ร้านสิริบรรณคว้ารางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นสมาคมสถาปนิกสยามฯ

 

ร้านสิริบรรณคว้ารางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น

 

 

อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวตรัง^^

ประกาศรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2560

 

-รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารพาณิชย์ ได้แก่ “ร้านสิริบรรณ” จังหวัดตรัง

-ประกาศนียบัตรอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ ได้แก่ โรงแรมจริงจริง , บ้านไทรงาม , บ้านโบราณ 2486 จังหวัดตรัง

 

ความหวังในการอนุรักษ์รากเหง้าของเราได้เป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ ต้องขอบคุณเจ้าของอาคารที่ดูแลรักษามรดกแห่งชีวิตวัฒนธรรมไว้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ให้เป็นที่ภาคภูมิใจร่วมกัน และต้องขอบคุณ เครือข่ายทางสังคม เครือข่ายอนุรักษ์เมืองเก่า ประชาชนชาวตรัง โดยเฉพาะคณาจารย์และนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ที่ร่วมกันทำกิจกรรมทำองค์ความรู้มาใช้ในเชิงอนุรักษ์เสมอมา

 

โดยในการพิจารณารางวัลครั้งนี้ได้ผ่านการสำรวจและเก็บข้อมูลนำเสนอโดย อาจารย์สุภาวดี จริงจิตร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

 

-“ร้านสิริบรรณ” ถนนราชดำเนิน ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สร้าง พ.ศ.2478

เป็นอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัย รูปแบบสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากปีนัง หน้าต่างชั้นล่าง เป็นบานเปิดคู่ แบ่งเป็นสามช่วงทางนอน ลูกฟักไม้กระดานดุน เหนือหน้าต่างมีหลังคาแผ่นคอนกรีตรองรับด้วยค้ำยัน ชั้นบน หน้าต่างเป็นบานเปิดคู่ แบ่งเป็นสองตอนทางตั้ง ตอนล่างเป็นบานเกล็ดไม้ ตอนบนเป็นลูกฟักไม้กระดานดุน เหนือหน้าต่าง ประดับด้วยช่องแสงรูปครึ่งวงกลมและมีขอบปูนปั้นล้อรูปแบบช่องลม ผนังใต้หน้าต่างมีการเซาะร่องปูนปั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ช่องลม รูปวงกลม ภายในฉลุลายคล้ายรูปดาว 6 แฉก พบบริเวณเหนือชุดหน้าต่างทั้งชั้นล่างและบน รูปแบบหลังคาปั้นหยาทรงสูง และมีหน้าจั่วแกะสลักลายปูนปั้น บนยอดจั่วมีปูนปั้นรูปวงกลมล้อมรอบดาว 5 แฉก นอกจากนี้ยังมีหลังคาพื้นคอนกรีตยื่นจากตัวอาคาร รองรับด้วยค้ำยันรูปสามเหลี่ยม แกะสลักลายปูนปั้นทั้งชั้นล่างและบน

 

-“โรงแรมจริงจริง” บ้านเลขที่ 121 ถนนพระราม 6 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สร้างพ.ศ. 2480

เป็นโรงแรม รูปแบบทางสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากปีนัง ประตูชั้นสองถึงห้าเป็นประตูไม้บานเปิดคู่ เหนือประตูมีช่องแสงแบ่งเป็นสามช่วงทางนอน หน้าต่างเป็นบานเปิดคู่ไม้ ลูกฟักกระดานดุน เหนือหน้าต่างมีช่องแสงแบ่งเป็นสามช่วงทางนอน แต่ละช่วงเสา มีช่องลมติดฝ้าเพดานยาวตลอดแนว มีรูปแบบเป็นระแนงเส้นตั้งสลับรูปตัวเอ (A) และรูปตัวเอช (H) ทุกชั้นมีระเบียงยื่นออกมา ระเบียงแต่ละชั้นมีค้ำยันรองรับ เป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนระเบียงชั้นสองมีค้ำยันรูปสามเหลี่ยม ตรงกลางฉลุเป็นรูปดาว

 

-“บ้านไทรงาม” ถนนราชดำเนินซอย 5 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

