ทับเที่ยง Vernadoc 2015 คบเด็กวาดบ้าน

 

โครงการบริการวิชาการเพื่อสังคมโครงการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม : ทับเที่ยง Vernadoc 2015

 

 

ทับเที่ยง Vernadoc 2015 คบเด็กวาดบ้าน


...........................

กองบรรณาธิการ www.addtrang.com รายงาน

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ฅนตรัง ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2558 เรื่องจากปก

ภาพประกอบจากคณะทำงานโครงการ ทับเที่ยง Vernadoc 2015 

....................................................................................................................................................

 

ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวของโครงการดีๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองตรังบ้านเรา เริ่มที่ “เมืองทับเที่ยง” กับ “โครงการบริการวิชาการเพื่อสังคมโครงการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม : ทับเที่ยง Vernadoc” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-22 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา ณ สมาคมจีนฮากกา(แคะ) ถนนราชดำเนิน ซอย 5 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดย “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง” ภายใต้การสนับสนุนของ “คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” “สำนักงานจังหวัดตรัง” “สำนักงานเทศบาลนครตรัง” “เครือข่าย Trang Positive” “ชมรมสร้างศิลป์ถิ่นตรัง” และ องค์กรภาคเอกชน-ประชาชนในจังหวัดตรัง พิธีเปิดโดย นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

Vernadoc คือ การรังวัดตัวอาคารโดยละเอียด โดยกิจกรรมหลัก คือ การปฏิบัติการสำรวจและรังวัดอาคารที่เป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมในเมืองทับเที่ยง จำนวนทั้งสิ้น 12 อาคาร โดยเทคนิครังวัดแบบใช้ลายเส้น (Vernadoc) และนำผลงานมาจัดแสดงนิทรรศการประกอบกิจกรรมเสวนาสาธารณะในวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดการปลูกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ และเป็นการสร้างฐานข้อมูลด้านมรดกทางสถาปัตยกรรมอันเป็นกระบวนการขั้นพื้นฐานในการวางแผนอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชนเมืองในอนาคต

 

โครงการดังกล่าว มีผู้มีส่วนร่วมมากมายตั้งแต่คณาจารย์ นักศึกษาผู้ปฏิบัติงาน และอีกหลายภาคส่วน เท่าที่ได้มีโอกาสพูดคุย จึงอยากนำมาเล่าต่อ

 

นายกษิดิษ ณ ระนอง (ท้อป) นักศึกษาสาขาครุศาสตร์ สถาปัตยกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชั้นปีที่ 3 : รับผิดชอบเขียนลายเส้น ร้านตั้งจินเม้ง ถนนกันตัง

"ตอนแรกยังไม่เคยเขียน Vernadoc มาก่อน จึงไม่รู้ว่าเขียนไปทำไม แต่พอได้เข้าร่วมโครงการนี้ จึงรู้ว่า สิ่งที่เราเขียนจะช่วยเรื่องการอนุรักษ์บ้านเก่า เป็นฐานข้อมูลสำหรับการทำงานด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่า ได้มาที่นี่คนทับเที่ยงน่ารัก อัธยาศัยดี ต้อนรับเป็นอย่างดี ผมดีใจที่เจ้าของบ้านยังคงอนุรักษ์ความดั้งเดิมไว้ บ้านที่ทับเที่ยงยังคงสมบูรณ์เพราะคนที่นี่ยังใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับบ้าน"

 

"อาคารตั้งจินเม้งที่ผมเขียน ค่อนข้างเก่าแก่ แต่เจ้าของบ้านรักษาไว้ดีมาก ผมไปเจอหลังคาเดิมยังอยู่ แม้จะผ่านการซ่อมแซมมา แต่เจ้าของบ้านไม่ยอมรื้อของเดิมออก แต่กลับทำหลังคาใหม่ซ้อนของเก่า ให้ของเก่ายังคงความดั้งเดิม ซึ่งน่าภูมิใจมาก"

 

 

นายฐากร ภักดีชุมพล (ปอ) นักศึกษาสาขาครุศาสตร์ สถาปัตยกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชั้นปีที่ 3 : รับผิดชอบเขียนลายเส้น ร้าน ช วัฒนภัณฑ์ ถนนราชดำเนิน

