พิชัย มะนะสุทธิ์ มองเศรษฐกิจเมืองยาง ถึงเวลาต้องปรับตัว

 

"พิชัย มะนะสุทธิ์" ประธานหอการค้าตรัง มองเศรษฐกิจเมืองยาง ถึงเวลาต้องปรับตัว

 

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ภาพ : Ta Trangtoday

....................................................................................................................................................

"เราต้องรู้ตัวของตัวเอง ทุกคนต้องตั้งโจทย์ว่า สถานการณ์แบบนี้ตัวเองต้องอยู่รอดก่อน  หลักการคือ 1.สินค้าต้องเข้มแข็ง 2.ต้องมีการบริการที่ดี และ 3.ต้องมีการพัฒนาตัวเองในทุกด้าน ทำการค้าทุกวันนี้ราคาต้องไม่แพงแต่คุณภาพดี เป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องทำให้ได้ เพราะเศรษฐกิจแบบนี้ ต่อให้สินค้าดีแต่ราคาแพงก็ขายยาก หรือราคาถูกแต่คุณภาพไม่ดีก็ขายไม่ได้ เราต้องปรับตัวและพัฒนาในเรื่องนี้เพื่อให้อยู่รอด" 

....................................................................................................................................................

 

ภายหลังจากที่ “คุณสลิล โตทับเที่ยง” ก้าวลงจากเก้าอี้ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2558  กรรมการหอการค้าฯได้เสนอชื่อ “โกช้าง” หรือ “คุณพิชัย มะนะสุทธิ์” รองประธานหอการฯ ขึ้นมาเป็นประธานเพื่อสานต่องาน คุณพิชัย เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท โตโยต้าเมืองตรัง ผู้จำหน่ายโตโยต้ามานาน 27 ปี ทั้ง 5 โชว์รูมในพื้นที่จ.ตรัง  ประสบความสำเร็จจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถโตโยต้าติด 1 ใน 5 ของประเทศไทยมาตลอด และได้รับรางวัล President’s Award 5 ปี จาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และมีบทบาทในหองการค้าฯอยู่แล้ว อาทิ เป็นกรรมการและอนุกรรมการในหอการค้าฯ โดยเฉพาะเคยเป็นรองประธานหอการค้าฯกลุ่มพัฒนาเศรษฐกิจ

 

คุณพิชัย ได้แต่งตั้งกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญ ถึง 4 คน ประกอบด้วย รองประธานหอการค้าฯ 3 คน คือ “คุณเจริญสุข แซ่อึ่ง” จากตัวแทนประกันชีวิตรายใหญ่ “คุณภราดร นุชิตศิริภัทรา” เจ้าของแปลงพันธุ์ยาง "แปลงนายขำ" และ “คุณเจษฎา สารสินพิทักษ์” กรรมการผู้จัดการบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลต โดยมี “คุณณัฐพล ชาวชวนชื่น” เจ้าของธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือสื่อสารและคอมพิวเตอร์ เป็นเลขาธิการฯ

 

หลังรับตำแหน่งและเริ่มงานท้าทายท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจเมืองยาง ที่ต่อเนื่องยาวนานมาหลายปีรวมไปถึงในปี 2556 นี้ด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่ “โกช้าง” นั่งจิบน้ำชาเปิดใจต่อชาวตรัง และ www.addtrang.com ได้รับเกียรตินำคมความคิดของประธานหอการค้าคนใหม่ มาถ่ายทอดต่อให้ชาวตรังได้พิจารณาประกอบทิศทางต่างๆในปี 2556 นี้

 

@การก้าวสู่ตำแหน่งประธานหอการค้าจ.ตรังคนใหม่

 

มีการเลือกตั้งกันช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถือว่ารับตำแหน่งมา 4-5 เดือนแล้ว ที่จริงผมเป็นสมาชิกหอการค้ามาประมาณ 23ปีแล้ว ขณะที่หอการค้ามีอายุราว 30 ปี มีอะไรก็ช่วยกันมาตลอด เมื่อมีการมอบหมายมาแล้ว ผมก็พร้อมทำงาน และขอขอบคุณกรรมการทุกท่านที่ให้โอกาสการทำงาน

 

@งานที่ให้ความสำคัญ ต้องดำเนินการในระยะต่างๆ

 