เป็นบ้านพักอาศัย บ้านไทรงามเป็นของ นายฟอง ไทรงาม หรือ เถ้าแก่ฝอง ชาวจีนกว้างตุ้ง มีบริษัท ฟองจันพี่น้อง จำกัด ทำธุรกิจต่างๆ ในทับเที่ยง จังหวัดตรัง เช่น หมูย่างเมืองตรัง ร้านน้ำชา โรงเลื่อย โรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง ปั้มน้ำมัน เป็นผู้บุกเบิกการค้าระหว่างเมืองทับเที่ยง กับ ปีนัง ด้วยเรือสำเภา และนอกจากนั้นยังถือหุ้นบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และเป็นผู้จัดจำหน่ายเบียร์สิงห์ในเมืองตรัง การสร้างบ้านหลังนี้ เดิมตั้งใจจะสร้างเพื่อให้เป็นโรงแรมเพื่อรองรับการค้าขาย จึงให้มีหลายชั้น แต่เมื่อสร้างเสร็จเกิดความเสียดาย จึงได้เปลี่ยนมาใช้เป็นพักอาศัยของตระกูล และเป็นสถานที่รับรองแขกสำคัญทั้งทางธุรกิจและแขกเจ้าเมืองในอดีต เช่น ปลัดกระทรวง ชาวตะวันตก พ่อค้าชาวภูเก็ตและพังงา ด้วยเหตุนี้จึงมีการจ้างพ่อครัวจากเมืองจีนมาประจำที่บ้านเพื่อรองรับแขกด้วยเช่นกัน

 

สันนิษฐานว่าบ้านไทรงามได้รับอิทธิพลรูปแบบสถาปัตยกรรมาจากปีนัง เนื่องจากเถ้าแก่ฝองได้จ้างคนงานจากเมืองจีนเป็นคนก่อสร้าง และเถ้าแก่ได้พาคนงานชาวจีนเดินทางไปดูแบบตัวอาคารถึงเมืองปีนัง วัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนและเหล็ก รวมถึงเครื่องเรือนเครื่องใช้ นำเข้าจากปีนัง โดยเรือ และมีเก้าอี้นำเข้าจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียเป็นจำนวน 200-300 ตัว ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมของบ้านไทรงามจึงมีลักษณะเป็นแบบตะวันตกผสมจีน

 

-“บ้านโบราณ 2486” บ้านเลขที่ 324 ถนนกันตัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง สร้างพ.ศ. 2486

เป็นบ้านพักอาศัย บ้านโบราณ 2486 ออกแบบโดย นายตุย ธนทวี เป็นชาวจีนไหหลำ นายช่างในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ นายตุยมีบทบาทในการสร้างทางรถไฟสายตรัง-กันตัง ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในขณะนั้น และยังสร้างทางเขาพับผ้าด้วยเช่นกัน เมื่อนางเอ้ง ธนทวี บุตรีของนายตุย ธนทวี แต่งงานกับนายยุติ ธรรมประดิษฐ์ นายตุยได้เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างบ้านโบราณ 2486 ให้กับนางเอ้ง และนายยุติ โดยนายยุติ มีภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดภูเก็ต ต่อมาได้ย้ายมาทำธุรกิจในกันตัง เป็นผู้จัดการ บริษัท กันตัง จำกัด ค้าขายสินค้านำเข้าจากกรุงเทพ เช่น น้ำมัน เหล้า ข้าวสาร ไม้ และค้าขายทอง ชื่อ ห้างทองยวดเฮง นอกจากนั้น ยังทำธุรกิจเดินเรือระหว่างปีนัง และภายหลังญาติของนายยุติได้รับสัมปทานเหมืองแร่ดีบุก ที่ตำบลในเตา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง นายยุติจึงได้มาเป็นผู้จัดการดูแลกิจการเหมืองนี้

 

ในการก่อสร้างอาคารนั้น ใช้ช่างท้องถิ่นตรังเป็นคนก่อสร้าง วัสดุก่อสร้างบางส่วนนำเข้าจากปีนัง ขนส่งทางเรือ เช่น เหล็ก ปูน กระจกสี รวมไปถึงเครื่องเรือนและเครื่องใช้บางส่วน ส่วนประตูและหน้าต่างนำเข้าจากกรุงเทพฯ ขนส่งทางรถไฟ จึงสันนิษฐานว่าความนิยมของรูปแบบบ้านแบบนี้ มาจากการพบเห็นแบบบ้านเดี่ยวของปีนัง สิงคโปร์และภูเก็ต ของนายตุยและนายยุติ

 

บ้านโบราณ 2486 มีประเพณีประจำบ้านที่สืบทอดกันมามากกว่า 50 ปี คือ งานส่งเทวดา ซึ่งจัดหลังตรุษจีน 1 สัปดาห์ โดยภายในพิธีจะมีการจัดไหว้เพื่อส่งเทวดาสู่สรวงสวรรค์ และจัดรำมโนราห์ถวาย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการรำทางภาคใต้ จากข้อมูลดังกล่าว จึงสันนิษฐานว่า บ้านโบราณ 2486 เป็นสถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัยที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปีนัง ตรัง กรุงเทพ และภูเก็ต รวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในภูมิภาคทะเลฝั่งตะวันตกในขณะนั้น

 

Cr.สำรวจและเก็บข้อมูลนำเสนอโดย อาจารย์สุภาวดี จริงจิตร อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง