เล่นลูกลมที่นาหมื่นศรี28ม.ค..-3ก.พ.

 

ในทางวิทยาศาสตร์อาจมองได้ว่า “ลูกลม” มีหลักการทำงานเดียวกันกับ “หุ่นไล่กา” แต่ “ลูกลม” ที่ “นาหมื่นศรี” นั้นมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อ การเคารพในธรรมชาติผ่านตัวแทนความศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพธรรมชาตินั่นเอง

 

 

ตำนานแห่งลูกพระพาย “ลูกลมนาหมื่นศรี”  28 ม.ค.-3ก.พ. 2559

 

ยังคงมีการเล่น “ลูกลม” หรือ “กังหันลม” ซึ่งถือเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่สืบต่อมายาวนาน จนถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของ ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี ต่อเนื่องมา 17 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงที่มีกระแส

 

เทศกาล “ลูกลม” จัดตรงกับช่วงเกี่ยวข้าวของตำบลนาหมื่นศรี ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มคลองนางน้อยซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรังมาแต่โบราณ ในรุ่นบรรพชนได้เลือกทำเลอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ตั้งถิ่นฐาน เกิดมรดกทางวิถีชีวิตวัฒนธรรมมากมาย ทุ่งนากว้างใหญ่ห่างจากตัวเมืองตรังไม่ถึง 10 กิโลเมตร ถ้ำน้อยใหญ่ถึง 9 ถ้ำ โดยเฉพาะ “ถ้ำช้างหาย”

 

ประวัติความเป็นมาของ “ลูกลม” ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาบอกว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนสวรรค์ ในครอบครัวเล็กๆ ของ “พระพาย” ซึ่งเป็นเทพแห่งธรรมชาติ เป็นเทพเจ้าแห่งลมและพายุ รวมถึงท้องฟ้า ตามคติของศาสนาฮินดู โดยวันหนึ่งเป็นฤดูเกี่ยวข้าว ได้มีนกลา นกไผ นกเสียด นกกระจาบ และนกกาอื่นๆ ออกมามากินข้าว แต่เนื่องจาก “พระพาย” ไม่มีเวลาโห่นกไล่กาทุกวัน เพราะต้องไปอยู่เวรพัดลมทำความเย็นให้เทวดา ดังนั้น จึงมอบให้ “ลูกลม” ซึ่งเป็นลูกชายช่วยทำหน้าที่ดูแลนาข้าวแทน

 

“ลูกลม” จึงได้ไปตัดไม้ไผ่ แล้วเหลาให้แบน แต่บิดเบี้ยวๆ ก่อนคาดเป็นกากบาททับกันหลายๆ อัน เพื่อดักลมให้หมุนไปมาซ้ายขวาได้ โดยเมื่อไม้ดังกล่าวโต้ลม ก็จะหมุนคล้ายกับกังหันวิดน้ำ และมีเสียงดัง ทำให้นกกาเกิดความกลัว ไม่กล้าบินลงมากินข้าวที่ปลูกเอาไว้ เมื่อ “พระพาย” กลับจากเข้าเวร เห็นลูกชายทำอะไรแปลกๆ ด้วยการเอาไม้มาดักลม แต่มีเสียงไพเราะน่าฟัง จึงแสดงความพอใจอย่างมาก

      

ดังนั้น ในวันต่อมา เมื่อ “พระพาย” ต้องไปเข้าเวรพัดลม จึงถือโอกาสบอกผลงานของลูกชายให้เทวดารับทราบ ซึ่งก็ได้แสดงความชื่นชม และแสดงความยินดีในความเฉลียวฉลาด พร้อมเห็นสมควรที่จะเผยแพร่สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ลงไปยังโลกมนุษย์ จึงได้เรียก “เวศหนู” ซึ่งเป็นทหารเอกมาเข้าเฝ้า เพื่อบัญชาให้นำเรื่องของ “ลูกลม” ไปทำการบอกกล่าว จนเป็นที่แพร่หลายในหมู่มวลมนุษย์นับตั้งแต่นั้นมา

 

ดังนั้นในทางวิทยาศาสตร์อาจมองได้ว่า “ลูกลม” มีหลักการทำงานเดียวกันกับ “หุ่นไล่กา” แต่ “ลูกลม” ที่ “นาหมื่นศรี” นั้นมีความเชื่อมโยงกับความเชื่อ และ การเคารพในธรรมชาติผ่านตัวแทนความศักดิ์สิทธิ์แห่งเทพธรรมชาตินั่นเอง

 

28 มกราคมนี้ เสียงร้องหวีดหวิวของ “ลูกลมนาหมื่นศรี” จะดังกึกก้องทั่วท้องทุ่ง นับร้อยๆดอก ท่ามกลางบรรยากาศวิจิตรตระการตาแห่งท้องทุ่งสีทอง

 

 

ภาพ : บก.วานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง , Ta Trangtoday

ขอบคุณข้อมูล : www.manager.co.th