ตุ๊กตุ๊กหัวกบที่รัก

“ตุ๊กๆหัวกบ” ความทรงจำแห่งเมืองตรัง 

เสียงแหลมจากปลายท่อที่ส่งกำลังมาจากเครื่องยนต์แบบสองจังหวะขนาด 305 ซีซีขึ้นไป และต้องผสมออโต้ลูบกับน้ำมันเบนซินลงไปในถังน้ำมัน  ระบายความร้อนด้วยอากาศ แต่กลับมีกำลังถึง 12 แรงม้า เพียงแต่มี 3 เกียร์ น้ำหนักบรรทุกประมาณ 350 กิโลกรัม ทำให้เจ้า “ตุ๊กๆหัวกบเมืองตรัง” นี้ น่ารักชะมัด!

 

ตุ๊กตุ๊กหัวกบที่รัก

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

“เสียงแหลมจากปลายท่อที่ส่งกำลังมาจากเครื่องยนต์แบบสองจังหวะขนาด 305 ซีซีขึ้นไป และต้องผสมออโต้ลูบกับน้ำมันเบนซินลงไปในถังน้ำมัน  ระบายความร้อนด้วยอากาศ แต่กลับมีกำลังถึง 12 แรงม้า เพียงแต่มี 3 เกียร์ น้ำหนักบรรทุกประมาณ 350 กิโลกรัม ทำให้เจ้า “ตุ๊กๆหัวกบเมืองตรัง” นี้ น่ารักชะมัด!”...

 

เสียงท่อที่ดังเป็นสไตล์เฉพาะตัว ดัง “ตุ๊กๆ ตุ๊กๆ” แว่วมาแต่ไกลในระยะหลายร้อยเมตร รูปทรงแปลกตาทรงสามเหลี่ยมขนาดเล็กน่ารักๆเมื่อมองจากด้านหน้าค่อยๆโผล่ตามมา สำหรับ “ตุ๊กๆเมืองตรัง” หรือ “ตุ๊กๆหัวกบ” ที่โด่งดังไปทั่ว

 

ความทรงจำของผมต่อเจ้า “ตุ๊กๆหัวกบ” มีมาตั้งแต่จำความได้ เจ้าตัวนี้วิ่งกันให้วุ่นทั่วเมือง เป็นทั้งรถประจำทาง รถเหมา ขนทั้งคน กับข้าว หมา แมว เป็ด ไก่ และสิ่งของสารพัด ด้วยขนาดเล็กทำให้สามารถซอกซอนได้ทุกตรอกซอกซอยได้อย่างคล่องแคล่ว ยามเช้าตรู เจ้าตุ๊กๆจะรับคนจากที่ต่างๆเพื่อเริ่มวงจรการทำมาหากินในแต่ละวัน เด็กๆเดินทางไปโรงเรียน ข้าราชการเดินทางไปทำงาน พ่อค้าแม่ค้าไปจ่ายตลาด ภาพลุงแก่ๆเป็นคนขับใต้เครื่องแบบเสื้อเชิ๊ตบางๆกางเกงขาสั้นบ้างยาวบ้างตามรสนิยม แต่ที่ขาดไม่ได้คือผ้าขาวม้าคาดเอว  ปากก็คาบมวนใบจากยาเส้น เป็นอันครบองค์ประกอบโชเฟอร์คลาสสิคเมืองยางพารา

 

บนเบาะทั้งสองฝั่งของรถตุ๊กๆ บทสนทนาของผู้คนทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักกัน ทำให้เส้นกั้นความเป็นตัวใครตัวมันบางลง ป้าคนนั้นถามยายที่นั่งฝั่งตรงข้ามว่า ...วันนี้ที่บ้านแกงอะไร? วัยรุ่นท้ายรถแม้อยู่ต่างโรงเรียนกัน แต่ก็สนทนาเรื่องหญิงกันอย่าถูกคอ และยังมีกิจกรรมละลายพฤติกรรมอื่นๆของผู้ร่วมทางอีกเยอะแยะมากมาย รวมทั้งความมีน้ำใจลงกันช่วยเข็นรถเมื่อเครื่องยนต์ดับตามธรรมชาติ....ซึ่งสิ่งเหล่านี้หาได้ยากเหลือเกินในวันนี้...วันที่หลายอย่างเปลี่ยนไป

 

เมื่อผมโตขึ้น ภาพความทรงจำเกี่ยวกับยานพาหะนะคลาสสิคอันนี้ก็ค่อยๆเลือนรางไป คนตรังมีรถส่วนตัวใช้กันมากขึ้น ผมไม่ได้เป็นพวกหลงติดอยู่กับอดีต หรืออนุรักษ์นิยมคร่ำครึ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าของเก่าๆบางอย่าง ก็มีคุณค่าที่จะดำรงอยู่ต่อไป หรือ อย่างน้อยก็ให้พอเหลือเรื่องเล่ากับคนรุ่นหลังๆได้รู้บ้าง

 