"ผังเมืองของทับเที่ยงค่อนข้างดี เดินเที่ยวได้ ถ้าจำทางดีๆจะไม่หลง บ้านเรือนส่วนใหญ่มีโครงสร้างแปลกตา แต่สวยงาม เป็นต้นทุนเดิม และมีความคลาสสิคในตัวอยู่แล้ว ถนนหนทางในตัวเมืองเป็นแนว Perspective มีมิติที่สวยงาม เหมาะกับคนที่ชอบถ่ายภาพ โดยเฉพาะ Pre Wedding แม้ระยะเวลาจะผ่านไปแค่ไหน ทับเที่ยงก็ไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แง่มุมเหล่านี้สามารถชวนคนนอกมาเที่ยวได้ เพราะนักท่องเที่ยวแนวใหม่รวมถึงต่างชาติชอบแบบนี้ ผมดีใจที่ได้ร่วมโครงการนี้ นอกจากเราจะได้พัฒนาตัวเองแล้ว ยังได้มิตรภาพ ทั้งจากเพื่อนๆและคนในทับเที่ยง ผมอยากเห็นคนทับเที่ยงช่วยกันรักษาสิ่งนี้เอาไว้และสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพาณิชย์"

 

 

น.ส.โมรีอาห์ ขาวสังข์ (โม) นักศึกษาสาขาครุศาสตร์ สถาปัตยกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชั้นปีที่ 3 : รับผิดชอบเขียนลายเส้น บ้านสามชั้นตระกูลไทรงาม ถนนราชดำเนิน ซอย 5

"บ้านสามชั้นตระกูลไทรงามถือเป็นไฮไลท์หนึ่งของทับเที่ยง ความสวยงามนี้เกิดขึ้นได้ในสมัยก่อน สะท้อนถึงฐานะทางเศรษฐกิจของคนทับเที่ยง จะสร้างได้ขนาดนี้ต้องใช้เทคโนโลยีและได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะช่างฝีมือซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ ส่วนต่างๆของบ้านมีรายละเอียดเยอะมาก ขนาดบนจั่วยังมีลวดลายซับซ้อน เห็นแล้วชอบเลย มีครบทุกอย่าง โดดเด่นมาก เป็นอีกหลังที่จะอยู่ในความทรงจำของพวกหนู"

 

 

นายธนัท ผลพานิชย์ (บูม) นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ชั้นปีที่2 : รับผิดชอบเขียนลายเส้น วิหารคริสศาสนาตรัง ถนนห้วยยอด

"วิหารคริสศาสนาตรัง อายุ 100 ปี ถือว่าเก่าแก่ แต่ยังสมบูรณ์มาก มีความสวยวามมาก สะท้อนว่าได้รับการดูแลเอาใจใส่โดยตลอด ถ้าเป็นบ้านอายุ 100 ปี อาจดูโทรมกว่านี้ แต่อาคารนี้ยังสมบูรณ์ และมีเอกลักษณ์ตรงที่มีหอระฆังสูง 3 ชั้น เป็นความสวยงามเมื่อร้อยปีก่อนของการผสมผสานแลกเปลี่ยนระหว่างเชื้อชาติที่แท้จริง"

 

 

น.ส.อารียา ศิลปเมธากุล (เอ๋) นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ชั้นปีที่2 : รับผิดชอบเขียนลายเส้น ร้านสิริบรรณ ถนนราชดำเนิน

"ได้ร่วมโครงการนี้เหมือนหนูได้รับของขวัญพิเศษ ร้านสิริบรรณสวยมาก มีรายละเอียดที่งดงาม ทั้งช่องลมที่เป็นเอกลักษณ์ คิ้วหน้าต่าง ทุกอย่างยังดั้งเดิม สวยงามแต่มีลูกเล่น เพราะเจ้าของดูแลดี หนูประทับใจร้านสิริบรรณเพราะมีเรื่องราว เป็นร้านหนังสือเก่าแก่ที่คนตรังไปซื้อหนังสือกัน เสน่ห์ของร้านสิริบรรณในความคิดหนู คือ ความเก่าแก่แต่สมบูรณ์ จึงสื่อถึงอดีต บ้านหลังนี้จะต้องอยู่ต่อไป หนูเชื่อว่าผลงานเล็กๆของเรา จะช่วยเรื่องการรับรู้ของผู้คนได้ หนูภูมิใจค่ะ"

