20 ปี วิวาห์ใต้สมุทร หยุดกันทีดีไหม...

 

บทความโดยวานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ฅนตรัง : ต้องยอมรับความจริงว่า ตลอดเวลา 19-20 ปีที่ผ่านมา ‘งานวิวาห์ใต้สมุทร’ ที่สร้างสรรค์โดยหอการค้าจังหวัดตรัง ได้สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดตรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลตรัง ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ และทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างแท้จริง ... แต่ว่า ...

 

 

20 ปี วิวาห์ใต้สมุทร หยุดกันทีดีไหม...

บทบรรณาธิการ : วานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ฅนตรัง 

หนังสือพิมพ์ฅนตรัง ปีที่ 11 ฉบับที่ 169 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559

 

ต้องยอมรับความจริงว่า ตลอดเวลา 19-20 ปีที่ผ่านมา ‘งานวิวาห์ใต้สมุทร’ ที่สร้างสรรค์โดยหอการค้าจังหวัดตรัง ได้สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดตรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลตรัง ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ และทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นอย่างแท้จริง

 

นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ประธานถาวรกิตติมศักดิ์หอการค้า จ.ตรัง และรองประธานหอการค้าไทย เคยให้สัมภาษณ์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์เมื่อสิงหาคม ปี 2558 ไว้ว่า “งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรของ จ.ตรัง หรือ Trang Under Water Wedding Ceremony ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งถือเป็นการจดทะเบียนสมรสใต้ทะเลครั้งแรกของประเทศไทย และอาจจะเป็นครั้งแรกของโลก โดยความคิดริเริ่มของตนเองในสมัยที่ดำรงตำแหน่งประธานหอการค้า จ.ตรัง ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักคือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.ตรัง ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และใช้กิจกรรมรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากที่เคยจัดมาก่อน” (ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 ส.ค.58)

 

จากปี 2540 มาจนถึงปีปัจจุบัน 2559 จึงเป็นการจัดงานวิวาห์ใต้สมุทร ครั้งที่ 20 แล้ว ซึ่งอาจจะมีหลายๆ ท่าน หลายๆ องค์กรที่ภาคภูมิใจกับความสำเร็จในหลายๆ ปีที่ผ่านมา แต่ผมกลับมีข้อสังเกตบางประการที่ค่อนข้างจะสวนทาง และเป็นหลายๆ ประการที่นำไปสู่คำถามที่ว่า 20 ปี วิวาห์ใต้สมุทร หยุดกันทีดีไหม...

 

ประการแรก โดยเนื้องาน การแต่งงานใต้ทะเล หรือวิวาห์ใต้สมุทร เป็นการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ไม่มีที่มา ไม่ได้เป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนตรัง หรือแม้แต่ของพี่น้องชาวเลทุกยุคทุกสมัย หลายๆ ปีที่ผ่านมารูปแบบการจัดงานจึงไม่คงที่ ไม่มีอัตลักษณ์ บางปีขี่ช้าง บางปีขี่ม้า บางปีนั่งรถตุ๊กๆ บางปีก็นั่งเสลี่ยงมีคนแบกหาม บางปีก็เดินเท้า บางปีดำน้ำทุกคู่ บางปีดำน้ำบางคู่ ฯลฯ มีบ้างที่เป็นประเพณีของตรัง คือ ข้าวเหนียวแกงไก่ แต่ก็ไม่ใช่หัวใจหลักที่สำคัญสูงสุดของรากฐานที่มา

 

ประการสอง โดยเนื้องาน การจัดงานวิวาห์ใต้สมุทรหลายปีที่ผ่านๆ มา ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด คล้ายจะเป็นการแสดง หรือคล้ายจะเป็นการแต่งงานปลอมๆ หลายๆ คู่เคยแต่งงานมาแล้ว มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมืองมาแล้ว น้อยมากที่จะมีการแต่งงานครั้งแรกจริงๆ อดคิดไม่ได้ว่า เขากำลังละเล่นอะไรกัน อดคิดไม่ได้ว่าถ้ามีการแต่งงานจริงๆ ของคู่บ่าวสาว ในห้วงวาระปีถัดไปของการจัดงาน น่าจะเชิญบางคู่ที่มีลูกตัวเล็กๆ หรือหลายๆ คู่ที่มีลูกโตขึ้นตามวัยเวลามาร่วมงานด้วยบ้าง

 