ว่ากันว่า “ตุ๊กๆหัวกบ”  “ตุ๊กๆเมืองตรัง” หรือ “สามล้อเมืองตรัง” จะเรียกอย่างไรก็ตามแต่ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนอาทิตย์อุทัยเข้ามาวิ่งเล่นบนผืนแผ่นดินไทยตั้งแต่ พ.ศ.2502 ในยุค “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เป็นนายกรัฐมนตรี เดิมที่เป็นกระบะสามล้อท้ายเปิด Daihatsu Midget  สายพานการผลิตเริ่มผลิตในปี 1957 และหยุดการผลิตในปี 1972 ในรุ่นแรกๆ ที่ผลิตออกมา (รุ่น DKA, DS2) ระบบบังคับเลี้ยวใช้แบบก้านจับแบบรถมอเตอร์ไซด์ รุ่นต่อมา (MP4-5) ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบพวงมาลัย แบบเดียวกับรถสี่ล้อ รุ่น MP4 และ MP5 เครื่องยนต์ที่ใช้เป็นแบบสองจังหวะ 305 cc. ระบายความร้อนด้วยอากาศ มีกำลัง 12 แรงม้า มี 3 เกียร์ น้ำหนักบรรทุกประมาณ 350 กิโลกรัม

         

เดิมที “ตุ๊กๆ หัวกบ” นำเข้ามาจากญี่ปุ่นรุ่นแรกใช้ในกรุงเทพฯก่อน แล้วต่อมาที่นำเข้ามาใช้งานในเมืองตรังคือ รุ่น MP4 มีจำนวนไม่มากนัก นับเป็นรุ่นหายาก ต่อมาคือรุ่น MP5 ซึ่งมีจำนวนมากและใช้กันมาถึงปัจจุบัน ส่วนแตกต่างระหว่าง MP4 และ MP5 ซึ่งเป็นรุ่น Minor Change ที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ ช่องระบายอากาศที่อยู่ใต้ไฟหน้าของ MP5 จะมีขนาดใหญ่กว่า MP4 รถทั้ง 2 รุ่นนี้ยังคงมีการอนุรักษ์และใช้งานโดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างภายนอก ของ Daihatsu Midget รุ่น MP4 และ 5 เลย ส่วนราคา ในยุคแรกราคาแค่ 1 หมื่นบาท มาวันนี้เป็นหลักแสนบาทแล้ว เพราะไม่มีการผลิตใหม่ ที่เห็นกันอยู่คือของเดิมที่ซ่อมแล้วซ่อมอีก

         

แต่เมื่อกาลเวลาหมุนผ่านไป มาวันนี้เมื่อเริ่มวิ่งรับผู้โดยสารไม่คุ้ม หลายคันก็ถูกจอดทิ้ง สมัยก่อนเคยมีคิวให้เช่าวิ่ง ตอนนี้ก็เป็นแบบของใครของมัน จากยุคเฟื่องฟูที่ในตรังมีน่าจะถึง 500 คัน คาดคะเนเอาคร่าวๆจากการตรวจนับของระบบโฆษณาเคลื่อนที่บนตุ๊กๆ เหลืออยู่เพียง 100 กว่าคัน แถมถูกซื้อไปสะสมแล้วจำนวนมาก ถือว่า น่าตกใจ! ใครผ่านไปผ่านมาแถวตลาดทับเที่ยงจึงน่าจะสังเกตุเห็นตุ๊กๆใหม่เอี่ยมสีสันแปลกตา ไม่ว่าจะสีชมพู สีแดง นั่นเพราะเป็นตุ๊กๆที่คนซื้อไปสะสมตกแต่ง หรือซื้อไปเพื่อใช้งานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะของเอกชน ขณะที่ตุ๊กๆโดยสารแบบดั้งเดิมมีแต่ชำรุดทรุดโทรม เพราะเจ้าของทำมาหากินยากขึ้น เศรษฐกิจช่วงนี้ก็ซบเซาซ้ำเติมเข้าไปอีก เหมือนชะตากรรมจะตั้งหน้ารอตุ๊กๆโดยสารเหล่านี้ ให้จอดนิ่งหรือไม่ก็ต้องขาย เลิกอาชีพ เพื่อเอาเงินมาต่อลมหายใจชีวิตให้ได้ไปต่อ

         

ผมเคยคุยกับคุณลุงคนขับตุ๊กๆหัวกบคนหนึ่ง ผมขาวบนศรีษะของคุณลุงบ่งบอกถึงเวลาผ่านของประสบการณ์ แกจอดรถนั่งรอผู้โดยสารอยู่แถวโรงแรมธรรมรินทร์ธนา ลุงบอกว่าขับมา30ปีแล้ว ไม่เคยทำอาชีพอื่น ส่งเสียลูกๆจนจบปริญญาตรีทุกคน แต่เมื่อถามถึงความอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รุกเข้ามา ลุงได้แต่ยิ้ม ก่อนจะแจกแจงถึงภาระและปัญหาสารพัน ตั้งแต่ค่าน้ำมันที่แพงขึ้นมา แกบอกว่าสมัยก่อนเคยเติมเบนซินลิตรละบาทกว่าๆ รวมไปถึงสมัยนี้ใครก็ใช้รถส่วนตัว ทั้งรถยนต์ และมอร์เตอร์ไซค์ที่ล้นเมือง ยังมีเพียงนักท่องเที่ยวจากที่อื่น หรือชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองตรังบ้างจำนวนหนึ่งที่มาใช้บริการ แต่ก็ไม่ได้ชุกชุมทั้งปี เพราะจะหนาแน่นเพียงในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นส์เท่านั้น

         

ผมก็เช่นกัน...จัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ใช้บริการ “ตุ๊กๆเมืองตรัง” มากนัก แต่ผมก็คิดถึงความทรงจำที่สวยงามในอดีตของผมเสมอ....เพียงแต่คาใจอยู่นิดหนึ่งว่า...แล้วเราจะมาช่วยกันอย่างไร โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้เจ้าตัวเล็กตัวนี้ ได้อยู่กับพวกเราไปนานๆ...