ขนมเข่ง กับ ตรุษจีนเมืองตรัง

 

สำหรับจังหวัดตรัง มีความผสมกลมกลืนกันของหลากหลายเชื้อชาติ ที่จะกล่าวถึงคือ ชาวไทยเชื้อสายจีน และ เมื่อถึงตรุษจีน เรามักได้เห็นและได้รับประทาน “ขนมเข่ง” เดิมทีชาวจีน มักจะทำใส่ในเข่งไม้ไผ่ใบเล็กๆ ต่อมาเมื่อเข่งไม้ไผ่หายากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้กระป๋องนมข้นหวานแทน แต่ผู้คนทั่วไปก็ยังเรียกว่าขนมเข่งอยู่ดี 

 

 

ขนมเข่ง กับ ตรุษจีนเมืองตรัง  

 

“วันตรุษจีน 2559” หรือ “ตรุษจีน 2016” ตรงกับวันจันทร์ ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ตรุษจีน เป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน เพราะชาวจีนถือว่า วันตรุษจีน คือ “วันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน” เช่นเดียวกับสงกรานต์วันปีใหม่ไทย ดังนั้นชาวจีนจึงให้ความสำคัญกับเทศกาลนี้เป็นอย่างยิ่ง มีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนขนาดใหญ่ของคนเชื้อสายจีน ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะมีพิธีเฉลิมฉลองแตกต่างกันไป สำหรับปี 2559 วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์

 

สำหรับที่มาของวันตรุษจีนนั้น เชื่อกันว่ามีมานานกว่า 4 พันปีแล้ว จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เดิมทีไม่ได้เรียกว่าเทศกาลตรุษจีน แต่มีชื่อเรียกต่างกันตามยุคสมัย นั่นคือเมื่อ 2,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช จะเรียกว่า "ซุ่ย" ซึ่งมีความหมายถึงการโคจรครบหนึ่งรอบของดาวจูปิเตอร์ จนกระทั่งต่อมาในยุค 1,000 กว่าปีก่อนคริสต์ศักราช เทศกาลตรุษจีนจะถูกเรียกว่า "เหนียน" หมายถึงการเก็บเกี่ยวได้ผลอุดมสมบูรณ์นั่นเอง นอกจากนี้ วันตรุษจีน ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "วันชุงเจ๋" ซึ่งหมายถึงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ เพราะช่วงก่อนตรุษจีนนั้นตรงกับฤดูหนาว ไม่สามารถทำการเกษตรได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ชาวจีนจึงสามารถทำนา ทำสวน ได้อีกครั้งหลังจากผ่านพ้นฤดูหนาวมานั่นเอง

 

ส่วนการกำหนดวันตรุษจีนนั้น ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือนอ้ายตามปฏิทินจันทรคติของจีน และถือว่าคืนวันที่ 30 เดือน 12 เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หมายถึงวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ

 

 

การเตรียมงานเพื่อการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน จะเริ่มขึ้นตั้งแต่หนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน คล้ายกับวันคริสต์มาสของประเทศตะวันตก โดยผู้คนจะเริ่มซื้อข้าวของต่าง ๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้านเรือน และเตรียมทำความสะอาดครั้งใหญ่ ตั้งแต่ชั้นบนลงชั้นล่าง เนื่องจากมีความเชื่อว่าจะเป็นการปัดกวาดสิ่งที่ไม่ดีออกไป ภายในบ้าน ทั้งประตู หน้าต่าง จะประดับประดาไปด้วยสีแดง และกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพรให้อายุยืน ร่ำรวย อยู่ดีมีสุข ฯลฯ จากนั้นครอบครัวจะร่วมรับประทานอาหารที่ล้วนแต่มีความหมายมงคลทั้งสิ้น เช่น กุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งความโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาหร่าย จะนำความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม   หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว ทุกคนในครอบครัวจะนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง

 