 

 

นายธนชัย ไกรทิพย์ (กันย์) นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ชั้นปีที่2 :รับผิดชอบเขียนลายเส้น ร้านกาแฟลูกหมู ถนนพระรามหก

"ย้อนคิดไปถึงขั้นตอนออกแบบและก่อสร้างในอดีตซึ่งต้องอาศัยฝีมือ ร้านกาแฟลูกหมูค่อนข้างเก่าแก่มาก เป็นเรือนแถวไม้ 2 ชั้น เป็นความมหัศจรรย์ เพราะเรือนแถวไม้ในทับเที่ยงเหลืออยู่น้อยมาก เพราะในอดีตเคยเกิดไฟไหม้ใหญ่ในทับเที่ยง แต่เรือนแถวไม้หลังนี้รอดมาได้ และน่าจะถือเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจริงๆ เพราะเป็นเรือนไม้ในยุคแรกๆ มีหลังคาทรงมะนิลา ลวดลายต่างๆทำด้วยไม้ทั้งหมด และใช้ช่างท้องถิ่น จินตนาการย้อนกลับไปได้เลยว่า ในอดีตทับเที่ยงต้องมีความเจริญอย่างมากจึงจะเกิดอาคารแบบนี้ได้"

 

 

อาจารย์ณธทัย จันเสน อาจารย์ประจำสาขาครุศาสตร์ สถาปัตยกรรม คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“ภาพรวมของการทำงานอาจมีข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะปกติงาน Vernadoc ต้องใช้เวลา ราว 15-20 วัน แต่ผลปรากฏว่าจากความร่วมมือระหว่างนักศึกษา 2 สถาบัน ผลออกมาเกินเป้าที่ตั้งไว้มากในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ คืบหน้าไปจนถึงขั้นตอนการลงหมึกได้ การทำงานของนักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน เป็นที่น่าภูมิใจ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้มีประสบการณ์ด้าน Vernadoc มาก่อน มีเพียงไม่กี่คนที่เคยผ่านงานลักษณะนี้มา แต่นักศึกษามีการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดซึ่งกันและกัน เรียนรู้ไปด้วยกัน”

 

“สำหรับเมืองทับเที่ยง ถือว่ายังคงมีมรดกทางสถาปัตยกรรมค่อนข้างสูง แม้จะมีบางส่วนที่หายไปบ้าง แต่ก็ยังเห็นร่องรอย ดังนั้นโจทย์ของเราคือ การ Vernadoc หรือ เขียนแบบสำรวจรังวัด ทำอย่างไรให้คนเห็นและรู้สึกได้ถึงรูปแบบดั้งเดิม   Vernadoc จึงเหมือนเป็นตัวแทนของอดีต”

 

“Vernadoc ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายหรือทุกสิ่งทุกอย่างของงานด้านการอนุรักษ์ แต่เป็นส่วนสำคัญของการใช้กิจกรรมเพื่อกระตุ้นการรับรู้ของคนในชุมชน การลงมาทำงานที่ทับเที่ยงได้เกิดปรากฎการณ์ในระดับหนึ่ง ที่คนที่นี่เริ่มให้ความสนใจ  หลายคนมาดูนักศึกษาทำงาน มาสอบถาม เพราะสงสัยว่ามาทำอะไร สิ่งนี้คือการสร้างการรับรู้ เป็นเรื่องระหว่างทาง จนอาจเกิดคำถามกับคนในเมืองเองว่า ขนาดคนนอกยังมาทำอะไรให้เมืองเรา แล้วถึงเวลาที่เราจะทำอะไรให้เมืองเราเองบ้าง”

 

“ส่วนผลงานที่ออกมา จุดประสงค์ไม่ใช่เรื่องการการนำมาจัดแสดงเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการนำไปต่อยอดในแง่ของการบอกเล่าเรื่องราวบางอย่าง งาน Vernadoc ไม่ใช่พระเอก แต่หลังจากนี้จะเป็นส่วนสำคัญ สิ่งที่เราได้จากโครงการนี้อาจไปแทรกอยู่ในบทความเล่าเรื่องความเป็นมา เอาไปทำชุดข้อมูลการเรียนรู เอาไปใช้ออกแบบโปสเตอร์ โปสการ์ด และอื่นๆอีกมากมาย”

