จับเข่าคุย เดชรัฐ สิมศิริ วาระจังหวัดตรัง59

เรื่องเป้าทางเศรษฐกิจมันมีหลายปัจจัย แต่อย่างน้อยเราตั้งเป้าให้คนตรังมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 

 

จับเข่าคุย “เดชรัฐ สิมศิริ” วาระจังหวัดตรัง 2559

“รวมพลังคืนความสุข รุกการพัฒนา เปิดฟ้าการท่องเที่ยวตรัง”

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com

ภาพ : Ta Trangtoday

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ฅนตรัง จังหวัดตรัง

....................................................................................................................................................

“เรื่องเป้าทางเศรษฐกิจมันมีหลายปัจจัย แต่อย่างน้อยตั้งเป้าให้คนตรังมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ มีแหล่งรายได้นอกเหนือพืชเศรษฐกิจดั้งเดิมมากขึ้น”

....................................................................................................................................................

 

สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดตรังคนใหม่ ที่ชื่อ “เดชรัฐ สิมศิริ” ซึ่งชาวตรังบางท่านอาจยังไม่รู้จักเส้นทางการทำงาน  วิธีคิด ตลอดจนตัวตน ของผู้ว่าฯท่านนี้มากนัก  www.addtrang.com  จับมือ หนังสือพิมพ์ฅนตรัง เข้าสัมภาษณ์พิเศษผู้ว่าฯเดชรัฐ โดยชักชวนท่านลงจากจวน มานั่งจิบกาแฟในบรรยากาศสบายๆเป็นกันเอง ซึ่งด้วยบุคลิกเรียบง่ายของเจ้าตัว การสัมภาษณ์นอกสถานที่ ณ “ร้านกาแฟ ยู่ เชียง” หรือชาวตรังเรียกติดปากว่า “ร้านกาแฟลูกหมู” ริมถนนพระรามหก ร้านกาแฟเก่าแก่กว่า 3 ชั่วอายุคน จึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก   

 

ต่อไปนี้คือบทสนทนา วิสัยทัศน์ ตลอดจนตัวตนของ “เดชรัฐ สิมศิริ” พ่อเมืองตรังคนที่ 47

 

@อยากทราบพื้นเพเส้นทางชีวิต และเส้นทางราชการของท่านผู้ว่าฯคร่าวๆ

 

ผมเกิดที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จบรัฐศาสตร์รามคำแหง จบ 2 ปีครึ่ง ทำงานภาคเอกชนอยู่เกือบปี จึงสอบปลัดอำเภอได้ เป็นรุ่นแรกของปลัดอำเภอ เรียกรุ่น 1,500 อายุ 21 ปี รับราชการปลัดอำเภอได้ 3 ปี ก็ต่อปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เอกรัฐประศาสนศาสตร์ เอกวิเคราะห์นโยบายสาธารณะและบริหารโครงการ มาเป็นปลัดอำเภอต่ออีกหลายอำเภอ แล้วไปช่วยราชการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เคยเป็นผู้ตรวจการส่วนท้องถิ่นนราธิวาส  

 

ต่อมาสอบโรงเรียนนายอำเภอได้รุ่น 34 ก็มาเป็นนายอำเภอ ตอนโรงเรียนนายอำเภอได้รางวัลวิชาการยอดเยี่ยมของรุ่น ได้คะแนนรวมเป็นที่ 1 ของรุ่น จากนั้นมาเป็นผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจศอ.บต. เป็นนายอำเภอหลายอำเภอในนราธิวาส ยะลา สุราษฎร์ธานี  แล้วขึ้นกรมการปกครองเป็นผอ.ส่วนประสานหน่วยราชการ สำนักกิจการความมั่นคงภายใน แล้วลงมาเป็นปลัดจังหวัดยะลา รองผู้ว่าฯยะลา รองผู้ว่าฯนราธิวาส จนมาเป็นผู้ว่าฯยะลา 3 ปี ไปเป็นผู้ว่าฯสตูล อีก 1 ปี ก่อนย้ายมารับตำแหน่งผู้ว่าฯตรังในปัจจุบัน

 

@ได้มาตรังแล้วรู้สึกอย่างไร

 

