58ปี ร้านมิตรสาส์นกับการอ่านของคนตรัง

 

การอ่านของคนตรังมาเบ่งบานมากที่สุดตั้งแต่ยุค 14ตุลาฯ2516 ที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่

 

 

 

58ปี ร้านมิตรสาส์น กับการอ่านของคนตรัง

เรื่อง/ภาพ : กองบรรณาธิการ www.addtrang.com , ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ฅนตรัง

 

“ร้านมิตรสาส์นเกิดครั้งแรกที่ถนนกันตัง เราเริ่มจากร้านเครื่องเขียนเล็กๆ ยุคแรกก็เป็นแบบเรียน ตำราต่างๆ การอ่านของคนตรังมาเบ่งบานมากที่สุดตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ 2516 วันนี้สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดคือ เวลาไปไหนคนจะบอกกับผมว่าพวกเขาเกิดมากับร้านหนังสือ ได้เป็นครู เป็นหมอ มีความรู้ มีการมีงานเพราะหนังสือจากมิตรสาส์น"

 

 

ในโลกปัจจุบัน สำหรับร้านหนังสือในยุคที่เทคโนโลยีทำให้ “การอ่าน” เปลี่ยนไป ผู้คนจำนวนไม่น้อยอ่านหนังสือผ่านมือถือจนเกิดเป็นวัฒนธรรมใหม่ ในทางกลับกันก็ส่งผลกระทบต่อ “หนังสือ” ที่ทำจากเนื้อกระดาษ ถามว่าทุกวันนี้มีผู้คนเข้าออกร้านหนังสือมากน้อยเพียงใด แต่สำหรับ “ร้านมิตรสาส์น” ร้านหนังสือเก่าแก่ร้านหนังใน “ทับเที่ยง” เมืองตรัง นอกจากจะพลุกพล่านไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัยที่มาเลือกหาหนังสือสารพัดชนิดแล้ว ยังเป็นจุดศูนย์รวมชองชีวิต การพบปะ นัดหมาย ของ “เมืองตรัง” ติดต่อกันมานานหลายสิบปี เนื่องจากตั้งอยู่ริมถนนวิเศษกุล ใกล้กับหอนาฬิกา แลนด์มาร์คสำคัญของเมืองตรัง 

 

“ร้านมิตรสาส์น” จึงเป็นร้านหนังสือที่มากกว่าร้านหนังสือ

 

 

ที่ร่มไม้ใต้ศาลาบ้าน “เจ็กสมชาย” หรือ สมชาย อินทรสังขนาวิน" ในวัย 80 ปีเศษ ผู้ก่อตั้ง “ร้านมิตรสาส์น” ร้านหนังสือเก่าแก่ยุคแรกๆของ "ทับเที่ยง" กับรอยยิ้มของผู้มากประสบการณ์ นั่งลงเปิดใจเล่าความเป็นมา เพื่อบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของ “เมืองตรัง”

 

“ผมเกิดที่นครศรีธรรมราช ต.จันดี อ.ฉวาง พ่อแม่ผมเป็นคนจีนย้าย มาจากฮกเกี้ยนไปอยู่มาเลเซียประมาณ 10 ปี  ทำสวนยาง มีก๋ง มีพี่ญาติน้องมาทั้งครอบครัว เพราะสมัยก่อนเมืองจีนลำบากมาก เลยมาเมืองไทย  ผมมาเกิดที่ ต.จันดี พออายุ 7 ขวบ  เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ยางไม่มีราคาเลย เพราะส่งออกไม่ได้ พอปี 2484เราก็ย้ายมาทำขนมขายที่ อ.กันตัง จ.ตรังเพราะเป็นเมืองท่าในสมัยนั้น ไปภูเก็ตต้องผ่านกันตัง เช่นเดียวกับไปปีนัง ก็ต้องนั่งเรือจากกันตัง ผมเรียนหนังสือไทยที่กันตัง เรียนบ้างไม่เรียนบ้างต้องหนีสงคราม หลังจากสงครามสงบ พ่อแม่ก็อพยพออกจากกันตัง กันตังเริ่มเงียบ ญี่ปุ่นถอนทัพกลับ เราไปอยู่สุราษฎร์ธานี แล้วกลับไปที่นครศรีธรรมราช”

 

“กระทั่งผมอายุประมาณ 17 ปี เรียนชั้นมัธยมแล้ว ที่นี้ญาติพี่น้องก็บอกว่าเรียนหนังสือไปก็สู้ไปค้าขายดีกว่า ให้ผมไปอยู่ร้านโชห่วย ให้ผมเป็นแคชเชียร์ ช่วงนั้นยางไม่มีราคาอีก ผมก็ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เรียนบัญชี พิมพ์ดีด แล้วก็ภาษาจีนเพิ่มเติม จนถึงผมอายุประมาณ 21 ปี ผมก็ว่าผมเคยค้าขายมา ทำค้าขายดีกว่า พอดีมีเพื่อนฝูงเขาให้เซ้งร้านเครื่องเขียนอยู่ที่ถนนกันตัง แล้ว “ร้านมิตรสาส์น” ก็เกิดขึ้นในปี 2501”