ประการสาม นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง ได้จดลิขสิทธิ์งานพิธีวิวาห์ใต้สมุทร หรือ Trang Under Water Wedding Ceremony ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตามทะเบียนเลขที่ บ30478 “โดยเจตจำนงที่ไปยื่นจดลิขสิทธิ์ดังกล่าวนั้นก็เพื่อต้องการให้ จ.ตรัง ได้เป็นเจ้าของกิจกรรมงานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทย เนื่องจากเป็นความคิดริเริ่มของชาวตรัง จึงควรเป็นสมบัติของชาวตรัง อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานใน จ.ตรัง ทั้งภาคราชการ และภาคเอกชนประสงค์จะขอเป็นผู้จัดงานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรเพื่อประโยชน์ในการสร้างชื่อเสียงให้แก่ จ.ตรัง และประเทศไทย โดยมิใช่เป็นการแสวงหาประโยชน์เป็นการส่วนตัว ตนเองยินดีที่จะมอบสิทธิในการจัดงานพิธีวิวาห์ใต้สมุทรให้โดยไม่คิดมูลค่าแต่ประการใด” (ASTVผู้จัดการออนไลน์, อ้างแล้ว) ดูเผินๆ แล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่แลลึกๆ ในทางกฎหมายแล้ว นายสุรินทร์ โตทับเที่ยง เป็นเจ้าของ ‘งานวิวาห์ใต้สมุทร’ ตัวจริง จึงเกิดเป็นคำถามต่อมาว่า มีงานประเพณี หรืองานที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนประเภทไหนกันหรือ ที่คล้ายจะกลายเป็น ‘สมบัติส่วนตัว’ ของบางคนไป

 

ประการสี่ เมื่อที่มาไม่ได้ผูกโยงกับวิถีชีวิตของคนตรังโดยตรง ชาวบ้านร้านช่องจึงไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ยิ่งรู้ว่ามีผู้จดลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง จึงยิ่งรู้สึกว่างานนี้ไม่ใช่ของเรา เมื่อไม่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ความคิดที่อยากจะมีส่วนร่วมกับกิจกรรมก็ยิ่งลดน้อยถอยลง ชาวบ้านส่วนใหญ่คงทำได้เพียงโบกมือให้เมื่อขบวนรถของงานวิวาห์แล่นผ่าน อันนี้ไม่หมายรวมถึงนักธุรกิจบางกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรง ตามที่คนบ้านเรารับรู้กันมาตลอดแล้ว

 

ประการห้า ผมเคยตั้งเป็นคำถามและข้อเสนอแนะไปหลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมาว่า หอการค้าจังหวัดตรังในฐานะเจ้าภาพหลักควรอย่างยิ่งที่จะชี้แจงรายละเอียดถึงรายรับ รายจ่าย เพื่อความโปร่งใส เพื่อความเชื่อถือศรัทธาแก่สาธารณชน ทั้งนี้ เพราะหอการค้าไม่ได้ใช้แค่เงินส่วนตัวขององค์กรหรือนักธุรกิจที่เป็นสมาชิกมาดำเนินการ แต่ทุกปีมีการของบประมาณสนับสนุนจากภาคเอกชน และหน่วยงานราชการ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคราชการและท้องถิ่น เป็นเงินที่ได้มาจากการภาษีของประชาชน และเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง หอการค้าควรอย่างยิ่งที่เมื่อเสร็จงานในแต่ละปีแล้วจะนำรายละเอียดมาบอกเล่าต่อสาธารณะว่า ปีหนึ่งๆ มีรายรับจากหน่วยงานไหนบ้าง จำนวนเงินเท่าไหร่ ใช้จ่ายเป็นค่าอะไรบ้าง แต่น่าเสียดาย หอการค้าไม่เคยแสดงอะไรที่ควรทำเพื่อความโปร่งใสเช่นนี้

 

ประการหก หอการค้าจังหวัดตรัง ในฐานะเป็นองค์กรสาธารณะที่เกิดจากการรวมกลุ่มของนักธุรกิจชั้นหัวกะทิของจังหวัด จริงอยู่ตั้งแต่เริ่มต้น หรือหลายสิบปีที่ผ่านมาอาจจะมีปรากฏการณ์คล้ายจะผูกขาดการบริหารจัดการกันมาตลอด ก็ไม่เป็นไร แต่ที่จะนำเสนอสุดท้ายนี้คือ อย่าติดยึดกับความสำเร็จกับบางงานที่ผ่านมา ภารกิจของผู้นำระดับนี้คือระดมความคิด ค้นหากิจกรรมดีๆ เพื่อประโยชน์สุขของคนบ้านเราต่อไปข้างหน้าครับ

 

* เพิ่มเติมนอกบทบรรณาธิการครับ, การจัดงานวิวาห์ใต้สมุทรของหอการค้าจังหวัดตรังชุดใหม่ในปีนี้ ได้รับการชื่นชมจากหลายฝ่าย หลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายบางประเภท ที่ลดลงมาจากเดิมหลายเท่าตัว