ตรังเป็นพื้นที่ที่ผมไม่นึกไม่ฝันว่าจะได้มา แต่ที่จริงตรังเป็นพื้นที่ในฝันผมเลย เพียงแต่ไม่เคยคิดมาก่อน ตอนที่ผมย้ายมาจากผู้ว่าฯยะลา ผมเป็นคนไม่อยากย้ายแล้วไปเบียดคนอื่น เลยบอกว่าขอไปสตูลแล้วกัน เพราะผู้ว่าฯสตูลตอนนั้นท่านย้ายอยู่แล้ว ผมชอบจังหวัดกลุ่มอันดามัน ตอนแรกที่ไม่คิดว่าจะมาตรังเพราะเพื่อนผมเป็นผู้ว่าฯอยู่(นายสมศักดิ์ ปะริสุทโธ เหมทานนท์) โรงเรียนนายอำเภอรุ่นเดียวกัน เราไม่อยากมาเบียดเพื่อน ท่านอดีตผู้ว่าตรังหลายท่านก็คุ้นเคยกัน อย่างท่านธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ก็โรงเรียนนายอำเภอรุ่นเดียวกัน พี่ไมตรี อินทุสุต ก็รุ่นพี่ แต่เป็นรุ่นบรรจุปลัดอำเภอรุ่น 1,500 ด้วยกัน ตรังเป็นจังหวัดในฝันของผมอยู่แล้ว พอมาแล้วก็จริงตามที่เราฝัน เพราะตรังเป็นจังหวัดที่พร้อม คนพร้อม สมกับคำขวัญ ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี ถือว่าตรง คนตรังใจถึง ผมยอบรับ คนตรังให้ความร่วมมือกับเรื่องสาธารณะประโยชน์มาก

 

@เตรียมตัวเรื่องการทำงานอย่างไร

 

ในการทำงานของผม ตั้งแต่ก่อนมารับตำแหน่ง ผมก็ลงพื้นที่ ผมเรียกว่าสแกนพื้นที่ สแกนคน สแกนงาน สแกนวิธีการแก้ปัญหาของที่นี่ก่อน ทั้งในเชิงวิชาการ งานวิเคราะห์วิจัยต่างๆ พอสแกนเสร็จ ผมเอามามิกซ์ เอามาผสม คัดเอาจุดเด่นและแนวทางที่เหมาะสมมากำหนดเป็นนโยบายและสิ่งที่เราจะทำ ใช้เวลา 1 เดือน จนมิกซ์ออกมาเป็นนโยบายหลักได้ 3 กลุ่ม คือ

 

 

 

1.รวมพลังคืนความสุข

เพราะตั้งแต่สมัยท่านธีระยุทธได้กำหนดวิสัยทัศน์ตรัง คือ เมืองแห่งความสุข นับตั้งแต่ผู้ว่าฯไมตรีเป็นต้นมา ดัชนีชี้วัดความสุข ตรังเคยได้ที่ 3 ของประเทศ แต่ต่อมาจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ความสุขมวลรวมของตรังในปี 2558 ตกลงมาอย่างน่าใจหาย เหลือที่ 11 ของภาคใต้ ขณะที่อันดับหนึ่งของปี 2558 คือสตูล ที่เราเคยช่วยกันทำ ภายใต้นโยบาย รวมพลังสร้างสุข รุกแก้ปัญหา พัฒนาสู่อาเซียน และเป็นที่ 9 ของประเทศ เราต้องรวมพลังกันคืนความสุข  แนวทางที่จะทำ คือ โมเดลของกรมพัฒนาชุมชน ซึ่งผมเคยใช้ได้ผลมาแล้วตอนเป็นผู้ว่าฯยะลา และสตูล คือ การผนึกกำลังจากฐานการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน(จพฐ.)ของกรมพัฒนาชุมชน ในเรื่องการสำรวจ 50 กลุ่ม 30 ตัวชี้วัด แล้วเพิ่มความสำเร็จในตัวชี้วัดทั้ง 30 ตัวนี้ขึ้นมาให้ได้ ส่วนด้านความสุขทางจิตใจ เราต้องสนับสนุนงานด้านศาสนา ทั้งพุทธ อิสลาม คริสต์

 

ในเรื่องความสุขเรื่องการกิน ในฐานะเป็นเมืองคนช่างกิน คนตรังมีความสุขกับการกิน เรามีอาหารสารพัดชนิด ตรังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม เราจึงมีตำรับอาหารจากจีนที่มาผสมกับพื้นเมือง เกิดเป็นความหลากหลาย หมูย่าง เค้กเมืองตรัง และอีกหลายเมนู แต่เราก็เริ่มทุกข์กับโรคที่มาจากการกิน ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การมุ่งส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

 

@คือการออกกำลังกาย

 

ด้วยวัฒนธรรมการกินของคนตรัง ปัจจุบันจึงเกิดเป็นกระแสใหม่ว่า กินก็กินไป แต่คนตรับเริ่มใสใจกันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น การออกกำลังกายของตรังมีกีฬาทุกอย่าง และเป็นที่ยอดนิยมขณะนี้ของคนตรัง คือ การปั่นจักรยาน  และต้องซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงจุดประกายและทรงนำในกิจกรรม Bike For Mom ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันทั้งประเทศเกิดกระแสการปั่นจักรยานมากขึ้น ซึ่งจังหวัดตรังก็ดำเนินการต่อเนื่อง และล่าสุดกิจกรรม Bike For Dad ในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ ก็มีผู้มาลงทะเบียนจำนวนมาก อาจจะถึงหมื่นคนเมื่อถึงวันงาน ผมจึงเชื่อว่ากระแสการปั่นจักรยานในบ้านเราจะเพิ่มมากขึ้น