 

 

“เจ็กสมชาย”เล่าย้อนไปยังจุดเริ่มต้นของการทำร้านหนังสือ ที่ตั้งต้นจากร้านเครื่องเขียน แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ จึงคิดว่าน่าจะนำหนังสือมาขายด้วย จึงเริ่มมีการติดต่อเอาหนังสือจากกรุงเทพฯมาขาย โดยในยุคแรกๆ จะเป็นหนังสือจำเป็นก่อน อาทิ ตำรา แบบเรียน ต่อมาจึงค่อยๆขยับขยายนำหนังสือพิมพ์มาขายเพียงไม่กี่ฉบับ ตามมาด้วยนวยิยายจำนวนหนึ่ง ในยุคนั้นระบบการขนส่งยังไม่ทันสมัย สินค้าจากกรุงเทพฯเดินทางมาได้โดยวิธีเดียวคือทาง “รถไฟ” ซึ่งสัปดาห์หนึ่งมีเพียง 2-3 เที่ยวเท่านั้น

 

“ในยุคแรกๆการอ่านของคนตรังยังไม่คึกคัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมัยก่อนคนอ่านออกเขียนได้ยังมีน้อย แต่ก็ค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ  การอ่านของคนตรังมาเบ่งบานมากที่สุดตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ 2516 ที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ คนตื่นตัวเรื่องการเสพข้อมูลกันมาก จากนั้นเป็นต้นมาร้านเราก็ดีขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนหนังสือพิมพ์ก็เหมือนกัน ขายยาก ผมก็ต้องหาวิธี เราเคยมีเด็กเร่ขายหนังสือพิมพ์ตามสถานีรถไฟ ท่าเดินรถ และที่ชุมชนถึงวันละ 30 คน เดินไปเร่ขายคนโดยตรง สมัยนั้นยังไม่มีส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านเหมือนตอนนี้ จะมีส่งก็ตามสถานที่สำคัญๆ อย่างจวนผู้ว่าฯหรือส่วนราชการสำคัญๆ”

 

 

“กว่าทุกอย่างจะลงตัวก็เข้าปีที่ 10 ต่อมาเราก็ย้ายมาอยู่ตรงหน้าอำเภอราวปี 2510 ทำเลที่ใหม่นี้คึกคักมาก มีโรงแรมตรัง มีโรงหนัง สมัยนั้นปิดร้าน 4 ทุ่มกันเลย หนังสือเราก็มากขึ้นหลากหลายขึ้น เริ่มมินิตยสาร สกุลไทย ผดุงสิน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์”

 

 

สำหรับ “ร้านมิตรสาสน์” หลายขวบปีบนถนนสายการอ่านของคนตรัง ทำให้มีผู้คนมากมายแวะเวียนมาใช้บริการ เมื่อบ่อยครั้งหลายคนจึงเป็นมากกว่า “ลูกค้า” ด้วยอัธยาศัยไมตรีของ “เจ็กสมชาย” ทำให้หนอนหนังสือหลายคนติดใจ ไม่ว่าจะเป็น “คุณชวน หลีกภัย” อดีตนายกฯ นักการเมือง นักธุรกิจ ครูบาอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา เพราะ “ร้านมิตรสาส์น” มีหนังสือมากและหลากหลายจริงๆ “เจ็กสมชาย” บอกว่าการทำหน้าที่ของ “ร้านหนังสือ” ที่ยึดถือปฏิบัติคือ ลูกค้ามาแล้วต้องได้ในสิ่งที่ต้องการ ต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้เต็มที่ที่สุด แทบไม่น่าเชื่อว่า ที่นี่มีหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร ทุกฉบับในประเทศไทย หรือแม้แต่ International new york times หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษระดับโลกซึ่งแม้ในกรุงเทพฯก็หาอ่านยากก็ยังมี

 

 

คุณเฟื่องฟ้า อินทรสังขนาวิน ถ่ายภาพร่วมกับบรรณาธิการนิตยสาร ลลนา ที่หน้าร้านมิตรสาส์นเดิมที่ถนนกันตัง

 

 

ร้านมิตรสาส์นริมถนนวิเศษกุลเป็นห้องแถว2คูหา เมื่อครั้งย้ายจากถนนกันตังมาใหม่ๆ

 