 

 

อาจารย์ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

“สำหรับเมืองเก่า การต่อยอดด้านการอนุรักษ์จะต้องใช้องค์ประกอบที่นอกเหนือจากงานด้านสถาปนิก นั่นคือการมีส่วนร่วมจากบุคลในชุมชนและมิติในด้านต่างๆ ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นเพียงการเก็บข้อมูลการสำรวจเพื่อทำเป็นฐานข้อมูลประกอบการพัฒนาและจัดทำแผนฟื้นฟูชุมชนในอนาคต ซึ่งในโลกนี้หลายประเทศได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว อาทิ อังกฤษมีการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ย่านเมืองเก่าแล้วกว่า 1 หมื่นแห่ง มีกฎหมายผังเมือง ผังเมืองรวม กำหนดโซนนิ่ง ย่านประวัติศาสตร์ และกฎหมายอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้อย่างอเมริกาก็ประกาศราว 8 พันแห่ง ญี่ปุ่น 80แห่ง”

 

“หลักการรักษาอนุรักษ์เมืองเก่าจะต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและมีความพร้อม เริ่มที่ 1.การริเริ่มโดยชุมขนและท้องถิ่นเอง 2.รัฐบาลเห็นความสำคัญ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3.จัดกลไกสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์ เช่นการลดภาษี แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบมาตรฐานด้านอนุรักษ์ โดยเฉพาะประเด็นของกรรมสิทธิ์การครอบครอง ที่แตกต่างจากเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ที่สำคัญที่สุดคือ การักษาชุมขนดั้งเดิม จะต้องมาจากความต้องการของผู้อยู่อาศัยก่อนเป็นขั้นแรกและต้องรักษาทั้งแง่กายภาพและวิถีชีวิต”

 

 

อาจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู รองคณะบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

“เมืองทับเที่ยง หรือ เทศบาลนครตรัง เป็นเมืองที่เก่าแก่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี มีหลักฐานปรากฏชัดเจนถึงความรุ่งเรืองของเมืองทับเที่ยงในฐานะเองท่าค้าขายที่สำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ แม้ในขณะนั้นศูนย์กลางการปกครองของเมืองตรังไม่ได้ตั้งที่ทับเที่ยง แต่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่สืบทอดมายาวนานนี้เองที่เป็นแรงดึงดูดให้กลุ่มคนจากหลากหลายชาติพันธ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ย่านใจกลาง จนทำให้เกิดสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเฉพาะ อันเกิดจากการผสมผสานกันของวัฒนธรรม ทั้งสถาปัตยกรรมแบบพื้นถิ่นดั้งเดิม สถาปัตยกรรมเรือนแถวไม้แบบจีน สถาปัตยกรรมตึกแถวแบบจีน อาคารตึกแถวแบบชิโนยูโรเปียน สถาปัตยกรรมแบบอาณานิคม ที่มักเรียกกันว่า ชิโนโปรตุกีส ในปัจจุบันจึงถือได้ว่า เมืองทับเที่ยง เป็นแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่ามากแห่งหนึ่งของประเทศ”

 

“เดิมทับเที่ยงเป็นชุมชนการค้ามาก่อน ใช้การขนส่งทางแม่น้ำตรังหรือแม่น้ำท่าจีนเพื่อส่งต่อไปกันตัง จากตัวแม่น้ำตรังจะมีสายน้ำเล็กๆเรียกว่า คลองห้วยยาง ซึ่งเป็นคลองที่ไหลเข้ามาในตัวเมืองทับเที่ยง คลองเล็กๆนี้เองที่กลายเป็นจุดเชื่อมโยงการค้าทั้งหมดในเวลานั้น มีการตั้งตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า เกิดเป็นชุมชนใหม่ เมืองเล็กๆค่อยๆขยายขึ้น และเริ่มมีการขยับโยกย้ายของชุมชนจากกันตังมายังทับเที่ยง”

 