 

@ท่านผู้ว่าฯก็เป็นนักปั่นจักรยานตัวยง

 

อย่างตัวผมเองก็ปั่นจักรยานทุกวันไปตามเส้นทางต่างๆในเมืองตรัง ผมพบว่าตรังมีถนนเป็นวงแหวนรอบเมือง จากจุดศูนย์กลางเมืองไปตามเส้นวงแหวน เราสามารถปั่นไปได้ทุกทาง ทุกเช้าผมจะปั่นจักรยานจากจวนผู้ว่าฯไปตามเส้นทางต่างๆ ใหม่ๆก็หลง มีถามทางบ้าง แต่พอปั่นไปเรื่อยๆตามเส้นวงแหวนซึ่งจำง่าย ปั่นสะดวก ตรังเป็นพื้นที่ที่น่าปั่นมาก มีเส้นทางสวยงาม มีเนินสลับที่ราบ แต่อยากฝากเรื่องการใช้ถนนร่วมกัน เคารพกฎจราจร ทั้งรถยนต์รถมอเตอร์ไซค์ ต้องขอความร่วมมือจากผู้ใช้รถใช้ถนนให้เอื้อเฟื้อแก่คนปั่นจักรยานด้วย จะเป็นการใช้ถนนร่วมกันอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด

 

ในเรื่องความทุกข์ของคนตรังอีกอย่างหนึ่งคือยาเสพติด ตัวที่แพร่ระบาดมากคือน้ำต้มใบกระท่อม ที่จริงเรามีโครงการที่ดีแต่ยังทำไม่เต็มความสามารถ คือ โครงการ To be number one ของ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ผมคุยกับผู้เกี่ยวข้องในการที่จะปลุกกระแสโครงการนี้เพื่อสร้างเยาวชนของเราให้เก่งและดี เป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติด เรามีเป้าหมาว่าปีนี้ตรังจะต้องผ่านมาตรฐานจังหวัดTo be number one อย่างน้อยในระดับภาคให้ได้ เพื่อนำผลงานไปเสนอในระดับประเทศต่อไป  

 

2.รุกการพัฒนา

ประชากรส่วนใหญ่ของตรังประกอบอาชีพเกษตร โดยเฉพาะยางพารา แต่ขณะนี้ยางราคาตกต่ำ มีสำนวนว่า 3 กิโล 100 บาท(ปัจจุบัน 4 กิโล 100บาท) มันคือความจริง เพราะไทยเราผลิตยางเยอะ จริงอยู่ที่ทางใต้เป็นพื้นที่ผลิตยางที่ดีที่สุดในโลก แต่วันนี้ไม่เฉพาะภาคใต้เท่านั้นที่ผลิตยาง ภาคอื่นก็ปลูกกันมาก รวมไปถึงต่างประเทศ เราจึงต้องแก้ปัญหาในเรื่องการผลิต ตรังเราส่งเสริมสหกรณ์ชาวสวนยางให้มีเงินทุนในการรับซื้อยางและแปรรูปยางจากน้ำยางสดเป็นยางแผ่น ช่วยลดต้นทุนในการผลิตให้มีผลกำไรในกิจการสหกรณ์ และส่งเสริมให้สหกรณ์สามารถขายยางตรงยังผู้ผลิตและแปรรูปได้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้

 

@ด้านส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม ในฐานะที่ตรังเป็นเมืองสีเขียว มีพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายจำนวนมาก จะจัดสมดุลร่วมกับการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจอย่างไร

 

ในแง่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราต้องเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการให้โรงานอยู่ได้ ประชาชนอยู่ได้ และไม่สร้างมลภาวะ เราเน้นการพัฒนาในเชิงอนุรักษ์ ให้อยู่ร่วมกันได้ระหว่างทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนา แต่ส่วนที่ไปทำลายธรรมชาติ เช่น ป่าต้นน้ำก็ต้องหยุด และต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เช่น กรณีปัญหาการรุกรุกพื้นที่ ผมจะนำโครงการปิดทองหลังพระที่เคยดำเนินการสำเร็จมาแล้วที่ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เราอาจไม่ถึงขนาดต้องไปขับไล่ชาวบ้านถ้าเป็นสวนยางที่ชาวบ้านปลูกและทำกินมาก่อนการออกกฎหมายเขตพื้นที่อุทยาน  แต่ถ้าเป็นกรณีบุกรุกใหม่คงยอมไม่ได้ ชาวบ้านอาจต้องยอมสละแถวยางสักแถวหนึ่ง เพื่อให้ทางเราสนับสนุนไม้ยืนต้นรากลึก เช่น  ตะเคียน ปลูกสลับ ซึ่งมีคุณสมบัติการซับน้ำที่ดีกว่า

