ลมหายใจครูโนรา

ผ่านไป 30 นาที แสงไฟในโรงโนราได้ติดขึ้นเพราะแสงอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้าไปแล้ว พี่ต้อม หรือที่ทุกคนเรียกว่า นายโรง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าคณะได้เรียงลูกศิษย์ให้เข้ามานั่งกลางโรงโนราทุกคน เพื่อจะสอนเรื่องต่างๆที่นอกเหนือจากการรำหรือร้องกลอน นั้นก็คือการยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม การเป็นคนดี ซึ่งโรงโนราที่ใช้หัดนั้นเปรียบเป็นบ้านอีกหลังและสมาชิกทุกคนที่เปรียบเสมือนพี่น้องกัน จึงต้องรักกันและช่วยเหลือกัน ครูที่สอนก็เหมือนพ่อแม่ 

 

 

ลมหายใจครูโนรา…

เรื่อง/ภาพ : ธีระศักดิ์  จิตต์บุญ

................

 

ตุ้งๆ ตุ้งๆ ตุ้งๆ ปับๆเทิง ตุ้ง  เสียงบรรเลงดนตรีโนราเรียกบรรดาลูกศิษย์และลูกคู่โนราให้มากันได้แล้ว  เปรียบเสมือนสัญญาณที่จะต้องเตรียมตัวและรีบทำธุระส่วนตัวให้เสร็จ จากนั้นเสียงกลองดังอีกครั้งหนึ่งเพื่อเตือนคนที่ยังไม่มา ดังครั้งที่สามถ้าใครยังไม่มา ก็จะต้องโดนลงโทษโดยการให้รำและร้องกลอนคนเดียว

        

น้องบุ๋ม น้องใบเตย น้องชมพู่ และเพื่อนๆที่อยู่การแสดงชุดแรก เตรียมพร้อมยืดเส้นยืดสาย โดยมีพี่ๆและพ่อแม่ที่พาลูกมาช่วยนวดให้และคอยให้คำปรึกษาแนะนำอย่างละเอียด ถึงตรงนี้ถ้าใครได้มาดู ก็อาจได้เห้นสีหน้าของแต่ละคนเปลี่ยนหรือบางคนก็อาจร้องไห้เมื่อถูกดัดตัว แต่การร้องนี้ไม่ได้เกิดจากการครูดุหรือตี แต่เกิดขึ้นจากการดัดตัว นวดตัว  ถ้าไม่ดัดหรือนวดตัว จะทำให้เมื่อตกกลางคืนอาจปวดเมื่อยตามร่างกายได้ ซึ่งบางคนเมื่อตัวเองเสร็จ ก็มายืนหัวเราะหรือมายืนให้กำลังใจคนอื่นอยู่ข้างหลัง

       

ผ่านไป 30 นาที แสงไฟในโรงโนราได้ติดขึ้นเพราะแสงอาทิตย์เริ่มจะลับขอบฟ้าไปแล้ว พี่ต้อม หรือที่ทุกคนเรียกว่า นายโรง ซึ่งหมายถึงหัวหน้าคณะได้เรียงลูกศิษย์ให้เข้ามานั่งกลางโรงโนราทุกคน เพื่อจะสอนเรื่องต่างๆที่นอกเหนือจากการรำหรือร้องกลอน นั้นก็คือการยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม การเป็นคนดี ซึ่งโรงโนราที่ใช้หัดนั้นเปรียบเป็นบ้านอีกหลังและสมาชิกทุกคนที่เปรียบเสมือนพี่น้องกัน จึงต้องรักกันและช่วยเหลือกัน ครูที่สอนก็เหมือนพ่อแม่ 

 

เมื่อได้สอนเรื่องต่างๆจบ  ทุกคนก็แยกย้ายกันไปนั่ง บางคนก็ไปนั่งประกบกับนักดนตรีเพื่อจะได้เรียนรู้การตีและจังหวะต่างๆ  เมื่อดนตรีเริ่มบรรเลง คนก็เงียบ 

 

น้องบุ๋มซึ่งเป็นหัวหน้าในการรำชุดนี้เริ่มหันไปนับสมาชิกว่าใครมาไม่บ้าง ตามประสาเด็ก จนทำให้นายโรงเริ่มทำสีหน้าไม่พอใจและตะโกนมาว่า ...จะแหลงกันอีกนานอีกม้าย...เร็วเข้าบ้าง เพื่อนชุดอื่นเขารออยู่ ...!!!

 

เมื่อได้ยินเสียงก็รีบหันมายิ้มรับผิด ดนตรีบรรเลงเร็วขึ้น ทุกคนได้ออกมาจากหลังม่านโนราด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม พร้อมกับรอยยิ้มก็พ่อแม่ที่นั่งข้างหน้าโรงโนราและคนที่มาชมการซ้อม ทุกคนได้ทำเต็มที่ เพราะกลัวไม้เรียวเพราะจะมีนายโรงหรือคนอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ไปตีคนที่ไม่ทำตาม และที่สำคัญคือที่เล่นไปในระหว่างซ้อม บางคนโดนเข้าไปน้ำตาไหลเพราะก่อนตีจะเตือนเป็นระยะถ้าไม่ฟังถึงกับบางคนน้ำตาไหลเลยทีเดียว เพราะถ้าไม่ใช้ไม้เรียวบางคนจะเล่นมากกว่า เมื่อร่ายรำมาถึงช่วงที่โชว์ความเด่นเฉพาะตัว ในการ รำตัวอ่อน ถึงตอนนี้ทุกคนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ จะมีพี่มาประกบ กันไว้อาจเกิดอุบัติเหตุต่างๆในการซ้อม เพราะต้องใช้ความสามารถส่วนตัวสูงในการโชว์แต่ละท่ารำ ซึ่งทุกคนก็ได้ทำไปได้ดี โดยได้รับรางวัลจากพี่ๆและคนหน้าโรงคือการปรบมือให้กำลังใจ

 

ซึ่งสิ่งนี้สำคัญเป็นอย่างมาก ถ้านายโรงดุเกินไปก็ทำให้เด็กเครียดและไม่มารำอีกเพราะกลัว แต่ที่นี้ใช้การสอนแบบพี่ช่วยน้อง จึงได้เกิดบรรยากาศที่อยากจะมาเรียนรู้ฝึกตัวเองให้เก่งขึ้น และพัฒนาตัวเองให้ก้าวไปสู่มืออาชีพในวันข้างหน้าต่อไป

 

ที่สำคัญที่จะต้องพูดนั้นก็คือได้อนุรักษ์มรดกอันล้ำค่าที่ปู่ย่าตายายของเราได้รักษาเอาไว้เป็นศิลปะประจำถิ่น ศิลปประจำถิ่นศิลปินประจำภาค ได้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองในญาติพี่น้อง

 

ทำให้ได้ต่อลมหายใจของครูโนราและต่อลมหายใจของ โนรา ให้คงอยู่สืบไป…

..........

 

ชมภาพ

 

หมายเหตุ : ธีระศักดิ์  จิตต์บุญ ลูกหลานคนตรัง อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติ ณ เกษม มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต และอดีตนักศึกษาฝึกงานสำนักข่าวไทยมุสลิม ปัจจุบันเป็นนายหนังโนรา สืบทอดจากบรรพบุรุษ ภายใต้ชื่อ “มโนราห์ ธีรศักดิ์ บัณฑิตศิลป์ หรือ โนราต้อม ศ.เหลียน ชม ทอง หล้อย” แห่ง ต.หนองบ่อ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง

..............