สำหรับถนนราชดำเนิน ในตัวเมืองทับเที่ยง ถือเป็นถนนสายที่มีมรดกทางสถาปัตยกรรมหนาแน่นที่สุด หากลองเดินสำรวจอย่างปราณีต จะพบอาคารรูปทรงแปลกตามากมาย ทั้งยังเป็นย่านชุมชนตลาดเก่าในยุคแรกๆ อย่างไรก็ตามราว 50 ปีก่อน ย่านถนนราชดำเนินเคยถูกไฟไหม้ครั้งใหญ่ อาคารเดิมที่เป็นไม้ก็หายสิ้น ซึ่งเป็นความน่าเสียดายยิ่ง อย่างไรก็ตามได้ถูกแทนที่ด้วยตึกสไตล์โมเดิร์นที่มีรูปแบบเป็นแนวตั้ง

 

“ยุคแรกๆ สถาปัตยกรรมทับเที่ยงจะเป็นบ้านไม้ บ้านแถว ที่เรียกว่า เรือนแถวไม้ เนื่องจากด้วยพื้นที่จำกัด ราคาที่ดินแพง จึงสร้างบ้านในลักษณะเรือนแถวไม้ยาวๆเพื่อประหยัดพื้นที่ หน้ากว้างติดถนนนิดเดียว แต่พื้นที่ยาวไปข้างใน ถ้าลองสังเกตบ้านไม้เก่าแก่ในตรัง จะเห็นว่าหน้ากว้างอาจจะแค่ 5-6 เมตร แต่ด้านยาวยาวถึง 100-200 เมตร เพราะในยุคที่ จอมพล.ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการจัดเก็บภาษีตามหน้ากว้างของบ้านที่ติดถนน ส่วนรูปแบบหลังคาเป็นแบบมะนิลาปั้นหยาผสมกับหน้าจั่ว ช่องลมเป็นแบบทางตั้งง่ายๆ ผนังตีเกล็ดซ้อนด้วยแผ่นไม้ ลักษณะสำคัญทั้งงานในมาเลเซียและในภาคใต้ของไทย คือ ระหว่างหลังคาจะมีการเปิดช่องว่างลงไปถึงพื้นล่าง ภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า “ฉิมแจ้” ประโยชน์ของการออกแบบดังกล่าว คือ เป็นช่องระบายน้ำฝนลงมาและมีบ่อจัดเก็บน้ำฝนไว้ใช้ บ้านโบราณจึงมีห้องซักล้างไว้กลางบ้านรวมถึงบ่อน้ำ และยังช่วยเรื่องการระบายอากาศออกจากตัวอาคารไม่ให้อาคารร้อนหรือชื้นจนเกินไป กระทั่งเป็นตึกแถวชิโนโปรตุกีสก็ยังใช้แบบเดียวกัน ถือเป็นภูมิปัญหาที่น่าอัศจรรย์”

 

“ที่จริงแล้วสถาปัตยกรรมแบบ “ชิโนโปรตุกีส” ที่เรียกกันติดปากนั้น เป็นการเรียกตามสนธิสัญญาที่มาเก๊าทำกับโปตุเกสในยุคที่โปรตุเกสไปครอบครองมาเก๊า แต่ที่จริงแล้ว ในภาคใต้ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสไม่เยอะมาก แต่ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมมากกว่า ในมาเลเซียจะเรียกสถาปัตยกรรมที่เราเรียกว่า “ชิโนโปรตุกีส” ว่า “บริติช โคโรเนียล สไตล์” หรือ “สถาปัตยกรรมจักรวรรดินิยมอังกฤษ” มากกว่า”

 

“สุดท้ายอยากฝากว่า หลักในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม คือ ตัวอาคาร กับวิถีที่อยู่ในอาคาร ตัวอาคารคือเปลือก เราอนุรักษ์อาคารให้คงอยู่ สมบูรณ์ สวยงาม เพราะสถาปัตยกรรมเป็นตัวบ่งบอกประวัติศาสตร์และยุคสมัย แต่ขณะเดียวกัน เราต้องอนุรักษ์คนที่อยู่ในอาคาร วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมเอาไว้ด้วย จึงจะเป็นการอนุรักษ์ที่สมบูรณ์”

 

....................................................................................................................................................

 

รวมภาพบรรยากาศและการทำงานของโครงการบริการวิชาการเพื่อสังคมโครงการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม : ทับเที่ยง Vernadoc” 2015