 

ชาวบ้านห่วงเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่า ว่าจะไปตัดโค่นต้นบางที่ชาวบ้านปลูกไว้ ซึ่งผมได้พบกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเขาบรรทัด และได้ยืนยันไปว่า สำหรับพื้นที่ที่พิสูจน์แล้วว่าชาวบ้านทำกินสืบทอดกันมาก่อนประกาศพื้นที่ป่าผมจะช่วยคุ้มครอง แต่ถ้าบุกรุกใหม่ผมไม่ช่วย ว่าไปตามกฎหมาย ถ้าเป็นพื้นที่ที่ทำกินมาเดิมผมจะช่วยทำความเข้าใจให้หากมีหน่วยใดมาจับ

 

@ได้มีโอกาสเข้าพบคุณชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ 2 สมัยชาวตรัง ท่านให้ข้อแนะนำการทำงานอย่างไรบ้าง

 

ผมศรัทธาในแนวทางการทำงานของท่านนะ ท่านทำให้ตรังไว้เยอะมาก สิ่งหนึ่งที่ผมต้องขยายผลเลยคือการทำตรังให้เต็มไปด้วยต้นไม้และความร่มรื่น ในตัวเมืองตรังผมคิดว่าพื้นที่ไหนทำเป็นสวนสาธารณะเพิ่มได้ก็จะทำ พื้นที่ไหนที่เพิ่มต้นไม้ได้ก็จะเพิ่ม ท่านชวนทำหลายสิ่งหลายอย่างไว้ให้กับเมืองตรัง ผมต้องนำมาประมวลเพื่อสานต่อ ท่านมีประสบการณ์มาก เป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย ย่อมไม่ธรรมดา มีทั้งความคิด ประสบการณ์ ผมต้องตามรอยที่ท่านได้สร้างและทำเอาไว้ให้กับเมืองตรัง

 

3.เปิดฟ้าการท่องเที่ยวตรัง

เป็นกระบวนการการส่งเสริมการท่องเที่ยวล้วนๆ เพราะตรังอยู่ฝั่งอันดามัน มีพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามมาก สังเกตได้ว่า ในหมู่เกาะของเราในช่วงไฮซีซั่นส์ รีสอร์ทที่พักต่างๆถูกจองเต็มหมดและยังไม่เพียงพอ ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวบนบกโรงแรมยังว่าง ทั้งที่เรามีแหล่งท่องเที่ยวบนบกอีกมาก เรื่องนี้เราต้องผนึกกำลังกันจัดรูทการท่องเที่ยว  เช่น นอนบนบกแต่ไปเที่ยวเกาะแบบวันเดียวกลับมาพักในเมืองได้ ตรงนี้ต้องร่วมมือกัน เราใช้กระแสการปั่นจักรยานพาเที่ยวให้เกิดขึ้นได้ Event ลักษณะนี้เราจะส่งเสริมและร่วมกันคิดร่วมกันทำ จากนี้เราจะพยายามจัดโปรแกรมเพื่อนำคนมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวบนบกแทบทุกเดือน ผมจะจัดเรื่องนี้เป็นวาระ ให้มี Event เรื่องนี้โดยเฉาะ

 

เรื่องเป้าทางเศรษฐกิจมันมีหลายปัจจัย แต่อย่างน้อยตั้งเป้าให้คนตรังมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ มีแหล่งรายได้นอกเหนือพืชเศรษฐกิจดั้งเดิมมากขึ้น ผมอยากเห็นชาวสวนอยากปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก ผักพื้นเมืองต่างๆเราปลูกกินได้ ผมปั่นจักรยานไปดูตามตลาดพบมีผักพื้นเมืองวางขายมากขึ้น เราต้องให้ตัวเราอยู่ได้ก่อน ส่วนรายได้จากส่วนยางก็จะสามารถปันส่วนเก็บเป็นเงินออมได้ จะมีความยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มากกว่าการกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ตัวเลขเศรษฐกิจ

 

"ทั้งหมดนี้จะสำเร็จหรือไม่ ผมจะเดินสายไปพบกับทุกกลุ่มเพื่อเสนอแนวคิดและหาความร่วมมือ พอถึงวันที่ 7 มกราคม 2559 เราจะมีการประกาศวาระจังหวัดในทั้ง 3 ด้านวิสัยทัศน์ ว่า แต่ละด้านมีภาคีเครือข่ายใดบ้าง จะทำเรื่องใดบ้าง คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2559 เราจะเห็นภาพความสำเร็จในเรื่องต่างๆที่คนตรังร่วมกันทำ"

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................

 

ภาพเพิ่มเติม