โลกดนตรี กับ แซ็กโซโฟนของ ชวน หลีกภัย

 หลายคนคงไม่คุ้นภาพลูกแม่ค้าขาพุงปลาผู้มากหลักการขวัญใจแม่ยกชาวตรัง กับเซ็กโซโฟนคู่ใจ ที่นี่ตรงนี้เจ้าตัวจะเล่าให้ฟัง

 

 

โลกดนตรี กับ แซ็กโซโฟนของ ชวน หลีกภัย  

เรื่อง/ภาพ : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ตีพิมพ์ครั้งแรกในในหนังสือพิมพ์ ฅนตรัง จังหวัดตรัง

...................................................................

 

“หลายคนคงไม่คุ้นภาพลูกแม่ค้าขาพุงปลาผู้มากหลักการขวัญใจแม่ยกชาวตรัง ในลีลามือถือไมค์ไฟส่องหน้า กับบทบาท “นักดนตรี” กับ “เซ็กโซโฟนคู่ใจ” ที่นี่ตรงนี้ อดีตนายกฯสองสมัย “ชวน หลีกภัย” จะเล่าให้ฟัง...”

 

ยังมีภาพที่หลายคนไม่เคยเห็นกันมาก่อน แม้กระทั่งคนตรังหลายๆคน กับลีลาพริ้วไหวของนักแซ็กโซโฟนที่ชื่อ “ชวน หลีกภัย” อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย เป็นความสามารถนอกเหนือจาก งานการเมือง ศิลปะวาดภาพ และ การเขียนหนังสือ

 

ดังนั้น ต้องย้อนภาพกลับไปเมื่อ ปี 2556 ซึ่งปรากฏภาพแรกต่อสาธารณะชน ถึงนักเซ็กโซโฟนท่านนี้ ที่ออกลีลาให้ประหลาดใจไปตามๆกันในงานทอล์คโชว์การกุศล "จากต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์ ถึงกรรเชียงปู และเงินกู้ผลาญแผ่นดิน" เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2556 ของ  “พรรคประชาธิปัตย์” ที่โรงภาพยนตร์สกาล่า ย่านสยามสแควร์ นอกจากลีลาเดี่ยวไมค์โครโฟนโดยขุนพลประชาธิปัตย์ในเรื่องการเมืองแบบมันส์หยดแล้ว

 

ยังมีเซอร์ไพร์สโชว์เดี่ยวแซ็กโซโฟนของ คุณชวน โดย 2 บทเพลงที่ถูกเลือกขึ้นเล่นโชว์บนเวที ได้แก่ อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” และ เพลงไทยร่วมสมัยอย่าง “รักคุณเข้าแล้ว” เรียกเสียงปรบมือลั่นไปทั้งโรงภาพยนตร์  และภาพขณะที่คุณชวนกำลังเป่าแซ็กฯร่วมกับ “เทวัญ ทรัพย์แสนยากร” มือแซ็กฯระดับแถวหน้าของประเทศ ถูกแชร์และถ่ายทอดผ่านโลกของโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก จนเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง

 

ใต้ร่มศาลาไม้ใน “บ้านแม่ถ้วน หลีกภัย” ที่คุ้นเคยบนถนนวิเศษกุล เมืองตรัง นอกเหนือจากเรื่องเหตุบ้านการเมืองซึ่งอยู่ในสายเลือดแล้ว เจ้าของแซ็กโซโฟนที่บรรเลงในวันนั้น เปิดใจเล่าถึงโลกแห่งดนตรีของตัวเอง ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนด้วยอารมณ์ยิ้มแย้ม

“สมัยผมเรียน มศ.3-4 ที่โรงเรียนตรังวิทยา ก็มีรุ่นพี่ที่เล่นดนตรี เขาก็ชวนไปเช่นดนตรี เขาช่วยสอนให้ ผมก็เริ่มที่การตีกลองบองโก้แบบง่ายๆ แล้วก็เข้าวงดนตรีของสมาคมฮกเกี้ยนของตรังในสมัยนั้น เพราะผมมีเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนด้วย ต้องเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เราก็ได้เริ่มเล่นตามงาน ทั้งงานของสมาคมฯ งานโรงเรียน งานระดับจังหวัด ไปจนถึงงานต่างจังหวัด ตอนนั้นวงดนตรีของสมาคมฮกเกี้ยนถือว่าโด่งดังเลยทีเดียว มีงานไม่ขายสาย จุดเริ่มต้นของผมคือกลองบองโก้ ตีแบบง่ายๆ เป็นครั้งแรกที่ได้ค่าตัวจากการเล่นดนตรี”