ขณะนี้กรรมการหอการค้าจ.ตรังมีประมาณ 50 คน ส่วนสมาชิกมี 700 กว่าคนและต้องขยายอีก หอการค้าในวันนี้จะเน้น 2 เรื่อง คือ 1.ผมต้องการให้หอการค้าจ.ตรังมีความเข้มแข็งยั่งยืนในเรื่องระบบมากกว่าตัวบุคคล ให้เป็นสถาบันที่ขับเคลื่อนไปได้ด้วยองค์กร  โครงสร้าง และระบบ ถ้าระบบเข้มแข็ง จะกลายเป็นความยั่งยืน ต่อไปใครมาทำงานก็เดินหน้าไปได้ และ 2.หน้าที่ของหอการค้าจ.ตรัง ในประเด็นวิสัยทัศน์ พันธะกิจ คือ เศรษฐกิจและสังคม ผมคุยกับสมาชิกทุกคนว่าเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำในเรื่องเหล่านี้ เราต้องระดมความคิดเห็น ปัญหา ข้อเสนอแนะต่างๆ หากเป็นปัญหาที่ต้องส่งต่อหน่วยงานราชการ เราก็จะนำเสนอ กิจกรรมต่างๆเราก็ต้องทำ โดยเฉพาะกิจกรรมให้ความรู้ต่างๆ

 

 

@ปัญหาเร่งด่วนสำหรับจ.ตรังตอนนี้คืออะไร

 

เรื่องเศรษฐกิจ สถานการณ์แย่มาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะยางพารา จ.ตรังถือว่าเป็นพื้นที่ปลูกยางในอัตราเฉลี่ยมากที่สุดของประเทศไล่เลี่ยกับสุราษฎร์ธานี แต่สุราษฎร์ธานีมีแหล่งรายได้อื่นๆมาช่วย ขณะที่ตรังไม่มี เศรษฐกิจจ.ตรังจึงขึ้นกับยางพาราถึง 70% ส่วนปาล์มยังถือว่าน้อย ปัญหาราคายางทำให้เศรษฐกิจจ.ตรังกระทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ รวมไปถึง SME และค้าปลีกต่างๆ ราคายางพาราปัจจุบันอยู่ที่ 40-50 บาท/กิโลกรัมทำให้เศรษฐกิจจังหวัดขับเคลื่อนได้ยาก ราคาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 80 บาท/กิโลกรัม แต่ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและกลไกราคา ปริมาณการผลิตที่เปลี่ยนไป เราก็ต้องยอมรับและปรับตัว

 

หอการค้าคิดตลอดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ติดที่เม็ดเงินในกระเป๋าคือยางพาราต่ำมาก เหลือเพียงการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาระยะยาวที่ดีที่สุด คือ การแปรรูปสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเต็มรูปแบบ ยางพาราต้องแปรรูปเป็นยางรถยนต์ให้ได้ ไม้ยางพาราก็ต้องทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ให้ได้ ซึ่งการแปรรูปส่วนนี้ในจ.ตรังยังถือว่าน้อยมาก เมื่อยังมีการขายวัตถุดิบต้นน้ำอยู่ จึงค่อนข้างได้รับผลกระทบจากกลไกราคา

 

เราก็มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ก็เริ่มมีนักลงทุนกำลังจะเข้ามาสร้างโรงงานผลิตถุงมือยางในพื้นที่เร็วๆนี้ มีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้ว เหลือเพียงการพิจารณาการดำเนินการตามผังเมืองซึ่งกำหนดพื้นที่อนุญาตก่อสร้างโรงงาน จ.ตรังอาจมีข้อจำกัดเรื่องผังเมืองที่มีพื้นที่ควบคุมค่อนข้างมาก อันที่จริงแล้วแม้จะไม่ได้สร้างในจ.ตรัง ก็สร้างในพื้นที่อื่นของภาคใต้ได้ หลักการคือ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ และท่าเรือสำหรับส่งออก ทั้งหมดต้องคิดและทำทั้งระบบเพื่อกระตุ้นให้ราคายางพาราเพิ่มมากขึ้น ไม่มีวิธีอื่น

 

@มีอะไรจะแนะนำภาคธุรกิจในตรังเพื่อรับมือปัญหาเศรษฐกิจวันนี้บ้าง

 