สัญลักษณ์ของวันตรุษจีนอีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ วันตรุษจีน คือ "อั่งเปา" ซึ่งมีความหมายว่า "กระเป๋าแดง" หรือจะใช้คำว่า "แต๊ะเอีย" ซึ่งมีความหมายว่า "ผูกเอว" จากที่คนสมัยก่อนชอบร้อยเงินเป็นพวงผูกไว้ที่เอว โดยการให้อั่งเปานี้ คู่แต่งงานจะให้เงินเด็ก ๆ และผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง หลังจากนั้นทุกคนในครอบครัว จะออกมาจากบ้านเพื่อกล่าวสวัสดีปีใหม่ในหมู่ญาติ และเพื่อนบ้าน ซึ่งคงคล้ายกับการที่ชาวตะวันตกพูดว่า "Let bygones be bygones" ซึ่งแปลว่า อะไรที่ผ่านไปแล้วก็ให้มันผ่านไป” 

 

 

วันตรุษจีนไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ แต่ตามบริษัทห้างร้านของคนจีนอาจจะอนุญาตให้ลูกจ้างได้หยุดพักผ่อนอยู่กับบ้าน ถือเป็นวันหยุดพักผ่อนพิเศษสำหรับคนจีน ซึ่งก็แล้วแต่ว่าบริษัทไหน หรือร้านไหนจะกำหนดให้หยุดได้กี่วัน

 

-วันจ่ายตรุษจีน 2559 ตามธรรมเนียมของคนจีนแล้ว วันจ่าย หรือ ตื่อเส็ก จะเป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ มาเตรียมพร้อมไว้ ก่อนที่ร้านค้าต่าง ๆ จะหยุดยาวในช่วงวันตรุษจีน ซึ่งจะตรงกับวันก่อนวันสิ้นปี โดยในปี 2559 วันจ่ายตรุษจีนคือวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์

 

-วันไหว้ตรุษจีน 2559 ก็คือ "วันสิ้นปี" ซึ่งจะเป็นวันที่มีการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยอาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ ฯลฯ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ โดยในปี 2559 วันไหว้ตรุษจีน คือ วันอาทิตย์ที่ 7 กุมภาพันธ์

 

-วันเที่ยวตรุษจีน 2559 ก็คือ "วันปีใหม่" หรือ "วันตรุษจีน" ซึ่งวันเที่ยวตรุษจีน 2559 คือ วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์นั่นเอง และเป็น "วันถือ" ด้วย โดยในวันนี้ชาวจีนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม พากันออกไปท่องเที่ยว และไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพรัก ชาวจีนจะถือว่าวันนี้เป็นวันแห่งสิริมงคล และงดทำบาปทั้งปวง

 

 

จากแดนมังกร สู่ เมืองตรัง

 

ย้อนกลับสู่อดีต ชาวจีนที่เมืองตรังเดินทางอพยพมาจากมาตุภูมิแผ่นดินใหญ่โดยใช้เรือสำเภา เดินทางเช้ามามากในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตโกสินทร์ โดยเฉพาะชาวจีนฮกเกี้ยนเดินทางมาสู่หัวเมืองมาลายูแล้วเดินทางต่อมาที่ฝั่งทะเลเมืองตรัง คือ ท่าเรือกันตัง และ ท่าจีน บ้างเข้ามาทางปากอ่าวแม่น้ำปะเหลียนในอำเภอประเหลียน ตัวอย่างเช่น แต่เดิมพื้นที่ “ทับเที่ยง” มักไม่เป็นที่นิยมของชาวไทยพื้นถิ่น เพราะมีภูมิประเทศเป็นลักษณะเนินลูกฟูก คือมีที่ราบสลับกับเนิน ทำการเกษตรยาก ชาวไทยพื้นถิ่นจึงเลือกตั้งรกรากและทำการเกษตรบริเวณรอบนอก “ทับเที่ยง” อาทิ แถบลุ่มคลองนางน้อย  แน่นอนว่าชาวจีนในยุคแรกกลับค้นพบลักษณะพิเศษของดินใน “ทับเที่ยง” เป็นดินแดง จึงมีการริเริ่มปลูกพริกไทย และ จันทน์เทศ และมีการทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองสืบมา คนพื้นถิ่นมักเรียน “คนจีน” ใน “ทับเที่ยง” รวมถึงย่านการค้าในอำเภอต่างๆของตรังแบบติดปากว่า “จีนในหลาด”

 

 