 

 

คุณชวน บอกว่า การได้เล่นดนตรีในยุคนั้นไม่เรื่องง่าย เพราะ ดนตรี เหมือนสิ่งไกลตัว เครื่องดนตรีก็มีราคาแพง มีแต่บ้านคนมีฐานะเท่านั้นที่มีกำลังพอซื้อหาให้ลูกหลานเล่น ดนตรี จึงเป็นเรื่องของ ความสุขส่วนเกินในยุคนั้น

 

“เรื่องที่ผมเป่าแซ็กฯเริ่มแรกก็มีรุ่นพี่สอนให้เหมือนกัน ก็ยืมแซ็กฯของรุ่นพี่นี่แหละมาหัดเป่าจนเริ่มเป็น พอเข้ามหาวิทยาลัย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองในยุคนั้น ก็ไปเล่นกับรุ่นพี่ แต่เรามือยังไม่ถึงก็ไม่ได้เข้าวงดนตรีของมหาวิทยาลัย ก็เอาไว้เป่าเล่นในยามว่าง”

 

“สมัยนั้นผมอ่านโน๊ตตัวเลข เช่น โด ก็เป็นเลข 1 เรก็เลข 2 ไปเรื่อยจนถึงเลข 7 คือตัว ที กับโน๊ตตัวอักษร หรือโน๊ตแบบ เชอเวย์ อย่าง ด. ร. ม. ฟ. ซ. ล. ท. ส่วนโน๊ตสากล โน๊ตตัวดำ ตัวขาว ตัวเขบ็ดต่างๆ ในบรรทัด 5 เส้น ผมก็มาหัดเรียนรู้หัดอ่านเองในช่วงหลัง”

 

“อัลโต้แซ็กโซโฟน” ที่คุณชวนเล่นบนเวที ถือเป็นแซ็กฯเสียงระดับกลางและเป็นที่นิยมของบรรดานักเดี่ยวแซ็กฯทั่วโลก เพราะสามารถใช้งานได้กว้างที่สุด และมีเสียงเป็นระดับมาตรฐาน แซ็กฯตัวดังกล่าวดูเก่าจนเกือบเป็นสีดำ เป็นแซ็กฯตัวแรกในชีวิตที่เจ้าตัวซื้อมาในราคาหลายหมื่นบาท แต่เป็นราคาเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วในสมัยเป็นนายกฯสมัยแรก(พ.ศ.2535) แม้เจ้าตัวจะอุบเงียบถึงราคาที่แท้จริง แต่มีผู้รู้ให้ความรู้มา ว่า เป็นแซ็กฯชั้นดีจากฝรั่งเศส ยี่ห้อ “เซลเมอร์” เป็นมาตรฐานโลก ที่นักดนตรีทั่วโลกเลือกใช้ ขึ้นชื่อว่าเป็นแซ็กฯที่มีชื่อเสียงเลยทีเดียว

 

“ที่เห็นว่าสีดำออกเก่าๆเป็นสีเทาดำ เพราะอายุการใช้งาน ซื้อมาเดิมทีเป็นสีเงิน แต่ด้วยระยะเวลาสีก็เริ่มเปลี่ยนไปตามอายุ เริ่มดำขึ้น แต่ตอนนี้ถ้าไปขัดสีใหม่ก็จะเป็นสีเงินเหมือนเดิม แต่ผมก็ชอบแบบนี้ ตอนนั้นซื้อมาก็หลายหมื่นบาทอยู่ ตอนนี้คงราคาเป็นแสนบาทแล้ว”

 

