ถือศีลกินผัก ที่เมืองตรัง

กลุ่มควันสีขาวจากธูปนับหมื่นๆแสนๆก้านอบอวลไปด้วยศรัทธา ทุกศาลเจ้าในเมืองตรัง มากว่าร้อยปี

ชาวตรังมีประเพณี “ถือศีลกินผัก” หรือ “กินเจ” สืบทอดกันมาร้อยกว่าปี  คือเริ่มประมาณ  พ.ศ.2447  จัดในระหว่างวันขึ้น  1-9  ค่ำ  เดือน 9  ของจีน  หรือราวเดือนกันยายน – ตุลาคม ของทุกปี  นับเป็นช่วงเวลาการบูชาเทพเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์ทั้ง 9  ตามความเชื่อแบบจีน     

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ ADDtrang

             

แต่เดิมจัดที่ “วัดประสิทธิชัย” หรือวัด “ท่าจีน”  ในอำเภอเมืองตรัง ภายหลังมาก่อสร้างศาลเจ้าขึ้นใหม่ขึ้นอีกหลายแห่ง       

 

ในพิธีกินเจ  จะมีสมาชิกของศาลเจ้าและผู้ร่วมศรัทธามาร่วมละกิจโลกียวัตร  บำเพ็ญศีล  สมาทาน  กินเจ  บริโภคแต่อาหารผักผลไม้  งดเว้นกิจที่จะทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น  ซักฟอกมลทินออกจากกาย  วาจา  ใจ  สวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์  ก่อนเริ่มการกินเจจะมีพิธีเตรียมการหลายขั้นตอน  ที่สำคัญคือการยกเสาตะเกียงหรือคี่เต็งโก  ซึ่งทำให้วันสิ้นเดือนก่อนกินเจ  1  วัน

 

ระหว่างพิธีกินเจ  จะมีการอัญเชิญเทพเจ้ามาประทับทรงและออกเยี่ยมลูกหลาน  ซึ่งแต่ละศาลเจ้าจะกำหนดวันออกเยี่ยมไปให้ตรงกัน  โดยจัดขบวนแห่อย่างมโหฬารไปรอบ ๆ เมืองในขบวนจะมีม้าทรงพร้อมกับบรรดาสาวกและรูปปฏิมาตัวแทน  “เจ้า”  อยู่ใน  “เกี๊ยว”  หรือเก้าอี้หาม  ออกเยี่ยมเยียนโปรดสัตว์ไปตามอาคารบ้านเรือน  ฝ่ายเจ้าของบ้านก็จะจัดโต๊ะบูชาและเตรียมประทัดไว้จุดต้อนรับ  บางที  “เจ้า”  ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่าง ๆ โดยใช้ของมีคมเสียบทะลุเนื้อหนัง  กลับจากออกเที่ยวก็มีพิธีลุยไฟ  พอถึงวันที่  9  ค่ำ  ก็จะมีพิธีส่งเทพเจ้าที่อัญเชิญมา  รุ่งขึ้นยกเสาตะเกียงลงเป็นอันเสร็จพิธี ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็น “อภินิหาร” ที่เกิดขึ้นจาก “ความศรัทธา”

 

สถานที่ประกอบพีกรรมทางศานาของชาวไทยเชื้อสายจีนในตรัง คือ “ศาลเจ้า” หรือคนท้องถิ่นเรียก “โรงพระ”  ปัจจุบันมีศาลเจ้าสำคัญ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน อาทิ “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” “ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม” “ศาลเจ้าพ่อเสือ” “ศาลเจ้าไต่เซี่ยฮุดโจ้ว” “ศาลเจ้ากวนอิมเก็ง” “ศาลเจ้าส่ามอ๋องฮู้เต้าโบ้วเกง” “ศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย” “ศาลเจ้าเปากง” “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” “ศาลเจ้าไท่หนานไต้เทียนกง” เป็นต้น

 

เทศกาลกินเจเมืองตรังส่วนใหญ่จะมีต่อเนื่องหรือกิจกัน 9 วัน ตามความเชื่อของการจัดงานโดยหลายศาลเจ้าในเมืองตรังที่ได้ยึดปฏิบัติทั้งการประกอบพิธี การเปิดโรงทาน และกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเป็นประเพณีที่เริ่มโดยชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนชุดแรกที่อพยพมาจากแผ่นดินใหญ่หรือประเทศจีนเมื่อราวร้อยปีมาแล้ว เดิมทีเรียก “ถือศีลกินผัก” แต่เมื่อมีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพมาเพิ่ม บ้างก็เรียก “ถือศีลกินเจ” แต่จะเรียกอย่างไรก็ล้วนมีเจตนารมย์เดียวกันในเรื่องการรักษา “ศีล กาย ใจ ให้บริสุทธิ์”

 