สำหรับจังหวัดตรัง เมื่อถึงตรุษจีน เรามักได้เห็นและได้รับประทาน “ขนมเข่ง” เดิมทีชาวจีน มักจะทำใส่ในเข่งไม้ไผ่ใบเล็กๆ ต่อมาเมื่อเข่งไม้ไผ่หายากขึ้น จึงเปลี่ยนมาใช้กระป๋องนมข้นหวานแทน แต่ผู้คนทั่วไปก็ยังเรียกว่าขนมเข่งอยู่ดี โดยสาเหตุที่ชาวจีนใช้ขนมเข่งเป็นขนมสำหรับไหว้ในประเพณีตรุษจีนนั้น มีเกร็ดเล่าต่อกันมาว่า ก่อนถึงวันตรุษจีนประมาณ 4 วัน บรรดาเทพเจ้าจีนที่คอยปกปักรักษาและคุ้มครองผู้คนในโลกมนุษย์อยู่ตลอดนั้น จะพากันขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อรายงานความดีความชั่วของมนุษย์ให้กับเง็กเซียนฮ่องเต้ ผู้เป็นเจ้าสวรรค์ทราบ บรรดามนุษย์ที่ทำความชั่วไว้กลัวว่าตนเองจะถูกเจ้าสวรรค์ลงโทษ เลยคิดทำขนมเข่งนี้ขึ้นมา เพื่อนำไปตั้งไหว้บรรดาเทพเจ้าจีน โดยที่ลักษณะของขนมเข่งนั้นจะเหนียวและค่อนข้างแข็ง เมื่อเทพเจ้าจีนกินเข้าไปแล้ว จะทำให้ปากเหนียว พูดไม่ได้ และไม่ได้รายงานเจ้าสวรรค์ในที่สุด

 

“นางสุดจิตต์ ส่องรอบ”  มือทำขนมเข่งตัวยง เล่าว่า มีกรรมวิธีการทำที่ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องใช้เวลา เริ่มต้นด้วยการนำข่าวเหนียวมาแช่น้ำค้างคืนไว้ 1 คืน ก่อนนำมาล้างให้สะอาดและนำมาโม่ ก่อนนำมาอัดให้แห้ง เมื่อแป้งแห้งดีแล้วจึงนำมาผสมกับน้ำตาลทราย ในสัดส่วน น้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม ข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม ก็จะได้เนื้อขนมเข่งประมาณ 3 กิโลกรัม จากนั้น นำเนื้อขนมที่ได้ มาเทลงในกระป๋อง ซึ่งรองด้วยใบตอง กะให้มีระยะห่างของเนื้อขนมกับปากกระป๋องนมข้นหวาน ประมาณ 1 นิ้ว เพื่อให้ขนมสุกอย่างทั่วถึง จากนั้นจึงนำขนมมานึ่ง วางไว้ให้หน้าขนมแห้ง ก่อนนำออกจำหน่าย ในราคากิโลกรัมละ 90 บาท ซึ่งมีลูกค้ามาสั่งจองจนผลิตแทบไม่ทัน โดยยอดการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 200 กิโลกรัม (ประมาณ 800 ลูก เฉลี่ย 3-4 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม) โดยขนมเข่ง 2-3 ลูกต่อกิโลกรัม จะส่งไปให้ลูกค้าในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดตรัง ขณะที่ลูกค้าในจังหวัดตรัง จะนิยมขนมเข่ง ขนาด 4 ลูกต่อกิโลกรัม มากกว่า

 

 

ตรุษจีนปี 2559 นี้ หลายภาคส่วนทั้งรัฐ-เอกชนจัดงานให้คนตรังได้ท่องเที่ยวเยี่ยมชนกัน อาทิ “ททท.สำนักงานตรัง” ร่วมกับ “เทศบาลนครตรัง” จัดงานตรุษจีน ประจำปี2559 ภายใต้ชื่อ “ตรุษจีนนครตรัง มหกรรมอาหารตรัง ดังทั่วโลก” ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ 2559 ณ บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลนครตรัง ถนนวิเศษกุล

 

 

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ จากหอจดหมายเหตุเฉลิมพระเกียรติฯ ตรัง และ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................