“ในงานวันนั้นเป่าคู่กับคุณเทวัญ ไม่ได้นัดกันมาก่อน ที่จริงฝีมือการเป่าแซ็กฯของผมด้อยชั้นกว่าของคุณเทวัญมาก เปรียบไปผมมันแค่ระดับประถม แต่คุณเทวัญนั้นเป็นขั้นบรมครู(หัวเราะ) ก็ถือว่ามีระดับปรมาจารย์มาช่วยเป่าประสาน ส่วนผมก็เป่าไปตามตัวโน๊ต ตอนแรกเลยตกลงกันว่า เป่าคู่ไปเลย ไม่ต้องมีจังหวะประกอบ ให้ผมเป่าตามโน๊ตไป คุณเทวัญจะช่วยเป่าประสาน ก็เลยออกมาอย่างที่เห็น 2 เพลง คือ รักคุณเข้าแล้ว กับ บทเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด เพลงไทยที่เลือกเพลง รักคุณเข้าแล้ว เพราะย้อนไปสมัยเราเป็นเด็กบ้านนอก วิทยุ ทีวี ก็ไม่มีให้ดู ก็ต้องหัดเป่าเพลงตามโน๊ตที่หาได้ เป็นโน๊ตตัวอักษร ก็เลยกลายเป็นเพลง รักคุณเข้าแล้ว”

 

สำหรับอดีตนายกฯผู้แลดูเคร่งขรึม การเล่นดนตรีเปิดตัวครั้งนี้ย่อมเป็นที่ประหลาดใจของผู้คนจำนวนไม่น้อย เจ้าตัวยิ้มอย่างอารมณ์ดี ก่อนจะเล่าคลายข้อสงสัยในใจหลายคน

 

“ครับ หลังจากวันนั้นหลายคนก็แปลกใจกันมาก โทรมาหาผม ไม่มีใครคิดว่าผมจะเป่าแซ็กฯได้ ที่จริงแล้วผมเป่ามานานแล้ว แต่จะมีแต่คนสนิทๆกันเท่านั้นที่รู้ ในพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีแค่คนสองคนที่รู้ เพราะเคยยืมเครื่องดนตรีกัน คือ หมอท็อป-น.พ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ กรรมการบริหารพรรครู้ ที่สนิทกันและรับรู้ก็มีพวกอาจารย์ดนตรีที่คอยให้คำแนะนำ อย่าง อาจารย์สุกรี เจริญสุข จากดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เรามันนักดนตรีบ้านนอกต้องคอยถามความรู้จากผู้รู้ตลอด ตอนเรียนที่สถาบันพระปกเกล้าฯ มีงานอะไรผมก็ไปเล่นอยู่บ้าง”

 

“อาจเพราะเป็นเรื่องความสุขส่วนตัวเล็กๆของผม แล้วผมก็ไม่เคยได้บอกใครมาก่อน และด้วยความเป็นเด็กบ้านนอกมันอาจทำให้เราทำอะไรแปลกได้เยอะแล้วไม่มีใครรู้ แล้วเราก็ไม่ไปอวดใคร ว่างๆก็เป่าเล่น การหัดเป่าแซ็กในทัศนะของผม มันต้องอาศัยระยะเวลาในการฝึก การซ้อม มันเหมือนกับเราเริ่มเรียนภาษาใหม่อีกภาษาหนึ่งเลยทีเดียว ทั้งวิธีการเป่า การใช้ลม การกด การปล่อย”

 

“ทั้งหมดมันมาจากความชอบ แต่ตอนไปซื้อแซ็กฯตัวแรกมาตอนนั้นเราก็แก่แล้ว เลยไปช้าเป็นธรรมดา ถ้าได้เริ่มตอนเด็กๆจะไปเร็วมาก”

 

เป็นสีสันอีกมุมหนึ่งของคนการเมืองขวัญใจชาวตรัง และยังมีอีกสีสันหนึ่งของ “ใบมีดโกนเมืองตรัง” คนนี้คือ “การปั่นจักรยาน” เพื่อออกกำลัง เจ้าตัวบอกว่าถือเป็นกิจกรรมหรืองานอดิเรกในยามว่างเว้นจากงานการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปัจจุบัน ทำให้คุณชวนมีเวลาว่างอยู่ที่ตรังมากขึ้น และ เป็นหัวหอกคนสำคัญในการนำคนตรังปั่นจักรยานตามโอกาสสำคัญๆต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น BIKE FOR MOM หรือ BIKE FOR DAD และอีกมากมาย

หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “นายหัวชวน” ของคนตรัง เรี่ยวแรงการปั่นไม่ธรรมดา ชนิดที่ว่าไปลิ่ว ใครขับรถเอื่อยๆชิวๆ อาจโดนจักรยานคนดังขับแซงไม่รู้ตัว...

..............................

 

ชมภาพเพิ่มเติม

 

 

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................