การกินเจเกิดขึ้นครั้งแรกที่ชุมชนริม “แม่น้ำท่าจีน” หรือบริเวณที่ตั้งของวัดประสิทธิชัย(วัดท่าจีน) ซึ่งเป็นชุมชนชาวจีนแต่เดิมของเมืองตรัง โดยในงานกินเจครั้งแรก มีผู้ร่วมกินเจจำนวน 20 คน เป็นเรื่องเล่าที่น่าอัศจรรย์ของศรัทธาอันแรงกล้าที่ค่อยๆบ่มเพาะเจริญเติบโตจนมีผู้เข้าร่วมกินเจจำนวนมากในวันนี้

 

ตามข้อมูลที่ศาลเจ้า “กิวอ่องเอี่ย” ศาลเจ้าแห่งแรกสายฮกเกี้ยนได้บันทึกไว้ เฉพาะผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกับศาลเจ้าถึงปีละไม่ต่ำกว่า 6,000 คน ไม่นับผู้กินเจที่ไม่ได้ลงทะเบียนอีกจำนวนมาก ทำให้เชื่อได้ว่าต่อ 1 ศาลเจ้า มีผู้ร่วมบุญกิจเจไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคนต่อปี หากรวมทั้งจังหวัดตรัง คงไม่น้อยกว่าหลักแสนคน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดใน “ความเชื่อ” อันแรงกล้า โดยเฉพาะเจตนารมณ์ในการทำบุญ ลดละบาปและอบายมุขทั้งปวง แม้ในยุคใหม่เทคโนโลยีทันสมัย ตัวเลขดังกล่าวก็ไม่มีทีท่าลดลง

 

สำหรับผู้สนใจย้อนรอยเส้นทางของแรง “ศรัทธา” เก่าแก่นี้ การสืบเสาะจากปากคำของคนรุ่นก่อน ย่อมมีคุณค่าแห่งการจดจำ

 

“โกป๋าว-สงวน กิตติเชษฐ์” ในวัย 71 ปี สาธุชนคนสำคัญที่สัมผัสคลุกคลีกับ “เทศกาลถือศีลกินผัก” ของเมืองตรังมายาวนาน เล่าว่า ประเพณีนี้มีความผูกพันกับชาวไทยเชื้อสายจีนในเมืองตรังอย่างมากและมีมาช้านานจนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นรากเหง้า โดยในสมัยโบราณเมื่อครั้งชาวจีนโพ้นทะเลตัดสินใจละทิ้งย้ายถิ่นฐานจากประเทศจีนมาอยู่ประเทศไทย เพราะ “เมืองสยาม” ถือเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด และในสมัยนั้นในยุคที่ชาวจีนอพยพมาขึ้นที่เมืองตรัง ตรงกับช่วงการพัดเข้ามาของลมตะวันออก ลมตะวันออกจะพัดมาจากเมืองจีน ผ่านพม่า ทะเลจีนใต้ ผ่านไทย พัดออกทะเลทางแหลมมะละกา ซึ่งเป็นลมที่พัดมาในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจพอดี ช่วงนี้จึงมีลมเย็นๆให้เราได้รู้สึกสบายตัว

 

ในยุคนั้นคนจีนถ้าจะเดินเรือก็ต้องอาศัยลมดังกล่าวล่องลงมา ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนใช้เรือสำเภาในการเดินทาง ทั้งเรืออพยพและเรือสินค้า เรืออพยพก็จะล่องลงมา อ้อมแหลมมะละกา เข้าทางแม่น้ำตรัง จนมาได้ทำเลสร้างถิ่นฐานริมฝั่งแม่น้ำตรังบริเวณวัดประสิทธิชัย และเริ่มก่อร่างสร้างชุมชนชาวจีนจนเป็นปึกแผ่นมั่นคง ซึ่งถือเป็น “เส้นทางสายแพรไหม” อีกเส้นทางหนึ่งของเหล่าพ่อค้าชาวจีนที่ลำเลียงสินค้าต่อไปยังอินเดียหรือเอเชียใต้

 

“เมื่อคนจีนในยุคนั้นตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนแถถบวัดท่าจีนได้มั่นคงแล้ว ก็มีการกลับไปเยี่ยมถิ่นเดิมของตัวเองที่แผ่นดินใหญ่ และร่วมแรงร่วมใจกันนำประเพณีอันดีงามจากแผ่นดินใหญ่มาเผยแพร่ในเมืองตรังเพื่อหวังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ มีการริเริ่มประเพณีถือศีลกินผัก การตั้งศาลเจ้า และพิธีทางความเชื่อต่างๆ เล่าต่อๆกันมาว่า ประเพณีถือศีลกินผักครั้งแรกของเมืองตรังทำกันเล็กๆโดยอาศัยบริเวณลานวัดท่าจีน โดยการกินเจคือการยกเสาธงหรือเสาเต็งโกเพื่อประกาศว่าจะกินเจแล้ว ก็กินกันกันที่ลานวัด กินเสร็จถ้วยชามก็ประมูลไว้เป็นทุนจัดครั้งต่อไป ครั้งแรกกินกัน 20 กว่าคน ต่อมาชุมชนหนาแน่นขึ้น ย้ายมาในทับเที่ยง มีการตั้งศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยและศาลเจ้าอื่นๆตามมา คนกินเจก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น”