เราต้องรู้ตัวของตัวเอง ทุกคนต้องตั้งโจทย์ว่า สถานการณ์แบบนี้ตัวเองต้องอยู่รอดก่อน  หลักการคือ 1.สินค้าต้องเข้มแข็ง 2.ต้องมีการบริการที่ดี และ 3.ต้องมีการพัฒนาตัวเองในทุกด้าน ในมุมมองของผม ทำการค้าทุกวันนี้ราคาต้องไม่แพงแต่คุณภาพดี เป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องทำให้ได้ เพราะเศรษฐกิจแบบนี้ ต่อให้สินค้าดีแต่ราคาแพงก็ขายยาก หรือราคาถูกแต่คุณภาพไม่ดีก็ขายไม่ได้ เราต้องปรับตัวและพัฒนาในเรื่องนี้เพื่อให้อยู่รอด และสินค้าอะไรที่จะออกมาช่วงนี้ ต้องศึกษาความต้องการของตลาดก่อน ว่าตลาดต้องการอะไร ก็ผลิตสิ่งนั้นออกมา

 

@ตอนนี้คนตรังเริ่มหาอาชีพใหม่ๆเพื่อเสริมรายได้ หลายคนพูดถึงการท่องเที่ยว

 

การท่องเที่ยวมีความเป็นไปได้และค่อนข้างได้ผลเร็วถ้าทำได้ดี เศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องในภาคท่องเที่ยวจะเกิดผล อาทิ ที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร นำเที่ยว ตรังเป็นเมืองที่มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวสูง แต่สัดส่วนรายได้ภาคท่องเที่ยวยังอยู่แค่ 10%ของ GDP รวมจังหวัด และต้องแก้ปัญหาและหาทางออกในส่วนที่เกี่ยวกับพื้นที่ควบคุมเช่นอุทยานแห่งชาติต่างๆ หอการค้าจ.ตรังได้พยายามทำกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยเฉพาะการปลุกปั้นเทศกาลสำคัญต่างๆ ทั้งขนมเค้ก หมูย่าง วิวาห์ใต้สมุทร ฯลฯ หลังจากนี้ก็จะทำต่อแต่ต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และได้ผล

 

@หัวใจสำคัญของการพัฒนาการท่องเที่ยวตรังคืออะไร

 

ผมคิดว่า คือ การหาทางออกกันเรื่องการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว การจัดโซนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ต้องทำอย่างชัดเจนและเป็นระบบ ภาคเอกชนก็จะสามารถวางแผนได้ชัด ปัจจุบันตัวเลขนักท่องเที่ยวที่มาตรังส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศที่ 80% ต่างชาติ 20% พฤติกรรมการท่องเที่ยวโดยมากจะมาเที่ยวทะเล สถานที่ทางธรรมชาติต่างๆ  ส่วนที่เดินทางมากินอาหารเมืองตรังยังน้อยอยู่

 

ในปี2558 นี้เราหารือกัน มีการรวมเทศกาลขนมเค้กกับเทศกาลหมูย่างเข้าด้วยกัน จัดพร้อมกันในเดือนกันยายนเพื่อสร้างแรงดึงดูดและความสนใจมากขึ้น และให้ความสำคัญเรื่องการประชาสัมพันธ์สู่ภายนอกมากขึ้น ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวจากข้างนอกเข้ามา ไม่ใช่จัดกันเองเที่ยวกันเอง ต้องทำให้คนเดินทางมาจากภายนอก มาเพื่อกินจริงๆ  ส่วนงานวิวาห์ใต้สมุทรจัดเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งครบรอบ 2 ทศวรรษของวิวาห์ใต้สมุทรตรังที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกพอดี

 

@ปัจจุบันพฤติกรรมการท่องเที่ยวตรังเป็นอย่างไร

 

สมมุติว่าผมเป็นนักท่องเที่ยวมาเที่ยวตรัง ผมจะมาเที่ยวในเมืองสัก 1-2 วัน แล้วไปเกาะ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวปกติของตรังมานานแล้ว ดังนั้นรายได้จะแปรผันกับจำนวนนักท่องเที่ยว ถ้ามามาก เม็ดเงินก็เข้ามาก ปัจจุบันเริ่มมีการขยายการรองรับนักท่องเที่ยวที่สนามบิน ก็ได้หลุมจอดเครื่องบินเพิ่มมา แต่อาคารผู้โดยสารกับรันเวย์ยังเล็กอยู่ เรื่องการพัฒนาสนามบินทางหอการค้าได้เสนอมาตลอด ล่าสุดเราก็เสนอให้มีการขยายถนนจากแยกสาริการามไปยังสนามบินที่ยังคับแคบ และก่อสร้างสะพานข้ามแยก เพราะมีผู้เดินทางไปสนามบินใช้เส้นทางดังกล่าวมาก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการท่องเที่ยว โดยเน้นจำนวนนักท่องเที่ยวหรือเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ เราต้องเตรียมความพร้อมการรับมือนักท่องเที่ยวด้วย สถานที่ท่องเที่ยวและระบบเราต้องพร้อมก่อน ไม่นั้นจะเกิดปัญหา

