ดินต่อมาก็ก็หลุดมือไปจากชาวบ้าน ทำอย่างไรให้มีการวางแผนการถือครองที่ดินในอนาคตด้วย เพราะเมื่อที่ดินหลุดมือชาวบ้านไป โครงสร้างชุมชนก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะเมื่อเป็นโฉนดที่ดิน ก็เป็นเงิน ขายได้ จำนองได้ เปลี่ยนมือได้”

 

..............................................................................................................