แน่นอน ทั้งหมดนี้เมื่อเป็นมากกว่าร้านหนังสือ ย่อมหมายถึงความผูกพัน กว่า 57 ปี บนถนนสายการอ่านของ “คนตรัง” สำหรับ “เจ็กสมชาย” ในฐานะหัวเรือใหญ่ “ร้านมิตรสาสน์”

 

“ผมไปเที่ยวจังหวัดอื่นๆ บางจังหวัดก็เจริญกว่า จ.ตรัง แต่เขาต่างจากเรา แต่เรากำลังจะเป็นแบบเขาซึ่งไม่ใช่ทางที่ดี ห้างสรรพสินค้ามามากขึ้น ทำให้ร้านค้าแย่ลง อนาคตข้างหน้าถ้าอยู่ห้องแถวจะค้าขายยาก เพราะไม่มีที่จอดรถ ส่วนหนึ่งเพราะสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป อนาคตข้างหน้าต้องนายทุนใหญ่ถึงจะรอด สมัยผมค้าขายเล็กๆน้อยๆ คู่แข่งน้อย ก็พอไปได้ แต่สมัยนี้ ปลาเล็กจะอยู่ยาก”

         

 

 

“จุดอิ่มตัวของร้านหนังสือท้องถิ่น คือ คู่แข่งเริ่มมา อย่างโรงพิมพ์ซีเอ็ด อัมรินทร์ เขามาขายในห้างต่างๆทุกสาขา ผมเคยเป็นนายกสมาคมผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยต่อเนื่องมา 6 ปี แต่เกษียณไป6-7 ปี แล้ว ตอนนี้เริ่มประชุม 2 เดือนครั้ง แล้วก็พูดกันว่า แย่แล้ว เอเย่นต์เลิกกันไปเยอะแล้ว กรุงเทพนี่เริ่มก่อนเพื่อนเลย คู่แข่งมากขึ้น โรงพิมพ์ไม่สนใจเอเย่นต์แล้วเพราะเขาทำทั้งกระบวนการ เขามีร้านขายปลีกของเขาเอง จนกระทั่งแหล่งผลิต เราก็ต้องอดทนไปเรื่อยๆ เพราะเราสู้ยักษ์ใหญ่ไม่ได้ แต่ผมมองว่า เรายังได้เปรียบที่เป็นคนท้องถิ่น มีบ้านเองไม่ต้องเช่า แล้วทุกอย่างทำเองไม่ต้องจ้าง แคชเชียร์เก็บตังเอง ค่าใช้จ่ายเลยสู้เขาได้ ไม่นั้นอยู่ลำบาก”

 

“เจ็กสมชาย” ยืนยันว่า ไม่ว่ากระแสเศรษฐกิจหรือกระแสทุนใหญ่จะถาโถมเพียงใด “มิตรสาส์น” จะยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้ของ “คนตรัง” ต่อไป เพราะจากวันนั้นจนวันนี้ ทั้งหมดได้กลายเป็นเรื่องของ “ความผูกพันธ์” ระหว่าง “ร้านหนังสือ” กับ “คนอ่าน” ไปแล้ว

 

“"ผมว่าการอ่านหนังสือมันลึกซึ้งกว่าการอ่านจากมือถือนะ มันทำให้เราจดจำได้มากกว่า ดังนั้นไม่ว่าโลกจะทันสมัยแค่ไหน เราก็ทิ้งหนังสือไม่ได้ นักเขียนในดวงใจผม จะเป็นแนวปรัชญาความคิด หนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผมก็มี “วิธีชนะมิตรและจูงใจคน” เป็นหนังสือแปล ของ “เดล คาร์เนกี้” ผมชอบมาก มันทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนได้ แล้วก็มี นิยายกำลังภายในของ “กิมย้ง” เขามักเขียนนิยายโดยแฝงเนื้อหาทางการเมืองบางอย่างไว้ ผมชอบมากเพราะกิมย้งจะเขียนเรื่องคน จะเขียนบอกให้เรารู้ว่าคนดีเป็นอย่างไร คนไม่ดีเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผมและครอบครัวได้จากการอ่านหนังสือ”

 

“จากวันนั้นถึงวันนี้ สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดคือ เวลาไปไหนคนจะบอกกับผมว่า พวกเขาเกิดมากับร้านหนังสือแห่งนี้ ได้เป็นครู ได้เป็นหมอ ได้มีความรู้ ได้มีการมีงานเพราะหนังสือจากมิตรสาส์น"….

 

 

....................................................................................................................................................

สงวนลิขสิทธิ์บทความ ภาพประกอบ รวมทั้งข้อความใดๆ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2558 ห้ามมิให้นำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไข หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยมิได้รับอนุญาติจาก www.addtrang.com แต่มีความยินดีสำหรับการเผยแพร่เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไป โดยอ้างอิงแหล่งที่มา หากมีข้อสงสัยติดต่อ  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

....................................................................................................................................................