 

@แสดงว่าสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญ

 

สำคัญมาก เพราะเป็นความยั่งยืน เหมือนกับเรื่องจัดระบบทำการประมงที่รัฐบาลทำนั้นถูกต้องแล้ว ทรัพยากรธรรมชาติใช้ประโยชน์ได้แต่ต้องใช้อย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากจนเกินไป เพราะระยะยาวจะส่งผลกระทบ ทะเลเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า จึงต้องรักษาให้สมบูรณ์ ไม่ใช่แค่รุ่นเรา แต่ไปจนถึงรุ่นลูกหลาน

 

ผมไปร่วมประชุมหอการค้ากลุ่มจังหวัดอันดามันในฐานะตัวแทนหอการค้าจ.ตรัง สมาชิกของ ภูเก็ต กระบี่ พังงา เศรษฐกิจสำคัญของเขาเน้นด้านการท่องเที่ยว แต่เขาเริ่มพูดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร นั่นเพราะธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรม ในการพัฒนาการท่องเที่ยวตรงนี้เราต้องระวัง สิ่งที่ทุกจังหวัดพูดตรงกันคือ การบริการที่ดี ต้องไม่ทำแบบฉาบฉวยและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดกลุ่มอันดามันก็มีบริบทที่ต่างกัน ดังนั้นของตรังเราต้องนำแนวคิดมาออกแบบให้สอดคล้องกับตัวเรา นั่นคือการผสมระหว่างการแปรรูปยางพาราและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

 

@ดูจากรายชื่อกรรมการหอการค้าชุดใหม่ มีคนรุ่นใหม่เข้ามาค่อนข้างเยอะ

 

ที่จริงรองประธานหอการค้า และเลขาฯ ก็เป็นกรรมการกันมาหลายปีแล้ว ทุกคนได้สัมผัสการทำงาน คนรุ่นเก่าๆก็ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ เป็นลักษณะการส่งไม้ต่อกัน ผมดีใจมากที่เรามีกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าจังหวัดตรัง หรือ YEC เป็นพลังคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานร่วมกับหอการค้าชุดใหญ่ YEC เพิ่งก่อตั้งแต่เริ่มมีกิจกรรมและผลงานดีๆมากมาย และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเข้มแข็งขึ้นอีก โดยเฉพาะแนวความคิดใหม่ๆด้านการพัฒนาองค์กร การจัดเวิร์กช็อปสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆที่จัดกันบ่อยขึ้น

 

@เคล็ดลับความเข้มแข็งของโตโยต้าเมืองตรัง

 

ผมทำโตโยต้าเมืองตรังมา 27 ปี หลักการทำงานของผมคือ การดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด ดูแลลูกน้องให้ดีที่สุดไม่ว่าสถานการณ์ไหน ต้องมีความจริงใจ ซื่อสัตย์ มีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ แล้วลูกค้าและลูกน้องก็จะอยู่กับเรา เป็นนโยบายหลักของโตโยต้าที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ วันนี้ธุรกิจยานยนต์ก็กระทบเพราะเป็นสินค้าราคาสูง เศรษฐกิจไม่ดีคนก็รอซื้อไว้ก่อน อย่างตลาดรถยนต์ทั้งรถใหม่และมือสองลดลงหมด คนมานิยมรถมือสองมากขึ้นแต่หาสินค้ายาก จ.ตรังส่วนใหญ่ 60% ก็ยังคงเป็นตลาดรถปิกอัพ

 

@ให้กำลังใจคนตรังสู้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้อย่างไร

 

ผมอยากให้คนตรังพัฒนาคุณภาพตัวเราให้มาก ให้ขยัน ต่อสู้ มีระเบียบวินัยให้มาก เพราะทุกวันนี้ความท้าทายต่างๆเข้ามาตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ เราต้องสู้กันแล้ว ถ้าเราเป็นหนี้ เราก็ต้องสู้ เราต้องพูดความจริง วันนี้คนไม่มีเงินในกระเป๋า ความมั่นใจในการบริโภคก็ลดต่ำลงไป เมื่อเป็นแบบนี้ เราก็ต้องสู้ และปรับตัวกันให้ได้ ทุกคนต้องประหยัด ลงทุนให้พอเหมาะ ที่สำคัญคือพัฒนาตัวเองให้มากและทำอย่างจริงจัง

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................