อึ้ง! ผังเมืองรวมจังหวัดตรัง(ตอนที่1)

 

 

 

เสียงสะท้อนจากตัวแทนชาวบ้านและผู้ปกครองท้องที่ที่ต่างสับสนงุนงงกับผังเมืองฉบับนี้

 

 

อึ้ง! ผังเมืองรวมจังหวัดตรัง(ตอนที่1)

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ตรังไทม์

 

“และเสียงสะท้อนจากตัวแทนชาวบ้านและผู้ปกครองท้องที่ที่ต่างสับสนและงุนงง เพราะหลายพื้นที่กำหนดไม่สอดคล้อง ซ้ำยังเป็นการไปล็อกการเจริญเติบโต กระทบการทำงานพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ขณะที่เขตอุตสาหกรรมกลับนำไปไว้ติดกับสวนพฤษศาสตร์สากลทุ่งค่ายทางด้านหลัง”

 

มีประเด็นสำคัญที่น่าจะนำมาบอกเล่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดตรังมี การประชุมชี้แจงการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดตรัง พ.ศ.2558 โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดตรัง เป็นผู้ชี้แจงต่อบรรดาหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งจังหวัดตรัง รวมถึง สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว เครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะส่งผลในหลายมิติเกี่ยวกับการจัดการและการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ทั้ง 10 อำเภอของจังหวัดตรัง

 

 

เมื่อได้เห็นแผนที่ตามกฎกระทรวง ถึงกับต้องตกใจ เพราะมีการกำหนดพื้นที่สีเขียวคลุมแทบทั้งจังหวัด เช่นเดียวกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบจ. อบต. ต่างงุนงงไปด้วยกันหมด แน่นอนด้วยเจตนารมณ์ด้านการอนุรักษ์นั้นถูกต้อง แต่เมื่อดูตามสภาพื้นที่จริงตามแผนที่

 

 

และเสียงสะท้อนจากตัวแทนชาวบ้านและผู้ปกครองท้องที่ที่ต่างสับสนและงุนงง เพราะหลายพื้นที่กำหนดไม่สอดคล้อง ซ้ำยังเป็นการไปล็อกการเจริญเติบโต กระทบการทำงานพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ขณะที่เขตอุตสาหกรรมกลับนำไปไว้ติดกับสวนพฤษศาสตร์สากลทุ่งค่ายทางด้านหลัง

               

 

จึงเกิดคำถามว่า กระบวนการทำผังเมืองนี้ ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ล่วงเลยมากว่า 10 ปี จึงจะได้ประกาศใช้ มีความทันสมัย ทันสถานการณ์มากน้อยเพียงใด แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับในขั้นตอนการจัดทำ ได้มีการสอบถามความคิดเห็นภาคประชาชนและภาคส่วนต่างๆแค่ไหน อย่างไร มีการสำรวจพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด

               

และเชื่อว่าในการบังคับใช้จริง จะเกิดปัญหาตามมามากมาย เฉพาะเรื่องการอนุญาตก่อสร้าง จะวุ่นวายเพราะกำหนดพื้นที่หวงห้ามครอบคลุมไปหมด ด้านการลงทุนได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะไม่ชัดเจน แม้กระทั่งการขอนุญาตสร้างบ้านเรือน ยังมีการจำกัดขนาด ความสูง และอื่นๆอีกมากมาย  

 

 

เรื่องนี้แม้แต่ “นายเดชรัฐ สิมศิริ” ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ยังร้อนใจ เรียกโยธาธิการจังหวัดเข้าพบเพื่อหาทางออก จนเป็นที่มาของการสั่งการให้มีการแก้ไขแล้วเสนอกลับไปยังกระทรวงมหาดไทยทันที แต่กระบวนการขั้นตอนตามการแก้ไขกฎหมายใช้เวลาแน่นอน ผู้รู้ประมาณการว่าอย่างน้อยราว 2 ปี

 

อนึ่งตามกฎกระทรวงการบังคับใช้ผังเมืองรวมจังหวัดตรัง พ.ศ.2558 ได้แบ่งลักษณะการบังคับใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 7 ประเภท ตามลักษณะการให้สี ได้แก่ 1.เขตสีชมพู เป็นที่ดินประเภทชุมชน 2.เขตสีม่วง เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า 3.เขตสีเขียว เป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม 4.เขตสีขาวมีกรอบและเส้นทแยงสีเขียว เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม 5.เขตสีเขียวอ่อน เป็นที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 6.เขตสีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาว เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้ และ 4.เขตสีเขียวมีเส้นทแยงสีเทา เป็นที่ดินประเภทสงวนไว้เพื่อรักษาสภาพป่าชายเลน

               

 

เงื่อนไขและความซับซ้อนเหล่านี้ กำลังจะเกิดขึ้น โดยทุกฝ่ายจะได้รับผลกระทบแน่นอน ซ้ำร้ายไปกว่านั้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช. 2 ฉบับ โดยฉบับแรกให้ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมในกิจการบางประเภท ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้า 2.โรงผลิตก๊าซซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่งหรือจำหน่วยก๊าซ 3.โรงงานปรับปรุงคุณภาพของรวม (โรงบำบัดน้ำเสีย/เตาเผาขยะ) 4.โรงงานคัดแยกและฝังกลบ 5.โรงงานเพื่อการรีไซเคิล

 

อีกฉบับคือคำสั่ง คสช.อีกฉบับ คือฉบับที่ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ  

 

ทั้งหมดเพื่อให้จะสามารถสร้างโรงงานประเภทต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในคำสั่งในพื้นที่ใดก็ได้ นั่นหมายความว่ากฎหมายผังเมืองที่ประชาชนพยายามผลักดันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจะไม่มีความหมายอีกต่อไป โรงไฟฟ้าจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่สีอะไรก็ได้ เป็นการปลดล็อกครั้งใหญ่

 

สำหรับคำสั่งฉบับที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้ยกเว้นอำนาจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรื่องการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ในขณะที่นโยบายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา

 

ก่อนหน้านี้กฎหมายกำหนดไว้ว่าโรงไฟฟ้าทุกประเภทที่มีขนาดเกิน 10 เมกะวัตต์ จะต้องจัดทำอีไอเอ แต่ล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกประกาศฉบับที่ 7/2558 ยกเว้นการจัดทำอีไอเอในโรงงานพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาด และจากคำสั่งมาตรา 44 ยิ่งทำให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาดใดก็ได้ในพื้นที่ใดก็ได้ แม้ว่าจะเคยมีการปลดล็อกอีไอเอไปแล้ว แต่ในบางพื้นที่ก็ยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขยะได้ เนื่องจากมีกฎหมายผังเมืองควบคุมอยู่ แต่หลังจากนี้มีการปลดล็อคทุกอย่างหมดแล้ว

 

สำหรับจังหวัดตรัง ทางโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดรับปากว่ากำลังตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขแล้ว ขณะที่ภาคประชาชนและอปท.ฝากไว้น่าคิดว่า คราวนี้ถ้าไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีแวววุ่นแน่