 

ชายชราผู้รู้ลึกรู้จริง ฝากถึงคนรุ่นต่อๆไปให้ช่วยสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ อย่างรู้จริง ศรัทธา และเข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการสืบทอดลมหายใจของ “ประเพณีถือศีลกินผักเมืองตรัง” ให้ดำรงอยู่ต่อไปอย่างทรงคุณค่า

 

“คนกินเจจะได้แน่ๆคือ ได้ เช็ง หมายถึง ความบริสุทธิ์ ล้างจิตใจคุณเอง ใน 1 ปี คุณมีโอกาส 9 วันให้คุณได้สำนึกบาป ทำบุญ เพราะงานเจ คือ การให้ สมัยก่อนคนมากินเจเขาไม่สวมรองเท้านะ เพราะคนเรามีเงินซื้อรองเท้าแพงถูกได้ แต่ที่ให้ถอดรองเท้าเพื่อให้ทุกคนเสมอภาคกัน การกินเจมันมีแต่ได้ อาหารเจคืออาหารเซียน อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน กินเจก็จะมีสุขภาพดี ยิ่งในโลกทุกวันนี้ที่คนใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ลองกินดู 2-3 วันแรกก็จะเห็นผลเลย ระบบย่อยอาหารจะดีขึ้น ขับถ่ายดีขึ้น แต่ขอให้เลือกผักที่ดีไม่มีสารเคมี ในด้านจิตใจก็ช่วยได้ให้เราลดละ ผมคิดว่ามีวันดีๆแบบนี้ในตารางชีวิตบ้างก็ดี”

 

“โกป๋าว” เปรียบเทียบให้ฟังว่า “เทศกาลถือศีลกินผัก” ของเมืองตรังมีความอัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นการรวมผู้คนทุกเพศทุกวัยให้มาร่วมกันได้ ไม่เหมือนงานศาสนกิจอื่น ที่มักมีแต่คนแก่ แต่กินเจกลับมีคนหนุ่มสาวมาร่วมจำนวนมาก แต่ทว่าสิ่งที่เป็นห่วง คือ เราจะชักนำ เผยแพร่ ปลูกผัง ให้กับคนรุ่นใหม่เหล่านั้นอย่างไร เขาอยากฝากว่า ในช่วงกินเจนั้นถือเป็นโอกาสในการแนะนำเผยแพร่ในสิ่งดีงามแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี อย่าให้ลูกหลานของเราออกนอกลู่นอกทาง

 

“ผมเคยไปฟังด็อกเตอร์ชาวจีนคนหนึ่งที่เคยมาบรรยาย เขาพูดได้น่าสนใจ เขาว่าเดี๋ยวนี้จีนให้ความสนใจในลัทธิทรงเจ้าเข้าผี เพราะคนทรงเจ้าเข้าผีนั้นกลัวบาป และคนที่กลัวบาปจะแบ่งเบาภาระบ้านเมืองได้เยอะ เพราะคนกลัวบาปจะไม่คดโกงไม่สร้างปัญหา ฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆแต่มันมีคุณค่า เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้ความเชื่อเหล่านี้ให้มีขอบเขต ไม่งมงายจนเกินไป ผมก็ได้แต่คาดหวังว่า จะมีผู้รู้ทั้งหลายหันมาสนใจเรื่องกินเจบ้าง เพราะกินเจเป็นศูนย์รวมคนหมู่มาก คนเดียวกินเจนั้นเรื่องเล็ก แต่คนหลายพันหลายหมื่นกินเจนั้นย่อมไม่ธรรมดา แต่ของพวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความเข้าใจถึงแก่นแท้”

 

นั่นคือ “สีขาว” ที่สวมใส่นั้น จะยังกุศลมหาศาลเหลือคณานับ หาก “สีขาว” นั้นได้ซึมลึกเข้าไปถึงในจิตใจของผู้คนด้วย

 

เทศกาลถือศีลกินผักเมืองตรัง ระหว่างวันที่ 13-21 ตุลาคม 2558

ติดตามรายละเอียดเทศกาลถือศีลกินผักเมืองตรังแบบครบวงจร ได้ทาง แฟนเพจ “กินเจเมืองตรัง”

ชมคลิปบรรยากาศได้ที่

https://www.youtube.com/watch?v=0cEKGCiqdHs

https://www.youtube.com/watch?v=8gdd8j3TiI4